สสส. : ดูงานสุขภาวะชุมชนที่เชียงราย (๑)


การนิเทศ ติดตามกำกับ และประเมินผล เปรียบเหมือนฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนไปด้วยกัน

วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
เมื่อวันที่ ๒๐-๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ดิฉันได้มีโอกาสติดตามทีม สสส. สำนัก ๓ ไปศึกษาดูงานการจัดการสุขภาวะชุมชนที่จังหวัดเชียงราย ดิฉันออกเดินทางจากจังหวัดนครศรีธรรมราชตั้งแต่เช้าวันที่ ๑๙ แวะที่บ้านที่กรุงเทพ จัดเตรียมข้าวของพร้อมออกเดินทางไปเชียงรายในช่วงเย็น

ก่อนหน้านี้มีภารกิจหลายเรื่อง ไม่มีเวลาสอบถามรายละเอียดของ trip นี้  เมื่อไปถึงสนามบินดอนเมืองตอนเย็น จึงรู้ว่ามีคณะร่วม trip กว่า ๑๕ คน เจอคนคุ้นเคย อาทิ รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร จากคณะพยาบาลศาสตร์ มข. นายธนาวุฒิ ถาวรพราหมณ์ นายก อบต.ปากพูน นครศรีธรรมราช ได้คุยกับ นพ.ชาตรี เจริญศิริ จึงทราบว่าได้ลาออกจากงานที่น่านและตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป จะย้ายมาทำงานที่ สช.

คุณด้วง ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผอ.สำนัก ๓ เดินทางล่วงหน้าไปที่เชียงใหม่ก่อนและได้มารับพวกเราที่สนามบินเชียงรายด้วย เครื่องบินถึงเชียงรายทุ่มกว่าๆ เราแวะรับประทานอาหารเย็นที่ร้านสลุงคำ ไม่รู้สึกหิวแต่ก็รับประทานอาหารได้มาก มื้อนี้มีทั้งข้าวเหนียวและข้าวสวย แกงแค ต้มยำ ไส้อั่ว น้ำพริกหนุ่ม เห็ดหอมทอด ฯลฯ อาหารอร่อยและร้านมีบรรยากาศดี ดิฉันพบ รศ.ดร.สายพิณ เกษมกิจวัฒนา ซึ่งปัจจุบันอยู่สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มลฟ. โดยบังเอิญ ได้เห็นหน้าพูดคุยกันก็เฉพาะวันนี้ อีก ๒ วันที่อยู่เชียงราย ได้แต่โทรศัพท์คุยกัน

ออกจากร้านอาหารคณะก็เดินทางไปที่พักที่วนาศรมรีสอร์ทของ มลฟ. ที่ฝ่ายต้อนรับมีกล้วยน้ำว้า ๒ หวี คณะของเราโดยเฉพาะบรรดาผู้อาวุโสหยิบกันคนละ ๒-๓ ลูก เอาไว้เป็นเสบียง ดิฉันพักอยู่ที่อาคาร A ชั้น ๑ ไม่ไกลจากส่วนให้บริการนัก ห้องพักที่นี่สะอาด มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกครบถ้วน ตกแต่งแบบสมัยใหม่และมีกลิ่นอายของชาวเหนือ

วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
ดิฉันนอนหลับได้ดี ตื่นขึ้นมาครั้งแรกช่วง ๐๓.๓๐ น.ดูนาฬิกาแล้วหลับต่อไปอีกจนเกือบๆ ๐๖ น. อาหารเช้าจะพร้อมในเวลา ๐๗ น. ดิฉันจึงใช้เวลาช่วงเช้าสำรวจทัศนียภาพรอบๆ ที่พัก พยายามเก็บภาพสวยๆ เอาไว้ แต่ดูแล้วก็ไม่สวยเท่าที่เราเห็นด้วยสายตาจริงๆ

 

อาคารที่พัก A

ตอนเช้ามีหมอกปรากฏให้เห็น อากาศเย็นพอสบาย เสียงนกร้องที่นี่ไม่ดังมากเหมือนที่ มวล. เจอ คุณหมอชาตรีเดินออกกำลังกายได้เหงื่อทีเดียว

 

หมอกและพระอาทิตย์ ยามเช้า

อาหารเช้าเป็นเมนูง่ายๆ มีโจ๊กหมู ข้าวอบกุนเชียง ซุป ผลไม้ พร้อมชา กาแฟ

กิจกรรมเช้าวันนี้เป็นการประชุมคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ ๓ เริ่มขึ้นเมื่อเวลา ๐๘.๓๐ น. พวกเราได้เข้าร่วมประชุมด้วย ทิวทัศน์ภายนอกห้องประชุมสวยงาม เห็นภูเขา อ่างน้ำ ต้นไม้รอบๆ ออกดอกสวยและหลายชนิดมีดอกที่มีกลิ่นหอม ได้รู้จักดอกหอมหมื่นลี้ ที่ส่งกลิ่นหอมได้ไกลจริงๆ

 

ทางเดินไปห้องประชุม

สาระในการประชุมมีดังนี้
- การติดตาม การกำกับ และการประเมินผลโครงการที่รับทุน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดความล่าช้าในการดำเนินงาน ให้มี KPI ที่น่าเชื่อถือ และการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างพื้นที่ รวมทั้งกรรมการ การนิเทศ ติดตามกำกับ และประเมินผล เปรียบเหมือนฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนไปด้วยกัน
- รับรองรายงานการประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๕๒ คุณด้วงบอกเหตุผลที่รายงานการประชุมยาว เพื่อเวลาที่เอาไปวิเคราะห์หาตัวชี้วัดจะได้มีความชัดเจน
- รายงานการดำเนินงานในเดือนที่ผ่านมา

 

คุณดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผอ.สำนัก ๓ <p style="text-align: center;"> </p> <p style="text-align: center;"> </p><table border="0"><tbody><tr>

</tr></tbody></table> บรรยากาศในห้องประชุม

จบการประชุมเราออกเดินทางเพื่อไปดูงานที่ ต.ป่าซาง แวะรับประทานอาหารมื้อกลางวันที่ร้าน ป.ปลา ทุกเมนูเป็นปลาหมด เช่น แกงส้ม ผัด ปลานึ่ง ในน้ำพริกก็มีปลา

เดินทางไปถึงที่ทำการ อบต.ป่าซางเมื่อเวลา ๑๓.๐๐ น. มีทีมคนทำงานด้านสุขภาวะชุมชนมาต้อนรับ เช่น ท่านพระครู เจ้าอาวาสวัดป่าซาง นายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี ปลัดเทศบาล ผช.สสอ.ป่าซาง ครู ฯลฯ เราได้รับฟังสรุปการดำเนินงานของเทศบาลตำบลป่าซาง

 

การทำงานดูธรรมดาๆ แต่น่าสนใจ เช่น มีสภากาแฟคุยกันทุกเดือน อะไรที่ไม่เข้าใจกันจะเอามาคุยในสภากาแฟ ทำให้รู้ความเคลื่อนไหวของกันและกัน แสวงหาจุดร่วม ลดความแตกต่าง กิจกรรมผู้สูงอายุ เอามาบูรณาการร่วมกันหลายส่วน เช่น การให้เบี้ยยังชีพ ให้มารับที่ทำการเดือนละ ๑ ครั้ง ไม่ได้รับเบี้ยยังชีพอย่างเดียว แต่จะให้ สอ.มาคัดกรองเบาหวาน ความดันไปด้วย เทศบาลก็จัดกิจกรรมเสริมให้ผู้สูงอายุพบปะกัน เล่าความหลังระหว่างกัน เพราะบางคนเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็ก ไม่ได้เจอกันมานาน เอาเด็กเล็กมาแสดงกิจกรรม เกือบเที่ยงจึงมอบเงินแล้วแยกย้ายกันกลับบ้าน ต่อไปจะคัดเลือกผู้สูงอายุที่มีความสามารถให้ไปเล่านิทานในศูนย์เด็กเล็ก สอนคุณธรรมให้เด็กๆ

ป่าซางมีศูนย์เด็กเล็กที่ได้รับรางวัลจากมหาดไทย เป็นศูนย์ ๒ ภาษา ดูแลเด็กอาข่า สอนภาษาไทยให้เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาเวลาเข้าโรงเรียน เด็กที่นี่ส่วนใหญ่ไม่ได้อาบน้ำตอนเช้า มีเหา สายๆ ผู้ดูแลต้องอาบน้ำให้ ที่น่าสนใจคืออุปกรณ์การเรียนการสอนเป็นสื่อท้องถิ่นที่ผู้ปกครองช่วยกันทำ รวมทั้งของเล่นในบริเวณศูนย์ด้วย (วันอาทิตย์หลังเข้าโบสถ์ ผู้ปกครองจะมาช่วยกันทำของเล่นและดูแลซ่อมแซมส่วนต่างๆ) เชิญผู้ใหญ่ในท้องถิ่นมาช่วยชี้แนะแผนการจัดประสบการณ์ การจัดอาหารกลางวัน ถ้าผู้ปกครองมีอะไร เช่น ปลูกผักก็เอามาให้ อาหารกลางวันถ้าทำแล้วมีเหลือ ก็ตักใส่กล่องให้เด็กเอากลับไปกินที่บ้านได้อีก

ท่านพระครูเล่าให้ฟังว่าวิธีการลดอุบัติเหตุของป่าซาง ก็น่าสนใจ คือการบวชถนน ทำพิธี พรมน้ำมนต์ ทำป้ายเตือน มีรถนำ สวดไปตามถนน ถนนทำพิธีมงคลแล้ว อย่ามาเกิดอุบัติเหตุ การงดเหล้า เริ่มจากงานศพก่อน บอกว่าเดี๋ยวนี้งานศพไม่น่ากลัวแล้ว ไม่ต้องเอาเหล้ามาย้อมใจ ถ้ากิน (เหล้า) เป็น ต้องเป็นยา กินไม่เป็นก็เป็นบ้า ให้นักเรียนเขียนโทษของเหล้ามาให้ได้ ๑๐๐ ข้อ จะส่งเข้าประกวด ให้ไปถามพ่อ-แม่ด้วย ป่าซาง เดี๋ยวนี้เป็นป่าเปล่า ที่วัดพยายามเอาต้นซางมาปลูก ซางเป็นไม้ใหญ่ ต้องมีพื้นที่มาก ที่วัดจึงเอาไผ่พันธุ์อื่นมาปลูกไว้ที่หน้าวัดเป็นสัญลักษณ์

ดิฉันประทับใจปลัดเทศบาลฯ ที่เป็นคนหนุ่ม ท่าทางอ่อนน้อมและดูมีความมุ่งมั่นตั้งใจสูง เวลาเล่าเรื่องการทำงาน ไม่มีท่าทางยกตน ไม่คุยโว

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 244145เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2009 14:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท