Workshop Note Taker สำหรับเยาวชน (๑)


“คุณลิขิต” คือคนที่ทำหน้าที่เป็นคนเขียน คนบันทึกเรื่องราว โดยเฉพาะของดีในบ้านเรา การบันทึกไม่ใช่เขียนอย่างเดียว วาดรูปก็ได้

เมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ที่ ๒๐-๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ดิฉันจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้บทบาทของ “คุณลิขิต” การประชุมครั้งนี้จุดประกายมาจากการได้ไปเยี่ยมตำบลวังอ่าง (อ่านที่นี่) แล้วคุณสมพงค์ ปานเอียด ประธานสภา อบต. เปรยว่าตำบลวังอ่างมีปัญหาเรื่องการทำ “คลังความรู้” ดิฉันมองเห็นว่าเยาวชนน่าจะเข้ามาทำเรื่องนี้ได้ นอกจากจะได้คลังความรู้ของพื้นที่แล้ว ยังจะเกิดเรื่องดีๆ อีกหลายอย่าง เช่น การถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่น เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน เยาวชนเกิดความรักท้องถิ่น ฯลฯ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๔ ที่ผ่านมาดิฉันลงพื้นที่ที่ตำบลคลองฉนาก จ.สุราษฎร์ธานี ทีมทำงานในพื้นที่รู้เข้าก็สนใจขอส่งเยาวชนมาร่วมด้วย การประชุมครั้งนี้ได้คุณธวัช หมัดเต๊ะ จาก สคส. มาเป็นวิทยากรหลักตลอดรายการ

วันเสาร์ที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
ทีมเยาวชนจาก รร.นทีคม คลองฉนาก จำนวน ๕ คน พร้อมผู้อำนวยการโรงเรียน อาจารย์พิณัฎฐา ศรีสิทธิยานนท์ และเยาวชนจาก รร.วัดวิชรประดิษฐ์ กาญจนดิษฐ์ จำนวน ๓ คน มาถึงเมื่อตอน ๐๙ น. กว่าเล็กน้อย ทั้งหมดมาด้วยรถตู้คันเดียวกัน พอลงจากรถตู้เราเห็นก็ตกใจเพราะตัวเล็กๆ กันทั้งนั้น ได้ความว่าเป็นนักเรียน ป.๔ ป.๕ ดูแววตาของเด็กยังตื่นๆ อยู่ แม้ป้าวัลลาจะออกไปทักทาย เชิญชวนให้เข้ามานั่งในห้องประชุม ทีม รร.วชิรประดิษฐ์ใส่เสื้อสีชมพู รร.วัดนทีคมใส่เสื้อสีฟ้า

ทีมเยาวชนจากวังอ่างมาถึงประมาณ ๐๙.๔๕ น.กลุ่มนี้เป็นวัยรุ่นแล้วจำนวน ๑๔ คน มีพี่เลี้ยงอีก ๒ คน ทั้งหมดนั่งมาในรถปิ๊กอัพคันเดียว รถวิ่งหน้าเชิดมาเลย หลายคนเคยเจอกันเมื่อคราวที่ดิฉันไปเยี่ยมวังอ่าง น่าประทับใจที่มี ผญบ.แม็ก นายไพโรจน์ ขุนพลช่วย และ ส.อบต. นายสมชาย วันสิน เป็นพี่เลี้ยงด้วย ทีมเตรียมกล้องวิดีโอมาพร้อม

เราให้เยาวชนรับประทานเครื่องดื่มและอาหารว่างกันก่อน พอได้เวลา ๑๐.๑๕ น. ดิฉันก็เริ่มกิจกรรมด้วยการกล่าวต้อนรับ บอกที่มาที่ไปของการจัดประชุม และแนะนำคุณธวัช

คุณธวัชบอกว่าจะแล่งใต้ ถามว่ามีใครพูด-ฟังใต้ไม่ได้บ้าง จะใช้วิธีเรียนๆ เล่นๆ ลองฝึกเป็น “คุณลิขิต” คือคนที่ทำหน้าที่เป็นคนเขียน คนบันทึกเรื่องราว โดยเฉพาะของดีในบ้านเรา การบันทึกไม่ใช่เขียนอย่างเดียว วาดรูปก็ได้...ในที่นี้มีตั้งแต่รุ่นใหญ่ถึงรุ่นเล็ก ก็อาจจะคละกลุ่มกันบ้าง พี่ก็ช่วยแลน้องด้วย ...อยู่กัน ๒ วัน ต้องรู้จักกันก่อน แจกหัวใจคนละแผ่น ทำตัวสบายๆ ไม่ต้องเกร็ง บายๆ ถ้าเมื่อยก็เอนหลังได้ หมอนก็เอามาให้ใช้เหมือนที่บ้าน เราจะค่อยๆ คุยกันไปเรื่อยๆ สลับการทำกิจกรรม

ให้แบ่งหัวใจออกเป็น ๔ ส่วน จะพับก็ได้ ขีดเส้นก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน ห้องบนขวามือเขียนชื่อ ห้องบนซ้ายเขียนว่าตอนนี้ทำอะไรอยู่ ห้องที่สาม โดยส่วนตัวชอบอะไรมากที่สุดในชีวิต ของที่ชอบไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน บางคนยังนึกไม่ออกว่าตัวชอบอะไร ให้เวลานิดนึง ข้อนี้เริ่มยากแล้ว ต้องให้เวลา.. ห้องสุดท้าย ...อยากได้อะไรจาก ๒ วันนี้...ส่วนตัวเลย ในใจนึกอยากได้อะไร ไม่จำเป็นต้องเหมือนเพื่อนบางคนบอกอยากได้ความรู้...ความรู้กว้าง มีเป็นแสนเป็นล้าน บอกเสียหน่อยว่าความรู้อะไร

 

เริ่มต้นทำความรู้จักกัน

เมื่อทุกคนเขียนเสร็จก็ล้อมวง ให้แต่ละคนแนะนำตัวเอง บอกสิ่งที่ตัวชอบ ความคาดหวัง...ต่อจากนั้นให้บอกว่าจำใครได้บ้าง เขาชอบอะไร ต้องวน ๒ รอบจึงจะครบ น่าชื่นชมที่เด็กเล็กๆ จำได้ บอกถูก

 

หัวใจของเยาวชน

คุณธวัชถามว่าการที่จะเขียนอะไรให้ดี ต้องมีอะไรบ้าง คำตอบ.... ความจำ สมาธิ ปากกา...คุณธวัชบอกว่าการฟังสำคัญ หัวใจนักปราชญ์ สุ จิ ปุ ลิ..การฟังเป็นปัญหา หลายคนไม่รู้ตัว ...น้องเล็กๆ บอกได้แสดงว่าเขาจดจ่อพอสมควร เขาตามฟัง ฝากเป็นข้อแรก การฟังเป็นพื้นฐานสำคัญของการเขียน ถ้าเราฟังคน แต่หัวของเราคิดเรื่องอื่นอยู่ ฟังไม่ได้ดี หัวใจของการจะเขียนอะไรอยู่ที่การฟัง

๑๑ น. แบ่งกลุ่ม รร.เดียวกันอยู่กลุ่มเดียวกัน วังอ่างแยกเป็น ๒ กลุ่ม เอาหมู่ที่อยู่ใกล้ๆ กัน แจกกระดาษ Flipchart กลุ่มละ ๑ แผ่น สี ๑ กล่อง ให้วาดรูป อาจจะวาดเป็นรูปแล้วเขียนตัวหนังสือประกอบด้วยก็ได้ ให้คุยกันก่อน แล้ววาดเป็นรูปว่าความรู้หรือของดีที่บ้านเราอยู่ที่ (แค่) ไหนบ้าง ที่เรารู้จัก ที่เราเห็น...ให้เวลาถึง ๑๑.๓๐ น. อาจจะเป็นของดี ของที่ขึ้นชื่อ เป็นคนก็ได้ เช่น ใครปลูกต้นไม้เก่ง ดูแลต้นไม้เก่ง ใครทำอาหารอร่อย ใครหาปลาเก่ง....ก็ได้

 

วาดรูปภาพแสดงของดีๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่

ช่วงวาดรูปมีเสียงคุยเสียงพูดคึกคัก เด็กเล็กก็ดูมีชีวิตชีวามากขึ้น เวลาผ่านไปครึ่งชั่วโมง รูปภาพที่ร่างๆ กันไว้ มีสีสันและรายละเอียดเพิ่มมากขึ้น เสร็จแล้วให้ตัวแทนช่วยกันเล่าภาพ

คุณธวัชบอกว่าตอนที่เขียนเราใช้วิธีแตกต่างกัน...เขียนลักษณะแผนที่ วาดรูป แผนผังทางความคิด (Mind mapping) ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นเทคนิคที่ใช้จับประเด็น

วิธีเขียนหลากหลาย การจะเขียนความรู้ต้องรู้ก่อนว่าความรู้อยู่ที่ไหน แสดงว่าพื้นฐานเรามีแล้ว แหล่งเรียนรู้ไม่ใช่อยู่เฉพาะจุดเดียว คนที่เขาทำอะไรเก่ง..ความรู้แบบนี้คนมักจะไม่จัดการ ไม่รู้...เรียกความรู้ในคน ความรู้ปฏิบัติ

 

ผลงานของ ๔ กลุ่ม

ความรู้มี ๒ แบบใหญ่ๆ ความรู้ที่มีอยู่ใน รร. เป็นวิชาการ...ความรู้ชัดเจน ชัดแจ้ง ถูกพิสูจน์ชัดเจนแล้ว แต่ความรู้ส่วนใหญ่เป็นความรู้ในคน ยังไม่ถูกเอามา.....เราต้องทำแผนที่คนดี แผนที่ความรู้ว่าใครทำอะไรเก่งบ้าง อยากให้มองเห็นก่อนว่าความรู้มีหลากหลาย ความรู้อยู่ในโบราณสถานก็ได้ อย่างน้อยที่สุดจะบอกวิถีชีวิตของคน ถ้าไม่เข้าไปหาไปค้นสักวันจะสูญไป

บ้านเราการบันทึกการเก็บยังมีน้อย...เราจะไปหวังให้คนแก่ๆ มาเขียนคงยาก ถ้าเยาวชนน่าจะทำได้...บางแห่งเขามีหลักสูตรทำขนมเราต้องจ่ายเงินเรียน ความรู้ในคนถือว่าเป็นปัญญา ความรู้จะอยู่ในแหล่งธรรมชาติก็ได้

ได้เวลาเที่ยงกว่าเล็กน้อย เราพักรับประทานอาหารกลางวัน

หมายเลขบันทึก: 338762เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2010 10:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท