KM Workshop ที่วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย (๒)


วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทยมีบุคลากรที่กล่าวได้ว่าเป็น “ต้นทุนดี” ขององค์กรอยู่จำนวนมาก

ตอนที่ ๑

วันที่  ๒๑ กันยายน ๒๕๕๒ ภาคบ่าย
หลังรับประทานอาหารกลางวัน เข้าใจว่าผู้เข้าประชุมหลายคนคงแวะเวียนกลับไปที่ทำงานของตนเองที่อยู่ใกล้ๆ ห้องประชุม เมื่อผู้เข้าประชุมส่วนใหญ่กลับมาก็เลยเวลา ๑๓ น.ไปเล็กน้อย น้องอุให้ผู้เข้าประชุมยืนเป็นวงกลมปิด ทำกิจกรรมท่องสูตรคูณแม่ ๒ ทำผิดกันหลายรอบ แต่ในที่สุดก็สำเร็จได้ เมื่อสอบถามคนที่ผิดบ่อยๆ ว่าทำไมถึงผิด ได้คำตอบว่าเพราะคาดไปก่อนเลยเผลอ ส่วนคนที่ทำได้ไม่ผิดเลย ก็เพราะท่องไปด้วย มีสมาธิ

ต่อจากนั้นเราแจกกระดาษ A4 ให้ผู้เข้าประชุมแต่ละคนวาดภาพ “ความประทับใจของตนเองในวัยเรียน” แต่ละคนตั้งใจกันเต็มที่

 

วาดภาพความประทับใจ

เมื่อวาดภาพเสร็จก็ให้จับคู่ ผลัดกันเล่าผลัดกันฟัง ช่วยกันตอบคำถามว่าทำไมถึงฟังแล้วเก็บเรื่องราวของเพื่อนได้หมด คนฟังคนเล่ามีเทคนิคอย่างไร สังเกตได้ว่ามีหลายคนเล่าเรื่องได้อย่างมีชีวิตชีวา ผู้เข้าประชุมบางคนมีคำถามว่า “วัยเรียน” หมายถึงช่วงอายุเท่าไหร่ เตือนให้เรารู้ว่าต่อไปต้องระบุชัดๆ

 

บนและล่าง จับคู่ผลัดกันเล่า-ผลัดกันฟัง

 

ดิฉันแนะนำเทคนิคการฟัง การเล่าเรื่อง สุนทรียสนทนา บทบาทของคุณอำนวย คุณกิจ คุณลิขิต ในวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ก่อนที่จะให้ผู้เข้าประชุมแบ่งกลุ่มย่อย ๔ กลุ่ม เล่าเรื่อง “ความประทับใจของตนเองในวัยเรียน อายุไม่เกิน ๑๕ ปี” ฝึกซ้อมตามบทบาทของ “คุณ” แต่ละคน รวมถึงการสกัดขุมความรู้จากเรื่องเล่า ดิฉันและน้องอุแบ่งกันดูแลคนละ ๒ กลุ่ม

 

บรรยากาศในวงเล่าเรื่อง

ผู้เข้าประชุมสนใจฟังเพื่อนเล่าเรื่องกันดีมาก มีเรื่องราวน่าสนใจ อาทิ ความมุ่งมั่นของผึ้ง เส้นทางสู่ฝัน The Letter…………จากเรื่องเล่าความประทับใจหลายเรื่องทำให้ดิฉันรู้ว่าวิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทยมีบุคลากรที่กล่าวได้ว่าเป็น “ต้นทุนดี” ขององค์กรอยู่จำนวนมาก หลายคนมีเรื่องราวดีๆ เช่น
- ได้รับคัดเลือกเป็นนักดนตรี (เล่นคีย์บอร์ด) ของโรงเรียนที่มีอายุน้อยที่สุด
- อยากเรียนพยาบาลมาก มุ่งมั่นเรียนวิทย์-คณิต อ่านหนังสือหลายรอบ (มีวิธีเอาเท้าแช่น้ำอุ่นแก้ง่วง) เข้าเรียนพยาบาลได้ตั้งแต่อายุ ๑๔ ปี จบแล้วอยากทำงานที่ ER แต่ตามกติกาของ รพ. เขาไม่รับเด็กจบใหม่ ก็ยังเลือก ER ทั้ง ๔ อันดับ แถมบอกความมุ่งมั่นตั้งใจด้วยว่าแม้จะให้ไปทำงานที่ไหน แต่สุดท้ายขอกลับไปที่ ER เลยได้เป็นรุ่นแรกที่ RN ใหม่ได้ทำงาน ER
- ฝึกฝนจนได้เป็นนักร้องเพลงไทยเดิมและได้ร้องเพลงถวายต่อหน้าพระพักตรสมเด็จพระเทพฯ คนเล่า (อาจารย์ก้อย) บอกว่าตอนที่ท่านเสด็จมาตรงหน้า ขาสั่นพั่บๆ แต่ก็ร้องเพลงได้
- จดหมายจากพ่อ-แม่ที่เขียนบอกความรู้สึกที่ให้ลูกมาเรียนพยาบาล ทำให้ตนเองเปลี่ยนความรู้สึกที่ไม่เคยชอบพยาบาลเลย มาเป็นมุ่งมั่นตั้งใจเรียน เปิดใจยอมรับ
- ฯลฯ

เรื่องราวดีๆ เหล่านี้ ยังไม่เคยมีเวทีให้เอามาเล่าสู่กัน คนที่ได้ยินได้ฟังก็รู้สึกชื่นชมเจ้าของเรื่อง คนที่ได้เล่าก็รู้สึกภูมิใจในตนเอง เมื่อการเล่าเรื่องจบ แต่ละกลุ่มก็ส่งตัวแทนมานำเสนอ เป็นที่สังเกตว่าผู้เข้าประชุมหลายคนเล่าเรื่องได้ดี แต่การจดบันทึกขุมความรู้ของบางกลุ่มมีแนวออกไปทางการสรุปประเด็นอย่างที่มักใช้ในการประชุมกลุ่มย่อย

เราให้ข้อแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเล่าเรื่อง การฟัง การจดบันทึกขุมความรู้ น้องอุลองเล่าเรื่องการทำไข่ตุ๋นให้ฟัง ๓ แบบ ทั้งแบบสั้นๆ ไม่มีรายละเอียด แบบยาวเหยียดตั้งแต่ขึ้นรถเมล์ไปตลาดเพื่อหาซื้อไข่ กับแบบที่กระชับแต่มีเทคนิคและเคล็ดลับเฉพาะตัวที่ทำให้ไข่ตุ๋นอร่อย เปรียบเทียบให้ผู้เข้าประชุมเข้าใจ

เรามีการบ้านสำหรับวันรุ่งขึ้น ให้อาจารย์เตรียมเรื่องเล่าความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอน เจ้าหน้าที่ก็ให้เตรียมเรื่องการสนับสนุนการเรียนการสอน แนะนำให้นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้แจ่มใส พร้อมสำหรับการแบ่งปันเรื่องราวดีๆ ให้เพื่อน

วัลลา ตันตโยทัย
 

หมายเลขบันทึก: 300354เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2009 11:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท