เรื่องดีที่ มวล. : เสวนาคณบดี ๑/๒๕๕๓ (๒)


ได้วิธีการทำงานที่จะเอาไปใช้ต่อและมองเห็นเรื่องที่สามารถร่วมกันพัฒนาได้

ตอนที่ ()

คุยกันเรื่องเดียวก็ใช้เวลาไปถึง ๑ ชั่วโมงกว่า ถัดไปเราคุยกันเรื่อง “การดูแลการจัดการเรียนการสอนรายวิชา” ตามที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้า ดิฉันเป็นผู้นำเสนอก่อนว่าสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์มีกระบวนการทำงานในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง (เป็นโอกาสที่ได้ทำ Flow Chart การทำงาน) ที่ประชุมคณะกรรมการประจำสำนักวิชาทำหน้าที่พิจารณาความเหมาะสมของประมวลรายวิชา และการตัดเกรด สิ่งที่เรายังทำไม่ได้ดีคือการจัดทำแผนการสอนในรายละเอียด ซึ่งยังมีการทำไม่ครบทุกรายวิชา การดูแลเรื่องความเหมาะสมของเอกสารประกอบการสอน ความเหมาะสมของข้อสอบ

คณบดีสำนักวิชาต่างๆ ร่วมให้ข้อมูลในเรื่องเดียวกันนี้ มีทั้งส่วนที่เหมือนและต่าง

 

วงคุยของคณบดี

รศ.ดร.พูลพงษ์ บุณพราหมณ์ คณบดีสำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์
มีขั้นตอนการดำเนินการคล้ายของสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ แต่ในส่วนของประมวลรายวิชา จะดูของอาจารย์ใหม่หรือรายวิชาที่มีการเปลี่ยนแปลง ในส่วนของการประเมินผลการเรียน จะขอดูข้อสอบและบางครั้งก็ดูเอกสารประกอบการสอนด้วย

รศ.ดร.วัฒนพงศ์ เกิดทองมี คณบดีสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร
ใน ๒ ภาคการศึกษาที่ผ่านมานี้ มีอาจารย์คนหนึ่งให้คะแนน ๒๐% สำหรับ Lecture book ของนักศึกษา ปรากฏว่ามีนักศึกษาบางคนจดไม่ตรงกับที่อาจารย์สอน นักศึกษาคงนึกไม่ถึงว่าอาจารย์จะดูละเอียด

สำนักวิชาอื่นเลยร่วมให้ข้อมูลว่ามีนักศึกษาลอกผล Lab. กัน จึงต้องแก้ด้วยการให้เขียนด้วยลายมือ

ในการประชุมตัดเกรด อาจารย์วัฒนพงศ์เล่าว่าที่ผ่านมาไม่สามารถหากระบวนการที่น่าสนใจได้ อาจารย์เข้าๆ ออกๆ ที่ประชุม จึงปรับใหม่ ให้อำนาจผู้ประสานงานหลักสูตรดูในรอบแรก มีการพูดคุยกันภายในหลักสูตรก่อน เมื่อเข้าที่ประชุมคณะกรรมการประจำสำนักวิชา ก็ช่วยลดเวลาและทำให้กระบวนการรวบรัดยิ่งขึ้น รายวิชาใดที่มีปัญหาหรือมีเด็กรอพินิจ ก็เอาเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการฯ

ศ.พิเศษ ดร.ชลธิรา สัตยาวัฒนา คณบดีสำนักวิชาศิลปศาสตร์
ตอนมาใหม่ๆ ก็ทำเหมือนของพยาบาล แต่ดูแล้วว่าการเร่งรีบทำไม่เป็นผลดี จึงปรับใหม่ ให้กรรมการประจำหลักสูตรกลั่นกรองและพิจารณากันมาก่อน แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็นำเข้าคณะกรรมการประจำสำนักวิชา

รศ.ดร.สุรสีห์ วัฒนวิกย์กิจ รก.แทนคณบดีสำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์
บอกว่าการตัดเกรดเอาเข้าที่ประชุมคณะกรรมการประจำสำนักวิชา แต่ขอให้ตัดเกรดมาหลายๆ แบบ แล้วมาพิจารณาร่วมกัน ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร

มีการประชุมกันว่าเทอมหน้าจะเปิดสอนอะไรล่วงหน้า ๑ เดือน ....ยังไม่ได้มีการดูแลเรื่องข้อสอบ (อย่างลึก) ให้เป็นรูปธรรม บางทีส่งข้อสอบกันช้า เคยทำงานที่ต่างประเทศ ก่อนสอนเขาจะต้องส่งทุกอย่างให้เรียบร้อย

รศ.ดร.สุนิพนธ์ ภุมมางกูร คณบดีสำนักวิชาเภสัชศาสตร์
ตอนพิจารณาประมวลรายวิชา จะให้ทำงบประมาณรายจ่ายมาด้วย เพราะมีการใช้อาจารย์พิเศษ มีการจัดการให้อาจารย์พิเศษจากที่เดียวกันมาสอนในคราวเดียว

รศ.ดร.อมรา ช้างทรัพย์ คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์
เล่าว่ามีกระบวนการพิจารณาอย่างไร ตัดเกรดอย่างไร การจัดการเรียนการสอนรายวิชา Lab. จะให้นักศึกษาไปอ่านมาก่อนแล้วทำ flow มา เรื่องของข้อสอบยังไม่ได้ดูลงลึก

อาจารย์สุวัจนา เพ็งจันทร์ รก.แทนคณบดีสำนักวิชาการจัดการ
คณบดีท่านก่อนทำระบบไว้ดี ให้เข้าที่ประชุมหลักสูตรมาก่อน เมื่อเข้าที่ประชุมคณะกรรมการประจำสำนักวิชาจะใช้เวลาน้อยมาก การแก้ไขไม่ค่อยมี เรื่องรายละเอียดของรายวิชา เช่น ข้อสอบ มีอาจารย์บางท่านที่ไม่เห็นด้วยที่จะให้ใครไปดู แต่กรรมการประจำสำนักวิชาจะมาจากทุกหลักสูตรอยู่แล้วและจะมีวิธีการในการให้ข้อเสนอแนะที่ไม่ทำให้อาจารย์รู้สึกว่าถูกสั่งให้แก้ บางครั้งอาจารย์ที่ไม่ยอมแก้ก็ไปเจอปัญหาในห้องสอบ...คนที่เปิดใจกว้างจะรู้สึกว่าการที่มีคณะกรรมการช่วยดูให้มีผลดี

ผศ. เอกพงษ์ จุลเสนีย์ คณบดีสำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ
คุยกันมาหลายสำนักวิชา ดูเหมือนจะมีกระบวนการคล้ายๆ กัน จึงขอเล่าเรื่องความกังวลห่วงใยที่เปรียบเหมือนหม้อ (น้ำ) เดือดที่ถูกปิดฝาอยู่ ความหนักใจในผลการเรียนวิชา Pre-Cal. ของนักศึกษา....อยากให้มีการแก้ไขและปรับให้ Transcript มีลักษณะที่ให้โอกาสแก่เด็ก...เพื่อนๆ คณบดีฟังแล้วพร้อมให้การสนับสนุนหากนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสภาวิชาการ

ช่วงท้ายๆ ดิฉันมีลุกออกไปดูความพร้อมของอาหารกลางวันบ้าง เลยอาจจะเก็บข้อมูลไม่ได้ทั้งหมด แต่เข้าใจว่า ศ.ดร.ธรรมศักดิ์ พงศ์พิชญามาตย์ คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและ ผศ.พญ.มยุรี วศินานุกร คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ ได้ฟังของเพื่อนและให้ความเห็นบ้าง แต่ยังไม่ได้เล่ารายละเอียดของตนเอง

สุดท้ายอาจารย์ธีระยุทธบอกอยากเห็นเรื่องการทำ Lesson plan และเรื่องข้อสอบ พร้อมแจ้งเรื่องแผนยุทธศาสตร์ตามนโยบายสถานศึกษา ๓ ดี (3D) จบการเสวนาตรงเวลา ปิดท้ายด้วยการรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน

 

รับประทานอาหารกลางวัน

การเสวนาคณบดีครั้งแรกของเรา บรรยากาศยังแข็งๆ ไปนิด แต่คาดว่าครั้งต่อๆ ไปน่าจะดีขึ้น การคุยกันเรื่องการทำงานของแต่ละสำนักวิชา ทำให้ดิฉันได้วิธีการทำงานที่จะเอาไปใช้ต่อและมองเห็นเรื่องที่สามารถร่วมกันพัฒนาได้ ตอนนี้คิวการรับเป็นเจ้าภาพก็ถูกจองครบทุกเดือนแล้ว

ดิฉันรู้สึกอยากให้ถึงการเสวนาครั้งต่อไปเร็วๆ จะได้เรียนรู้การทำงานเรื่องอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีก ตั้งใจว่าจะไม่ให้พลาดเวทีนี้เลย

ในเวทีครั้งแรกนี้ ดิฉันแจกหนังสือ “ครูเพื่อศิษย์” ส.ค.ส. ๒๕๕๓ ของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ซึ่งเป็นอภินันทนาการจากชาวสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ให้คณบดีทุกสำนักวิชา ขอให้ช่วยกันค้นหาว่าในสำนักวิชาของตนเองมีครูแบบนี้อยู่บ้างไหม เป็นใคร เพื่อนำมายกย่องเชิดชูให้เป็นที่รู้และเป็นที่เรียนรู้ของผู้อื่น

วัลลา ตันตโยทัย


 

หมายเลขบันทึก: 325546เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2010 23:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ฝากความระลึกถึงผ่านไปยัง รศ. ดร. วัฒนพงศ์ เกิดทองมี ด้วยนะครับอาจารย์

ขอขอบคุณอาจารย์วัลลา ที่ตั้งใจอย่างสูงในการริเริ่มจัดเสวนาคณบดีให้มีรูปแบบที่เปลี่ยนไป ได้ผลอย่างคุ้มค่าเพราะเป็นการเสวนาที่ได้ทั้งเนื้อหา ความผ่อนคลาย และสุดท้ายคืออาหารรสดี และที่สังเกตได้คือคณบดีทุกท่านได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวของสำนักวิชาให้ได้เรียนรู้ร่วมกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท