ลอกข่าว บอระเพ็ด จาก วช เผยแพร่ต่อ


ด้วยมีประสบการณ์และชอบใช้ บอระเพ็ด แบบระมัดระวัง

จึงเคยเสนอ ยุทธศาสตร์ บอระเพ็ดกู้ชาติ  วันนี้ ลองกดgoogle กับ บอระเพ็ด  ได้ข่าวงานวิจัย ของ บอระเพ็ด จาก สภาวิจัยแห่งชาติ ( เม.ย.2546 )  ดังนี้

http://www.nrct.go.th/2008/modules.php?op=modload&name=News&file=article&sid=425

นักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิจัยบอระเพ็ด มีสารกลุ่มอัลคาลอยด์ช่วยเพิ่มแรงบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจห้องบนขวาและซ้ายได้ดี แต่ไม่เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ช่วยลดน้ำตาลในเลือด โบราณใช้เป็นยาอายุวัฒนะ เร่งวิจัยเพื่อผลิตเป็นยาเสริมการรักษาโรคหัวใจและเบาหวาน ขณะนี้กำลังศึกษาพิษเรื้อรังหลังทดสอบในหนูไม่พบพิษเฉียบพลันแนะปลูกบอระเพ็ดไว้รับประทานเองในบ้าน

รศ.ดร.งามผ่อง คงคาทิพย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า บอระเพ็ด เป็นสมุนไพรไทยที่รู้จักดีในแทบทุกภูมิภาคของไทย เป็นไม้เถา โดยเถามีสีเทาแกมเหลืองและเป็นปุ่มขรุขระ เปลือกของเถาบาง ลอกออกได้ ลักษณะใบค่อนข้างยาว ฐานใบรูปหัวใจ ดอกมีขนาดเล็กสีเขียวอมเหลือง ผลค่อนข้างกลมสีเหลืองหรือแดง แพทย์แผนโบราณใช้บอระเพ็ดเป็นส่วนประกอบในการปรุงยารักษาโรค อาทิ ใช้ลำต้น รากและใบ ปรุงเป็นยารักษาอาการดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ เป็นยาเจริญอาหาร รักษาโรคผิวหนัง รักษาโรคเบาหวาน ใช้ดอกปรุงเป็นยาขับพยาธิในท้อง และใช้ผลปรุงเป็นยาขับเสมหะ คนโบราณใช้บอระเพ็ดเป็นยาอายุวัฒนะ บางคนรับประทานทุกวันเพื่อให้อายุยืน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้บอระเพ็ดมีสรรพคุณหลากหลาย แต่ยังมีการศึกษาทางด้านเภสัชวิทยาน้อยมาก จึงได้ทำการศึกษาแยกและทดสอบสารลดความดันโลหิตจากบอระเพ็ด โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) จากการวิจัยได้แยกสารสกัดหยาบและสารบริสุทธิ์จากบอระเพ็ดเพื่อใช้ศึกษาถึงการออกฤทธิ์ของกล้ามเนื้อหัวใจและความดันโลหิตพบว่า ปริมาณสารอัลคาลอยด์ เอ็น-ฟอร์มิลนอร์นูซิเฟอรีน ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์เพิ่มแรงบีบตัวของหัวใจด้านบนขวาและบนซ้ายนั้น พบในบอระเพ็ดจากแหล่งต่างๆ ไม่เท่ากัน โดยพบว่า บอระเพ็ดที่ได้จากจังหวัดสุพรรณบุรี จะมีปริมาณสารอัลคาลอยด์ เอ็น-ฟอร์มิลนอร์นูซิเฟอรีน สูงกว่าบอระเพ็ดที่ได้จากจังหวัดปราจีนบุรีและนครปฐม

“ลำต้นแก่จะมีสารกลุ่มอัลคาลอยด์มากกว่าลำต้นอ่อน จะช่วยเพิ่มแรงบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจห้องบนขวาและซ้ายได้ดี ขณะเดียวกันไม่เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งปกติยารักษาโรคหัวใจจะเพิ่มทั้งแรงบีบตัวกล้ามเนื้อหัวใจและอัตราการเต้นของหัวใจด้วย ดังนั้น ถ้าได้ยาที่ไม่เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจจะเป็นยาที่ดีกว่ายารักษาโรคหัวใจที่มีอยู่ปัจจุบัน” รศ.ดร.งามผ่อง กล่าว

นอกจากนี้ บอระเพ็ด ยังมีรายงานว่า ช่วยลดน้ำตาลในเลือดและลดความดันโลหิต ซึ่งได้รับทุนจาก สกว.ทำการศึกษาวิจัยว่าบอระเพ็ดลดน้ำตาลในเลือดได้อย่างไร เพื่อนำบอระเพ็ดมาทำยารักษาโรคเบาหวานต่อไป ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า บอระเพ็ดทุกแหล่งออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดใกล้เคียงกัน สรุปผลการศึกษาได้ว่า บอระเพ็ดใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ สามารถลดความดันโลหิตได้ ส่วนการลดน้ำตาลในเลือดก็ใช้ได้ดี สำหรับเป้าหมายของการวิจัยได้ตั้งไว้ว่า จะผลิตบอระเพ็ดเป็นยาเสริมในการรักษาโรคหัวใจและเบาหวาน แต่กำลังทดสอบความเป็นพิษของบอระเพ็ดว่า หากรับประทานบอระเพ็ดต่อเนื่องจะมีผลอะไรหรือไม่ เบื้องต้นให้หนูกินบอระเพ็ด ๒๐ กรัมต่อ ๑ กิโลกรัมของน้ำหนักหนู พบว่าไม่มีความเป็นพิษ แต่ในส่วนของพิษเรื้อรังกำลังทำการศึกษา ทั้งนี้ การวิจัยเรื่องบอระเพ็ด ได้ทำวิจัยร่วมกับหลายมหาวิทยาลัยคือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กระทรวงสาธารณสุขและคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

รศ.ดร.งามผ่อง กล่าวถึงวิธีรับประทานบอระเพ็ดว่า ให้นำต้นบอระเพ็ดตากแห้ง บดให้ละเอียดใส่ในแคปซูลหรือผสมน้ำผึ้งเล็กน้อยแล้วปั้นเป็นลูกกลอนรับประทานวันละ ๑-๒ เม็ด หรือนำบอระเพ็ดมาเชื่อมแบบเดียวกับการทำกล้วยเชื่อม ทั้งนี้ บอระเพ็ดปลูกได้ง่าย ใช้พื้นที่ไม่มากจึงอยากสนับสนุนให้ปลูกบอระเพ็ดไว้ที่บ้านเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ วิธีการปลูกที่เหมาะสมคือ การปักชำ โดยตัดลำต้นบอระเพ็ดแก่ที่มีอายุประมาณ ๑ ปีขึ้นไปให้ยาวท่อนละประมาณ ๒-๓ นิ้ว แล้วเอาโคนต้นปักลงในดิน ให้เอียง ๔๕ องศาและลึกประมาณ ๑-๑.๕ นิ้ว และต้องหาหลักให้ลำต้นบอระเพ็ดสามารถยึดเกาะได้ด้วย อาจจะปลูกตามรั้วหรือใต้ต้นไม้ใหญ่ ข้อดีคือไม่มีหนอนหรือแมลงมารบกวน ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง

ที่มา : สำนักข่าวไทย

เรื่อง ลดน้ำตาลด้วย บอระเพ็ด ผลการวิจัยยังขัดแย้งกันอยู่ บางรายงานว่าใช้ได้  บางรายงานก็ว่า ใช้ไม่ได้ผล

ผู้อ่าน พึงใคร่ครวญให้รอบคอบ ก่อนจะเชื่อ

ส่วนผมสนับสนุน เขา ในเรื่องของ การมีบอระเพ็ด ประจำบ้าน และ ประจำชุมชน  ประจำสถานบริการ

ทุกวันนี้ ผมมีอาการหลงบอระเพ็ด ชนิดว่า จะให้ผมไปตรวจคนไข้ที่ไหนสักแห่ง   ผมต้องมั่นใจว่า มีบอระเพ็ดใช้กับผู้ป่วย   มิฉะนั้นผมเสียความเชื่อมั่น ยาม พบคนไข้แล้วไม่มีบอระเพ็ดใช้  ผมนั่งตรวจ คนไข้ใน รพ.ใหญ่ พบผู้ป่วยเสมอๆ ที่มารักษาแบบไข้ติดเชื้อไวรัสเฉียบพลัน แล้วบอกว่า ได้ยาจากสถานีอนามัย หรือ ซื้อยาพาราเซททานมา สองสามวันไม่ทุเลา   

         หากเราไม่มีบอระเพ็ดใช้ ก็ให้ยาพาราเซท อีก เสียท่า    และส่วนใหญ่เมื่อเปลี่ยนให้บอระเพ็ด แล้วลองติดตามอาการผป. ส่วนใหญ่ จะทุเลาไข้เป็นที่พอใจ กว่า การทานยาพาราเซท 

        ข้อเสียของบอระเพ็ด แต่ยอมรับได้คือ ราคาแพงกว่า พาราเซท  และ ต้องทานจำนวนเม็ดยาที่มากกว่า

ผู้เรียนรู้รุ่นหลัง

หมายเลขบันทึก: 268410เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2009 23:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ดีใจจังได้เห็นรูปคุณหมอโชคตัวจริงเสียทีค่ะ

รสของบอระเพ็ดนี่เคยชิมครั้งเดียวสมัยเด็กๆที่อยู่กับคุณย่า เข็ดมาถึงปัจจุบันเลยค่ะ รสเขาขมกว่าฟ้าทะลายโจรไหมคะ ตอนนี้ชักจะนึกไม่ออกแล้วรู้แต่ว่าเข็ดค่ะ วันหลังต้องหามาลองใช้ลดไข้ดูบ้างแล้วค่ะ จะหาซื้อได้ที่ไหนบ้างคะ 

สำหรับ คุณโอ๋ หากยังนิยม นอนดึก ให้กินบอระเพ็ด ทุกวัน เพื่อ องค์รวม ของชีวิต

สู้ๆ ก็เปลี่ยนจาก ชักจะนึกไม่ออก พอรู้สรรพคุณ ก็ กลายเป็น ชักจะไม่ขม ( เพราะกินยาเม็ด สำเร็จรูป )

จำได้มั้ย นอนดึก หัวใจเสื่อม แล้วเชื่อมั้ยว่า บอระเพ็ด ช่วยหัวใจได้บ้าง

แต่กินระวัง พอประมาณน่ะครับ

ส่งชายหนุ่ม มาขอรับแทน อาจจะได้น่ะครับ เขาสนิทดีกันกับผม

ถ้าอยากลดควารมขมของบอรเพ็ดให้ลดลงต้องทำยังไง

ทำโครงงานเรื่องนี้ สุดเอียนกับความขม

ช่วยบอกวิธีลดความขมหน่อยนะครับ

ขอบคุณครับ

นานๆ เจอ ผู้ชาย กลัวความขม แล้วไปทำสิ่งที่ฝืนธรรมชาติ คุณต้องมีกำลัง บารมี สติปัญญา มาก ๆ จะลดความขมของบอระเพ็ด แล้วให้คงมีฤทธิ์ สรรพคุณ ความเป็นยา

คงพอพอ กับ ความคิด ที่จะทำ ไฟให้เย็น

ผมมีความรู้ ไมมากพอ ครับ

บอระเพ็ด ควรทำเป็นยา เป็นเม็ด ไม่น่าจะคิดทำเป็นขนม หรือ อาหารเลิศรส

น่าจะคิดทำโครงการอื่น เช่น ใช้ประโยชน์ บอระเพ็ด ทั้งที่ขมๆ ได้อย่างไรบ้าง

อยากทราบว่า

มีงานวิจัยอื่นๆๆ

ทีเกี่ยวข้องกับบอระเพ็ดอีกไหมค่ะ

อยากรู้รายละเอียดมากๆๆเลยค่ะ

ช่วยตอบหน่อยนะค่ะ

เป็นไวรัสตับอักเสบบี เรื้องรัง กินบอระเพ็ดแล้วจะทำให้เกิดผลข้างเคียงหรือเปล่าครับ

วิธีลดความขมบอระเพ็ด ง่ายมากครับ กินกับมะเขือพวง เคี้ยวมะเขือพวงให้พอมีเมือกออกมาก่อนอย่าเพิ่งกลืน แล้วค่อยเอาบอระเพ็ดเข้าปากตามทีหลัง

แต่ไม่รู้ว่าเมื่อบอระเพ็ดไม่ขมแล้วจะยังคงสรรพคุณอยู่หรือเปล่านะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท