สรุปการประชุมคณะทำงานพิจารณายกร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ....


สรุปการประชุม

คณะทำงานพิจารณายกร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ....

วันที่ ๑๔  สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๒  เวลา ๐๙.๓๐  ๑๒.๓๐ น.

ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ ๒๐๔ อาคารรัฐสภา ๒

โดย นายปุณฑวิชญ์ ฉัตรมงคลชาติ

 

 

v ประเด็น : เรื่องการแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณายกร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ....

         

๑.     นายจุมพฏ บุญใหญ่ เป็นประธานคณะทำงานพิจารณายกร่างพระราชบัญญัติสัญชาติฯ

๒.     รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร รองประธานคณะทำงานพิจารณายกร่างพระราชบัญญัติสัญชาติฯ

๓.     นายวีนัส สีสุข เป็นเลขานุการคณะทำงานพิจารณายกร่างพระราชบัญญัติสัญชาติฯ

 

v ประเด็น : เรื่องรูปแบบของพระราชบัญญัติ

                                                                      

การจัดทำร่างกฎหมายระดับพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ท่านประธานในที่ประชุมมีความเห็นว่าให้เป็นกรณีของการตรากฎหมายเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน เป็นพระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ ๕ พ.ศ.... ไม่เสนอเป็นแบบการตราพระราชบัญญัติขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ส่วนเรื่องรูปแบบต่าง ๆ ให้เป็นไปตามที่กฤษฎีกากำหนด

 

v    ประเด็น : เรื่องเนื้อหาของพระราชบัญญัติ

 

สาระสำคัญ คือ การคืนสัญชาติไทยให้กับคนไทยพลัดถิ่น

 

๑)     ผลกระทบต่อพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘

 

พระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ ไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลง แก้ไข พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ แต่พระราชบัญญัติสัญชาติฉบับที่ ๕ นี้เป็นการเพิ่มเติม และเสริมการตกหล่นพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ วัตถุประสงค์ คือ เยียวยา เป็นการเยียวยาความเสียหายของผู้ที่เสียหายจากกฎหมายเก่า

พระราชบัญญัติมีผลเฉพาะคนไทยพลัดถิ่นเท่านั้น เป็นการต่อยอดงานเดิมในขอบเขตของขอบเขตของบุคคล ว่าคนไทยพลัดถิ่นคือใคร และการพิสูจน์ชาติพันธุ์ คนเชื้อสายไทย

 

๒)     หลักการ : การคืนสัญชาติโดยหลักสืบสายโลหิต

 

พระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นการคืนสัญชาติโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาหรือมารดา สำหรับการคืนสัญชาตินี้ เป็นการคืนการใช้สัญชาติให้แก่บุพการีของคนไทยพลัดถิ่น เนื่องจากว่า Generation รุ่นปู่ย่าตายายนั้นมีจุดเกาะเกี่ยวเข้มข้นกับรัฐไทย เพราะเป็นจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดตามหลักสืบสายโลหิต และหลักดินแดน แต่เนื่องจากว่าดินแดนบริเวณนั้นได้เสียไปให้แก่อังกฤษ และฝรั่งเศสไป จึงอาศัยหลักสืบสายโลหิต เพื่อมิให้เป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยประเทศเพื่อนบ้าน 

เรื่องน้ต้องแยกให้ชัดเจนในเรื่องของการมีสิทธิ และการใช้สิทธิ (สิทธิที่จะมีสัญชาติ และสิทธิที่จะใช้สัญชาติแยกกัน)

ซึ่งตามมาตรา ๗ ทวิ พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๓๕ คืนการใช้สัญชาติ มีพ่อ หรือแม่ไทย แต่เรื่องไทยพลัดถิ่นยากกว่านั้น คือ ต้องคืนการมีสิทธิ เพื่อความมั่นคงชาติพันธุ์

จะให้เขาใช้สิทธิในสัญชาติไทย กำลังสมมติว่า คืนสัญชาติให้แก่บุพการี แต่คนที่ขอใช้สิทธิคือ หลานเหลน ให้สิทธิย้อนหลังให้มีสิทธิ

พระราชบัญญัติสัญชาติฉบับใหม่นี้เป็นการให้สัญชาติโดยหลักสืบสายโลหิต ใช้หลักบุคคล ไม่ใช่หลักดินแดน ซึ่งไปลบล้างเจตนาที่รัฐไทยเคยทำไว้กับรัฐต่างประเทศ ถ้าลูกกลับมาในไทยแล้วมาอาศัยอยู่ก็ให้

ซึ่งตาม มาตรา ๕ ร่างของนายวีนัส สีสุขนั้น ได้บัญญัติกำหนดไว้เลยว่า ให้ถือว่ามีสัญชาติไทยโดยการเกิด เพราะว่าได้สัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิตจากบุพการี

การคืนสัญชาติให้คนชาตินั้นได้มีประเทศหลายประเทศได้มีหลักการในเรื่องนี้ เช่น ประเทศสหราชอาณาจักร ประเทศสมาพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันนี และประเทศญี่ปุ่น เช่น ประเทศญี่ปุ่นได้ยอมรับให้คนชาติกลับคืนสัญชาติแก่คนที่อพยพไปอยู่ประเทศแถบอเมริกาใต้ แล้วอพยพย้ายกลับมาอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น

และยิ่งไปกว่านั้น คืนไปให้คน ซึ่งต่อมาตกไปอยู่อำนาจอธิปไตยในรัฐต่างประเทศ เราย้อนหลังไปให้สัญชาติไทยแก่บุพการีของคนไทยพลัดถิ่น เทียบเคียงเหมือนอย่างเช่นกรณีของการย้อนหลังไปปูนบำเหน็จตำรวจ ทหารที่ตายในหน้าที่แล้วปูนบำเหน็จโดยเลื่อนยศ เลื่อนขั้น และให้สิทธิแก่คู่สมรส บุตร และคนในครอบครัว และมีค่ายังชีพหลังจากที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้นั้นเสียชีวิต[1]

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ข้อกฎหมายในการคืนสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตให้กับคนตายในอดีตได้ โดยเทียบเคียงกรณีการเลื่อนยศ เลื่อนขั้นของทหาร ตำรวจที่เสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่

ถ้าให้สัญชาติโดยดินแดนกับคนกลุ่มนี้ ต้องพิจารณาว่าเกิดนอกไทย ดังนั้น ต้องแปลงสัญชาติ ตามกฎหมายสัญชาติที่บังคับใช้ในปัจจุบัน

 

๓)     หน่วยงานที่ทำหน้าที่พิสูจน์สถานะคนไทยพลัดถิ่น

                       

กรณีของหน่วยงานที่ทำหน้าที่พิสูจน์สถานะของคนไทยพลัดถิ่นนั้น ควรจะต้องมีคณะกรรมการพิสูจน์คนไทยพลัดถิ่นโดยเฉพาะ และจะต้องเป็นคนละหน่วยงานกับคณะกรรมการกลั่นกรองสัญชาติ

ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่๔) พ.ศ. ๒๕๕๑

เนื่องจากว่างานกลั่นกรองสัญชาติตามพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่๔) พ.ศ. ๒๕๕๑ นั้น เป็นการพิจารณาการให้สัญชาติโดยการร้องขอโดยการร้องขอ แต่คณะกรรมการที่จะตั้งใหม่ชุดนี้เป็นการพิจารณาการสืบสายโลหิต ซึ่งเป็นสัญชาติโดยการเกิด หรือเป็นการขอสัญชาติที่มันเกิดจากธรรมชาติ คือ สายโลหิตของคนไทยพลัดถิ่น

แต่กรณีนี้เป็นการพิสูจน์บุคคลว่า เป็นคนที่มีเชื้อสายไทยจริงหรือไม่ พิสูจน์บุคคลว่าเป็นคนไทย เป็นการพิสูจน์ความเป็นผู้สืบสันดานจากบุพการีผู้ที่เสียสัญชาติไทยที่ติดไปกับดินแดนที่เสียไป ฉะนั้นก็คือ การพิสูจน์ชาติพันธุ์ ไม่ใช่พิสูจน์สัญชาติ เพราะว่าการพิสูจน์สัญชาติของคนไทยพลัดถิ่นนั้น เนื่องจากว่าพ่อแม่ยังเป็นคนต่างด้าวในรัฐไทยอยู่ (มีสัญชาติของประเทศเพื่อนบ้าน) เมื่อพิสูจน์แล้วก็ยังจะเป็นคนต่างด้าวอยู่ ฉะนั้นโดยหลักการเหตุผลมันก็จะไม่ได้

ดังนั้นในที่ประชุมจึงสรุปให้คณะกรรมการชุดนี้ชื่อว่า “คณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น”

-          การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

คณะกรรมการพิสูจน์สถานะคนไทยพลัดถิ่นนั้น ควรจะมีภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ให้

ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ ฯ ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง เพราะว่าเกรงหลักอำนาจนิยม ถ้ามีแต่ภาครัฐเข้ามาเป็นคณะกรรมการ ฯ ทั้งหมด

-          อำนาจหน้าที่

พิสูจน์ความเป็นเชื้อสายไทย เพื่อให้ได้ผลตามกฎหมาย (อนุบัญญัติเป็นกฎกระทรวงหรือเป็นมติครม.) เมื่อการพิสูจน์เสร็จสิ้นแล้ว คณะกรรมการ ฯ ชุดนี้ก็หมดหน้าที่ไป

            ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ และเกณฑ์เกี่ยวกับคณะกรรมการกรรมการพิสูจน์ความเป็นคนไทยพลัดถิ่นนั้น ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

            ปัจจุบันได้มีมติครม.พิสูจน์คนไปแล้วส่วนหนึ่งเพื่อแก้ไข เรื่องการพิสูจน์ให้ไปที่ มติครม. หรือกฎกระทรวง และมีคณะกรรมการสำรวจคนไทยพลัดถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยแล้ว ใช้อำนาจตาม มาตรา ๓๘ วรรค ๒ พระราชบัญญัติ สทร.สำรวจคนซึ่งไม่มีเชื้อสายไทย สำรวจมาแล้ว ๒ รุ่น คนที่สำรวจได้ บันทึกได้ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ แต่กระบวนการสำรวจ (ทำตามมติครม.) ตั้งคณะกรรมการสำรวจและบันทึก เพื่อไม่ให้ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่แตะคนที่อยู่พม่า และได้รับการรับรองแล้วโดยคณะกรรมการตามกฎหมายนี้ ว่าเป็นคนไทยพลัดถิ่น

 

๔)     การละเมิดอำนาจอธิปไตยของประเทศเพื่อนบ้าน

 

            ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เกรงการก้าวล่วงคนในต่างประเทศ หรือเกรงว่าอาจจะเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของรัฐต่างประเทศหรือไม่

            จากหลักกฎหมายระหว่างประเทศรัฐมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน และเหนือประชากร

            สำหรับกรณีนี้ รัฐไทยใช้อำนาจอธิปไตยเหนือประชากร แสดงอธิปไตยเหนือบุคคล การตรากฎหมายแบบนี้นั้นมิได้มีการละเมิดอำนาจอธิปไตยของประเทศเพื่อนบ้านแต่อย่างใด เพราะเป็นการให้สัญชาติโดยหลักบุคคล แตะเฉพาะคนไทยพลัดถิ่นที่กลับมาแล้วในไทย และให้กับตระกูลดั้งเดิมที่ติดไปกับแผ่นดินที่เสียไป แสดงอำนาจอธิไตยของรัฐไทยเหนือตัวบุคคล (คนไทย) เฉพาะบุพการีของคนไทยพลัดถิ่นที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย (ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง) รับรองสถานะคนไทยพลัดถิ่นเท่านั้นที่เป็นผู้ทรงสิทธิตามร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้  และย้อนหลังให้ปู่ย่าบุพการีเป็นคนไทย แต่พอเสียดินแดนก็เป็นคนอังกฤษ จะไม่ไปยุ่งกับประชากรประเทศเพื่อนบ้าน เพราะฉะนั้นตราบเท่าที่คนไม่อพยพเข้ามาอยู่ในไทยถาวรก็จะไม่มีปัญหา เพราะเขาอยู่ในไทย ไม่ได้อยู่พม่า กัมพูชา แตะเฉพาะบุพการีของคนที่กลับมา

สัญชาติโดยการเกิดนั้น ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในตอนที่เกิด เราไม่สามารถจะให้สัญชาติกับคนที่ไม่มีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยได้ การให้สัญชาติต้องเป็น Effective Nationality ซึ่งการคืนสัญชาติไทยจะต้องมีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนและรัดกุม นอกจากนี้คนไทยพลัดถิ่นก็ยังมีสัญชาติของพ่อแม่อยู่ด้วย ถ้าไม่ประสงค์จะได้สัญชาติไทยก็ไม่ต้องร้องขอ



[1] หน่วยงานราชการไทยได้มีระเบียบเกี่ยวกับการให้สิทธิของข้าราชการที่เสียชีวิตไปแล้วหลายกรณี เช่น

๑.    ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้บำเหน็จความชอบค่าทดแทนและการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการและช่วยเหลือราชการ เนื่องในการป้องกันอธิปไตยและรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ พ.ศ. ๒๕๒๑

๒.   ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้บำเหน็ความชอบเป็นกรณีพิเศษ พ.ศ. ๒๕๒๑

๓.   ระเบียบกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. ๒๕๔๖

หมายเลขบันทึก: 288463เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2009 20:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2012 15:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท