KM workshop ทีมงานสุขภาวะชุมชน (๓)


อย่าเล่าแบบตีความ อย่าหยิบเอาหลักการหรือทฤษฎีมาเล่า ให้เล่าวิธีการ เล่าเรื่องเล็กๆ อย่าเล่าชีวประวัตินาน ถ้าเป็นประสบการณ์ตรงจะดีมาก

ตอนที่
๑๕ .๐๕  น. ผู้เข้าประชุมแสดงความเห็นกันว่าเรื่องแบบนี้อยากให้ลงไปถึงชาวบ้าน ชาวบ้านชอบคุยชอบเล่า แต่ไม่ค่อยมีการเขียน คุณธวัชบอกว่าการบันทึกเรื่องเล่าของชาวบ้านอาจใช้การวาดภาพ ให้เยาวชนช่วย หรืออาศัย "คุณกิจ" ที่มีแวว เก็บเป็นคลิป VDO ละคร มโนราห์ ฯลฯ คุณทวีวัตร เครือสาย จากชุมพร บ่นว่าที่ผ่านมาเราไปติดกรอบการถอดความรู้ ติดกรอบบทความ

ผู้เข้าประชุมพากันนึกได้หลายเรื่องว่าในชุมชนมีความรู้อยู่เยอะแยะ เห็นความสำคัญของคลังความรู้ มีคนคิดว่ากลับไปจะไปเขียน อยากให้แต่ละหมู่บ้านมีเรื่องบันทึกไว้ให้คนรุ่นหลัง

เราเดินเรื่องต่อว่าคนสำคัญในวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีใครบ้าง – คุณอำนวย คุณกิจ คุณลิขิต คนที่ไม่อยากให้มีในวงคือคุณอำนาจ เราใช้รูปภาพจากตลาดนัดความรู้เบาหวานแสดงให้เห็นบรรยากาศของวงนี้

หลังพักรับประทานอาหารว่าง เราขอให้ ผศ.ดร.สายฝน เอกวรางกูร และอาจารย์อุไร จเรประพาฬ ช่วยกันทำกิจกรรมเพื่อแบ่งกลุ่มผู้เข้าประชุมออกเป็น ๔ กลุ่ม มีเกมปลาทูปลาร้า แล้วต่อด้วยผู้ชายเหรียญ ๕๐ ผู้หญิงเหรียญ ๑ บาท แบ่งจนได้กลุ่มย่อย ๔ กลุ่ม เราออกแบบให้ทุกกลุ่มมีน้องที่ผ่านการอบรมต้นกล้าอาชีพ ที่เพิ่งมีประสบการณ์ทำงานเพียงไม่กี่เดือน อยู่ด้วย

 

อาจารย์สายฝน อาจารย์อุไร ช่วยกันแบ่งกลุ่มผู้เข้าประชุม

โจทย์ของเราคือให้ผู้เข้าประชุมผลัดกันเล่าเรื่อง หัวปลาคือการทำงานสุขภาวะชุมชน การเล่าเรื่องให้คิดเรื่องเล็กๆ ถ้าใครคิดไม่ออกให้ลองเอาเรื่องภูมิปัญญามาเล่า กิจกรรมนี้เราต้องการให้ผู้เข้าประชุมได้ใช้เครื่องมือการเล่าเรื่อง (storytelling)

คุณธวัชแนะว่าอย่าเล่าแบบตีความ อย่าหยิบเอาหลักการหรือทฤษฎีมาเล่า ให้เล่าวิธีการ เล่าเรื่องเล็กๆ อย่าเล่าชีวประวัตินาน ถ้าเป็นประสบการณ์ตรงจะดีมาก อาจวาดรูปช่วยให้คนฟังนึกออก ให้หยิบเรื่องเล็ก อย่าหยิบเรื่องประวัติศาสตร์มาเล่าจะไม่จบใน ๓ นาที ยกตัวอย่างเรื่องเล่าต่างๆ ให้ตกลงกันว่าใครจะเป็น "คุณอำนวย" ให้น้องต้นกล้าที่มีประสบการณ์น้อยทำหน้าที่เป็น "คุณลิขิต"

เราบอกเรื่องเวลาที่มีให้ยังไม่ทันจบ ผู้เข้าประชุมก็เริ่มเล่าเรื่องกันแล้ว สัมผัสได้ถึงความกระตือรือร้นอยากจะเล่าเรื่องของตนกันทุกคน

คุณธวัชเตือนคนฟัง ระวังอย่าให้เป็น one meeting ให้คอยสบตาคนเล่า ถ้าจะถาม ให้ถามเชิงชื่นชม ถามแบบเราอยากเอาไปทำต่อ ไม่ต้องไปเสนอแนะว่าทำไมไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะเป็นเรื่องอดีตแก้ไขไม่ได้ ไม่ใช่การมาระดมสมอง ใครจะเล่าอะไรก็ได้เราฟังอย่างเดียว

บรรยากาศการเล่าเรื่องในแต่ละกลุ่มดูเป็นกันเองอย่างมาก พอยิ่งนานยิ่งมีเสียงเล่าดังมากขึ้น บางกลุ่มหัวเราะกันอย่างสนุกสนาน ในการประชุมครั้งนี้เราไม่ serious เรื่องเรื่องที่เอามาเล่า เน้นการฝึกทักษะแล้วให้สะท้อนการเล่า การฟัง ประทับใจเรื่องไหน เพราะอะไร เพื่อให้เรียนรู้เทคนิคการเล่าเรื่อง

 

กลุ่มเล่าเรื่อง ๔ วง

๑๗.๒๐ เปิดเวทีให้ผู้เข้าประชุมสะท้อนการเล่าเรื่องในกลุ่ม – เทคนิคการเล่าเรื่อง เทคนิคการบันทึกของคุณลิขิต ให้สะท้อน ไม่ใช่บอกเนื้อหา ได้ยินได้ฟังดังนี้

  • เคยไป ๒ เวที เวทีที่เป็นนักวิชาการ นักวิชาการเล่าไม่ค่อยรู้เรื่อง ในวงนี้เป็นคนทำงานจริงๆ ฟังเข้าใจ คนเล่าๆ ด้วยความภาคภูมิใจ แต่ละคนเวลาเล่าๆ ได้เป็นประเด็น ตรงจุด เอาไปใช้ได้ ทุกคนตั้งใจฟัง มีเสียงชมตลอด คนเล่าอยากเล่า แต่ละคนอยากเล่า บรรยากาศไม่คุกคาม
  • แต่ละคนมีชื่อเรื่อง ทำให้คนฟังก็อยากรู้ว่าเป็นอย่างไร พอเล่าเสร็จคนฟังก็อ๋อเป็นอย่างนั้นเอง
  • คุณลิขิตจดไม่ได้เพราะฟังไม่รู้เรื่อง ทีแรกคนในกลุ่มคิดว่าน้องเขากำลังฟังอย่างลึกซึ้ง......กลุ่มนี้ฮากันมาก......การเล่าอาจยังไม่เป็นระบบ แต่เป็นกันเอง คุยสนุก ปัญหาคือความต่างวัย (คนเล่าอายุ ๖๓ โบราณทั้งตัว) ใช้ภาษาถิ่นของคนละจังหวัด ทำให้ไม่เข้าใจ มีเรื่องเล่าการทำเสวียนรองก้นหม้อ การขึ้นก้นเสวียน มีคำว่ารูขี้ เป็นคำเรียกที่ไม่เหมือนกัน ทำให้รู้ว่า “คุณอำนวย” ต้องเก่งมากๆ บางกรณีอาจต้องเป็นทั้งคุณอำนวยและคุณลิขิต
  • เรื่องเล่าที่ดีควรมีรูปวาดหรือของจริงประกอบ เรื่องเล่าที่น่าสนใจคนจะช่วยกันสกัดกันใหญ่
  • ฟังแล้วรู้สึกว่าได้อะไรมากขึ้น สิ่งที่ไม่คิดว่าจะได้ก็ได้มากขึ้น เช่น การทำปลวก สร้างรังปลวก เป็นสิ่งง่ายๆ ที่เราคิดไม่ถึง คนฟังเลี้ยงไก่อยู่ด้วย ที่ใช้เคร็งเป็นโปรตีน ความคิดของเพื่อนน่าจะเอาไปใช้ประโยชน์ได้ ได้รู้เรื่องหมูหลุม
  • อาจารย์อุไรได้เป็นคุณอำนวย ความจริงไม่อยากเป็นเพราะไม่ถนัด สมาชิกกลุ่มคนแรกที่เล่าเรื่องกังวลเรื่องเวลา ไม่เล่าเรื่องตัวเองไปเล่าเรื่องเพื่อน คนที่ ๒ เลยเล่าเรื่องของเพื่อนบ้าง (คุณลิขิตจดทัน) น้องวัตรเล่าเรื่องของตัวเอง (คุณลิขิตจดไม่ทัน) เล่าจากสิ่งที่เขาทำ ตาเป็นประกาย อาจารย์สมหมายเปลี่ยนบทบาทเป็นคุณอำนวยถามไปเรื่อย อาจารย์อุไรเล่าเรื่องแม่สามีว่ามีภูมิปัญญาทำให้นมคัดหาย คุณลิขิตบันทึก (แล้วขำ) ว่าเอาผมไปแยงนม เลยต้องมีการตรวจข้อมูลที่บันทึก
  • คุณลิขิตสะท้อนหลายเรื่อง สาเหตุที่คุณลิขิตจดไม่ทัน เขียนไม่ถูกเพราะฟังภาษาไม่ออก ใช้คำสมัยก่อนฟังไม่ออก คุณลิขิต จดตามทุกคำ-เอาผมไปแยงนม
  • คุณอำนวย – ระดมหลายเรื่องทั้งภูมิปัญญา ประสบการณ์จริง พยายามประคับประคองไม่ให้ล้ม ดึงให้เข้าวง – มีประเด็นที่จะออกนอกกรอบเข้าซอยเล็กซอยน้อย ต้องคอยหาเทคนิคคอยดึงกลับมา เช่น บอกว่าตั้งใจฟังสักนิด เอาไปใช้ประโยชน์ได้จริงนะ

คุณธวัชดูสิ่งที่คุณลิขิตจดบันทึกแล้วให้ความเห็นว่า คุณลิขิตพยายามเขียนได้ดี เป็นเชิงพรรณนา ที่ควรให้มีมากขึ้น หัวใจที่ขาดไม่ได้คือ “ทำพันพรือ” ต้องขยายให้มากจนคนที่ไม่ได้อยู่ในวงอ่านแล้วเข้าใจ อาจจะต้องมีทักษะการเขียนแบบ mind map เร็วๆ ไปก่อน แล้วค่อยมานั่งเรียบเรียง หรือใช้เทคโนโลยีช่วย เช่น เครื่องอัดเสียง เรื่องเล่าเชิงเทคนิคต้องมีการบันทึกหลายลักษณะ

คนที่เล่าเรื่องได้น่าประทับใจ – เป็นเรื่องที่เขาทำเอง ตาเป็นประกาย เล่าได้เห็นภาพ คนเล่าเล่าด้วยความภูมิใจ มีความสุขกับเรื่องที่เล่า ตัวอย่างเช่นเรื่อง “ผมแยงนม” พอเล่าไปแล้วมีความกังขา เรื่องเล่าเล็กๆ อาจกลายเป็นโจทย์วิจัย

เวลาใช้กับชาวบ้านทำง่ายมาก ให้เล่าเรื่องที่เขาทำอยู่ เดี๋ยวนี้เวทีใหญ่ๆ ก็ใช้เรื่องเล่า ถ้าพูดแต่วิชาการดูมันแห้ง เรื่องเล่ามีข้อจำกัดคือติดกับบริบท เวลาจะเอาไปปรับใช้ต่อต้องคิดก่อนว่าจะใช้ได้ไหม จุดดีมากๆ คือกระตุ้นไอเดีย กระตุ้นความคิด ไม่ใช่ให้ลอกเรื่องเล่าของเพื่อนไปใช้แป๊ะๆ แต่เรียนทางลัด ไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์

จบกิจกรรมในวันแรกในเวลา ๑๘.๓๐ น. ฟ้าเริ่มมืด ไม่ทันได้ชมทะเลยามเย็น ดิฉันสังเกตว่าผู้เข้าประชุมเริ่มคุ้นเคยกันมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนดูมีความสุขที่ได้พูดคุยเล่าเรื่องและฟังกันและกัน

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 304430เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2009 07:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

มาอ่านต่อนะคะ ไม่เคยเข้าร่วมการการจัดการความรู้แบบนี้มาก่อน ขอเรียนรู้จากอาจารย์นะคะ

กระตุ้นไอเดีย กระตุกความคิด

เยี่ยมจริงๆค่ะ

เรื่องเล่าเร้าพลังแบบนี้คุณอำนวย และคุณลิขิตคงทำงานประสานกันสนุกนะคะ

mind map ทำให้คุณลิขิตทำงานได้เร็ว และเก็บข้อมูลได้ครบแล้วค่อยมาเขียนพรรณา

การเก็บภาพเหตุการณ์ไว้ก็ช่วยให้คุณลิขิตพรรณษสิ่งที่เกิดขึ้นได้ไม่ตกหล่น

ขอบคุณค่ะ

 

ชอบการจัดประชุมแบบนี้มากค่ะ ไม่เคยไปที่ไหนมาก่อน รู้สึกผ่อนคลายเหมือนว่าเราไม่ได้อยู่ในห้องประชุมแต่เหมือนนั่งเล่นอยู่กับบ้านแล้วมีเพื่อนมาแลกเปลี่ยนความคิดกัน สนุกมาก ๆ บรรยากาศก็ดีค่ะ อยากให้มีครั้งต่อไปอีกค่ะและขอเข้าร่วมอีกนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท