เรื่องดีที่ มศว. : KM Workshop คณะพยาบาลศาสตร์ (๑)


เปิดงานด้วยคำกลอนเกี่ยวกับ Explicit-Tacit Knowledge ได้อย่างน่าชื่นชม

เมื่อวันที่ ๒๓-๒๔ มกราคม ๒๕๕๓ ดิฉันและคุณสุภาพรรณ ตันติภาสวศิน ได้ไปเป็นวิทยากรจัด Workshop ให้อาจารย์และเจ้าหน้าที่ของคณะพยาบาลศาสตร์ มศว. ที่องครักษ์ ได้รู้จักกับแนวคิดและเครื่องมือ KM ตามสไตล์ของสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) งานนี้มี ผศ.พัชรินทร์ ขวัญชัย รองคณบดีฝ่ายประกันคุณภาพการศึกษาเป็นแม่งาน

อาจารย์พัชรินทร์เพียรติดต่อกับดิฉันมาตั้งแต่ปีที่แล้ว จัดเวลาไม่ลงตัวเสียที ได้โอกาสดีก็ในวันเสาร์-อาทิตย์นี้แหละ ดิฉันชวนทีมงาน สคส. มาช่วยกัน แต่ไม่มีใครว่างสักคน เลยต้องขอให้ช่วยแนะนำเทคนิควิธีการใหม่ๆ ที่ สคส. ใช้ในการจัด workshop และติดตามอ่านบันทึกของชาว สคส. ว่าได้ไปจัดเวทีอะไร อย่างไร เอามาเป็นตัวอย่างออกแบบกิจกรรมใน workshop ให้มีอะไรใหม่ๆ บ้าง

ดิฉันโชคดีที่สามารถชวนคุณพรรณที่ปัจจุบันทำงานอยู่ที่สถาบันรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (สรพ.) ให้มาช่วยกันได้ เราคุยกันไม่มากนักเพราะรู้ใจรู้หน้าที่กันอยู่แล้ว ดิฉันเพียงแต่ส่งกำหนดการไปให้คุณพรรณรู้ว่าจะมีกิจกรรมอะไร ช่วงเวลาใด

ก่อนหน้าการประชุมครั้งนี้ ดิฉันต้องเดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในวันที่ ๒๑-๒๒ มกราคม กลับถึงบ้านที่กรุงเทพฯ ก็เย็นแล้ว เพื่อความสะดวกเลยบอกทางทีม มศว. ว่าจะขับรถไปเองกับคุณพรรณ มีคุณพรรณนั่งรถไปด้วยก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไปไม่ถูก เรานัดพบกันที่หน้า SCB park คุณพรรณบอกว่าเราน่าจะออกเดินทางจากจุดนัดพบสักประมาณ ๐๖.๓๐ น.

วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๓
ดิฉันตื่นขึ้นมาจัดเตรียม PowerPoint สำหรับการประชุมราวๆ ตีสี่ เพราะเมื่อคืนทำงานไม่ได้มาก ทุกครั้งที่ไปจัดเวทีแบบนี้ ดิฉันจะต้องปรับปรุงไฟล์ที่ใช้ เรียงลำดับกิจกรรมและหาตัวอย่างที่เหมาะกับผู้เข้าประชุมแต่ละกลุ่มใหม่ เตรียมตัวจะออกจากบ้านใกล้ๆ ๐๖.๓๐ น. พอดีคุณพรรณโทรศัพท์มาแจ้งว่าคงจะถึงที่นัดพบประมาณ ๐๗ น. ดิฉันจึงมีเวลารับประทานอาหารเช้าเสียก่อน

ออกจากบ้านไปรอคุณพรรณ คิดถึงเรื่องเก่าๆ ที่เราเคยนัดเจอกันตรงนี้เมื่อไปจัด workshop ที่สระบุรี ครั้งนั้นมีคุณตุ๊ก อาฬสา หุตะเจริญ เพื่อนของคุณพรรณ ร่วมทีมไปด้วย (อ่านที่นี่) กว่าเราจะเจอกันและออกเดินทางได้ก็เลยเวลา ๐๗.๑๕ น. ไปเล็กน้อย ความจริงดิฉันเดินทางผ่าน มศว. องครักษ์ ปีละ ๒-๓ เที่ยว เพื่อไปเยี่ยมแม่ที่นครนายก ทุกครั้งจะมีสามีหรือลูกเขยหรือลูกชายเป็นคนขับรถ เรามักจะใช้เส้นทางที่ผ่านถนนกาญจนาภิเษก ความที่ไม่ได้ขับรถเองเลยไม่มั่นใจ กลัวหลง ดิฉันกับคุณพรรณจึงเลือกเดินทางตามถนนวิภาวดีไปรังสิต แล้วเข้าถนนรังสิต-นครนายก

ดิฉันใช้รถฟอร์ดแอสปายคันเก่าที่วิ่งเร็วไม่ได้ เพราะเป็นรถขนาด ๑๓๐๐ ซีซี ที่เอาไปเปลี่ยนจากเกียร์ธรรมดาเป็นออโต้ รถที่เคยวิ่งได้ความเร็วเกิน ๑๐๐ จึงวิ่งได้ราว ๘๐ หากเร็วกว่านี้รอบเครื่องจะเกิน ๓ กินน้ำมันมากขึ้น เราจึงไปกันเรื่อยๆ แบบไม่รีบร้อน ถึงที่หมายใกล้ ๐๘.๓๐ น. ประทับใจ “คุณยาม” ที่หน้าประตูมหาวิทยาลัย คุณยามมีท่าทีสุภาพ อ่อนน้อม แนะนำเส้นทางไปสู่คณะพยาบาลศาสตร์อย่างชัดเจน เราขับรถผิดช่องทางไปหน่อยเพราะคิดว่า One way โชคดีที่มีรถวิ่งไม่เยอะ

 

อาคารคณะพยาบาลศาสตร์

อาคารคณะพยาบาลศาสตร์ มศว. ใหญ่โต หลายชั้น มีทุกอย่างอยู่ในอาคารเดียว ต่างจากที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่เราแยกอาคารที่เป็นสำนักงาน อาคารเรียน และอื่นๆ เป็นส่วนๆ อาจารย์พัชรินทร์ ผศ.ทัศนียา วังสะจันทานนท์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ (เคยเป็นอาจารย์ที่วลัยลักษณ์) มาต้อนรับ เราขอไปเตรียมความพร้อมที่ห้องประชุมกันก่อน เนื่องจากเราแจ้งไปว่าต้องการให้จัดห้องอย่างไร ห้องที่ใช้ได้คือห้องเรียน ที่ชั้น ๓ ของอาคาร

 

ห้องประชุมของเรา

รายชื่อผู้เข้าประชุมที่อาจารย์พัชรินทร์ส่งให้เราล่วงหน้าล่าสุด มีทั้งผู้บริหาร อาจารย์เก่า อาจารย์ใหม่ และเจ้าหน้าที่สนับสนุน รวมประมาณ ๔๐ คน ได้เวลา ๐๙ น. เราดูด้วยสายตาพบว่าผู้เข้าประชุมยังมากันไม่ครบ แต่เราก็เริ่มกิจกรรมตรงเวลา อาจารย์พัชรินทร์ถามอย่างเกรงใจว่าจะต้องมีพิธีการเปิดการประชุมไหม ดิฉันขอให้ดำเนินการแบบง่ายๆ ไม่ต้องมีพิธีรีตอง แม้แต่การแนะนำวิทยากรก็ไม่ต้องแนะนำมาก บอกสั้นๆ ก็พอว่าเป็นใคร มาจากไหน พิธีกรที่เป็นอาจารย์รุ่นใหม่เปิดงานด้วยคำกลอนเกี่ยวกับ Explicit-Tacit Knowledge ได้อย่างน่าชื่นชม

คำชี้แจงวัตถุประสงค์ตอนเปิดงานของอาจารย์พัชรินทร์ ทำให้ดิฉันได้รู้พื้นความเข้าใจ KM ของทีม มศว. อาจารย์พัชรินทร์ไม่ลืมขอบคุณผู้บริหาร อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ที่มาประชุมกันในวันเสาร์-อาทิตย์ และหวังว่าจากการประชุมครั้งนี้ ทีม มศว. จะเอา KM ไปใช้ได้สำเร็จในอย่างน้อย ๒ พันธกิจ

คุณพรรณใช้กิจกรรมให้ทุกคนแนะนำตัวเองด้วยการบอกชื่อจริงและบอกว่าเอาของอะไรมาฝาก (เป็นขนม ผัก หรือผลไม้) เช่น “ดิฉันชื่อสุภาพรรณ เอาสาลี่สุพรรณฯ มาฝาก” กติกาคือของฝากไม่ให้ซ้ำกัน ใครบอกผิดจะได้เป็นแขก VIP ผู้เข้าประชุมหันหน้าปรึกษากันเป็นการใหญ่ การ check ความพร้อมก็ใช้วิธีการตบมือ ๕ ครั้ง

 

กลุ่ม VIP กำลังดมดอกลั่นทม

ต่อไปเป็นกิจกรรม BAR โดยให้บอกชื่อตนเองด้วยคำ ๓ พยางค์ พร้อมบอกความคาดหวังและการเตรียมตัว เราเลยได้ยินว่ามีคนชื่อ “พัชติดเพชร” “แดงจังกึม” “ติ๊กเถรตรง”......มีชื่อเกาหลีอยู่หลายคน คนรุ่นดิฉันจึงจำยากหน่อย อาจารย์พัชรินทร์สั่งซื้อหนังสือ KM ฉบับนักปฏิบัติ ของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช จาก สคส. มาแจกให้ผู้เข้าประชุมศึกษาก่อนล่วงหน้า หลายคนจึงบอกว่าเตรียมตัวโดยอ่านหนังสือมาก่อน (แต่ยังอ่านไม่จบ) บางคนบอกนอนหลับอย่างเต็มที่....

 

บรรยากาศแบบกันเองของชาว มศว.

จบกิจกรรมช่วงแรก พักรับประทานอาหารว่าง (ซาลาเปาอร่อย)

วัลลา ตันตโยทัย

 

หมายเลขบันทึก: 332529เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2010 17:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ใครทราบบ้าง ต้นไม้ที่ปลูกบริเวณคณะพยาบาลฯ มศว ที่มีผลเป็นสีเขียว กลมๆ ดอกสีขาว เรียกว่าต้นอะไร คะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท