เรื่องดีที่ มวล. : ประเมินคุณภาพภายใน ปีการศึกษา ๒๕๕๒ (๑)


ใช้หลักตัว ช. คือ ไปชื่นชม ไปเชียร์ ไปชี้ชวน และเอาไปโชว์ว่าที่นี่มีดีอะไร

ระหว่างวันที่ ๔-๖ สิงหาคม ๒๕๕๓ เป็นช่วงเวลาของการประเมินคุณภาพภายในระดับสำนักวิชา ศูนย์/สถาบัน มีคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกและภายในมหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกมีทั้งท่านที่เคยมาเป็นกรรมการให้เราแล้วและท่านใหม่ที่เพิ่งเข้ามา ประกอบด้วย ศ.ดร.สมศักดิ์ พันธุวัฒนา เป็นประธาน รศ.นาวาอากาศเอก ดร.วรพจน์ ขำพิศ รศ.ดร.มรรยาท รุจิวิชชญ์ รศ.ดร.วัลลภ สันติประชา รศ.ภรณี ศิริโชติ ผศ.ดร.มณีปิ่น พรหมสุทธิรักษ์

กรรมการที่เป็นคนในได้แก่ รศ.ดร.อมรา ช้างทรัพย์ รศ.ดร.มนตรี อิสรไกรศีล ผศ.ดร.สราวุธ เดชมณี พร้อมทีมเจ้าหน้าที่ส่วนส่งเสริมวิชาการ

วันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๓

ช่วงเช้ามีการประชุมชี้แจงการทำงานที่ห้องประชุมโมคลาน อาคารบริหาร รศ.ดร.ไทย ทิพย์สุวรรณกุล อธิการบดี กล่าวต้อนรับ แนะนำคณะกรรมการฯ พร้อมบอกว่า “...ที่เชิญท่านมาอีก ไม่ใช่เพราะประเมินดี แต่เพราะท่านเข้าใจเรา...มวล.มีส่วนที่ต่างจากมหาวิทยาลัยอื่น บางอย่างเขามี เราไม่มี”

ศ.ดร.ธีรยุทธ กลิ่นสุคนธ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ทำหน้าที่แทนรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา นำเสนอบริบทการบริหารของมหาวิทยาลัย ภาพรวมของการประเมินตนเอง สรุปผลการดำเนินงานในปีการศึกษา ๒๕๕๒ การที่ได้ฟังข้อมูลในภาพรวมก่อน ทำให้หน่วยงานย่อยเตรียมการนำเสนอของตนเองได้ง่ายขึ้น และเชื่อมต่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นว่าหน่วยงานของตนเองมี Contribution ต่อมหาวิทยาลัยในส่วนใด

รศ.ดร.วัลลภ สันติประชา ทำหน้าที่แทน ศ.ดร.สมศักดิ์ พันธุวัฒนา ที่ติดภารกิจและจะเดินทางมาสมทบภายหลัง อาจารย์วัลลภกล่าวว่าขอบคุณ มวล. ที่เชิญมาชื่นชมผลงานของมหาวิทยาลัย บางท่านมาหลายครั้ง บางท่านเพิ่งมา...จะมาเรียนรู้ เอาสิ่งดีๆ ไปทำด้วย ฟังจากที่นำเสนอแล้วไม่น่าหนักใจ...สอนเด็กเก่งไม่น่าหนักใจ... ขอแสดงความยินดีที่จัดงานวันเกษตรแห่งชาติผ่านไปด้วยความเรียบร้อย

QA เป็นการตรวจสอบการทำงานของเรา เป็นเครื่องมือ มีการทำงานรวมศูนย์ก็ต้องตรวจสอบหนัก ได้พยายามศึกษา แม้รายงานจะยังร้อนๆ อยู่...กรรมการยินดีทำหน้าที่ตรงนี้ จะใช้หลักตัว ช. คือ ไปชื่นชม ไปเชียร์ ไปชี้ชวน และเอาไปโชว์ว่าที่นี่มีดีอะไร ที่นักศึกษาควรมาเรียน มีอะไรที่ใครติดขัดแล้วมาวิจัย ที่นี่มีอะไรที่ดีที่เด่น เอาไปรายงานให้สาธารณชนรับทราบ

อธิการบดีให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีก ๕ เรื่อง
- ตัวบ่งชี้เพิ่ม ๑๗ ตัว เป็นเพราะสภามหาวิทยาลัยอยากให้เพิ่ม
- หน่วยงานของมหาวิทยาลัยที่มีอยู่นั้นแบ่งตามพันธกิจชัดเจน เช่น อาศรมวัฒนธรรม งานสอนและวิจัยสำนักวิชารับผิดชอบเป็นหลัก
- หน่วยวิจัย ๔๑ หน่วย มีความแตกต่างจากที่ มทส. (สถานวิจัย) ที่ มวล.เกิดจากความสนใจของอาจารย์ที่มาทำงานร่วมกัน
- ได้ให้การสนับสนุนกับโรงเรียนและกระทรวงวิทยาศาสตร์
- งบประมาณที่มีการเบิกจ่ายประมาณ ๗๕% เพราะกันเหลื่อมปี มีผูกพัน ถึงตอนนี้มีอะไรที่ดำเนินการเสร็จแล้ว


ศ.ดร.ธีรยุทธ เพิ่มเติมข้อมูลเรื่อง PBL ซึ่งได้รับทุนจาก EU ร่วมกับสถาบันในประเทศเวียดนาม มีรายวิชาที่ใช้ PBL อยู่ประมาณ ๕๐-๖๐ รายวิชา โดยครึ่งหนึ่งอยู่ที่สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยได้พยายามเอากระบวนการนี้ออกสู่นอกมหาวิทยาลัย ได้ไปพัฒนาที่มหาวิทยาลัยอื่น และในระดับโรงเรียนด้วย

รศ.ดร.มณีปิ่น ถามเรื่องการเอาผลงานวิจัยและบริการวิชาการที่ดีๆ มาใช้ในการทำให้เด็กเข้ามาเรียน ซึ่งอธิการบดีตอบว่าพยายามจัดงานเชิงวิชาการและได้เสนอนโยบายต่อสภามหาวิทยาลัยเรื่องการรับนักศึกษา

รศ.ดร.มรรยาท บอกว่ามาเป็นครั้งที่ ๒ เห็นความเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะงานวิจัย ถามว่าจะขยับไปเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยหรือไม่ คำตอบคือกำลังพิจารณาปรับกลุ่มให้เข้าไปใกล้ๆ มหาวิทยาลัยวิจัย เป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัย เพราะเรามีคณะหรือสำนักวิชาที่เจริญเติบโตไม่เท่ากัน บางสำนักวิชายังมีปัญหาเรื่องการเรียนการสอน ถ้าเหมารวมอาจมีปัญหา

รศ.ดร.วรพจน์ เล่าว่าการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย งบฯ ยังไม่มา งานวิชาการในบางสาขาไม่ออกมาเป็น paper…อาจารย์ส่วนใหญ่หนักใจ เพราะนับจำนวน paper, citation...มาที่นี่ไม่หนักใจ มีอะไรที่จะเสริมสร้างให้ มวล.แข็งแรงขึ้นก็ยินดี จะเสนออะไรที่เป็นประโยชน์ แต่การตัดสินใจอยู่ที่ มวล. เวลาไปเยี่ยมชม ต้องเปิดใจฟังกัน

รศ.ดร.วัลลภสอบถามเรื่องกระบวนการวางแผนและการถ่ายทอดไปยังผู้ปฏิบัติ ทำอย่างไร รวมทั้งการติดตาม อธิการบดียอมรับว่าเรื่องนี้อาจจะยังทำไม่ได้ดี เพราะงบประมาณมีสูตรคิด แต่การทำแผนใหญ่จะเชิญทุกหน่วยงานไปร่วมประชุม เชื่อว่าผู้บริหารจะเอาไปถ่ายทอด ปัจจุบันมีคณะกรรมการติดตามตรวจสอบเยอะ Audit Committee ที่สภามหาวิทยาลัยตั้งไม่มีคนของมหาวิทยาลัยเป็นกรรมการ ส่วนที่ต่างจาก มทส.คือไม่ได้เน้นเรื่องการเงิน

หน่วยที่จะเข้ามาประเมินมีเยอะ ที่สำคัญคือบุคลากรที่นี่สนใจการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย... มีสายด่วนผู้บริหาร... เป็นวัฒนธรรมอีกแบบ คิดว่าต้องสร้างวินัยในการคิดการเขียน...รศ.ดร.วัลลภสอบถามเรื่องการรับนักศึกษาเข้าหอพัก คำตอบคือรับได้ประมาณ ๘๐%

สุดท้าย อธิการบดีขอให้ผู้บริหารร่วมมือ ขอให้ให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีอคติ ไม่หลงตัวเองหรือดูถูกตัวเองมากเกินไป

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 382927เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2010 18:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 15:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท