ปฐมนิเทศนักศึกษาด้านวิทยาการสุขภาพ (๑)


รุ่นพี่ถ่ายทอดประสบการณ์ ความคิด ความรู้สึกของตนเองออกมาได้ดีกว่าการที่อาจารย์จะมาสอนหรือบอก มีคำพูดที่น่าประทับใจมากมาย

วันเสาร์ที่ ๓๑ พฤษภาคม ๑๕๕๑

วันนี้ทีมอนุกรรมการจัดการเรียนการสอนด้านเวชศาสตร์ครอบครัวและชุมชน ที่ดิฉันทำหน้าที่เป็นประธาน โดยมีทีมงานจากสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ เภสัชศาสตร์ แพทยศาสตร์ สหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ เริ่มกิจกรรมใน “โครงการปฐมนิเทศการเข้าชุมชนของนักศึกษาด้านวิทยาการสุขภาพ” เราเตรียมการจัดกิจกรรมครั้งนี้มาหลายเดือนแล้ว ครั้งสุดท้ายที่ประชุมกันคือเมื่อเช้าวันที่ ๒๘ พฤษภาคม

ดิฉันตื่นแต่เช้ารีบเดินทางไปสถานที่จัดงานคืออาคารวิทยาศาสตร์การกีฬา ระหว่างขับรถไปใจก็กังวลเล็กน้อยว่าจะมีนักศึกษามาเข้าร่วมกิจกรรมมากน้อยแค่ไหน เพราะเมื่อวานนี้มีอาจารย์จากสำนักวิชาสหเวชฯ บอกว่านักศึกษาหลายคนอาจเข้าร่วมไม่ได้เพราะต้องกลับบ้านไปจัดการเอกสารเกี่ยวกับทุน

ดิฉันไปถึงอาคารวิทยาศาสตร์การกีฬาก่อนเวลา ๐๘ น.เล็กน้อย รู้สึกตื่นเต้นที่เห็นนักศึกษามารอลงทะเบียนกันเยอะแล้ว น่าชื่นใจที่นักศึกษาส่วนใหญ่มากันก่อนเวลา ตรวจจากรายชื่อผู้ที่มาลงทะเบียนพบว่ามีนักศึกษามาร่วมกิจกรรม ๔๗๕ คน คิดเป็นจำนวนกว่า ๘๕% ของนักศึกษาทั้ง ๔ สำนักวิชา

 

บรรยากาศตอนลงทะเบียน

ห้องประชุมที่เราใช้อยู่ชั้น ๒ ความจริงเป็นห้องสำหรับออกกำลังกาย ขนาดใหญ่พอสมควร แต่นักศึกษามีจำนวนมากเราจึงให้นั่งกับพื้น ไม่ได้จัดระเบียบอะไร แต่นักศึกษาเข้ามานั่งเรียงเป็นแถวเองโดยอัตโนมัติ

ตามกำหนดการเราจะเริ่มกิจกรรมตอน ๐๙ น. แต่นักศึกษาพร้อมตั้งแต่ ๐๘.๓๐ น. ดิฉันจึงต้องขอให้มีกิจกรรม Entertain ไปพลางก่อน ได้ทีมนักศึกษาเภสัชศาสตร์ของอาจารย์ฉวีวรรณ คล่องศิริเวช ๔-๕ คนมาชวนน้องทำกิจกรรมสนุกสนาน

 

นั่งกันแบบนี้เอง ขวารองอธิการบดีฝ่ายวิชาการกล่าวเปิดงาน

๐๙.๐๐ น. ศ.ดร.ธีรยุทธ กลิ่นสุคนธ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ กล่าวต้อนรับ บอกนโยบายของมหาวิทยาลัยที่อยากให้นักศึกษาด้านวิทยาการสุขภาพได้เรียนรู้ชุมชนและเรียนรู้การทำงานร่วมกันเป็นทีมสหสาขาวิชาชีพ และเปิดงาน

หลังจากนั้นจนถึงเวลา ๑๐.๑๕ น. เป็นกิจกรรมสัมพันธ์ที่เราอยากสร้างบรรยากาศความเป็นกันเอง สนุกสนาน และให้นักศึกษาได้รู้จักกัน โดยทีมเจ้าหน้าที่ส่วนกิจการนักศึกษา ประกอบด้วยคุณณัฐพล รักษ์ดี คุณมณเทียร สุขกุล คุณชัชพล ยิ่งดำนุ่น คุณปิยวรรณ คงอินทร์ และมีน้องเมย์ ปิติกานต์ จันทร์แย้ม จากหน่วย OD มาร่วมด้วย

 

กิจกรรมสร้างบรรยากาศ วลัยลักษณ์-เฮ <p style="text-align: center;"> </p><table border="0"><tbody><tr>

</tr></tbody></table> ซ้าย กำลังสละขนหน้าแข้งให้เพื่อน ขวา จับกลุ่ม-สลับกลุ่มทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ

จบกิจกรรมแล้วก็พัก รับประทานอาหารว่าง ต่อจากนั้น ผศ.ดร.นัยนา หนูนิล เชิญ นายก อบต.ไทยบุรี และตัวแทนรุ่นพี่จากสำนักวิชาเภสัชศาสตร์และสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ที่เคยสัมผัสกับชุมชนมาแล้วมาเล่าเรื่องราวของชุมชนและประสบการณ์ให้น้องๆ ฟัง

 

พี่ๆ กำลังเล่าเรื่องให้น้องฟัง

รุ่นพี่ถ่ายทอดประสบการณ์ ความคิด ความรู้สึกของตนเองออกมาได้ดีกว่าการที่อาจารย์จะมาสอนหรือบอก มีคำพูดที่น่าประทับใจมากมาย

รุ่นพี่สาวชาวเภสัชฯ เล่าว่าได้ไปเจอสภาพบ้านแบบที่เราไม่คุ้นเคย ชาวบ้านสอนในสิ่งที่เราไม่เคยรู้ เช่น สมุนไพร ได้ฝึกมารยาทในการเข้าหาผู้ใหญ่ ชาวบ้านเขาก็เป็นผู้ใหญ่ แม้จะไม่ได้ใส่สูทหรือเสื้อผ้าราคาแพง

พี่ชายอีกคนมีประสบการณ์การจัดค่ายหมอยาน้อย บอกกับน้องๆ ว่าบ้านที่ตนเองไปเยี่ยมนั้นมีลักษณะเป็นกระต๊อบ มีผู้สูงอายุอยู่กับหลานๆ อีก ๓ คน สภาพบ้านไม่ถูกสุขลักษณะอย่างที่เราเรียนมา อย่าคาดว่าบ้านที่ไปเยี่ยมจะสบายๆ ก่อนไปฟังอาจารย์บรรยายก็นึกภาพต่างๆ นาๆ สอนน้องว่าต้องยอมรับชุมชนอย่างที่เขาเป็น ทำตัวให้กลมกลืนกับเขา อย่าไปแสดงท่าทางรังเกียจ ต้องรับสภาพให้ได้ว่าแต่ละบ้านแตกต่างกัน มีทั้งดีและไม่ดี

นักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ ๔ บอกว่าแต่ก่อนไม่เคยมีการจัดปฐมนิเทศแบบนี้ มีแต่พี่ “take” พาเข้าชุมชน เล่าให้ฟังว่าตลอดเวลาที่เรียนมานั้นได้ทำอะไรกับชุมชนบ้าง เช่น ทำโครงการสร้างเสริมสุขภาพ มีการประชุมกับภาคี ตัวแทนกลุ่มคนต่างๆ ในชุมชน การอบรมพยาบาลน้อย การกำจัดเหาที่ต้องทำหลายครั้งและต้องตามไปกำจัดให้แม่ให้ยายของเด็กที่บ้าน นักศึกษาก็ได้เหามาด้วย

สิ่งที่พี่นักศึกษาพยาบาลประทับใจมีหลายเรื่อง เช่น เด็กคนหนึ่งที่เงียบมาก แต่เมื่อผ่านกิจกรรมแล้วเขากล้าแสดงออก เอาภาพกิจกรรมและบรรยากาศในชุมชนมาให้ดู ให้ดูหน้าเด็กๆ ในชุมชน บอกว่าเด็กๆ เหล่านี้จะเป็นคนหนึ่งในครอบครัวของน้อง เล่าว่าเด็กในชุมชนพากันปั่นจักรยานมาหาพี่ในมหาวิทยาลัย ภูมิใจที่เด็กไว้วางใจ รู้สึกผูกพันเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน

การทำงานในชุมชนใช้ระบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน” “พี่ช่วยน้อง” มุ่งเน้นให้ชุมชนได้ประโยชน์ ชุมชนเข้มแข็ง สร้างความผูกพันระหว่าง มวล. และชุมชน “ได้เกรด ได้ความรู้ ภูมิใจที่รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า” บอกว่าน้องฟังแล้วอาจจะยังไม่รู้สึกผูกพัน ต้องเข้าไปสัมผัสกับชุมชน “ครอบครัว (ในชุมชน) ของพี่ ทำให้พี่ผูกพันกับที่นี่”

รุ่นพี่จากสำนักวิชาเภสัชศาสตร์เพิ่มเติมว่า ตนเองยังเข้าไปเยี่ยมครอบครัวไม่บ่อยนัก เข้าไป ๑-๒ ครั้ง เอาของไปฝาก เพิ่งจะเข้าใจภาษาใต้บ้าง ได้พาคุณพ่อคุณแม่ไปดูหลังคาบ้านของครอบครัวในชุมชน

เวลา ๑๒.๐๐ น.ได้เวลารับประทานอาหารกลางวันพอดี เราจัดอาหารกล่องและน้ำดื่มไว้ให้ นักศึกษานั่งรับประทานอาหารร่วมกันเป็นกลุ่มๆ ตามสะดวก ดูทุกอย่างง่ายๆ ไปหมด เป็นภาพที่น่าประทับใจจริงๆ

 

รับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน <p style="text-align: left;">ช่วงบ่ายยังมีกิจกรรมต่อถึงเวลา ๑๖ น. ต้องคอยติดตามกันต่อไปว่าบรรยากาศจะเป็นอย่างไรบ้าง</p> <p style="text-align: left;">วัลลา ตันตโยทัย</p>

หมายเลขบันทึก: 185759เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2008 19:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท