THE MAN WHO PLANTED TREES ... ปู่สอน กล้าศึก (ตอน 3)


วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม  2553

 

 

วันฝนตกพรำ ๆ  หยดน้ำชุ่มฉ่ำมอบแด่มวลสิ่งมีชีวิต

รวมกระทั่ง ต้นไม้

ทำให้ผมคิดถึง “ปู่สอน กล้าศึก” มากเป็นพิเศษ

วันนี้ ปู่สอน คงไปปลูกต้นไม้ หรือไม่ก็ไปดูแลต้นไม้ที่ปลูก

ผมจึงขอเขียนถึง “ปู่สอน กล้าศึก  ผู้ปลูกต้นไม้ในใจทุกคน (ภาค 3) “

และคงจะมีตอนต่อ ๆ ไปแน่นอน

 

 

ผมถามปู่สอนว่า...

ปู่ ๆ มีคนว่า ปู่เป็นผีบ้าไหม

ปู่หัวเราะแล้วบอกว่า “คนทั้งหมดที่เห็นปู่ตอนแรก...เขาบอกว่า...ปู่บ้าทั้งนั้น”

(ผมก็คิดเหมือนชาวบ้าน ถ้าอย่างนั้นคงไม่ตั้งคำถามแบบนี้)

“ ปู่ไม่โกธรเขาหรอก เพราะปู่รู้ว่า กำลังทำอะไรอยู่

แล้วอีกอย่าง   เราทำไม่เหมือนคน ๆ อื่น เขาทำเขาคงว่า...เราบ้า

เพราะเราไม่ได้ปลูกต้นไม้เฉพาะที่ดินของเรา

ปลูกมันไปทั่ว... วัด  โรงเรียน อนามัย  ที่สาธารณะ บนภูเขา

ถ้าที่มันมีว่าง จะไปปลูกทั้งนั้น

ปู่ปลูกต้นไม้เพราะอยากปลูก  เข้าใจสัจธรรม  เข้าใจชีวิต

และมอบต้นไม้เขียว ๆ คืนให้โลกบ้าง”

 

 

เมื่อคืนผมก็ไปเจอหนังสือในตู้หนังสือของผม

มันเล่มแบน ๆ มาก จนทำให้ผมค้นไม่เจอสักที

ชื่อหนังสือ “คนปลูกต้นไม้”  THE MAN WHO PLANTED TREES”

ฌ็อง  ฌิโอโน...เขียน (1895-1970)          กรรณิการ์  พรมเสาร์ ...แปล

จำนวน 64 หน้า  ฉบับที่ผมมีอยู่ พิมพ์ครั้งที่ 3 กันยายน 2542

ของสำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง   ราคา 55 บาท 

 

 

ผมอ่านหนังสือเล่มนี้อีกครั้ง 

ชีวิตของ “ปู่สอน กล้าศึก”  มีความเหมือนกับหลายชีวิตที่ปลูกต้นไม้

ด้วยชีวิต และผมคิดว่า โลกของเรายังต้องการบุคคลเช่นนี้อีก

และผมคิดอีกว่า... ยังมีบุคคลตัวจริงที่เกิดมา  เพื่อปลูกต้นไม้และแฝงเร้นในแผ่นดิน

ถึงแม้คนในสังคมจะมองว่า เป็น “ผีบ้า” ก็ตาม

 

 

“คนปลูกต้นไม้”  THE MAN WHO PLANTED TREES”

เป็นเรื่องราวคนปลูกต้นไม้  “แอลเซอารด  บุฟฟิเยร์”

ที่เป็นตัวละคร...ชายผู้เต็มไปด้วยความเรียบง่ายและความมุ่งมั่น

เขาได้ย้ายไปอยู่ในดินแดนทุรกันดารเปลี่ยวร้างของแคว้นหนึ่ง

ทางตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศล

หลังจากสูญเสียภรรยาและลูกชายไป

เขาอยู่ลำพังกับฝูงแกะและสุนัข ในกระท่อมหินหลังหนึ่ง

และเริ่มงานอย่างมุ่งมั่น...

งานปลูกเมล็ดพันธุ์โอ๊ควันละ 100 เมล็ด

เป็นงานที่เขาทำตลอดชีวิต

งานที่แสดงถึงความอุตสาหพยายามอันยิ่งใหญ่

และทรงพลังให้พ้นไปจากขีดจำกัดของชีวิตเขาเอง…

 

 

“ผู้เฒ่ามาซาโนบุ  ฟูกูโอกะ .... ประเทศญี่ปุ่น”

เป็นคนปลูกต้นไม้คนหนึ่ง  ที่มีชีวิตจริง

และเป็นที่รู้จักพอสมควรในโลก และประเทศไทย

และคนไทยที่สนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมและเกษตรทางเลือก

ท่านเล่าว่า งานปลูกต้นไม้เป็นงานชีวิต (Life  Work)  สำหรับคนทุกคน

ถ้าเรากิน 1 จะต้องปลูกทดแทน 2  รับรองว่าจะไม่มีวันอด

แต่อย่าคิดปลูกเพื่อตนเอง

เพราะถ้าเริ่มต้นด้วยความคิดแบบนี้ก็จะเลิกปลูก

ด้วยเหตุที่เห็นว่า...ตนไม่ได้รับประโยชน์

ดังนั้น เราต้องคิดหว่านเมล็ดพันธุ์เพื่อคนรุ่นต่อไป

 

ท่านเคยได้ยินคนรุ่นก่อนยอกว่า

ชั่วชีวิตของคน ๆ หนึ่ง  ควรปลูกต้นไม้สักแสนต้น

ท่านประทับใจมาก  นับแต่นั้นมา

ก็ลงมือเอาเมล็ดพันธุ์ฝังดินวันละต้นสองต้นบนภูเขาหัวโล้นข้างบ้านตนเอง

 

 

ผมขอคาราวะเรื่องราวของคนปลูกต้นไม้ ทั้ง 3 ท่าน

ที่มีแนวคิดสวนทางกับโลกปัจจุบันที่ให้ความสำคัญต่อ “มูลค่าเศรษฐกิจ”

มากกว่า “มูลค่าชีวิตและสิ่งแวดล้อม”

ผู้คนกลับมองไม่เห็นความยิ่งใหญ่ของงานชีวิต ที่แสนเรียบง่ายและธรรมดาเช่นนี้

 

 

 

****************

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 387362เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2010 10:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท