KM สุขภาวะชุมชน ครั้งที่ ๓ (๔)


คลังความรู้มือหนึ่งมือสอง....มีอายุเหมือนนม หมดอายุเร็ว

ตอนที่

๓ กรกฎาคม ๒๕๕๒
ระหว่างรอผู้เข้าประชุมให้ครบคุณธวัชเปิด VDO เกี่ยวกับการจัดการความรู้ของที่โน่นที่นี่ให้ดู เมื่อได้เวลาก็ให้ผู้เข้าประชุมขันอาสามาบอกว่าเรื่องราวเมื่อวานนี้ ตกผลึกแล้วเป็นคำสั้นๆ ได้อย่างไรบ้าง ได้ฟังคำพูด เช่น มองให้ไกล ใจให้กว้าง...ได้รู้เรื่องสารพิษในอาหาร รู้เรื่องอาหารปลา รู้เรื่องขยะ...รวมพลังเพื่อสร้างพลังให้สังคมไทย บังหีมบอกว่า "ร่วมใจ เขียนโจทย์ สืบโยด สาวย่าน ร่วมงาน เล่าเรื่อง"

ในเวทีนี้มีผู้อาวุโสจากนาทวี ลุกมานั่งหน้าเวทีเลย ต้องการนำเสนองานของตนเองว่ามีโครงการอะไรที่สำเร็จบ้าง เช่น การจัดการสิ่งแวดล้อมในครอบเรือน ๕ ต ธนาคารขยะ……พร้อมทั้ง comment การจัดประชุมที่ไม่มีผู้หลักผู้ใหญ่มาเปิดงาน ไม่แจกกระเป๋าหรือเอกสาร ไม่เลี้ยงอาหารเย็น.....

คุณธวัชบอกต่อว่าคลังความรู้มือหนึ่งมือสอง....มีอายุเหมือนนม หมดอายุเร็ว ถ้าเราหยุดอยู่กับที่จะหมดอายุเร็ว ถ้าเราแลกเปลี่ยนกับเพื่อนมันจะต่ออายุไปเรื่อยๆ แต่อย่าเพิ่งเชื่อ ลองไปทำ การจัดการความรู้มีหลักอันหนึ่ง ถ้าใครทำอะไรเก่ง แสดงว่าเขาต้องมีความรู้ปฏิบัติอันใดอันหนึ่ง เราต้องรู้ว่าในบ้านเราในตำบลเรามีทุนอะไรบ้าง มูลค่ามากมายมหาศาล ให้พยายามมองหาว่าในพื้นที่นอกพื้นที่มีความรู้อะไร เราอย่าไปเสียเวลาลองผิดลองถูก ให้ไปเรียนรู้จากเพื่อนเลย

เราให้เวลาแต่ละโครงการมานำเสนอเรื่องดีที่ตนเองภูมิใจ โครงการละนาทีกว่าๆ โดยจับฉลากให้ขึ้นมาทีละโครงการ ความภูมิใจที่เจ้าของโครงการบอกมักเกี่ยวกับการได้รางวัล การมีคนมาดูงาน ผลที่เกิดขึ้น ยังไม่ค่อยได้บอกวิธีการที่นำไปสู่ความสำเร็จนั้นๆ หลายโครงการมีสโลแกนมีคำกลอนที่น่าสนใจ เช่น “ตัวปลาเติบใหญ่ น้ำใสสะอาด ปราศจากสารพิษ เศรษฐกิจเพียงพอ หล่อเลี้ยงชุมชน” ของกลุ่มที่ทำอาหารปลา บางโครงการมาแสดงของจริงให้ดู เช่น ร้องเพลงกล่อมเด็ก ฤาษีดัดตน

 

ซ้าย โชว์เพลงกล่อมเด็ก ขวา สาธิตท่าฤาษีดัดตน

ดิฉันสังเกตว่ามีผู้เข้าประชุมส่วนหนึ่งที่ตั้งใจสนใจฟังโครงการของเพื่อน จดบันทึกตลอด ดิฉัน mark โครงการที่น่าจะชวนมาออกเวทีงานมหกรรม เช่น โครงการที่ทำกับเยาวชน การปลูกผักในกระถาง เลี้ยงปลาในบ่อพลาสติก การปลูกมังคุคนอกฤดู การรณรงค์ให้แยกขญะที่ส่งผลให้ลดลูกน้ำยุงลายและเกิดกลุ่มอาชีพใหม่ การจัดการขยะในหมู่บ้านที่มีการประเมินให้คะแนนทุก ๓ เดือน พอ ๖ เดือนหมู่บ้านไหนทำได้ดีก็มีรางวัล ไม่ต้องไปซื้อรถขยะและจ้างคน ศูนย์ไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง ฯลฯ พอนำเสนอเสร็จเราพักให้รับประทานอาหารว่าง

ตอนคุยกันนอกรอบคุณธวัชบอกว่าเราต้องหาวิธีให้ชาวบ้านนำเสนอให้เข้าแก๊บกับที่เราอยากได้ บางทีชาวบ้านไม่ค่อยเข้าใจโจทย์ของเรา เขาจะนำเสนอตามที่เขาเตรียมมา

หลังรับประทานอาหารว่าง ดิฉันแจ้งว่าเราจะมีงานมหกรรมเรื่องราวดีๆ ราวเดือนตุลาคม จะเชิญโครงการที่น่าสนใจมาร่วมเวที อยากให้แต่ละโครงการลองไปสรุปทบทวนวิธีการทำงานที่ทำให้เกิดความสำเร็จ เช่น การรณรงค์ให้ชาวบ้านคัดแยกขยะนั้น มีวิธีการรณรงค์อย่างไรจึงได้ผลดี เป็นต้น

คุณธวัชย้ำต่อว่าประเด็นของเรา ๒ วันนี้ พยายามเอาเครื่องมือการจัดการความรู้มาให้รู้จัก มาให้แล การจัดการความรู้ก็เหมือนปลาทูปลาลังตัวหนึ่ง ต้องมีเรื่องหลักๆ ใหญ่ๆ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้โครงการเราได้ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำคัญมาก.....๒ วันนี้ยังไม่ได้มาก เวลาเอาการเล่าเรื่องไปใช้มีหลักอยู่ว่าเรื่องเล่าต้องเป็นเรื่องที่เราทำเอง เล่าเรื่องที่เราทำมาเอง แล้วเรื่องเล่าจะต้องมีบอกว่าความสำเร็จหรือความภูมิใจคืออะไร ผลคืออะไร แล้วที่สำคัญมากๆ ขาดไม่ได้คือ “ทำพันพรือ” เทคนิค กลเม็ดเด็ดพราย เคล็ดลับ

ที่ สคส.ไปทำที่เป็นภาคชุมชนก็มีเหมือนกัน ฉาย VDO ของกลุ่มพิจิตรให้ดู เมื่อจบก็ถามว่า “พันพรือบ้าง” ดูหนังแล้ว ฟังอย่างลึกหรือหลับอย่างลึก ที่เขาทำว่าด้วยคนปฏิบัติล้วนๆ ไม่มีนักวิชาการ แต่ทำให้ต่อเนื่องตลอดๆ ลึก เขามีกลุ่มเล็กๆ เชื่อมโยงกันได้ พลังใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ฟังเสียงสะท้อนจากกลุ่มได้หลายเรื่อง เช่น

- เห็นโรงเรียนทายาทเกษตรกร เวลาคนทำบางทีนึกถึงแต่พ่อแม่ ความจริงไปทำกับเยาวชนได้ เขาจะไปต่อยอด....ต่อไปจากผู้ใหญ่ ขอให้คิดว่าอย่าไปใส่แต่ผู้ใหญ่อย่างเดียว ในอนาคตเด็กอาจทำได้ดีกว่าพวกเรา เขาอาจผสมผสานเทคโนโลยี
- สะท้อนว่าคนรักหมู่บ้าน ไปเรียนแล้วกลับมาพัฒนาหมู่บ้านตนเอง
- สิ่งที่เราต้องการจะทำ ต้องมีปัญหาก่อน มีปัญหาแล้วจะเกิดการรวมกลุ่ม แก้กันเอง สืบทอดไป.... เพื่อให้มันยั่งยืนต้องมีเครือข่าย
- รู้สึกว่าอยากจะขอแผ่นซีดี เพื่อให้เอาไปใช้ต่อในชุมชน
- เราไปสร้างไปเสริมให้สมบูรณ์แบบ ในพื้นที่เราก็มี แต่เราไม่ได้ไปแต่งให้สมบูรณ์แบบ อยากให้กำลังใจ ในพื้นที่เราก็ทำได้
- บางชุมชนไม่ทราบว่าตนเองมีปัญหา เมื่อตัวเองไม่รู้ปัญหาก็ไม่ได้แก้ปัญหา อาจเพราะเราขาดผู้รู้ผู้ชี้นำ ถ้าเขามี รู้ปัญหา แก้ปัญหาร่วมกัน ไม่รู้ปัญหาเลยไม่เกิดโครงการดีๆ หาคนเสียสละยาก เพราะไม่มีใครจุดประกาย คนที่รู้ปัญหาแล้วก็ไม่หาผู้รู้มาสร้างเป็นเครือข่าย
- เห็นความพอเพียง....สวนผสม ผมก็ทำอยู่ เลี้ยงปลากี่บ่อ ปลูกอะไรกี่ต้น.....

คุณธวัชสรุปอีกครั้งว่าความรู้อาจอยู่ในตัวคน คนเฒ่าคนแก่ ความรู้อาจอยู่ในประเพณีวัฒนธรรมก็ได้ เขาพยายามใช้วิธี มีกระบวนการค่อยๆ พาชาวบ้านให้หาว่าโจทย์ของเขาคืออะไร ต้องให้เขาเข้าใจ

๑๒ น. อธิบายการใช้ AAR หลักการคือต้องสด ทำกิจกรรมแล้วให้ทำเลย ทีมงานจะได้จำบรรยากาศได้ พยายามรักษาบรรยากาศ ไม่มีถูกไม่มีผิด เหมือนพี่เลี้ยงนักมวย ชกไปยกหนึ่งต้องมาคุยว่าเป็นอย่างไร บอกคำถามหลักๆ แต่จริงๆ การทำ AAR ที่ดีให้ทำวงเล็กๆ ของเราคนมากต้องดัดแปลงวิธีการ

 

ช่วง AAR

คนที่มาตั้งแต่วันแรก ให้นึกกลับไปว่าอยากได้อะไร คนที่มาวันนี้ก็ให้บอกความคาดหวังว่าอยากได้อะไร
ถ้าไปจัดกิจกรรมแบบนี้เอง อยากจะปรับอะไร จะเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปทำอะไร หลัก ไม่ได้บังคับให้ตอบทั้ง ๔ ข้อ ๕ ข้อ อิสระอยากตอบกี่ข้อก้ได้ เล่าว่าที่ สคส.ใช้อย่างไร ให้คนอาวุโสน้อยพูดก่อน.....พยายามหลีกเลี่ยงบรรยากาศการอภิปราย ไม่ใช่มาจับผิดจับถูก หาข้อสรุป ถ้าเป็นบรรยากาศแบบนั้น การเรียนรู้จะไม่เกิด คนจะตั้งป้อม เราบันทึกเทปคำกล่าว AAR ของผู้เข้าประชุมไว้

เรารับประทานอาหารกลางวันเมื่อเลยเวลาบ่ายไปแล้ว มีเวลาเหลือดิฉันจึงพาคุณธวัชแวะไปที่มหาวิทยาลัย ขาไปสนามบินก็ขอให้รถวิ่งในเส้นทางผ่านหมู่บ้านที่คุณธวัชเคยอยู่เคยเรียน คุณธวัชบอกว่าบรรยากาศยังเป็นแบบเดิมๆ

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 274362เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2009 08:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับอาจารย์ เพิ่งได้ลงบันทึก KM สุขภาวะชุมชนเป็นตอนแรกครับ มัวแต่ช้าอาจารย์เลยเล่าไปหมดแล้ว ผมค่อยมาเล่าอีกมุมหนึ่งที่ได้เห็นเพิ่มเติมจากอาจารย์ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท