เป้าหมายสู่คนไทย อ่านหนังสือ 12 บรรทัดต่อวัน


จังหวะก้าวหนึ่ง ในการผลักดัน ภายใต้งานมหกรรมนักอ่าน ตั้งเป้าหมายให้คนไทย เพิ่มการอ่านจาก 7 บรรทัด สู่ 12 บรรทัดต่อวัน

 

 

 

อ้างอิงข้อมูลการรายงานข่าว

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9500000068520

นางจรวยพร ธรณินทร์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2546 คนไทยอ่านหนังสือ 7 บรรทัดต่อคนต่อวัน แต่หลังจากที่ทุกฝ่ายจัดกิจกรรมกระตุ้นให้เด็ก เยาวชน รักการอ่านผ่านกิจกรรมต่างๆ พบว่าปี 2550 คนไทยมีนิสัยรักการอ่านดีขึ้นร้อยละ 7 โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนอ่านหนังสือมากขึ้น แต่ ศธ.ยังไม่ได้ตีค่าออกมาว่าคนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นเป็นวันละกี่บรรทัด แต่ ศธ.ตั้งเป้าไว้ที่12 บรรทัดต่อวัน

คำถาม

เมื่อเห็นรายงานข่าวต่อเป้าหมาย และ จังหวะก้าวที่ เรากำลังผลักดัน

ได้แต่ตั้งคำถาม ต่อ หนทางและจังหวะของการพัฒนาในประเทศไทย

 

ในแง่ของมุมมองการเรียนรู้ โดยมีส่วนหนึ่งขององค์ประกอบพื้นฐานในการเรียนรู้  ที่เกิดขึ้นจากการอ่าน โดยมิได้เกี่ยวข้องกับการตำหนิติเตียน หรือ ประณามผู้ปฏิบัติงาน และการกำลังปฏิบัติภารกิจที่สำคัญ เพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดทางออก หรือผลักดันหนทางสู่เป้าหมายดังกล่าว เพียงแต่ ความรู้สึกเหนื่อยใจ ในแต่ละก้าวที่ช้าและยากลำบาก และรู้สึกเหน็ดเหนื่อยแทนผู้ปฏิบัติงาน ที่ต้องพยายามอีกมาก ในการสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

 

เป็นหนึ่งข่าวสาร ท่ามกลางภาพสะท้อนของความพยายาม ว่าเรายังต้องพยายามกันอีกมาก สำหรับเป้าหมายในระยะไกล ของบุคลากรด้านการศึกษา ที่กำลังทุ่มเท และกำลังพยายาม ที่จะสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

 

เป็นเป้าหมายระยะสั้น ที่ชวนเหนื่อยใจ ในจังหวะก้าวของการพัฒนาการศึกษาได้มิใช่น้อย เราคงได้แต่ช่วยกัน และสร้างสรรค์ให้เกิดการอ่านที่เป็นจริงเป็นจังได้มากกว่านี้

หมายเลขบันทึก: 103035เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2007 15:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

สวัสดีค่ะคุณ Kati

 ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2546 คนไทยอ่านหนังสือ 7 บรรทัดต่อคนต่อวัน แต่หลังจากที่ทุกฝ่ายจัดกิจกรรมกระตุ้นให้เด็ก เยาวชน รักการอ่านผ่านกิจกรรมต่างๆ พบว่าปี 2550 คนไทยมีนิสัยรักการอ่านดีขึ้นร้อยละ 7 โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนอ่านหนังสือมากขึ้น แต่ ศธ.ยังไม่ได้ตีค่าออกมาว่าคนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นเป็นวันละกี่บรรทัด แต่ ศธ.ตั้งเป้าไว้ที่12 บรรทัดต่อวัน

คนละ 12 บรรทัดต่อวัน ! บนเส้นทางยาวไกล 4 ปีเพิ่มขึ้น 7 เปอร์เซนต์...พูดไม่ออก

งั้นวันนี้เบิร์ดก็อ่านเกินแล้วสิคะเพราะบันทึกคุณ Kati มี 19 บรรทัด ^ ^

ขอบคุณมากค่ะสำหรับข้อมูลดีๆ

 

  • สวัสดีครับ คุณ
    P
  • เข้าใจครับ เข้าใจ แต่ไม่รู้จะตอบอย่างไร
  • สำหรับเส้นทางอันยาวไกล ตลอดระยะเวลา 4 ปี
  • ในการผลักดัน ที่จะให้เยาวชน ให้เด็กไทย ได้มีวัฒนธรรมการอ่าน ที่แข็งแกร่ง เป็นเกราะคุ้มครอง และสร้างสรรค์องค์ความรู้ในสังคมไทย
  • ทั้งน่ารันทดใจ และน่าหวาดหวั่นครับ
  • โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับคนที่หลงรักการอ่าน ชื่นชม ชื่นชอบ และให้เกียรติต่อการอ่าน
  • ว่าการอ่าน เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน ที่เข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น และเข้าใจสังคมได้มากขึ้น
  • คงต้องให้กำลังใจ ภาวนา และสนับสนุน ในแต่ละหนทาง
  • หรือจะช่วยกันคนละนิดคนละหน่อย คนละเล็กคนละน้อย
  • ในทุกหนทาง ที่เชื่อว่า จะสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในประเทศไทยให้ได้
  • คงต้องช่วยกันจริงๆครับ
  • ให้กำลังใจ และช่วยกันสนับสนุน
  • จะทางตรง ทางอ้อม ทางขนาน ก็ต้องช่วยกันครับ
  • ขอบคุณมากครับ สำหรับความคิดเห็น
  • ขอบคุณ และ เข้าใจความรู้สึกอันเหนื่อยใจจริงๆ
  • น่าตกใจกับสถิติที่รายงานข้างต้นนะครับ
  • ผมเองในวัยศึกษา มีความจำเป็นต้องหยุดเรียน พักหนึ่งเพราะฐานะ ทางเศรษฐกิจและเริ่มเรียน อีกครั้งเมื่อได้งานทำ
  • แต่ในช่วงที่จำเป็นต้องหยุดพักการเรียนนั้น ชีวิตผมไม่เคยหยุดอ่าน ผมอ่านทุกอย่างที่มี ให้อ่าน มีเงินก็ซื้อหนังสือ ไม่มีเงินก็ไปอ่านที่ ห้องสมุดประชาชนครับ
  • สำหรับผมแล้วต้องขอบคุณพระเจ้าที่ดลใจให้ผม ได้เรียนรู้เรื่องนี้
  • จำได้ว่าตอนนั้นผมย้ายมาจากท่าสาปบ้านเกิดมาเรียน ที่โรงเรียนเทศบาล 1 (บ้านสะเตง) ตำบลเล็กๆในจังหวัด ยะลาในชั้นประถม ศึกษาปีที่ 1 ผลการสอบ ปลายปีผมสอบได้ที่ 11 ครับ ดูเหมื่อนผม จะร้องไห้กับผล สอบ หลังจากนั้นผมจะคอย สังเกตว่า คนสอบได้ที่ 1 ของห้องเธอทำ อย่างไร จึงสอบได้ที่ 1 สิ่งที่ผมพบขณะนั้น (ตามการสังเกตของผม-จะ ถือเป็นการวิจัยได้ไหมนี่) คือเธอคนนั้นชอบไป อ่านหนังสือที่ห้องสมุดครับ
  • อ้า...อ่านหนังสือนี่เองคือ "คำตอบ"
  • และแล้วผมก็เริ่มอ่านหนังสือมาตั้งแต่นั้นมาครับ
  • ขอบคุณคุณkati มากครับที่ได้กระตุ้นเตือนผม ให้ระลึกถึงเรื่องนี้ครับ
  • สวัสดีครับ
    P
  • น่าตระหนกตกใจจริงๆ ครับ กับสถิติข้างต้น
  • สำหรับผู้คนที่อยู่ในแวดวงการศึกษา ยิ่งต้องตกใจ และตระหนักครับ ว่าการศึกษาของเรา ไม่ได้กระตุ้นให้เด็กของเรารักการอ่านหนังสือ
  • ทั้งๆที่เป็นหัวใจสำคัญของชีวิต
  • หัวใจสำคัญ ของการเรียนรู้ ในย่างก้าวของชีวิต
  • บ่อยครั้งที่เราไม่พึงพอใจที่จะถูกใครทั่วไปตำหนิติเตียน บ่อยครั้งที่เรากลับพบว่า หากเราได้อ่านคำตำหนิติเตียน จากข้อเขียน ที่ไม่จำเพาะเจาะจงถึงเรา แต่มันกลับสะท้อนหลายสิ่งหลายอย่างในสิ่งที่เราควรแก้ไข เราก็มักจะปรับตัวให้กระทำ ด้วยเพราะละอายใจ
  • มิติของการอ่าน เป็นมิติที่เพิ่มเติมนอกเหนือ จากการฟัง การคิด การเฝ้ามอง สังเกตุ
  • มิติของการอ่าน เป็นการฝึกหนทางในการนิ่ง ลำดับเรื่องราว ถอดความหมาย ตีความ และเดินทางไปในโลกแห่งความเงียบอันงดงาม แต่โดดเดี่ยว
  • มิติของการอ่าน ทำให้เรา ถ่ายทอดความคิดเห็น ความรู้สึก ภูมิปัญญา ภูมิธรรม จากผู้คนมากมายบนโลกใบนี้ ที่ได้เดินทางก้าวล่วงผ่านเราไป แล้วถ่ายทอดเรื่องราว บันทึกเป็นอักขระอักษร รอคอยให้เราหยิบจับเรียนรู้
  • ยิ่งเห็นตัวเลข ก็ยิ่งรันทดใจครับ
  • คงต้องสร้างในทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อให้วัฒนธรรมการอ่าน เติบโตได้อย่างเข้มแข็งมากขึ้นในสังคมไทยครับ
  • เพราะเมื่อ วัฒนธรรมการอ่านเข้มแข็ง เราจะจดจำบทเรียนที่ไม่ควรผิดพลาดได้ดียิ่งขึ้นครับ
  • ขอบคุณเช่นเดียวกันครับ สำหรับบทเรียนที่ดี ของ อ.อาลัม ที่นำมาบอกเล่า ถึงประสบการณ์และวันเวลาในชีวิตที่สัมพันธ์กับโลกการอ่าน
  • ขอบคุณมากครับ
  • สวัสดีครับ
  • รายงานข่าว สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ระบุ ว่า การจัดงานมหกรรม มีผู้เข้าร่วมงาน จำนวนกว่า 2 แสนคน
  • คำนวนว่า ในวันสุดท้าย มีผู้เข้าร่วมงาน 5 หมื่นคน
  • แต่ยังไม่มีตัวเลข ของจำนวนผู้อ่านหนังสือ ที่จะเพิ่มขึ้น ไม่มีตัวเลขของจำนวนการบริโภคกระดาษ บริโภคหนังสือที่จะเพิ่มขึ้นของคนไทย
  • นอกเหนือจากปรบมือ เสียงดัง ให้กับคณะทำงาน คณะผู้จัดงาน มหกรรมนักอ่าน
  • เราคงต้องช่วยกันมากขึ้นกว่านี้
  • สำหรับบรรยากาศ และเรื่องราวในการจัดงานมหกรรมนักอ่าน และ วัฒนธรรมการอ่าน ที่เข้มแข็งเพิ่มขึ้นของคนไทย

ผมเข้าใจว่าทุกวันนี้

เราดูทีวีกันมาก

คุยโทรศัพท์กันนาน

เล่นเกมส์กันอย่างเอาเป็นเอาตาย

จนเหลือเวลาอ่านหนังสือน้อยลงทุกที

  • สวัสดีครับ คุณ
    P
  • เป็นประเด็นตั้งต้นที่น่าสนใจครับ
  • กับวันเวลาของชีวิต
  • และวันเวลาที่หมดไปกับกิจกรรมมากมายของชีวิต
  • จนกระทั่ง ลดทอน เวลาในการอ่านหนังสือ ให้น้อยลงไปทุกที
  • เห็นด้วย พร้อมกับคำถามจริงๆ ครับ
  • เป็นคำถามเฉพาะตัว เฉพาะคน จริงๆครับ
  • สุดท้ายแล้ว แต่ละคน จะเป็นผู้กำหนด ผู้เลือกจัดสรรเวลา สำหรับแต่ละกิจกรรมในชีวิต
  • ดังนั้น ความพยายามไปสู่คำตอบ ก็จะวนกลับมาที่ตัวคน เช่นเดียวกันครับ
  • ว่าแต่ละคนนั้น เลือกจะหยิบจับเวลา เพื่อนำมาหยิบจับหนังสือ พลิกแต่ละหน้าเพืออ่าน ได้อย่างไร เช่นไร และด้วยการใช้สอยแบบใด
  • ผมนำเสนอนะครับ
  • ลึกๆ แล้ว คนเราก็เลือกจะมีความสุขในแต่ละขณะของชีวิต
  • หากรู้สึกเพลินเพลินบันเทิงใจเมื่อดูทีวี
  • รู้สึกไม่เปลี่ยวเหงา เมื่อคุยโทรศัพท์
  • รู้สึกจริงจัง ตื่นเต้น ท้าทาย ในการเล่นเกมส์
  • ก็เช่นเดียวกันครับ
  • สำหรับผู้หลงรัก หลงใหลหนังสือ
  • หนังสือ มีทั้งอย่างอยู่ภายในนั้นจริงครับ
  • ยากลำบากตรงนี้ แต่ละคนจะมีโอกาสค้นหา ความเพลิดเพลินบันเทิงใจ ความไม่เปลี่ยวเหงา ความจริงจัง ตื่นเต้น ท้าทาย ในการอ่านหนังสือได้อย่างไร
  • สุดท้าย ล้วนเป็นเรื่องความสุข จริงๆ ครับ
  • ว่า แต่ละคนจะมีความสุขจากการได้อ่าน ด้วยประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคน ได้มากน้อยเพียงใด
  • สุดท้าย ก็วนกลับมาที่เหตุผล ส่วนตน จริงๆครับ
  • อธิบายยาวมากครับ
  • ต้องขอบคุณครับ สำหรับความคิดเห็นของคุณแผ่นดิน และข้อสังเกตุ ในการแย่งชิงเวลาของการอ่าน และเวลาของหนังสือ จากชีวิตเรา
  • น่าคิดต่อเนื่องครับ
  • ขอบคุณมากครับ คุณแผ่นดิน
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ

ด้วยความเคารพครับ ผมไม่คิดว่าจุดสำคัญอยู่ที่อ่านหนังสือได้กี่บรรทัดต่อวันครับ แต่ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่ว่า เราได้อะไรจากตัวหนังสือที่โลดแล่น ตัวอักษรทุกตัวอักษรที่เต้นระบำจากเจ็ดบรรทัดที่เราอ่านมากกว่าครับ

ผมคิดว่าหนังสือนั้นดีกว่าโทรทัศน์ตรงที่หนังสือนั้นเป็นตัวฝึกจินตนาการที่ดีกว่าโทรทัศน์ครับ ในเมื่อหนังสือนั้นเป็นตัวฝึกจินตนาการที่ดีกว่า คำถามคือแล้วเราได้อะไรจากตัวหนังสือ มากกว่าอ่านหนังสือกี่บรรทัดนะครับ เพียงแต่ว่าตรงนี้นั้นมันวัดยากกันซะหน่อยครับ 

มันเหมือนกับว่า ถ้าเราอ่านแค่เจ็ดบรรทัด แต่เราสามารถเอาเจ็ดบรรทัดนี้ไปใช้ได้ มันก็น่าจะมีค่ามากกว่า อ่านร้อยบรรทัด แต่เอาไปใช้ได้แค่ สิบบรรทัดไม่ใช่หรือครับ  

  • สวัสดีครับ คุณ
    P
  • ประเด็นตัวตั้งของความคิดเห็น น่าสนใจมากครับ
  • "ถ้าเราอ่านแค่เจ็ดบรรทัด แต่เราสามารถเอาเจ็ดบรรทัดนี้ไปใช้ได้ มันก็น่าจะมีค่ามากกว่า อ่านร้อยบรรทัด แต่เอาไปใช้ได้แค่ สิบบรรทัดไม่ใช่หรือครับ"  
  • กับประเด็นที่ว่า 
  • "ผมไม่คิดว่าจุดสำคัญอยู่ที่อ่านหนังสือได้กี่บรรทัดต่อวันครับ แต่ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่ว่า เราได้อะไรจากตัวหนังสือที่โลดแล่น ตัวอักษรทุกตัวอักษรที่เต้นระบำจากเจ็ดบรรทัดที่เราอ่านมากกว่าครับ"
  • มองได้หลายมุมครับ สำหรับ ความงดงามของสวยดอกไม้
  • ในแปลงดอกไม้ ล้วนละลานตา และเบ่งบาน ด้วยความงดงาม มีสีสันที่แตกต่าง หลากหลาย จึงทำให้ความงดงามเปล่งประกายออกมา
  • ด้วยเพราะดอกไม้ ไม่เหมือนกัน ดังนั้น คำตอบจึงกลายเป็นตัวต้นที่หลากหลาย
  • เช่นเดียวกับหนทาง ในการผลักดันให้เกิดการอ่าน
  • มองได้ทั้ง 2 มุม จนกระทั่งถึงมุมคณานับ ครับ
  • ถ้ามองแบบผู้ทำงานเชิงนโยบาย ผู้กำกับนโยบายสาธารณะ ประมวลผล วัดผล และกำกับการบริหารงาน ด้วยหน่วยชี้วัด
  • ความสำคัญของ จำนวนการอ่าน ที่พยายามทำให้เรื่องที่จับต้องไม่ได้ ให้จับต้องได้ จึงเกิดขึ้น
  • จะมองแบบเชิงปริมาณก็ได้
  • ทีนี้ หากมองเชิงคุณภาพ หัวใจของการเก็บร้อยเรื่องราว ผลักดัน หยิบจับ ใช้สอย เก็บเกี่ยวสิ่งที่ได้รับจากการอ่าน แม้เพียงน้อยนิด ก็เพียงพอที่จะบรรลุ
  • ดุจ อาจารย์เซน ตอบไหล่ศิษย์ แล้วศิษย์ตอบว่า ขอบพระคุณ เข้าใจแล้ว
  • แต่ก็อย่ากระนั้นเลย ความหมาย เชิงคุณภาพ เช่นนี้ จำเป็นต้องมีกระบวนการฝึกฝนที่เข้มข้น หรือมีรูปแบบ ในการฉุกคิดได้ จะฉับพลันในการสร้างสรรค์เช่นไรนั้น ก็ประเมินกันยาก
  • แต่เข้าใจครับ
  • เข้าใจว่า เป็นมุมมองที่ดี และน่าสนใจมาก
  • แต่โดยส่วนตัวผม ในวิชาชีพ ในตัวตน ในความรัก ความฝัน และความชื่นชอบที่มีต่อหนังสือและการอ่าน ซึ่งให้ทุกอย่างกับชีวิตผม
  • ผมกลับมอง การเก็บเกี่ยว สะสม สั่งสม เรียนรู้เรื่องราวจากหนังสือ เหมือนการเดินทางครับ โดยเฉพาะมุมมองที่ว่า ยิ่งเดินทางมาก ยิ่งเข้าใจมนุษย์ เข้าใจโลก และที่สำคัญ เข้าใจตนเอง
  • ผมจึงคล้อยในเหตุผล ของการอ่าน สั่งสม เพื่อคัดสรร และคัดกรอง
  • อาจด้วยพื้นฐานส่วนตัว และต้องการเข้าใจมุมมองใหม่ๆ ดังนั้น จึงค่อนข้างให้ความสำคัญ การเรียนรู้ผ่านการอ่าน จะให้เหตุผลแบบกำปั้นทุบดิน ก็จะต้องอธิบายว่า ยิ่งมากยิ่งดี ไม่หมดลมหายใจ ยังไม่เลิกอ่าน เสมือนหนึ่งลมหายใจกับการอ่าน เป็นเรื่องเดียวกัน
  • การกิน เกิดขึ้นในท่ามกลางความหิวของท้อง
  • เช่นเดียวกันครับ เวลาที่ผมหิวความคิด อยากได้อาหาร ยามที่สมองบอกว่า หิวแล้ว ก็จึงเกิดขึ้น
  • ประเด็นและมุมมอง ของคุณ ไปอ่านหนังสือ น่าสนใจมากครับ
  • เพียงแต่ เหตุผลในการกำกับ ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยเฉพาะในประเด็นของการสร้างวัฒนธรรมการอ่าน ให้กับเยาวชนของเรา เป็นประเด็นที่ยากลำบากจริงๆครับ
  • อ่านเพียงนิด ได้แรงบันดาลใจ เกิดความคิด ก็เป็นเรื่องจริง
  • เพียงแต่มุมมองของผม ต่อการอ่าน คือเมื่อได้อ่าน จึงได้คิด หรือคิดได้อ่านได้พร้อมกัน เมื่อคิดได้ ก็แก้ปัญหาได้
  • เมื่ออยู่ท่ามกลางความหลากหลายของบรรทัด มีแนวทางที่มากมายเพิ่มขึ้น มีหนังสือต่างแนวคิด อ่านมากผู้คน อ่านมากเรื่องราว ก็ช่วยให้เกิดความหลากหลายในการคิด เมื่อมีตัวเลือกที่หลากหลายมากมาย ก็ช่วยให้หยิบจับ ใช้วิธีการที่จะแก้ไข ได้หลากหลายละลานตา ละลานใจ
  • อันนี้ ก็เป็นมุมมองหนึ่งครับ อ่านมาก สั่งสมมาก เกิดความหลากหลายมาก เลือกหนทางคิดได้มาก เลือกหนทางปฏิบัติแก้ไขในชีวิต ก็ได้เยอะขึ้น
  • สุดท้าย ผมก็ยังยืนยัน ในเชิงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะครับ
  • แม้จะไม่เห็นด้วยกับตัวชี้วัด ในระดับบรรทัดการอ่าน ระดับการบริโภคกระดาษต่อคนต่อปี ก็ตาม
  • แต่ก็ยังหากระบวนคิดที่โดดเด่น และมีทางออกได้มากกว่านี้
  • เท่ากับมุมมองของการสั่งสม อ่านแบบมหายาน ยานลำใหญ่ ไปด้วยกัน ไปกันทั้งหมด สั่งสมทางเลือก อ่านความหลากหลาย เกิดความคิด เกิดแรงบันดาลใจ อ่านมาก แตกแขนงรากความคิดย่อยได้เยอะ ก็เป็นมุมมองที่คิดมานานว่า ประมาณนี้ สำหรับการเลือกเหตุผลในการหาอ่าน หาสั่งสมความคิดจากการอ่าน
  • แต่ก็ยังยืนยันในหลักการครับ
  • จะอ่านมากอ่านน้อย เป้าหมาย สุดท้ายคือได้คิด
  • ดังนั้น หนทาง ไม่ใช่สาระของการเดินทางครับ เป้าหมาย และรายละเอียดในการไปถึง
  • สำคัญมากครับ
  • ส่วนในเหตุผล ของ คุณไปอ่านหนังสือ ผมก็เชื่อครับ สำหรับพลังของการอ่านเจ็ดบรรทัด เชื่อว่ามีจริง
  • ซึ่งเป็นหนึ่งหนทางในการก้าวย่าง ค้นหา สู่ภูมิธรรม และภูมิปัญญาของมนุษย์เช่นกันครับ
  • ขอบคุณมากครับ สำหรับประเด็นความคิดเห็นที่น่าสนใจมาก
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ คุณ kati เราเจอกันบ่อยมาก บนเส้นทางหนังสือ วรรณกรรม ผมมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับบางสิ่งบางอย่างให้ฟัง..

            ในตอน ป.3 -หรือ ป.4 ไม่แน่ใจว่าชั้นไหน ผมไปนั่งเล่นห้องสมุดของโรงเรียน แล้วเจอหนังสือเล่มหนึ่ง เป็นวรรณกรรมแปลสำหรับเยาวชนเรื่องราว ก็เป็นเกี่ยวกับเด็กคนหนึ่ง เดินทางโดยรถไฟแล้วโดนขโมยเงินตอนเขาหลับ เด็กคนนั้นก็สืบ ติดตามเจ้าหัวขโมยนั้นจนเจอ และก็จับได้ .. จากวันนี้นจนถึงวันนี้ทำให้ผมรักที่จะอ่านหนังสือตลอดมา..

            เด็กหรือเยาวชนของเราผมคิดว่า ต้องเจอหนังสือที่เขาชอบ หรือหนังสือที่เขาอ่านแล้วเขารู้สึกสนุก เหมือนกับที่เกิดกับผม

             คิดว่าเด็กๆ คงยังหาไม่เจอ หรือคงมีมีอะไรไปปิดมันไว้

  ปล.

     ผมรู้จักคำว่า "ฉ้อราษฎร์ บังหลวง" เวลาเดียวกับที่ผมเจอหนังสือเล่มที่เล่าให้ฟังนีแหละ ...

  • สวัสดีครับ คุณ
    P
  • เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ
  • สำหรับการค้นพบหนังสือ ที่พาให้เด็กหลงรัก
  • แล้วก้าวย่างตามเส้นทางของการอ่าน
  • ความสนุกสนาน ตื่นเต้น โลดแล่น ยินดี ปลาบปลื้ม ล้วนเป็นความสุข และจุดเริ่มต้นของการอ่าน
  • แรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ของการอ่าน ไม่จำเป็นต้องอ่านงานที่ใครกล่าวว่าดี
  • แต่ขอให้เป็นงานที่อ่านแล้วมีความสุข เป็นหนังสือที่อ่านได้พร้อมรอยยิ้ม อ่านจนหลงรัก
  • หลังจากนั้น ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องกังวล สำหรับการเลือกที่จะอ่าน เพราะผู้ที่หลงรักโลกของการอ่าน จะเดินทาง เสาะแสวงหา คัดสรร เลือกเฟ้นเรื่องราวแห่งการอ่าน โลกแห่งหนังสือที่เขาเหล่านั้นหมายปอง ใฝ่ฝัน
  • นับเป็นบันไดก้าวแรก ของการอ่าน
  • ขอบคุณมากครับ สำหรับประสบการณ์ส่วนตัว สำหรับแรงบันดาลใจ และจุดเริ่มต้นของการอ่าน
  • เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ สำหรับแรงที่ผลักให้เราค้นหาโลกของการอ่านต่อไป
  • ขอบคุณมากครับ

สวัสดีอีกครั้งครับ

ผมเห็นด้วยกับคุณ Dream Farm and Sir. Paul McCartney นะครับ ที่ว่าการเริ่มต้นของการรักการอ่านหนังสือนั้น มาจากหนังสือแค่หนึ่งเล่มครับ ถ้าเราเจอหนังสือเล่มที่เราชอบ ผมเชื่อว่า เราจะกลายเป็นคนรักการอ่านขึ้นมาในทันที (ซึ่งเด็กไทยอาจจะเป็นคนรักการอ่านอยู่แล้วก็ได้ ก็อย่างน้อยก็อ่านการ์ตูนไงครับ :D)

ด้วยความเคารพครับ ผมคิดว่าจุดใหญ่ใจความของการอ่านหนังสือไม่ได้อยู่ที่ว่าอ่านกี่บรรทัด แต่ว่าอยู่ที่อ่านแล้วได้อะไรจากหนังสือ ซึ่งก็อย่างที่คุณกะทิได้กล่าวไว้แล้วว่า มันมีมุมมองหลายมุมครับ

แต่เรื่องหนึ่งที่ผมอยากจะขอพูดต่อก็คือว่า การอ่านหนังสือนั้น จากความรู้สึกของผม มีอยู่สามลักษณะใหญ่ๆครับ

  1. อ่านเพื่อให้ได้ความรู้ แล้วนำความรู้นั้นไปประดับสติปัญญา สามารถเอาไปคิดต่อให้เกิดประโยชน์ได้
  2. อ่านเพื่อเสริมสร้างจินตนาการ นำจินตนาการ
  3. อ่านไปเล่นๆ ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการอ่านเท่าไร

ถ้าเป็นอ่านแบบที่หนึ่ง หนังสือส่วนมากนั้นก็จะเป็นหนังสือแนว non-fiction ที่เน้นสาระมากกว่าความบันเทิง

ถ้าเป็นการอ่านแบบที่สอง ก็จะเป็นหนังสือแนวนวนิยายซะส่วนมาก

ส่วนแบบที่สาม ไม่ว่าจะเป็นหนังสือประเภทไหนก็เป็นได้ทั้งนั้นครับ อันนี้นั้นขึ้นอยู่กับสมาธิ และความรู้พื้นฐานของคนที่อ่านหนังสือ ต่อหนังสือเรื่องที่อ่าน

ผมกล้ายอมรับตรงนี้เลยครับว่า ผมไม่มีความสามารถในการอ่านแบบที่สอง ผมเคยอ่าน Harry Potter นะครับ แต่ผมไม่สามารถที่จะคิดจินตนาการภาพ ถึงตัวละคร ความอลังการของปราสาท และอื่นๆอีกมากมาย (ดังนั้นผมเลยชอบอ่านหนังสือแนว non-fiction มากกว่า)  เพราะฉะนั้น ผมเลยไม่ได้อ่านหนังสือแฮรี่ พอตเตอร์ แล้วจะสนุกขนาดวางไม่ลงซะขนาดนั้น (และทำให้ผมคิดว่า ถ้าผมอ่านหนังสือแนวนี้แล้ว ผมจะตกเป็นอยู่การอ่านประเภทที่สาม คืออ่านไปเสียเวลาเปล่าๆ) แต่สำหรับคนที่จินตนาการกว้างไกลแล้วล่ะ เท่าที่ผมเห็นเขาอ่านหนังสือพวกนี้แบบวางไม่ลงครับ

นั่นอาจจะเป็นเพราะว่าเราไม่สามารถติดอาวุธจินตนาการให้เด็กหรือเปล่า จึงทำให้เด็กนั้นไม่สามารถที่จะอ่านหนังสือได้สนุกสนาน เร้าใจ และได้อารมณ์ไปกับตัวอักษรที่โลดแล่นอยู่ในหน้ากระดาษ และนั่นก็คือคำตอบว่าทำไมเด็กไทย หรือคนไทยอ่านหนังสือแค่ สิบสองบรรทัดต่อปี

แต่ผมอยากรู้ว่า ตัวเลขสิบสองบรรทัดต่อปีนี้มายังไงเหมือนกันนะครับ เพราะผมคิดว่าน่าจะเกิน เพราะอย่างน้อย เพื่อนผมที่เกลียดการเรียนเป็นชีวิตจิตใจ และรักฟุตบอลมากกว่าชีวิต ก็อ่านหนังสือพิมพ์สตาร์ ซ็อกเกอร์เป็นประจำ แล้วก็อ่านหมดทุกหน้าซะด้วยสิ

ผมคิดว่าการรักการอ่านนั้นมาควบคู่ไปกับความอยากรู้อยากเห็น และการรักการเขียนครับ ดังนั้นก็คงต้องย้อนกลับไปที่กระทรวงศึกษาและสื่อทั้งหลายว่า ทำอย่างไรให้เด็กนั้นอยากรู้อยากเห็นในสิ่งที่ดีงาม เป็นประโยชน์ และเมื่ออ่านแล้ว สามารถนำไปคิดต่อ แตกแขนง ในสิ่งที่เป็นความรู้ต่อไปได้ หรือถ้าอ่านนวนิยาย ทำอย่างไรให้เด็กนั้นใช้จินตนาการให้เห็นภาพของนิยาย (แต่ก็เพราะว่าโทรทัศน์นี่แหละครับ ที่ทำให้เด็กนั้นอาจจะไม่ได้มีความรู้สึกว่าอยากอ่านหนังสือมากกว่า เพราะในเมื่อซักพักเขาก็ได้ดูหนังแล้ว อย่างน้องชายผม เขาไม่อยากอ่านแฮรี่ พอตเตอร์ เพราะเขารู้ว่าเดี๋ยวยังไง ก็ได้ดูหนังแล้ว แต่เขาไม่เข้าใจว่า หนังนั้นแค่สามชั่วโมง แต่การอ่านที่ใช้เวลาเป็นสิบชั่วโมงนั้น มันให้รายละเอียดและอารมณ์ของเรื่องแตกต่างกัน รวมไปถึงการเปรียบเทียบจินตนาการที่เขามี กับของคนอื่นที่มี) รวมไปถึงความเข้าใจถึงความสวยงามทางภาษา

 

  • สวัสดีครับ คุณ
    P
  • เห็นด้วยกับข้อสังเกตุในการอ่าน และรักการอ่านของเด็กไทย ที่อย่างน้อยก็อ่านการ์ตูน
  • ประเด็นนี้สำคัญครับ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปหนังสือเช่นไร ประเภทใด ต้องให้เขารักที่จะอ่านครับ
  • และเห็นด้วยอย่างยิ่ง กับเนื้อความที่ว่า
  • "การอ่านที่ใช้เวลาเป็นสิบชั่วโมงนั้น มันให้รายละเอียดและอารมณ์ของเรื่องแตกต่างกัน รวมไปถึงการเปรียบเทียบจินตนาการที่เขามี กับของคนอื่นที่มี) รวมไปถึงความเข้าใจถึงความสวยงามทางภาษา"
  • ชัดเจนอย่างยิ่งครับ สำหรับ โลกของการอ่าน และนำเรื่องราวจากการอ่าน อันโลดแล่น เร้าใจ สนุกสนาน กลับเข้ามาสู่ห้วงจินตนาการ จนกระทั่งสรุปรวม ในความคิดของผู้อ่านแต่ละคน
  • ในประเด็นการคำนวณ และประเมิน ตัวเลข การอ่านของคนไทย หรือเด็กไทย ต่อคน ต่อหน้า ต่อปี ต่อบรรทัด
  • โดยส่วนตัว ผมก็ยังไม่เห็นการอธิบายถึงเกณฑ์การคำนวณ และค่าเฉลี่ยใดๆ ให้ปรากฎ
  • นอกเหนือจากเคยอ่านรายงานสรุป ในด้านการอ่านหนังสือ โดยคำนวนจากการบริโภคกระดาษ ที่ระบุว่าใช้พิมพ์หนังสือ ไม่ใช่กระดาษในระบบอุตสาหกรรม หรือหีบห่อ พัสดุ สิ่งพิมพ์ผลิตภัณฑ์
  • ข้อสังเกตุหนึ่งของการเฉลี่ยค่า ต่อจำนวนประชากรทั้งประเทศ อาจกำหนดให้เห็นเป็นตัวเลขเล็กน้อยดังกล่าวก็ได้
  • เนื่องจาก ไม่ได้มีการแยกแยะ ความแตกต่างในการอ่าน หรือการบริโภคกระดาษ ระหว่างพื้นที่
  • ดังนั้น ประเด็นนี้ น่าสนใจเพิ่มเติมครับ
  • ผมยังไม่ได้พบเนื้อข่าว หรือนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ในด้านการอธิบาย ข้อมูลตัวเลข ว่าใช้ฐานข้อมูลพื้นฐานเช่นไร เกณฑ์การวัด ค่าเฉลี่ย และตัวแปรแบบใด
  • โดยส่วนตัว สำหรับ ความหลงใหลในการอ่าน
  • ผมเชื่อว่า การอ่านเป็นเรื่องที่หลากหลายมาก
  • บางคน อ่านจับประเด็น การตีความ บางคนอ่านดึงจินตนาการ และอีกมากมายการอ่าน
  • สำหรับผม เป็นภาพที่งดงามทั้งสิ้นครับ
  • ขอให้ความสุข จากการได้รับ การถอดเรื่องราวจากการอ่าน
  • เห็นด้วยกับจุดเริ่มต้นเช่นกันครับ
  • เห็นด้วย เพราะเชื่อมั่นเสมอว่า หากเด็กของเรามีความสุข จากการหยิบจับหนังสือ ได้มีความสุขจากการได้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวใดๆ การ์ตูนก็ได้ นวนิยายก็ดี หนังสือภูตผีปีศาจ ก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้เริ่มจับ และจับเพิ่มขึ้น
  • กระโดดจากเล่มหนึ่ง สู่ เล่มหนึ่ง ด้วยความสุข
  • เพียงแค่นี้ ผมก็เชื่อว่า อนาคตรออยู่เบื้องหน้าจริงๆครับ
  • สำหรับประเด็น ของคุณ
    P
  • น่าสนใจมากครับ
  • โดยส่วนตัว ผมไม่รู้สึกว่า ด้วยความแตกต่างในการอธิบายของเนื้อความเท่าไร
  • เพราะเข้าใจในประเด็นว่า คุณต้องการรายละเอียดของข้อมูล และแนวโน้ม ที่จะอธิบายว่า การอ่าน - จำนวนบรรทัดต่อปี ไม่ใช่สาระสำคัญ
  • เห็นด้วยครับ
  • ต้องขอบคุณมากครับ สำหรับประเด็นความคิดเห็นที่น่าสนใจ
  • ขอบคุณครับ

ขอนำข้อมูลมาอ้างอิงเพิ่มเติมจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ

สรุปผลการสำรวจ
การสำรวจการอ่านหนังสือของประชากร พ.ศ.2546

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ดำเนินการสำรวจการอ่านหนังสือของประชากร พ.ศ. 2546 โดยสัมภาษณ์ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ตามความต้องการของรัฐบาล เพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นฐานเรื่องการอ่านหนังสือ ประเภทหนังสือที่ประชาชนสนใจอ่าน ความถี่ในการอ่าน รวมทั้งต้องการทราบความคิดเห็นของประชาชนในเรื่องการอ่านหนังสือ เพื่อนำเสนอข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาและส่งเส ริมให้ประชาชนในประเทศรักการอ่านมากขึ้น

 

จำนวนผู้อ่านหนังสือและผู้ไม่อ่านหนังสือ
จากผลการสำรวจ พบว่า ประชากรที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไปจำนวน 57.8 ล้านคน เป็นผู้อ่านหนังสือ 35.4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 61.2 และผู้ไม่อ่านหนังสือ 22.4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 38.8
เมื่อพิจารณาผู้อ่านหนังสือ พบว่า เพศชายมีอัตราการอ่านหนังสือสูงกว่าเพศหญิงเล็กน้อย (ร้อยละ 64.8 และร้อยละ 57.7 ตามลำดับ) และเมื่อพิจารณาตามภาคและเขตการปกครอง พบว่า ประชากรในกรุงเทพมหานครมีอัตราการอ่านหนังสือสูงที่สุด ร้อยละ 81.6 รองลงมา คือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคเหนือ (ร้อยละ 63.5 , 61.1 และ 59.2 ตามลำดับ) สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการอ่านหนังสือต่ำสุด คือ ร้อยละ 52.8 ทั้งนี้ประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลมีอัตราการอ่านหนังสือสูงกว่านอกเขตเทศบาล (ร้อยละ 74.4 และร้อยละ 54.7)


ในจำนวนผู้ไม่อ่านหนังสือ 22.4 ล้านคน เป็นเพศชาย 10.1 ล้านคน และเพศหญิง 12.3 ล้านคน โดยอัตราการไม่อ่านหนังสือของ เพศหญิงสูงกว่าเพศชาย (ร้อยละ 42.3 และร้อยละ 35.2) ประชากรที่อาศัยอยู่นอกเขตเทศบาลมีอัตรา การไม่อ่านหนังสือสูงกว่าผู้ที่อยู่ในเขตเทศบาล คือ ร้อยละ 45.3 และ ร้อยละ 25.6
ประเภทหนังสือที่อ่าน และความถี่ในการอ่าน
ในจำนวนผู้อ่านหนังสือ 35.4 ล้านคน มีสัดส่วนของการอ่านหนังสือพิมพ์สูงที่สุด ร้อยละ 66.0 รองลงมา คือ อ่านนวนิยาย/การ์ตูน/หนังสืออ่านเล่น (ร้อยละ 44.6) และอ่านตำราเรียนตามหลักสูตร (ร้อยละ 40.0)
เมื่อพิจารณาประเภทหนังสือที่อ่านตามกลุ่มอายุ พบว่า วัยเด็กอายุ 6 - 14 ปี เกินกว่าร้อยละ 95 ขึ้นไป อ่านตำราเรียนตามหลักสูตร รองลงมา คือ อ่านนวนิยาย/การ์ตูน/หนังสืออ่านเล่น สำหรับในกลุ่มวัยทำงาน 25 - 59 ปี วัยสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) และเยาวชนอายุ 15 - 24 ปี ส่วนใหญ่อ่านหนังสือพิมพ์


เมื่อพิจารณาความถี่ของการอ่านหนังสือแต่ละประเภท พบว่า ผู้ที่อ่านตำราเรียนตามหลักสูตร ส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.3 อ่านทุกวัน รองลงมาอ่านสัปดาห์ละ 4 - 6 วัน (ร้อยละ 26.3) กลุ่มที่อ่านหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่อ่านทุกวัน ร้อยละ 30.6 รองลงมาอ่านสัปดาห์ละ 2 - 3 วัน (ร้อยละ 28.5) กลุ่มที่อ่านวารสาร/เอกสารอื่นๆ นิตยสาร นวนิยาย/การ์ตูน/หนังสืออ่านเล่น ส่วนใหญ่อ่านนาน ๆ ครั้ง

เนื้อหาสาระที่อ่าน และสถานที่อ่านหนังสือ

 

ผู้อ่านหนังสือส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.3 อ่านข่าว รองลงมา อ่านสาระบันเทิง (ร้อยละ 23.8) อ่านสารคดี/ความรู้ทั่วไป (ร้อยละ 21.9)

 

เมื่อพิจารณาสถานที่ในการอ่านหนังสือ พบว่า ผู้อ่านหนังสือส่วนใหญ่ร้อยละ 45.5 อ่านหนังสือที่บ้าน รองลงมา อ่านที่สถานศึกษา (ร้อยละ 19.4) อ่านที่ทำงาน (ร้อยละ 14.1) อ่านตามสถานที่เอกชน (ร้อยละ 12.8)
สถานที่อ่านหนังสือที่มีประชาชนไปใช้บริการน้อยกว่าร้อยละ 4.0 ได้แก่ ห้องสมุด ที่อ่านหนังสือในหมู่บ้าน/ชุมชนและสถานที่ราชการ นอกจากนี้มีเพียงร้อยละ 0.2 เท่านั้น ที่อ่านระหว่างโดยสารรถหรือเรือ

 

สาเหตุหลักที่ไม่อ่านหนังสือ
ในจำนวนผู้ที่ไม่อ่านหนังสือ 22.4 ล้านคนนั้นส่วนใหญ่ ร้อยละ 57.4 ชอบฟังวิทยุหรือดูทีวีมากกว่า รองลงมาคือ ไม่มีเวลาอ่าน (ร้อยละ 48.1) และไม่ชอบอ่านหรือไม่สนใจ (ร้อยละ 45.5)
เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุที่ไม่อ่านหนังสือตามกลุ่มอายุ พบว่า ส่วนใหญ่แทบทุกกลุ่มให้เหตุผลว่า ชอบฟังวิทยุ ดูทีวีมากกว่า ยกเว้น กลุ่มเด็กอายุ 10 - 14 ปี ที่ให้เหตุผลว่าไม่ชอบอ่านหรือไม่สนใจ ถึงร้อยละ 60.9 และกลุ่มผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ที่ไม่อ่านเพราะสายตาไม่ดี ร้อยละ 58.5

การส่งเสริมให้ประชาชนรักการอ่านหนังสือ

จากข้อถามความคิดเห็นเรื่องการส่งเสริมให้ประชาชนรักการอ่านหนังสือ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 40.3 คิดว่าหนังสือควรมีราคาถูกลง รองลงมา คือ ควรมีห้องสมุดประจำหมู่บ้าน/ชุมชน (ร้อยละ 35.9) และควรส่งเสริมให้พ่อแม่ปลูกฝังให้เด็กรักการอ่านหนังสือ (ร้อยละ 22.9) ซึ่งความคิดเห็นในการส่งเสริมให้รักการอ่านของเพศชายและเพศหญิงสอดคล้องกัน


จากผลการสำรวจ สรุปได้ว่า การรณรงค์และส่งเสริมให้ประชาชนรักการอ่านควรเริ่มแต่เยาว์วัย และต้องเริ่มต้นจากครอบครัวเป็นลำดับแรก โดยพ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูก เพื่อให้ลูกได้ซึมซับพฤติกรรมดังกล่าวตั้งแต่แรกเกิด นอกจากนี้สถานศึกษาก็มีส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้เด็กรักการอ่าน โดยควรจัดกิจกรรมส่งเสริมให้เด็กได้อ่านหนังสือเพิ่มขึ้น และจากข้อคิดเห็นในการส่งเสริมให้เกิดการรักการอ่าน รัฐบาลควรมีส่วนร่วมในการกำหนดราคาหนังสือให้ถูกลง และจัดให้มีห้องสมุดประจำหมู่บ้าน/ชุมชน เพิ่มขึ้น

  • สวัสดีครับ คุณ
    P
  • ขอบคุณมากครับ
  • สำหรับ ข้อมูลอ้างอิง สรุปผลการสำรวจ สำนักงานสถิติแห่งชาติ
  • การสำรวจการอ่านหนังสือของประชากร พ.ศ.2546
  • ขอบคุณสำหรับ ข้อมูลดีๆ ที่ทำให้เราเห็นถึงความพยายาม และความหวังที่อยากให้มีวัฒนธรรมการอ่าน ในสังคมไทยอันเข้มแข็งครับ
  • ขอบคุณครับ
  • คุณ Kati ครับ
  • ผมพยายามที่จะค้นหาข้อมูลสถิติ 7 บรรทัด/ตน/วัน
  • ข้อมูลที่ได้มาก็ตามที่นำมาเสนอ เลยไม่แน่ใจ คำว่า 7 บรรทัด มีอยู่ในรายงานการสำรวจฉบับสมบูรณ์หรือเปล่า
  • ไม่ได้มีไรมากนะครับ แค่อยากรู้
  • อันที่จริงอ่านแค่สองบรรทัด หรือบรรทัดเดียว ถ้าประโยคนั้นสามารถที่จะทะลวงเข้าไปในใจให้คนอ่านได้คิด ได้ตรึกตรอง ได้ทำอะไรก็แล้วแต่ที่แตกกอต่อยอดไปจากนั้นได้ ก็ถือว่าน่าจะพอใจแล้ว ... คุณ kati ว่าไงครับ   
  • สวัสดีครับ
  • โดยส่วนตัว ผมเข้าใจ ในกรณีว่า สองบรรทัด หรือ บรรทัดเดียว แต่ให้สามารถต่อยอดแตกกอทางปัญญา ออกดอกออกผล
  • แต่ในทางปัญญา
  • และมุมมองของผู้ที่พยายามสร้างนโยบาย สนับสนุนให้เกิดการเคลื่อนไหว เพื่อสร้างวัฒนธรรมการอ่านที่เข้มแข็งในสังคมไทย
  • ผมคิดว่า เป็นเรื่องความหลากหลายของเนื้อหา เป็นเรื่องของการกระจายเรื่องราวแห่งการอ่าน
  • การอ่าน ที่จะกลายเป็นต้นทุน ในการรับรู้ ต้นทุนในทางปัญญา เพื่อเลือกสรรหนทาง เลือกวิถีการแก้ปัญหา
  • เมื่อมีเรื่องราว และต้นทุนการรับรู้ที่หลากหลาย ก็เชื่อได้ว่า จะมีทางเลือก  และทางออกที่ใช้สอย และประมวลผลทางปัญญาได้ง่ายกว่า
  • มุมมองด้านนี้ ผมค้นหา จะเห็นด้วยครับ
  • อย่างน้อย ก็เชื่อในด้านของความหลากหลาย ต่อมุมมอง ต่อการประมวลปัญญาครับ
  • คิดว่า ในแต่ละหนทาง ก็มีคำตอบที่รองรับต่อวิธีการแก้ปัญหาของสังคมที่แตกต่างกันครับ
  • แต่เชื่อมั่นว่า สุดท้าย หนทางก็ยังคงมีหนทางอันหลากหลายให้เราเลือกผลักดัน ไปสู่สังคมของการอ่านครับ
  • จะอ่านมาก อ่านน้อย ก็ขอให้อ่านครับ
  • ยกเว้นอย่างเดียว คือ การไม่อ่าน
  • หรือไม่มีโอกาสได้อ่าน
  • ประเด็นหลังนี้ เจ็บปวดมากกว่าครับ สำหรับสังคมไทย
  • ขอบคุณมากครับ สำหรับประเด็นความคิดเห็นในการแลกเปลี่ยน
  • ขอบคุณครับ
  • ขอบคุณครับคุณ kati สำหรับความคิดเห็นที่หลากหลาย ในด้านการอ่าน
  • ผมเริ่มอ่านหนังสือทั่วไปเยอะๆ ก็ตอนเรียนมหาลัย ตอนนั้นก็อ่าน หนังสือโกวเล้ง พวกจอมยุทธ  ช่อการะเกด (ชื่อนี้หรือเปล่าไม่แน่ใจ เป็นรวมเรื่องสั้นนะครับคุณKatiคงรู้จัก) อ่านจนหมดทุกเล่มที่มีในหอสมุด 
  • เรียนจบมาเริ่มทำงานก็ อ่านของ รงค์ อย่างเดียวเลย ตอนนั้นผมบ้างานของรงค์มาก จนหนังสือของ พญาอินทรีย์ มีเกือบครบแล้วละมั๊ง ความคิดต่างๆของผมเลยติดนิสัยประชดประชันมาบ้าง
  • จากนั้นก็เปลี่ยนมาอ่านด้านปรัชญาตะวันออก
  • ตอนนี้ก็อ่านประวัติศาสตร์อย่างเดียว 
  • หลังจากนี้ผมยังนึกไม่ออกเลยว่าจะอ่านหนังสือแนวไหนดี   
  • เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เลย แต่จังหวะการเปลี่ยนจะประมาณ 2-3 ปี ถึงจะเปลี่ยน
  • เข้ามาเล่าให้ฟังนะครับ
  • คุณ kati สะบายดีนะครับ ส่วนผมนั้นพออยู่ได้
  • สวัสดีครับ คุณ
    P
  • ผมก็เป็นคนที่หลงใหล และหลงรักการอ่านหนังสือครับ ไม่จำกัดประเภท หรือแนวทาง ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่เหมาะของตัวเองครับ ตามความรู้สึก ตามจังหวะการทำงาน ตามความสุขของชีวิต
  • สำหรับ รงค์ วงษ์สวรรค์ ก็เป็นงานที่ชวนหลงรักครับ
  • มีเล่มที่อยู่ในดวงใจมากๆ คือ เสเพลบอยชาวไร่ กับ ผู้มียี่เกในหัวใจ
  • แต่ที่อ่านได้ แบบไม่ติดขัด ก็คือ หนังสือประวัติศาสตร์ครับ
  • แต่อาจจะเลือกคนเขียนนิดหน่อยครับ
  • เพราะบางครั้ง อาจแล้วตั้งคำถาม ว่าเขียนประวัติศาสตร์ หรือเขียนนวนิยาย อันนี้ มีคำถามเสมอ ในยามอ่านแล้วติดในประเด็นข้อเขียน
  • โดยส่วนตัว การทำงาน และ ชีวิต สบายดีเป็นระยะครับ
  • มีงานเขียนได้ทำตลอด มีงานที่ทำให้เราได้อ่านหนังสือตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นงานที่เรารัก ได้อ่าน ได้เขียน ได้พูดคุยกับผู้คน รวมถึงได้มีโอกาสเดินทางบ้าง ก็ล้วนเป็นเรื่องที่มีความสุขครับ
  • ยังต้องการ หาจังหวะชีวิต เพื่อให้เดินทางได้มากกว่านี้ครับ ถึงจะสบายใจได้มากขึ้น
  • ขอบคุณมากครับ สำหรับการถามไถ่
  • ขอบคุณ และเชิญชวน ร่วมแนะนำหนังสือที่น่าสนใจได้ครับ
  • อย่างน้อย ก็ร่วมกันสร้าง ข้อมูลในพื้นที่สาธารณะ เป็นข้อมูลเปิด สำหรับผู้คนที่ชื่นชอบการอ่านหนังสือ
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ คุณ kati

 พอดีผมกำลังทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการอ่านหนังสือคุณคิดว่าถ้าทำดังต่อไปนี้จะช่วยแก้ปัญหาได้หรือไม่ครับ

-ห้องสมุดที่เป็นสถานที่แลกเปลี่ยน หนังสือและความประทับใจ จากที่คนไทย(ชอบบ่นว่า)หนังสือแพง ถ้าเรามีสถานที่ที่ทำให้เกิดการแจก,แลกเปลี่ยนหนังสือเพื่อหมุนเวียนการอ่านเหมือนอย่างที่เวบไซต์bookcrossing.com  bookmooch.comทำน่ะครับ

-มีนิทรรศการแนะนำหนังสือและนักเขียนดีๆที่ควรอ่าน

  • สวัสดีครับ คุณ Note
  • ประเด็น ที่ 1 ห้องสมุด เป็นสถานที่แลกเปลี่ยน แจก หมุนเวียน
  • ประเด็น ที่ 2 มีนิทรรศการ แนะนำหนังสือ - นักเขียนดีที่ควรอ่าน
  • ผมว่า มุมมอง ทั้ง 2 ประเด็น น่าจะสรุปจากสภาพในเชิงเศรษฐศาสตร์ ด้วยความเชื่อมั่นส่วนตัวในกลไกตลาด ผมคิดว่า น่าจะเป็นตัวตั้งในการนำเสนอ ถกเถียงได้ชัดเจนที่สุด  
  • รวมทั้งน่าจะเป็นกรอบการพิจารณา หรือ ทฤษฏีกำกับได้นะครับ
  • ผมตอบ ประเด็นที่ 2 ก่อนนะครับ
  • ประเด็นที่ 2 คือ คำตอบในการกระตุ้นตลาด กระตุ้นความต้องการของตลาด ความต้องการบริโภคหนังสือ บริโภคเนื้อหาของหนังสือ
  • ซึ่งผมเชื่อว่า การจัดทำนิทรรศการ การแนะหนังสือ แนะนำนักเขียน
  • คือ หนึ่งในคำตอบ เพื่อสร้างการประชาสัมพันธ์ทางการตลาด
  • เป็นกระบวนการสร้างตลาด ที่ดีในหนึ่งทางออก
  • ผมคิดว่า กรอบคิดดังกล่าว อยู่ในวิธีคิดแบบกลไกตลาด
  • ซึ่งกระบวนการดังกล่าว จำเป็นต้อง เกิดขึ้นจากการลงทุนของภาครัฐ ในการสนับสนุนอย่างจริงจังในระยะแรก
  • ส่วนในพื้นที่ของภาคเอกชน ก็เป็นพื้นที่ซึ่งจะทำการตลาด แข่งขัน และจัดจำหน่ายหนังสือในความนิยม
  • ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างตลาดของภาครัฐ
  • ในเชิงทฤษฏี การสร้างตลาด และลงทุนเพื่อให้ตลาดมีการขยายตัว ถือเป็นพื้นฐานของรัฐ
  • ส่วนในประเด็นที่ 1
  • ผมคิดว่า กลไกดังกล่าว เป็นเพียงมุมมองเชิงสังคมสงเคราะห์ การสนับสนุนแบบอาสาสมัคร การสงเคราะห์ ซึ่งผมยังไม่เคยเห็นกรณีดังกล่าว ประสบความสำเร็จ ในระดับพื้นฐาน หมายถึงในระดับมวลชน หรือผู้คนโดยทั่วไป
  • เราอาจจะสร้างสังคมที่สงเคราะห์กันได้ ในบางที่ แต่ไม่ได้หมายถึงทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย
  • ผมคิดว่า
  • มุมมองในการสร้างสังคมการอ่าน
  • ต้องมอง สังคมที่เข้มแข็งจากการอ่าน
  • ซึ่งลำพัง ข้อถกเถียงนี้ ก็สร้างปัญหาอย่างมาก
  • เพราะส่วนใหญ่ ต่างยอมรับว่า วัฒนธรรมไทยโดยพื้นฐานแต่ดั้งเดิม
  • เป็นสังคม การบอกเล่า มุขปาฐะ สังคมการฟัง
  • การอ่านให้ฟัง บอกเล่าให้ฟัง
  • ล้วนอยู่ในกรอบของวัฒนธรรมไทยอย่างมาก
  • สังคมการอ่าน
  • คือสังคมของความเงียบ
  • สังคมที่ผู้อ่านแต่ละคน ต่างท่องไปในโลกแห่งตนเอง อ่าน จับประเด็น ไล่เรียงเนื้อหา และคิดตามด้วยตนเอง
  • เป็นสังคมที่โดดเดี่ยว และปัจเจก อย่างมาก
  • ในภาวะที่กำลังอ่าน
  • ส่วนการอ่านออกเสียง ก็เป็นเพียงหนึ่งในกิจกรรม ที่งอกออกมาจากการอ่าน
  • ผมคิดว่า และนำเสนอว่า
  • คุณคงต้องตั้งทฤษฎี หรือ ใช้กรอบทฤษฏี ในการกำกับ เพื่อสร้างโจทย์ของการสร้างสังคมการอ่านก่อน
  • ก่อนที่จะลงรายละเอียด ในส่วนเนื้อหากิจกรรมเพื่อกระตุ้นให้เกิดสังคมการอ่าน ขึ้นในสังคมไทย
  • คงต้องพิจารณา จากทฤษฏี ว่าจะใช้จากสาขาวิชาใด จะเป็นในเชิงการตลาด ของการบริหารธุรกิจ เชิงตลาดของเศรษฐศาสตร์ หรือเป็นทฤษฏีด้านการสื่อสารสาธารณะ ของวารสารศาสตร์ หรือนิเทศศาสตร์
  • คงต้องใช้ทฤษฏีกำกับก่อน จึงจะลงรายละเอียดในการจัดขั้นตอน จัดกระบวนการ เพื่อไปสู่สังคมแห่งการอ่าน
  • น่าจะช่วยกำหนดกรอบการถกเถียง และระดมความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวได้
  • เท่าที่จำได้ มีงานวิจัยของสมาคมผู้พิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย มีงานศึกษาในเรื่องสังคมการอ่าน
  • และมีงานศึกษาของกระทรวงศึกษา ทั้งสองกรณีก็เห็นว่ามีการใช้ทฤษฎีกำกับไว้อยู่อย่างน่าสนใจ น่าจะลองไล่เรียง เพื่อกำหนดกรอบการศึกษาได้นะครับ
  • รวมทั้งมีงานศึกษาของ TK PARK ก็มีการสัมมนา เสวนา และศึกษา เพื่อสร้างสังคมการอ่านในประเทศไทย ก็น่าสนใจนะครับ
  • และมีบทสัมภาษณ์ของ คุณมกุฎ อรดี ผู้บริหารสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ที่ให้สัมภาษณ์นิตยสาร สารคดี เกี่ยวกับการสร้างสังคมการอ่าน เมื่อสัก 4 ปี ก่อน ก็มีมุมมองที่น่าสนใจ
  • ลองลำดับข้อมูลพื้นฐานก่อนครับ
  • ถ้าจะให้ช่วยนำเสนอ หรือช่วยเหลือด้านข้อมูลอย่างไร ยินดีอย่างยิ่งครับ
  • ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับ คุณkati

ตอนนี้ผมสงสัยเกี่ยวกับเรื่องยุคสมัยของวรรณกรรมมากเลยครับ ช่วยอธิบายแต่ละสมัยmodren

post-modren contemporary ของวรรณกรรมได้ไหมครับ

แล้วถ้าเรามีความเข้าใจในแต่ละยุคสมัยของวรรณกรรมจะสามารถทำให้เราสืบต่อความคิดไปจนถึงพัฒนาวัฒนธรรมการอ่านของบ้านเราได้หรือไม่ครับ

ขอบคุณมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท