ให้ฆ่าอาจารย์ ทั้ง 4 เสีย


fw mail

 “ทางใหญ่อย่าเที่ยวจร  ลูกอ่อนอย่าอุ้มรัด  หลวงเจ้าวัดอย่าให้อาหาร  ไม้โก่งอย่าทำกังวาล  ช้างสารอย่าผูกกลางเมือง  ถ้าจะเป็นลูกให้เอาไฟสุมต้น  ถ้าจะให้ล่มกลางสายชล จงบรรทุกแต่เบา   ถ้าจะเรียนโหร นั่นเล่า ให้ฆ่าอาจารย์  ทั้ง 4 เสีย”


คำแก้ปริศนา

            ทางใหญ่อย่าเที่ยวจร คำแก้ปริศนา ทางสุดโต่ง มีสองสาย คือสาย กามสุขขัลลิกานุโยค  กับสาย อัตตกิลมถานุโยค  

กามสุขขัลลิกานุโยค  คือการทำตนให้หมกมุ่นพัวพันอยู่ในกามสุข  เพลิดเพลินหลงใหลอยู่ในกามสุข  เกี่ยวกับ รูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  เห็นเป็นความสุขที่ยิ่งกว่าความสุขใดๆ  หมกมุ่นพัวพันอยู่จนไม่มีเวลาทำอย่างอื่น   อัตตกิลมถานุโยค  ประกอบตนให้ลำบากโดยไร้ประโยชน์  คือว่าเคร่งเกินไป  จัดการกับตัวเองรุนแรงเกินไป  ไม่ถนอมตนในสมัยโบราณ  สมัยพระพุทธเจ้าท่านยกตัวอย่างพวกฤาษีชีไพรที่ทรมานตน  นอนบนหนาม  แก้ผ้าคลุกขี้เถ้า  ลงคลาน 4 ขากินอาหารอย่างสุนัขบ้าง  อย่างนี้เรียกว่าอัตตกิลมถานุโยค  แต่มา สมัยนี้บ้านเราก็ไม่มีแล้ว  เราก็คิดดูเอาเองว่า  การทำตนให้ลำบากโดยไร้ประโยชน์  เคร่งครัดกับตัวเองมากเกินไป  ไม่ผ่อนปรนให้ตนเองบ้างตามสมควร  อย่างนี้ก็เป็นอัตตกิลมถานุโยค  ก็เป็นทางใหญ่สองทางที่ไม่พึงจร  ในปฐมเทศนา  ธัมมจักกัปปวัตนสูตร  พระพุทธเจ้าท่านก็เริ่มต้นด้วยเรื่องนี้  ว่าภิกษุทั้งหลายที่สุดทั้งสองนี้  บรรพชิตไม่พึงเกี่ยวข้อง  คือ กามสุขขัลลิกานุโยค  และ อัตตกิลมถานุโยค

            ลูกอ่อนอย่าอุ้มรัด   คำแก้ปริศนา  คำว่า ลูกอ่อน คือ ปัญจขันธ์  หรือขันธ์ 5  (รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ) ไม่พึงเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5 ไม่พึงเข้าไปกอดรัดขันธ์ 5  โดยความเป็นตนและของตน  คือพึงปล่อยวาง ไม่ยึดถือในขันธ์ 5  ว่าเป็นเราหรือเป็นของเรา แต่ว่าโดยวิสัยปุถุชน  มันก็อดไม่ได้ที่จะยึดถือในขันธ์ 5   ถ้าเผื่อเรารู้เท่าทันธรรมดาบ้าง  ก็มีเวลาที่จะปล่อยวางได้บ้าง  เหมือนเราแบกหินอยู่  ก็รู้สึกว่าหนักๆ  และมีคนบอกว่าให้วางก้อนหินลงเสีย  ก็ไม่ได้วาง  ถ้าวางมันก็เบา  ถ้าไม่ได้วางมันก็หนัก  แบกไปก็บ่นไปว่าหนัก  วิ่งไปก็บ่นไปว่าหนัก  มีคนบอกให้ปล่อยเสีย ให้วางเสียก็ไม่วาง  มันก็หนักเรื่อยไป    เหมือนกับคนกลิ้งหินขึ้นภูเขา  พอถึงยอดเขาแล้วก็ปล่อยลงมา  แล้วก็ตามลงมาจากยอดเขา  แล้วก็กลิ้งขึ้นไปใหม่ 

            หลวงเจ้าวัด  อย่าให้อาหาร  หลวงเจ้าวัด  คืออย่าปรนเปรอ วิญญาณขันธ์  ด้วยอาหาร 4  (กวฬิงการาหาร  ผัสสาหาร  มโนสัญเจตนาหาร  วิญญาณาหาร) อย่าไปปรนเปรอ วิญญาณขันธ์ มากเกินไป  จะต้องให้อดอาหารเสียบ้าง  ให้จิตมันอดอาหารเสียบ้าง  ถ้าเผื่อไม่ให้อดอาหารเสียบ้าง  คือเราฝึกมันไม่ได้  มันอยากได้อะไรให้มันได้  ปรนเปรอทุกอย่าง  เหมือนเราให้เชื้อกับไฟ  ไฟมันไม่รู้จักอิ่มด้วยเชื้อ  มหาสมุทรไม่รู้จักอิ่มด้วยน้ำ  ไฟไม่อิ่มด้วยเชื้อ  แปลว่าจิตไม่อิ่มด้วยตัณหา  ถ้าปรนเปรอมันมากมันก็ยิ่งเดือดร้อนใหญ่โต

            ไม้โก่งอย่าทำกังวาล  คำแก้ปริศนา กังวาล คือ เรือ สำหรับต้านทานลมพายุ  ต้องใช้ไม้ตรง  ไม้โก่งไม้คดใช้ไม่ได้  คำไขปริศนาก็คือ  อย่าเอาคนคดมาเป็นมิตร  คดกายบ้าง  คดวาจาบ้าง  คดใจบ้าง  อย่าเอาคนคดมาเป็นมิตร  เพราะเขาจะต้องคดโกงสักวันหนึ่งเหมือนกับเราเลี้ยงอสรพิษเอาไว้  ให้อาหารมันก็ตาม  วันไหนไม่ได้อาหารมันต้องกัดคนให้นั่นแหละ  หรือโบราณที่เขาว่า  คนเลี้ยงผีเอาไว้เป็นเพื่อน  ไว้ใช้งาน  แล้วก็ต้องเซ่นอาหารมันทุกวัน  ถ้าวันไหนไม่มีอาหารให้มัน  มันก็จะมาเล่นงานคนเลี้ยงมัน  เลี้ยงผีนี่เสี่ยงมาก  เลี้ยงโจรก็เสี่ยงเหมือนกัน  ถ้าเผื่อมันปล้นที่ไหนไม่ได้  มันก็จะมาปล้นบ้านเรา  ฉะนั้น ก็อย่าเอาคนคดมาเป็นมิตร พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า  ถ้าหาคนที่มีปัญญามาเป็นมิตรไม่ได้  ไม่มีคนดีมีปัญญาเป็นสหายแล้ว  ก็อยู่คนเดียวดีกว่า  อยู่คนเดียว  ไปคนเดียวดีกว่า  สำหรับคนชั่วคนพาลหรือคนคด  บางแห่งพระพุทธเจ้าท่านเปรียบเอาไว้เหมือนกับ งู ที่ตกลงไปในหลุมคูถ  หรือหลุมอุจจาระ  ทั้งเนื้อทั้งตัวมันเปื้อนไปด้วยอุจจาระ  ถ้าเราไปจับมัน  ถ้ามันไม่กัดถึงตายหรือปางตาย  มือเราก็เปื้อนคูถหรือว่าเผลอๆอาจจะได้ทั้งสองอย่าง  คือถูกกัดถึงตายหรือปางตาย  และมือยังเปื้อนคูถด้วย  ท่านก็ให้หลีกคนคดคนพาล  

            ช้างสารอย่าผูกกลางเมือง  ธรรมดาช้างสารย่อมจะพอใจในป่า  ไม่พอใจในเมือง  แม้จะให้อยู่ในเมือง  ปรนเปรออย่างดี  โดยธรรมชาติของช้างไม่พอใจ  มันชอบอยู่ในป่าหรืออยู่ที่สระ  ข้อนี้ฉันใด  ผู้ปฏิบัติธรรมได้ นิพพิทาญาณ คือญาณที่เกี่ยวกับความเบื่อหน่ายในสังขาร  ในนามรูปแล้ว  ย่อมจะไม่พอใจในสังขาร  หน่ายในสังขาร  พอใจในพระนิพพาน  เหมือนช้างสารพอใจในป่า  ไม่พอใจในเมือง 

            ถ้าจะให้เป็นลูกให้เอาไฟสุมต้น  คำว่า ลูก ในที่นี้ หมายถึง มรรค 4  ผล 4 [ คือ  1.โสดาปัตติมรรค  1.โสดาปัตติผล  2.สกิทาคามิมรรค 2.สกิทาคามิผล 3.อนาคามิมรรค 3.อนาคามิผล 4.อรหัตตมรรค 4.อรหัตตผล แล้วจึงจะถึง พระนิพพาน ทั้งหมดนี้รวมเป็น 9 ขั้นด้วยกัน คือ มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1 ]  ส่วนคำว่า ต้น ในที่นี้ก็คือ กิเลส  เอาไฟสุมกิเลส  มีอวิชชา  ตัณหา  อุปทาน  เป็นต้น  ไฟก็คือ สมถกรรมฐาน  หรือ วิปัสสนากรรมฐาน  สำหรับเผาลำต้นคือกิเลส  

            ถ้าจะให้ล่มกลางสายชล จงบรรทุกแต่เบา  นี้เป็น โวหาร ปฏิภาคพจน์   ปฏิภาคพจน์ (Paradox) เป็นวิธีการกล่าวถึงข้อความที่มีความขัดกัน เพื่อให้เป็นเครื่องดึงความสนใจของผู้อ่านอีกวิธีหนึ่ง เพราะความตรงกันข้ามดังกล่าวนี้ อาจจะดูเหมือนว่าไม่น่าเป็นไปได้แต่ก็เป็นไปแล้ว  ถ้าจะให้ล่มกลางสายชล จงบรรทุกแต่เบา นี้เป็น โวหาร ปฏิภาคพจน์ เพราะธรรมดาเรือ ล่มเพราะบรรทุกหนักเพียบเกินอัตรา คำไขปริศนาคือ  ถ้าจะให้ เรือ คือ ตัวเรา นี้ถึง อมตมหานิพพาน  ไม่ต้องแล่นวนเวียนอยู่ในห้วง สังสารวัฏ แล้ว  ก็ให้บรรทุก อกุศล แต่น้อย  ก็ไม่ขวนขวายสะสมทรัพย์ศฤงคารและอกุศล ให้พยายามลดละโยนทิ้ง ทรัพย์ศฤงคารและอกุศลซึ่งเป็นภาระหนัก  เมื่อโยนทิ้ง เรือมันก็เบา  มีพระพุทธภาษิตบางแห่งที่ตรัสว่า  สิญฺจ ภิกฺขุ อิมํ นาวํ  ดูกรภิกษุ  ท่านจงวิดเรือนี้  สิตฺตา เต ลหุเมสฺสติ  เรือที่ท่านวิดแล้วจักถึงเร็ว  ท่านละราคะโทสะโมหะได้แล้ว  จะถึงพระนิพพานโดยเร็ว  เรือคืออัตภาพ  เมื่อวิดเรือแล้วเรือจะถึงเร็ว  เมื่อละราคะ  โทสะ  โมหะ  แล้วก็จะแล่นไปสู่นิพพานได้เร็ว

           ถ้าจะเรียนโหรนั่นเล่า ให้ฆ่าอาจารย์  ทั้ง 4 เสีย  อาจารย์โหราในที่นี้หมายถึง วิชชา 3  คือ บุพเพนิวาสานุสติญาณ  การระลึกชาติหนหลังได้  จุตูปปาตญาณ  คือทิพจักษุ  คือรู้อุบัติและจุติของสัตว์ทั้งหลาย  อาสวักขยญาณ  ญาณที่ทำให้สิ้นกิเลส  นี่ก็ระบุไปถึงการรู้อริยสัจ  ทุกฺเข ญาณํ รู้ในทุกข์ ทุกฺขสมุทเย ญาณํ รู้ในเหตุเกิดแห่งทุกข์ ทุกฺขนิโรเธ ญาณํ รู้ในความดับทุกข์ ทุกฺขนิโรธคามินี ปฏิปทาย ญาณํ รู้ในปฏิปทาทางดำเนินปฏิบัติ ให้ถึงความดับทุกข์  ถ้าจะเรียนโหร นั้นเล่า  หมายถึงวิชชา 3    ให้ฆ่าอาจารย์ทั้ง 4 เสีย หมายถึง อาสวะทั้ง 4  คือ กามาสวะ  อาสวะคือกาม ภวสวะ  อาสวะคือภพ  ความติดในภพ  ความยินดีในภพ  ความอยากเกิดอีก ทิฐาสวะ  อาสวะคือทิฏฐิ  ความเห็นผิดต่างๆ อวิชชาสวะ  อาสวะคืออวิชชา  ความไม่รู้ คือรู้ไม่จริง  ให้ละทิ้ง ทำลายลงเสีย นั่นเอง 

            อาจารย์ทั้ง 4  หรืออีกนัยหนึ่งท่านกล่าวว่า  อาจารย์ทั้ง 4 คือ  โลภะ  โทสะ  โมหะ และมานะ  อาจารย์อย่างนี้ต้องฆ่าเสียเอาไว้ไม่ได้  สอนให้เสียคน  ต้องฆ่าเสีย  แล้วถึงจะเรียนโหร คือวิชชา 3 ได้  นี่เป็นปริศนาธรรมแต่โบราณ

ทางใหญ่อย่าเที่ยวจร  คำแก้ปริศนา คือ กามสุขขัลลิกานุโยค  กับ อัตตกิลมถานุโยค  กามสุขขัลลิกานุโยค  คือการทำตนให้หมกมุ่นพัวพันอยู่ในกามสุข  เพลิดเพลินหลงใหลอยู่ในกามสุข  เกี่ยวกับรูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  เห็นเป็นความสุขที่ยิ่งกว่าความสุขใดๆ  หมกมุ่นพัวพันอยู่จนไม่มีเวลาทำอย่างอื่น   ท่านผู้อ่านล่ะ กำลัง เดินทางสายนี้อยู่หรือเปล่า???

หมายเลขบันทึก: 194427เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2008 00:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 08:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีครับพี่โย่งนอนดึกนะครับ อ่านธรรมก่อนนอน แล้วขอฝันดีนะครับ

สวัสดีวันหยุดค่ะคุณกวิน

  • อ่านแล้วได้ความรู้มากมายเลยค่ะ...แต่ยังไม่ค่อยเข้าใจศัพท์ต่าง ๆ  มากนัก พยายามเรียนรู้ค่ะ ...คิดไปก็ละอายแก่ใจค่ะ เพราะเป็นชาวพุทธ แต่รู้เรื่องทางพระพุทธศาสนาน้อยมากเลย เที่ยวไปเรียนแนวคิด ทฤษฎีต่าง ๆ มากมาย ไม่ค่อยรู้จักศัพท์แสงในศาสนาของตัวบ้างเลย
  • ได้ความรู้เรื่อง...ปฏิภาคพจน์ (Paradox) เป็นวิธีการกล่าวถึงข้อความที่มีความขัดกัน เพื่อให้เป็นเครื่องดึงความสนใจของผู้อ่านอีกวิธีหนึ่ง เพราะความตรงกันข้ามดังกล่าวนี้ อาจจะดูเหมือนว่าไม่น่าเป็นไปได้แต่ก็เป็นไปแล้ว  ได้เรียนรู้มาบ้างตอนฝึกเขียนและเล่าเรื่องในวิชาการนำเสนอข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ (Presenting) เป็น Story telling 
  • ความจริงการใช้ Paradox นี้เหมือนการล่อหลอกให้เกิดความสนใจ จากนั้นก็ใช้วิธีหักมุม...นั่นเอง...
  • ขอบคุณสำหรับ..ธรรมะ..ในวันอาสาฬหบูชาค่ะ
  • คุณน้องกวิน..
  • ขอบคุณที่นำเอาธรรมะดีๆมาฝากในวันสำคัญทางศาสนาเช่นนี้
  • พี่และครอบครัวไปทำบุญที่วัด..เอาบุญมาฝากดวยค่ะ..
  • คำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า...ทันสมัยเสมอ สืบตั้งแต่ครั้งพุทธกาลเป็นต้นมา....พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า
  • ถ้าหาคนที่มีปัญญามาเป็นมิตรไม่ได้ ไม่มีคนดีมีปัญญาเป็นสหายแล้ว ก็อยู่คนเดียวดีกว่า อยู่คนเดียว ไปคนเดียวดีกว่า ...เป็นเพือนที่ดีให้กับตนเองเป็นเช่นนี้อย่างแน่นอน..สาธุ....

สวัสดีอาจารย์พรรณาครับ ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท