ปฐมนิเทศนักศึกษาด้านวิทยาการสุขภาพ (๓)


พบว่านักศึกษามีความคิดเห็นต่อกิจกรรมเชิงบวก บอกอยากให้มีเวลามากกว่า ๒ วัน อยากให้มีกิจกรรมมากกว่าปีละครั้ง มีแผนจะเข้าไปเยี่ยมบ้านในชุมชนร่วมกันอีก

ตอนที่

วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๑

เช้านี้เรานัดนักศึกษาที่หน้าอาคารไทยบุรี เวลา ๐๘.๓๐ น. เพื่อขึ้นรถเข้าไปในชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา ดิฉันเดินทางไปถึงที่นัดหมายในเวลาประมาณ ๐๘.๑๕ น. รู้สึกชื่นใจอีกเช่นเดิมที่พบว่านักศึกษามารอกันเยอะแล้ว เราจัดให้นักศึกษาเข้าแถวเรียงตามซอยที่ได้รับมอบหมายเพื่อไปขึ้นรถเป็นกลุ่มๆ (คนหัวแถวยกป้ายซอย)

การจัดนักศึกษาขึ้นรถขลุกขลักเล็กน้อย เพราะทีมงานจัดรถสองแถวมารับแยกเป็นซอยๆ แต่บางซอยจำนวนนักศึกษาเยอะ ไม่สามารถนั่งในรถคันเดียวได้หมด ส่วนที่เหลือต้องรอไปพร้อมรถบัสภายหลัง บางซอยรถสองแถวก็ย้อนกลับมารับอีกเที่ยว กว่านักศึกษาและอาจารย์จะขึ้นรถเดินทางเข้าชุมชนได้หมดก็เกือบ ๐๙.๓๐ น. แล้ว

 

เดินแถวขึ้นรถ ที่ไปไม่หมดก็นั่งรอในร่ม

ดิฉันขับรถตามเข้าไปในชุมชน ไปทันกับทีมซอย ๑๐ ที่มีอาจารย์ศุภฤกษ์ นาวารัตน์ รับผิดชอบ จึงเข้าไปเยี่ยมบ้านต่างๆ ด้วยกัน ซอยนี้มี อสม.มาช่วยเหลือด้วย การเตรียมการของเราก่อนหน้านี้คือเชิญเจ้าหน้าที่ สอ.มาประชุมด้วย และขอให้ทีม อสม. ช่วยทำแผนที่บ้านในแต่ละซอยให้เรา อาจารย์อุไร จเรประพาฬรับหน้าที่จัดกลุ่มนักศึกษาและมอบหมายบ้านให้ล่วงหน้า

เอาเข้าจริงบ้านที่มอบหมายให้นั้นอาจหายาก ไม่รู้บ้านไหนแน่ ไปแล้วไม่มีคนอยู่ แผนที่วางไว้เลยใช้การไม่ได้เต็มที่ เราได้เรียนรู้ว่าไม่ต้องไปเจาะจงบ้านและวาดแผนที่บ้านล่วงหน้าแต่อย่างใด เดินไปตามซอยเจอบ้านไหนใครอยู่ก็เข้าไปหาสะดวกกว่าเยอะ

 

สภาพในชุมชนซอย ๑๐ ดูร่มรื่นเพราะต้นไม้เยอะและโตแล้ว แม้แดดจะแรงแต่ก็ไม่ร้อนมาก

ทุกบ้านให้การต้อนรับนักศึกษาและอาจารย์อย่างดี เราให้นักศึกษาพูดคุยทำความรู้จักกับชาวบ้านโดยมีแนวคำถามให้ ตรงนี้ก็พบอีกว่าบางทีข้อมูลที่เราให้ถามนั้นก็ละเอียดเกินไป เช่นไปถามวันเดือนปีเกิดของคนในครอบครัว ชาวบ้านต้องเอาบัตรประชาชนหรือทะเบียนบ้านมาให้ดู เพราะเขาจำไม่ได้แน่นอน

 

นั่งคุยกันแบบนี้ อาจารย์ศุภฤกษ์แจ่มใสเป็นพิเศษเพราะชาวบ้านทักว่าเป็นนักศึกษา

นักศึกษาแต่ละกลุ่มช่วยเหลือกันดี คนใต้ก็ช่วยคุยช่วยแปลให้เพื่อนที่มาจากภาคอื่นฟัง เสร็จจากการพูดคุยกับชาวบ้านแล้วนักศึกษาก็แลกเบอร์โทรศัพท์กันเองในกลุ่ม เพราะจะนัดหมายกันเข้าไปเยี่ยมชาวบ้านกันอีก

เวลา ๑๑ น.กว่า เราเริ่มทยอยออกจากชุมชน กลับไปที่อาคารวิทยาศาสตร์การกีฬาเพื่อรับประทานอาหารกลางวัน

 

นักศึกษาระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน เลือกแถวนี้เพราะมีลมพัดเย็นหน่อย

นักศึกษาแต่ละกลุ่มรวมทั้งอาจารย์ยังเกาะกันดี พูดคุยกันและบันทึกข้อมูลต่างๆ ในสมุดบันทึกที่เราจัดให้ ดิฉันมาคิดได้ทีหลังว่าน่าจะให้นักศึกษาได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การเข้าชุมชนระหว่างกันด้วย

 

หลังรับประทานอาหารกลางวัน นักศึกษาใช้เวลาเขียนบันทึกของตนเอง

ช่วงบ่ายแยกลุ่มเพื่อ AAR กิจกรรมทั้ง ๒ วัน โดยมีอาจารย์และนักศึกษารุ่นพี่ช่วยดำเนินการในกลุ่มย่อย ดิฉันเข้าไปช่วย AAR กลุ่มหนึ่ง พบว่านักศึกษามีความคิดเห็นต่อกิจกรรมเชิงบวก บอกอยากให้มีเวลามากกว่า ๒ วัน อยากให้มีกิจกรรมมากกว่าปีละครั้ง มีแผนจะเข้าไปเยี่ยมบ้านในชุมชนร่วมกันอีก ประทับใจที่ชาวบ้านต้อนรับ ชาวบ้านให้ข้อคิดบอกให้เรียนให้เต็มที่ หลายคนผิดหวังเล็กน้อยที่เจอแต่คนแก่และเด็กอยู่ที่บ้าน เมื่อพูดถึงประสบการณ์ที่เข้าชุมชน นักศึกษาบางคนมีน้ำตาซึมทีเดียว

แต่ทุกอย่างก็ไม่ใช่ดีสมบูรณ์แบบทั้งหมด บางกลุ่มก็เจอชาวบ้านต่อว่า (มหาวิทยาลัย) ก็มี

 

กลุ่มย่อย AAR

หลัง AAR ในกลุ่มย่อยเสร็จ เราก็รวมกลุ่มใหญ่ ให้นักศึกษาจากบางกลุ่มมาพูด AAR ให้เพื่อนฟังด้วย แต่ทำไม่ได้มากนัก เพราะในห้องใหญ่ที่มีคนเยอะหลายร้อย การที่จะควบคุมบรรยากาศให้เงียบและคนฟังกันทำได้ยาก ต้องคอยใช้วิธีให้นักศึกษาชูมือแล้วส่งเสียง “เฮ” เป็นระยะๆ (พอผู้ดำเนินรายการพูดคำว่า “วลัยลักษณ์” นักศึกษาทั้งหมดจะชูมือแล้ว “เฮ” สะกดการคุยกันเองได้ดีนัก)

กิจกรรมสุดท้ายอาจารย์ฉวีวรรณ คล่องศิริเวช มาเฉลยกิจกรรม Walk Rally ว่ากิจกรรมในแต่ละฐานมีเป้าหมายอะไร กลุ่มไหนทำคะแนนได้ดี ให้มาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังว่ามีวิธีการอย่างไรจึงทำกิจกรรมนั้นๆ ได้ดี อธิบายไม่ได้นานเช่นกัน กลุ่มที่ได้คะแนนรวมสูงที่สุด เฉือนกลุ่มอื่นด้วยคะแนนฐานโยนเหรียญลงแก้ว ได้รับมอบรางวัลกล่องใหญ่ที่ของในนั้นสามารถแจกเพื่อนๆ ที่มาร่วมกิจกรรม ๒ วันนี้ได้ทุกคน

จบกิจกรรมเร็วกว่ากำหนดคือก่อน ๑๕ น. โดยส่วนตัวดิฉันรู้สึกประทับใจนักศึกษาทั้ง ๔ สำนักวิชามากที่มีความตั้งใจและร่วมมือในทุกกิจกรรมอย่างดียิ่ง แววตาของนักศึกษาบริสุทธิ์ใสซื่อ มีความกล้าแสดงออก

ดิฉันเห็นว่านักศึกษามีความพร้อมและศักยภาพสูง กิจกรรมการเรียนการสอนที่จะมีต่อๆ ไปควรจัดให้ส่งเสริมต่อการพัฒนาศักยภาพของเขาให้ถูกทาง ใครที่ไม่ได้สัมผัสด้วยตัวเองก็จะไม่เกิดความรู้สึกแบบนี้ ความรู้สึกดีๆ ถึงจะไปบอกต่อได้แต่ก็ไม่ลึกซึ้งเหมือนกับการได้สัมผัสด้วยตนเอง เสียดายแทนอาจารย์หลายๆ คนที่ไม่ได้เข้าร่วมทำกิจกรรมกับเรา

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 187448เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2008 09:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท