ไข้หวัดใหญ่ในสมัยรัชกาลที่6


10-8-52

ดิฉันขอเล่าเรื่องการระบาดในอดีตที่สำคัญเพื่อเป็นข้อเตือนใจค่ะ    ดิฉันนำข้อมูลทั้งหมดมาจากมูลนิธิไข้หวัดใหญ่ซึ่งตอบโดยอาจารย์ นพ.ประเสริฐ  ทองเจริญ 

คำถาม การระบาดของไข้หวัดใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2461 มีผู้คนล้มตายถึง 40 ล้านคนนั้น เกิดจากเชื้อไวรัสของหมูนั้น มีหลักฐานใดพิสูจน์

คำตอบ

การระบาดของไข้หวัดใหญ่ พ.ศ. 2461 ที่มีผู้เสียชีวิต 20-40 ล้านคน การระบาดของไข้หวัดใหญ่ในปี พ.ศ. 2461 นั้น เป็นการระบาดที่กว้างขวางไปทั่วโลกและมีความรุนแรงมาก ตามบันทึกดูเหมือนว่าทั้งทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปได้รับผลกระทบมากที่สุด การระบาดแพร่ขึ้นเหนือสุดจนถึงอะลาสกา แม้แต่ตามเกาะเล็กเกาะน้อยในมหาสมุทรแปซิฟิกอันห่างไกลก็ยังได้รับผลกระทบจากการระบาดในครั้งนี้

สำหรับประเทศไทยขณะนั้นอยู่ในรัชสมัยของล้นเกล้าสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่หก ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

 สำหรับการระบาดในสหรัฐอเมริกามีผู้ประมาณการเอาไว้ว่าประมาณร้อยละ 28 ของประชากรป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ อัตราป่วย-ตาย ประมาณร้อยละ 2.5

ในการระบาดในปีก่อน ๆ ที่ผ่านมา อัตราป่วย-ตายจะอยู่ประมาณร้อยละ 0.1 เท่านั้น นอกจากนั้นในการระบาดครั้งก่อน ๆ ผู้ที่ถึงแก่กรรมเป็นผู้สูงอายุ แต่การระบาดครั้งนี้ผู้ที่ถึงแก่กรรมเป็นผู้ที่อยู่ในวัยฉกรรจ์ ในการระบาดครั้งนี้ อัตราการป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่และเป็นปอดบวมสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอายุ 15 ถึง 34 ปี มีอัตราตายสูงมากกว่าเกณฑ์ปกติถึง 20 เท่า

 คนอเมริกันตายจากการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในครั้งนี้ถึง 75,000 คน เป็นทหารที่ระดมพลเตรียมส่งไปรบในสงครามโลกครั้งที่สองถึง 43,000 คนทำให้อายุขัยของคนอเมริกันต่ำลงไปกว่าสิบปี

ในสมัยปี พ.ศ. 2461 นั้นยังไม่มีผู้ใดสามารถเพาะแยกเชื้อได้จากผู้ป่วยหรือจากสัตว์เลย มีการแยกสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์แรกได้เมื่อปี พ.ศ. 2475 ดังนั้นการที่บอกว่าไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในปีพ.ศ. 2461 เกิดจากไวรัสชนิดใดนั้น เป็นการอนุมานจากหลักฐานข้อมูลทางอ้อมย้อนหลังทั้งสิ้น ยังไม่มีหลักฐานโดยตรงใด ๆ มายืนยันเลย หลักฐานโดยทางอ้อมที่กล่าวถึงนั้นก็คือ การสำรวจปฏิกิริยาโดยตรวจซีรัมของบุคคลที่เคยเป็นไข้หวัดใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2461 แล้วหายรอดชีวิต และตรวจซีรัมของผู้ที่เกิดภายหลังการระบาดและไม่เคยเป็นไข้หวัดใหญ่เลย เมื่อนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกันก็จะทำให้อนุมานได้ว่า กลุ่มแรกนั้นเคยติดเชื้อไวรัส ไข้หวัดใหญ่ เอ สายพันธุ์ swine influenza (H1N1) (swine แปลว่า หมู) ส่วนผู้ที่เกิดหลังการระบาดไม่มีแอนติบอดี้ต่อสายพันธุ์ดังกล่าว

เพิ่งมีการพิสูจน์อย่างแน่ชัดเมื่อมีรายงานการวิจัยตีพิมพ์ในวารสารเมื่อปี 2540 นี่เอง

Tuabenberger และคณะ รายงานจากห้องปฏิบัติการวิจัยอณูพยาธิวิทยาของสถาบันพยาธิวิทยา กองทัพบกอเมริกัน (Army Institute of Pathology) ได้ตีพิมพ์ในวารสารทางวิทยาศาสตร์ Science พ.ศ. 2540 ดังนี้ คณะผู้วิจัยได้ค้นคว้าชิ้นเนื้อที่ได้จากการผ่าตรวจศพทหารที่ตายจากไข้หวัดใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2461 ที่ยังเก็บรักษาชิ้นเนื้อฝังไว้ในก้อนพาราฟีนจำนวน 28 รายด้วยกัน ซึ่งตายจากโรคปอดบวมซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เมื่อนำไปตัดให้บาง หรือเรียกว่าทำเซ็คชั่น วางบนแผ่นกระจกสไลด์ แล้วนำไปย้อมสีตามกรรมวิธี ตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์พบว่า เป็นปอดบวมชนิดปัจจุบันทั้งกลีบของปอด (acute lobar pneumonia) อยู่ 3 ราย มีลักษณะทางพยาธิวิทยาที่เรียกว่า massive neutrophilic infiltration จากความจริงที่ว่า ไวรัสไข้หวัดใหญ่จะทวีจำนวนสูงสุดในทางเดินหายใจในวันที่สองของอาการป่วย หลังวันที่ 6 ไปแล้วการแยกเชื้อจากผู้ป่วยจะมีโอกาสน้อยลง ถ้าจะนำตัวอย่างชิ้นเนื้อจากรายเหล่านี้ไปศึกษาคงจะประสบกับความล้มเหลว ในรายที่ถึงแก่กรรมภายใหนึ่งสัปดาห์หลังเริ่มมีอาการพบว่ามีปอดบวมน้ำอย่างมาก (massive pulmonary edema) มีเลือดออก alveolar hemorrhage และมีปอดบวมชนิด bronchopneumonia ในรายเช่นนี้เชื่อว่า น่าจะมีไวรัสไข้หวัดใหญ่ปรากฏอยู่ คณะผู้วิจัยคัดเลือกตัวอย่างดังกล่าวแล้วได้ 14 ตัวอย่างจากทหารที่ตาย 7 ราย ซึ่งพบว่ามี alveolar hemorrhage และ bronchopneumonia 3 ราย เป็น bronchoneumonia 3 ราย อีก 1 รายนั้นมีความแตกต่างไม่สอดคล้องกันในปอดทั้งสองข้าง กล่าวคือ ที่ปอดซ้ายเป็นปอดบวมจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (acute bacterial lobar pneumonia) แต่ปอดขวาเป็นหลอดลมฝอยและถุงลมในปอดอักเสบ (acute bronchiolitis และ alveolitis) ซึ่งแสดงว่าเป็นปอดบวมจากไวรัสตั้งแต่แรกหรือปฐมภูมิ (primary viral pneumonia) ใน 28 รายที่คัดออกมานั้น มีรายนี้อยู่รายเดียวเท่านั้น ที่แสดงโดยการตรวจ histology ว่าเป็นปอดบวมจากไวรัสตั้งแต่แรก (early viral pneumonia) ผู้วิจัยได้ทำการขยายสายพันธุกรรมโดยปฏิกิริยาลูกโซ่ที่เรียกว่า Reverse Transcriptase-Polymerase Chain Reaction หรือเรียกย่อ ๆ ว่า RT-PCR โดยขยายเฉพาะส่วน RNA template ที่มีขนาดน้อยกว่า 200 นิวคลีโอไทด์ ส่วนที่มีขนาดใหญ่ไปกว่านั้นไม่ได้นำไปขยาย คัดตัวอย่างได้ 11 ตัวอย่างจากจำนวน 14 ตัวอย่าง ส่วนของสายพันธุกรรมที่นำมาขยาย นั้นได้แก่ สายพันธุกรรมส่วนฮีแมกกลูตินิน นิวรามินิเดส นิวคลีโอโปรตีน (สองชิ้นส่วน) แมทริกซ์โปรตีน 1 หนึ่งส่วน และใช้ตัวอย่างอีก 2 ตัวอย่าง มีเชื้อไข้หวัดใหญ่อื่นสองสายพันธุ์นำมาขยายเปรียบเทียบคือไวรัสของสัตว์ปีก และไวรัสของมนุษย์ (Avian influenza A/Duck/Alberta/35/76 (H1N1) และ human influenza A/PR/8/34 (H1N1).

ผลการศึกษาปรากฏว่า สามารถขยายสายพันธุกรรมอาร์เอ็นเอได้ จากทหารที่ตายจากไข้หวัดใหญ่รายที่ 1 ของการระบาด พ.ศ. 2461 การทดสอบ ซ้ำโดยใช้เนื้อเยื่ออื่น ๆ จากรายเดียวกันก็ได้ผลเหมือน ๆ กัน ส่วนจากเนื้อเยื่อของรายอื่น ๆ ให้ผลลบทั้งหมด ลำดับเบสที่ได้แตกต่างจากไวรัสทั้งสองสายพันธุ์ที่นำมาศึกษาเปรียบเทียบอย่างชัดเจน เมื่อนำไปวิเคราะห์ทางอณูวิทยาปรากฏว่าเป็น ไวรัส H1N1 และแตกต่างจากสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่เพาะแยกเชื้อได้ในลำดับเวลาต่อมา แต่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไวรัสไข้หวัดใหญ่หมู (swine influenza) มากที่สุด เนื่องจากเป็นการขยายสายพันธุกรรมได้จากทหารที่ถึงแก่กรรมที่ Fort Jackson, South Carolina จึงขนานนามว่า A/South Carolina/1/18 (H1N1)

รายงานการระบาดในครั้งนั้นเริ่มต้นจาก Camp Funston, Kansas หลังจากนั้น 4 เดือนก็มีรายงานการระบาดจากทั่วโลก เมื่อถึงเดือนมีนาคมปีถัดมาในนครนิวยอร์กแห่งเดียว มีผู้ถึงแก่กรรมจากโรคไข้หวัดใหญ่จำนวนถึง 33,287 ราย มากกว่าร้อยละ 1 ของประชากรของนครนิวยอร์ก โรคระบาดแพร่ขึ้นเหนือถึงอะลาสกามีผู้ป่วยตายถึงร้อยละ 50 ของประชากรในขณะนั้น ณ ตำบลหนึ่งที่เป็นที่ตั้งของหน่วยทหารที่มีชื่อว่า Teller mission (ปัจจุบันเรียกชื่อว่า Brevig mission) ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่บ้าน Brevig โรคระบาดอย่างรุนแรง ภายในหนึ่งสัปดาห์ ที่ Brevig มีผู้ป่วยและตายถึงร้อยละ 85 ของประชากร Johan Hultin เป็นแพทย์ที่เคยไปประจำการที่ Brevig ในครั้งกระโน้น ฝังใจในความหฤโหดของโรค จึงอยากจะพิสูจน์ให้แน่ชัดว่าเชื้ออะไรที่เป็นต้นเหตุที่แท้จริง มีความตั้งใจแน่วแน่ในการที่จะพิสูจน์ให้ได้แน่ชัดว่าเชื้อชนิดใดเป็นต้นเหตุของการระบาดใหญ่ในครั้งนั้น (เพราะเหตุว่าในปี พ.ศ. 2461 นั้น ยังไม่สามารถเพาะแยกเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้)

Johan Hultin ในตอนหลังเป็นพยาธิแพทย์อยู่ที่นครซาน ฟรานซิสโก เป็นผู้หนึ่งที่เคยพยายามทำการพิสูจน์มาแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2494 โดยพยายามแยกเชื้อจากศพที่เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ พ.ศ. 2461 แต่ก็ล้มเหลว Johan Hultin ได้อ่านรายงานการวิจัยตีพิมพ์ของ Taubenberger และคณะด้วยความสนใจ เมื่อทราบถึงกรรมวิธีชันสูตรโดยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ก็เกิดแรงบันดลใจ จึงได้ติดต่อไปยัง Tuabenberger โดยอาสาจะไปเก็บตัวอย่างจากศพที่ฝังไว้ใต้น้ำแข็งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2461 และบางศพยังคงมีสภาพสมบูรณ์ นำไปให้ Taubenberger ชันสูตร Johan Hultin พยาธิแพทย์วัย 73 ปี เตรียมเครื่องใช้ในการขุดหลุม บากบั่นเดินทางเดี่ยวไปยัง Brevig, Alaska เมื่อไปถึงก็เริ่มการขุดค้น เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2540 ขุดสำรวจโดยไม่เกรงกลัวผีหลายหลุมศพ ในที่สุดก็พบศพสตรีวัย 30 ปีรายหนึ่งซึ่ง Hultin ตั้งชื่อให้ว่า Lucy เนื่องจากเธอค่อนข้างอ้วนเจ้าเนื้อ และถูกฝังลึกใต้น้ำแข็ง สภาพจึงยังคงสมบูรณ์ จึงทำการผ่าศพ ณ กลางลานน้ำแข็งเก็บตัวอย่างเนื้อปอดส่งให้ Taubenberger ตามคำอาสา อีกเพียงสัปดาห์เศษ Hultin ก็ได้รับคำตอบยืนยันว่า Lucy ถึงแก่กรรมจาก swine influenza (H1N1) ซึ่งตรงกับผลการศึกษาชั้นเนื้อที่รายงานไปแล้ว อันเป็นการยืนยันที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ที่มา: Taubenberger JK, Reid AH, Kraft AE, Bijwaard KE, Fanning TG. Initial genetic characterization of the 1918 “Spanich” influenza virus. Science 1997; 275: 1793-6. Specimen of 1918 flu recovered from frozen body in Alaska, Available from URL. http://cnn.com/HEALTH /9802/07/historic.flu.ap/index.html.

ข้อมูลจาก

http://www.ift2004.org/FAQ/FAQ11.html

การระบาดในประเทศไทย (จากหนังสือไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 09มาแล้ว   ระบาดบันลือโลก  โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ  2 พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2552 )

ในประเทศไทยมีการระบาดที่เกิดจากทหารที่ไปรบที่ยุโรปกลับบ้านและนำเชื้อโรคมาแพร่ตามเมืองที่เป็นท่าเรือโดยเข้ามาทางภาคใต้ก่อน   หลังจากนั้นมีการระบาดไปทั่วประเทศ   คนไทยมี 8,478,566 คน   ป่วย 2,317,663 คน  เสียชีวิต80,263 คน  หรือ 3.462% ของผู้ป่วยทั้งหมด    ตั้งแต่1พย. 61 การระบาดร้ายแรงในเดือนตค.   สงบลงบ้างในเดือนพย.   และสงบลงในเดือนมีค.   ในระยะนั้นยังไม่รู้จักเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่

ในการระบาดครั้งนี้เป็นทั้งในผู้สูงอายุ  ในเด็กและในคนหนุ่มสาวที่แข็งแรง   หลายครอบครัวเป็นกันทั้งบ้านเหลือผู้โชคดีเพียงหนึ่งคนที่ไม่เป็น    

แต่อย่ากังวลมากค่ะเพราะในสมัยนั้นไม่รู้จักเชื้อ   ไม่มียารักษา   การสื่อสารและความรู้ต่างๆยังไม่ดีเท่าปัจจุบันนี้ค่ะ    ดิฉันเพียงแต่อยากให้เราช่วยกันป้องกันเพื่อประเทศของเราโดยเราหาความรู้และใช้IT ที่มีให้เป็นประโยชน์ค่ะ  

หมายเลขบันทึก: 285801เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2009 15:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 10:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

น่าตกใจนะคะ  การระบาดของไข้หวัดใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2461 มีผู้คนล้มตายถึง 40 ล้านคน
แต่คราวนี้ คงไม่ถึงนะคะ เพราะวิธีการรักษา และยา ดีกว่ามาก

น่าจะเป็นอย่างที่พี่ศศินันท์เข้าใจค่ะเพราะประเทศไทยและประเทศต่างๆมีการเตรียมการมาหลายปีแล้วค่ะ

แต่ทุกอย่างในโลกนี้บางทีก็ไม่ค่อยแน่นอน คงต้องช่วยกันดูแลตนเองและไม่ประมาทนะคะ

ขอบคุณที่มาเยี่ยม อ่าน และยังทักทายค่ะ

ขอถามว่า

ประเทศที่มีอัตราการระบาดจากโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 สูงสุด คือประเทศใด

ประเทศที่มีอัตราตายจากโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 สูงสุด

ประเทศที่มีประสิทธิผลในการควบคุมโรคดังกล่าวดีมากที่สุด

ประเทศที่มีประสิทธิผลในการควบคุมโรคดังกล่าวดีน้อยที่สุด

ขอบคุณค่ะ

หมอไม่มีข้อมูลค่ะ ต้องขอโทษนะคะ ถามWHO น่าจะทราบค่ะ

สวัสดี ครับ คุณหมออัจฉรา

ดีใจครับที่เจอคุณหมอ แบบ real time

ถือโอกาสกราบสวัสดีปีใหม่ 2553 กับคุณหมอด้วย นะครับ

ภาพนี้ ..เป็นภาพพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของจังหวัดชลบุรี ปะพรมน้ำพระพุทธมนต์ ช่วงเวลาย่างเข้าวันที่ 1 มกราคม ครับ คุณหมอ(ผมจำชื่อวัดไม่ได้ ซะแล้ว)

คุณหมอสบายดี นะครับ

ด้วยความเคารพและระลึกถึง

สวัสดีคุณแสงแห่งความดีค่ะ

คอมเสีย น้องๆไปทานข้าวเลยรีบยืมคอมเข้ามาดูบล็อกและเมล์ค่ะ

ขอไปทานกลางวันก่อนนะคะ

ระลึกถึงเสมอค่ะ

เคยดูสารคดี เค้าบอกว่าช่วงที่คนตายเยอะๆไข้หวัดอยู่ดีๆก็ลดความรุนแรงของตัวเองลงมันอ่อนข้อให้เราครับ ถ้ามันเอาจริงคนอาจจะหมดโลก

เคยดูสารคดี เค้าบอกว่าช่วงที่คนตายเยอะๆไข้หวัดอยู่ดีๆก็ลดความรุนแรงของตัวเองลงมันอ่อนข้อให้เราครับ ถ้ามันเอาจริงคนอาจจะหมดโลก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท