เทคนิคการปรับปรุงคุณภาพปลาสวยงาม


ปรับปรุงพันธุ์

เทคนิคการปรับปรุงคุณภาพปลาสวยงาม


 

กาญจนา จิรพันธ์พิพัฒน์
สถาบันวิจัยสัตว์น้ำสวยงามและสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ

การประกอบธุรกิจการเพาะเลี้ยงปลาสวยงามนั้นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อธุรกิจได้แก่ คุณภาพของปลา ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผลิต ค่าใช้จ่ายในการขนส่ง อัตราการรอดของปลา และความสามารถในการปรับเปลี่ยนชนิดของผลผลิต ฯลฯ และจากปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าว คุณภาพของปลานับว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดเนื่องจากปลาสวยงามเป็นสัตว์ที่เลี้ยงไว้ดูเล่น ปลาที่นิยมเลี้ยงต้องเป็นปลาที่มีลักษณะเด่น สีสันสวยงามสะดุดตาและถ้าเป็นปลาชนิดที่แปลกใหม่ มักจะได้รับความนิยมมากขึ้นทวีคูณ ดังนั้นในการประกอบอาชีพการเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม ผู้เพาะเลี้ยงจะประสบความสำเร็จในธุรกิจได้ต้องเข้าใจถึงคุณสมบัติที่ดีของปลาแต่ละชนิดให้ถ่องแท้ และจะต้องมีเทคนิคในการปรับปรุงพันธุ์ปลาที่เลี้ยงให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดอยู่เสมอ เทคนิคในการปรับปรุงพันธุ์ปลามีมากมายหลายวิธีและหลายขั้นตอน
การปรับปรุงคุณภาพปลา จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยจะทำให้ปลามีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันผู้เพาะเลี้ยงได้มีการทดลองนำวิธีการต่าง ๆ มาใช้หลายวิธีและทำให้สามารถเพิ่มมูลค่าการขายสินค้าประเภทนี้ได้เป็นอย่างดี เทคโนโลยีที่นิยมใช้ในปัจจุบันคือ การปรับปรุงพันธุ์ปลาโดยการคัดพันธุ์ การจัดการกับชุดโครโมโซมการแปลงเพศปลาและการปรับปรุงทางด้านสิ่งแวดล้อมโดยการเลือกใช้อาหารที่มีผลต่อสีปลา และคุณสมบัติของน้ำ เป็นต้น ซึ่งวิธีการต่าง ๆ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

การปรับปรุงพันธุ์

การคัดเลือกพันธุ์
ลักษณะกรรมพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตควบคุมโดยหน่วยพันธุกรรมที่เรียกว่า ยีน (gene) สามารถถ่ายทอดจากพ่อแม่ไปสู่ลูกได้ อย่างไรก็ตาม ลักษณะกรรมพันธุ์ที่แสดงออกในรุ่นลูกนั้นเป็นการรวมตัวของยีน ซึ่งได้รับมาจากพ่อและแม่คนละครึ่งไม่ใช่ทั้งหมด สังเกตได้จากลูกจะมีส่วนละม้ายคล้ายกับพ่อและแม่เท่านั้นไม่ได้เหมือนกันแบบคู่ฝาแฝด ยีนเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ลักษณะกรรมพันธุ์ที่เราเห็นจากภายนอกเกิดจากปฏิกิริยาระหว่างยีนด้วยกันเองและระหว่างยีนกับสิ่งแวดล้อมภายนอก ในปลาสวยงามลักษณะกรรมพันธุ์ที่เราสนใจส่วนใหญ่เป็นลักษณะเชิงคุณภาพ เช่น สีสัน รูปร่างและลักษณะของครีบ เป็นต้น ซึ่งลักษณะเหล่านี้จะถูกควบคุมด้วยยีน โดยปกติลักษณะทั่วไปของสัตว์น้ำจะถูกควบคุมโดยยีน 1 คู่ปลาบางชนิดอาจถูกควบคุมโดยยีนหลายคู่ เมื่อเราผสมพันธุ์ปลาแล้วอาจจะไม่ได้ปลาตรงตามลักษณะที่คาดไว้ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาการข่มของยีนปฏิกิริยามีกลไกค่อนข้างสลับซับซ้อนและเกิดขึ้นภายในตัวปลาผลสุดท้ายจึงแสดงออกมาในลักษณะกรรมพันธุ์ให้เราเห็นภายนอก ซึ่งมีหลายรูปแบบแต่จะขอกล่าวแค่ 2 แบบคือ การข่มสมบูรณ์และการข่มไม่สมบูรณ์
การข่มสมบูรณ์ คือปฏิกริยาของยีน 1 คู่ โดยยีนตัวหนึ่งจะแสดงลักษณะออกมาอย่างเด่นชัด เรียกว่า ยีนเด่น และยีนอีกตัวหนึ่งจะไม่แสดงลักษณะออกมาเรียกว่ายีนด้อย ซึ่งลักษณะสีผิวของคนปกติจะถูกควบคุมโดยยีนเด่น บางครั้งจะเห็นคนที่มีลักษณะผิวเผือกซึ่งถูกควบคุมโดยยีนด้อย ตัวอย่างของปลาสวยงามที่เกิดจากปฏิกริยาการข่มสมบูรณ์ เช่น ปลาแพลทตี้ เมื่อนำปลาแพลทตี้เพศผู้สีเทาซึ่งถูกควบคุมโดยยีนเด่นผสมกับเพศเมียสีทองซึ่งถูกควบคุมโดยยีนด้อยลูกรุ่นที่ 1 หรือ F1 ออกมาจะเป็นสีเทาทั้งหมดเรียกว่าพันธุ์ทางคือมียีนที่ได้จากพ่อสีเทาและจากยีนแม่คือสีทองแต่ยีนของพ่อเป็นยีนเด่นข่มยีนของแม่สีทองซึ่งเป็นยีนด้อยดังนั้นในลูกรุ่นที่ 1 จะไม่พบปลาสีทองเลย ในการผสมให้ได้ลูกสีทองจะต้องทำการผสมรุ่นถัดไปคือรุ่นที่ 2
ไดอะแกรมแสดงการผสมพันธุ์ปลาแพลทตี้ (platy) Xiphophorus maculatus สีเทาและสีทอง เมื่อนำมาผสมพันธุ์กันจะได้ลูกปลาดังนี้




ลูกรุ่นที่ 1 จะเป็นสีเทาทุกตัวและเมื่อนำลูกรุ่นที่ 1 ผสมพันธุ์กันเองจะได้ ลูกรุ่นที่ 2 เป็นปลาสีเทา 75% และปลาสีทอง 25%
หรือในอัตราส่วน 3:1จากไดอะแกรมอธิบายได้ว่าลักษณะสีของปลาแพลทตี้ควบคุมโดยยีน 1 คู่ โดยมีสีเทาเป็นลักษณะเด่นเพราะปรากฏใน
รุ่นที่ 1 100% ส่วนสีทองเป็นลักษณะด้อย เพราะไม่ปรากฏในรุ่นที่ 1 ซึ่งถ้าใช้สัญลักษณ์สีเทาแทนด้วยยีน S และสีทองแทนด้วยยีน s จะอธิบายได้ดังนี้

กำหนดสัญลักษณ์แทนยีน

ลักษณะที่มองเห็น

SS
Ss
ss

สีเทา
สีเทา
สีเทา


เมื่อนำปลามาผสมพันธุ์กันจะเขียนสัญลักษณ์ได้ดังนี้

 

 

 

 เมื่อนำลูกรุ่นที่ 1 ผสมพันธุ์กันเอง
ลูกปลารุ่นที่ 2 (F2) ที่มีสัญลักษณ์ของยีน SS
จะมีสีเทา จัดเป็นพันธุ์แท้ยีนเด่น
ลูกปลารุ่นที่ 2 (F2) ที่มีสัญลักษณ์ของยีน Ss
จะมีสีเทา จัดเป็นพันธุ์ทาง
ลูกปลารุ่นที่ 2 (F2) ที่มีสัญลักษณ์ของยีน ss
จะมีสีทอง จัดเป็นพันธุ์แท้ยีนด้อย

ในการวางแผนการผลิตเพื่อให้ได้ปลาพันธุ์แท้สามารถปฏิบัติได้ดังนี้
ถ้าต้องการสีทองพันธุ์แท้สามารถคัดเลือกปลาสีทองจากลูกรุ่นที่ 2 (F2) ที่มีสีทองมาผสมกันก็จะได้ปลาสีทองทั้งหมด (100%) หรือถ้าสามารถหาปลาสีทองจากแหล่งอื่นผสมพันธุ์กันได้ก็จะเป็นการดีเพื่อป้องกันการผสมเลือดชิด
ในทำนองเดียวกันถ้าต้องการปลาสีเทาพันธุ์แท้ก็สามารถคัดเลือกปลาสีเทามาผสมพันธุ์กันแต่ในการผสมพันธุ์กันรุ่นแรก ๆ อาจจะมีปลาสีทองปนมาบ้าง
เนื่องจากลูกรุ่นที่ 2 (F2) อาจจะมียีนเป็น SS หรือ Ss ก็ได้ ซึ่งวิธีที่เคยเช็กย้อนกลับไปว่าพ่อแม่ปลาสีเทาใช้ในการผสมพันธุ์นั้นเป็นพันธุ์แท้ (SS) หรือพันธุ์ทาง (Ss) สามารถทำได้โดยการนำไปผสมกับปลาสีทองพันธุ์แท้ (ss) ถ้าได้ปลาสีเทา 50% และปลาสีทอง 50% แสดงว่าพ่อแม่ปลาสีเทาเป็นพันธุ์แท้เช่นเดียวกับการผสมปลาเผือก ดังแสดงตามไดอะแกรมต่อไป

 

ลักษณะปลาเผือก เกิดจากปฏิกริยาการข่มของยีนแบบสมบูรณ์เหมือนกันแต่ในการผสมพันธุ์ปลาเผือกจะมีปัญหา คือเมื่อผสมพันธุ์ได้ลูกประมาณ 2-3 รุ่น ลูกที่ออกมาจะพิการหรือเป็นหมัน ดังนั้นจึงมีวิธีการรักษาพ่อแม่พันธุ์ปลาเผือกให้ได้ลูกออกมาสมบูรณ์ โดยการปรับปรุงพันธุ์ปลาเผือก ขั้นตอนแรกคือการนำปลาหางนกยูงเผือกซึ่งถูกควบคุมโดยยีนด้อยกำหนดสัญลักษณ์ เป็น aa ผสมกับปลาหางนกยูงพันธุ์แท้สีเทาเพศผู้ กำหนดสัญลักษณ์เป็น GG จะได้ลูกรุ่นที่ 1 เป็นพันธุ์ทางทั้งหมดสัญลักษณ์คือ Ga ซึ่งลูกในรุ่นที่ 1 นี้จะไม่ได้ปลาเผือก แต่ถ้าเรานำเอาลูกรุ่นที่ 1 พันธุ์ทางเพศผู้ไปผสมกับพันธุ์เผือกเพศเมียยีนด้อยลูกในรุ่นที่ 2 จะได้ปลาหางนกยูงพันธุ์เผือกประมาณ 50% และพันธุ์ทาง 50% หรือในอัตราส่วน 1:1 ลูกปลาพันธุ์เผือกในรุ่นที่ 2 นี้เราสามารถเก็บไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ได้ วิธีนี้เป็นการรักษาพันธุ์ปลาหางนกยูงเผือกไว้ได้และยังสามารถนำพันธุ์เผือกที่ได้จากลูกในรุ่นที่ 2 ผสมกันได้อีก 2-3 รุ่น แล้วก็กลับมาผสมแบบวงจรเดิมนี้อีก ซึ่งวิธีการนี้จะได้ปลาพันธุ์เผือกที่มีคุณภาพป้องกันการพิการหรือการเป็นหมัน



 

2. การข่มแบบไม่สมบูรณ์
คือการที่ยีนที่คุมลักษณะเด่นไม่สามารถแสดงลักษณะเด่นออกมาได้เพียงพอจนกระทั่งเห็นเป็น 2 ลักษณะต่างกันเหมือนกับการข่มสมบูรณ์แต่จะทำให้เกิด 3 ลักษณะที่แตกต่างกัน ตัวอย่างของการข่มไม่สมบูรณ์ก็คือลักษณะสีของปลากัด เช่น เมื่อผสมปลากัดสีน้ำเงินพันธุ์ทาง (Vv) เพศผู้กับปลากัดสีน้ำเงินพันธุ์ทาง (Vv) เพศเมียลูกรุ่นที่ 1 ที่ออกมาจะมี 3 ลักษณะคือ สีน้ำเงินตะกั่ว สีน้ำเงิน สีเขียว ในอัตรา 1:2:1 ดังแสดงในไดอะแกรมข้างล่างนี้

 

กำหนดให้ลักษณะที่แทนยีน

ลักษณะสีที่มองเห็น

VV
Vv
vv

สีน้ำเงินตะกั่ว
สีน้ำเงิน
สีเขียว


แต่ในการผสมพันธุ์ปลาจะมีปัญหาการผสมเลือดชิด คือการผสมพันธุ์ปลาที่เป็นเครือญาติกัน เช่น พ่อผสมกับลูก ลูกผสมกับแม่ หรือหลานผสมกับพ่อ ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือได้สายพันธุ์แท้เพราะไม่ได้ผสมกับตัวอื่น แต่ข้อเสียคือ ปลาจะไม่ค่อยสมบูรณ์อัตรารอดลดลงและความต้านทานโรคต่ำ การเจริญเติบโตช้า คือก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ขึ้นกับการนำไปใช้ประโยชน์ สำหรับมือใหม่มีวิธีการป้องกันการผสมเลือดชิด ประการแรกต้องใช้พ่อแม่จำนวนมาก (ให้มาก ๆ เลย) แล้วก็แยกผสมเป็นคู่ ๆ และเลี้ยงลูกจากพ่อแม่พันธุ์ต่างคู่แยกกัน เพราะว่าถ้าเลี้ยงรวมกันจะไม่สามารถรู้ได้ว่ามาจากพ่อแม่คู่ไหน
ประการที่ 2 หลีกเลี่ยงผสมปลาต่างรุ่นเพราะถ้าผสมปลาเพศเมียอายุมากกับปลาเพศผู้อายุน้อยอาจจะพบว่าปลาเพศผู้เป็นลูกของปลาเพศเมียหรือหลานก็ได้ ควรหลีกเลี่ยงการผสมปลาต่างรุ่น
การที่นักเพาะเลี้ยงสามารถผลิตปลาสายพันธุ์ใหม่ ได้ก็โดยอาศัยหลักพันธุกรรมดังกล่าว ซึ่งนอกจากการผสมพันธุ์เพื่อให้ได้สีสันที่แปลกใหม่แล้วยังสามารถใช้กับการผสมพันธุ์เพื่อให้ได้ลวดลาย รูปร่างลำตัว รูปทรงของหาง ฯลฯ ได้อีกด้วย โดยมีหลักการเช่นเดียวกันแต่ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกคุณสมบัติที่เราต้องการให้ปรากฏในรุ่นลูกคืออะไร และจะตรงตามความต้องการของตลาดหรือไม่

1.2 การปรับปรุงพันธุ์โดยการจัดการชุดโครโมโซม (Gene Manipulation)
1.2.1
ไจโนเจนีซีส (Gynogenesis) เป็นเทคนิคการผสมลูกปลาแบบที่ตัวอ่อนเจริญเป็นตัวจากไข่ที่ผสมกับสเปิร์มที่ถูกกระตุ้นโดยผ่านรังสีอัลตราไวโอเลต หรือรังสีแกมมาจะทำให้โครโมโซมถูกทำลายไป ซึ่งเมื่อผสมกับไข่ก็จะกระตุ้นให้ไข่แบ่งตัวได้ โดยได้โครโมโซมจากแม่เท่านั้นซึ่งมี 1 ชุด (haploid) แต่ไข่จะพัฒนาช่วงหนึ่งแล้วจะตาย ฉะนั้นจะต้องให้ไข่มีโครโมโซม 2 ชุด ตามปกติการช็อคตายด้วยความดันหรืออุณหภูมิในระยะก่อนปลาจะแบ่งเซลล์ครั้งแรก (first mitotic division of embryo) หรือระยะไมโอซิส (second meiotic of egg) ก็ได้การกระตุ้นก่อนไข่ปลาจะแบ่งเซลล์ครั้งแรก ทำให้โครโมโซมถูกกระตุ้นเป็น 2 ชุดและมีลักษณะเหมือนกัน (homozygous) การทำไจโนเจเนซิส จะทำให้ลูกปลาที่ได้รับเป็นเพศเมียเพราะได้รับโครโมโซมจากแม่เท่านั้น
การเหนี่ยวนำไจโนเจนิซิสให้ได้ปลาที่มีโครโมโซม 2 ชุด มีวิธีสำคัญอยู่ 2 ขั้นตอน คือ การทำลายสารพันธุกรรมของเชื้อตัวผู้และการเหนี่ยวนำให้ไซโกตที่ได้มีโครโมโซม 2 ชุดนั้น
1.2.2 แอนโดรเจนีซิส (Androgenesis) เป็นกระบวนการที่เชื้อตัวผู้เจริญเป็นตัวอ่อนโดยไม่เกิดการปฏิสนธิกับไข่ กระบวนการนี้ สามารถเหนี่ยวนำได้ โดยการผสมไข่ที่ถูกทำลายโครโมโซมแล้วกับน้ำเชื้อปกติโดยถ้าไม่ผ่านการช็อคลูกที่ได้จะมีโครโมโซมเพียงชุดเดียว ถ้าผ่านการช็อคลูกที่ได้จะมีโครโมโซม 2 ชุด แอนโดรเจนเนซิสสามารถเหนี่ยวนำได้ โดยใช้หลักการเดียวกับการเหนี่ยวนำไจโนเจเนซิสเพียงแต่ทำลายโครโมโซมของไข่แทนการฉายรังสีน้ำเชื้อ
การทำลายโครโมโซมของไข่ทำได้ค่อนข้างยากกว่าเชื้อตัวผู้ เนื่องจากไข่มีขนาดใหญ่และมีโยคส์การใช้รังสีที่มีอำนาจทะลุทะลวงสูงจะให้ผลดีกว่า เช่น รังสีแกมมาและรังสีเอ็กซ์
การเหนี่ยวน้ำแอนโดรเจเนซีส มีประโยชน์อย่างยิ่งเมื่อต้องการผลิตสัตว์น้ำสายพันธุ์แท้ นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในการอนนุรักษ์เชื้อพันธุกรรม โดยในปัจจุบันนี้สามารถเก็บรักษาน้ำ 1 เชื้อปลาหลายชนิดได้ โดยการแช่แข็ง แต่ไม่สามารถเก็บรักษาไข่ได้ ดังนั้น หากสามารถเหนี่ยวนำให้น้ำเชื้อปลาที่เก็บไว้เจริญเป็นคัพพะได้ โดยอาจใช้ไข่ปลาชนิดอื่น ๆ เป็นตัวกระตุ้นจะทำให้สามารถอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำหายากไว้ได้
1.2.3 อินดิวซ์โพลีพลอยด์ (Induced polyploidy) เป็นกระบวนการเพิ่มชุดของจำนวนโครโมโซม โดยมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันตามจำนวนชุด เช่น ทริพลอยด์ (3n) เตตราพลอยด์ (4n) โดยการช็อคไข่ที่ผสมกับเชื้อตัวผู้แล้วด้วย
(1) ความดันน้ำระดับสูง (hydrostatic pressure shock)
(2) ช็อคด้วยอุณหภูมิ โดยช็อคด้วยความร้อน (heat shock) หรือช็อคด้วยความเย็น (cold shock)
โดยทั่ว ๆ ไป การช็อคด้วยความร้อนจะได้ผลดีในปลาเมืองหนาวส่วนการช็อคด้วยความเย็นได้ผลดีกับปลาเมืองร้อน
(3) ช็อคโดยใช้สารเคมี มีสารเคมีและก๊าซหลายชนิดที่สามารถเหนี่ยวนำให้เกิดการเพิ่มชุดของโครโมโซม เช่น โคลซิซิน ไซโตคาลาซินบี และไนตรัสออกไซค์
ซึ่งการทำให้เป็นทริพลอยด์จะทำให้ปลาเป็นหมัน โดยปลาเหล่านี้ไม่สามารถเป็นพ่อแม่พันธุ์ได้ แต่จะทำให้ปลาโตเร็วกว่าปลาที่มีโครโมโซม 2 ชุด และประโยชน์อีกอย่างก็คือปลาที่เป็นทริพลอยด์ถ้าถูกปล่อยไปในแหล่งน้ำธรรมชาติก็จะไม่สามารถผสมพันธ์กับปลาธรรมชาติซึ่งเป็นสาเหตุของการปนเปื้อนทางพันธุกรรมเพราะปลาทริพลอยด์เป็นหมัน
ปลาทริพลอยด์เพศผู้เป็นที่ต้องการในปลาบางชนิด เช่น ปลากัดเพศผู้มีสีสันสวยงามกว่าเพศเมียแต่มีนิสัยก้าวร้าว จะกัดกันเองอย่างรุนแรงจนไม่สามารถเลี้ยงรวมกันได้ หลักการของการเหนี่ยวนำอาศัยการเปลี่ยนเพศปลาที่เป็นเพศผู้โดยพันธุกรรมให้เป็นปลาเพศเมียโดยการให้ฮอร์โมนเพศเมีย จากนั้นก็นำปลาเหล่านั้นมาผสมกับปลาเพศผู้ปกติเพื่อศึกษาอัตราส่วนเพศของรุ่นลูก ปลาเพศเมียตัวใดให้ลูกเพศผู้ต่อเพศเมียใกล้เคียงสัดส่วน 1:2 หรือ 1:3 แสดงว่าปลาตัวนั้นเป็นปลาที่มีพันธุกรรมเป็นเพศผู้ (xy) จากนั้นนำไข่จากปลาเพศเมียที่มีพันธุกรรมเพศผู้ (xy) มาผสมกับลาเพศผู้ปกติ แล้วนำไปผ่านการช็อคจะได้ปลาทริพลอยด์ที่มียีโนทพ์เป็น xxy หรือ xyy ซึ่งเป็นเพศผู้ล้วน Kavumpurath และ Pandian (1992) รายงานว่าได้ทำการเปลี่ยนเพศปลากัดให้เป็นเพศเมียโดยผสมโอร์โมนเบตา-เอสตราไดออล ในอัตรา 125 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ให้กินตั้งแต่ปลาเริ่มกินอาหารไปเรื่อย ๆ จนครบ 40 วัน จากนั้นทำการเหนี่ยวนำทริพลอยด์ ตามวิธีการข้างต้น โดยการช็อคด้วยความดัน 7000 psi เริ่มช็อค 2.5 นาทีหลังผสมช็อคนาน 6 นาทีได้ปลาทริพลอยด์เพศผู้ล้วนมีอัตรารอด 40-52% ปลาเหล่านี้มีลักษณะภายนอกเหมือนปลากัดเพศผู้ปกติสร้างเชื้อตัวผู้เล็กน้อย นอกจากนั้นยังไม่ก้าวร้าวสามารถเลี้ยงรวมกันได้อย่างดี
1.2.4 การเปลี่ยนเพศปลา (Sex reversal) ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงปลาสวยงาม การเปลี่ยนแปลงเพศของปลาบางชนิดจะช่วยให้มีคุณค่าทางเศรษฐกิจมากขึ้น เช่น ปลากัด ปลาหมอสี ปลาปอมปาดัวร์และปลาหางนกยูง เป็นต้น โดยได้มีการใช้ฮอร์โมนเพศเปลี่ยนเพศปลาเป็นเพศตรงข้ามแล้วนำกลับมาผสมกับปลาปกติที่มีพันธุกรรมเพศเดียวกันได้อีกด้วย ซึ่งวิธีนี้หากสามารถทดลองหาชนิดและปริมาณที่เหมาะสมเปลี่ยนเพศปลาจนถึงขั้นสามารถสืบพันธุ์ได้ก็จะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเพาะเลี้ยง เช่น ปลากัด
ฮอร์โมนเพศที่นิยมใช้เพื่อปรับปรุงคุณภาพปลามีฮอร์โมนเพศผู้ (androgen) และฮอร์โมนเพศเมีย (estrogen) การเลือกใช้ประเภทของฮอร์โมนขึ้นกับวัตถุประสงค์ของผู้ใช้ เช่น ถ้าต้องการให้มีสีสันสดใสและลวดลายสวยงามต้องใช้ฮอร์โมนเพศผู้ เพราะธรรมชาติของปลาทุกชนิดเพศผู้จะมีสีสดสวยกว่าเพศเมีย แต่ถ้าต้องการจะให้ปลาเจริญเติบโตเร็ว ให้ผลผลิตสูงสามารถใช้ได้ทั้งฮอร์โมนเพศเมียซึ่งขึ้นอยู่กับปลาแต่ละชนิดว่าเพศไหนเจริญเร็วกว่ากัน ส่วนใหญ่การใช้ฮอร์โมนเพศเพื่อการเจริญเติบโตนี้มักจะนิยมใช้กับปลาที่ใช้บริโภค เช่น ปลานิลเพศผู้เจริญดีกว่าเพศเมียก็จะแปลงเพศให้เป็นเพศผู้ แต่ปลาตะเพียนเพศเมียเจริญเร็วกว่าเพศผู้จะเปลี่ยนเพศผู้ให้เป็นเพศเมียเป็นต้น ส่วนการใช้ฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโตของปลาสวยงามนั้นอาจใช้ได้กับปลาบางชนิดที่ปลาเพศผู้เจริญเร็วกว่าปลาเพศเมียโดยใช้ฮอร์โมนเพศผู้ถ้าจำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนเพศเมียควรใช้ในเวลาอันสั้น เพราะจะมีผลต่อสีปลาทำให้ปลามีคุณภาพด้านสีด้อยลง
ในการใช้ฮอร์โมนเพศเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ มีปัจจัยต่าง ๆ ที่ควรคำนึงถึงดังต่อไปนี้
ชนิดของฮอร์โมน ฮอร์โมนเพศที่สามารถใช้กับปลาและมีคุณภาพดีมีมากมายหลายชนิด แต่ที่นิยมใช้และหาซื้อได้ง่ายในประเทศไทย ฮอร์โมนเพศผู้ ได้แก่ เมทธิลเทสโทสเตอโรน (methyltestosterrone) นอร์-เอทธิลเทสโทสเตอโรน (19 nor-ethyltestosterone) เอทธินิลโทสเตอโรน (ethynyltestosterone) เมธิลแอนโดรสตินิไดออล (methylandrostenediol) และ ฟลูออกซีเมสเตอโรน (fluoxymesterone) ส่วนฮอร์โมนเพศเมียที่นิยมใช้ได้แก่ เอสตราไดออล (estradiol) เอทธิลเอสตราไดออล (ethylestradiol) เฮเซสเตอรอล (hexesterol) ยูวาสติน (euvatin) เป็นต้น
วิธีการให้ฮอร์โมน อาจใช้แช่อาหาร แช่ตัวปลาหรือผสมอาหารทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของปลาและชนิดของอาหารที่ใช้เลี้ยงปลา โดยคำนึงถึงผลที่จะได้รับ ความสะดวกและความประหยัด เช่น ถ้าเป็นอาหารที่มีชีวิต (ไรแดง ลูกน้ำ หนอนแดง ฯลฯ) มักใช้วิธีแช่อาหารในสารละลายฮอร์โมน แต่ถ้าเป็นอาหารแห้งสามารถผสมอาหารได้เลย แต่ต้องผสมในรูปของอาหารผงและฉีดพ่นสารละลายฮอร์โมนเพื่อให้ฮอร์โมนซึมลงไปในอาหารได้ทั่วถึงมากที่สุดจึงจะได้ผลดี นอกจากนั้นอาจจะใช้วธีการฉีดซึ่งนิยมฉีดเข้าบริเวณกล้ามเนื้อด้านหลังหรือฉีดเข้าช่องท้อง
ปริมาณและระยะเวลาในการให้ฮอร์โมน ปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสมในการให้ฮอร์โมนจะแตกต่างกันตามชนิดของฮอร์โมน ชนิดของปลาและวัตถุประสงค์ของการใช้ฮอร์โมน เช่น จากการทดลองพบว่าการใช้ฟลูออกซีเมสเตอโรนเข้มข้น 200 มก./ลิตร แช่ไรแดงประมาณ 20 นาทีก่อนใช้เลี้ยงปลากัดและเลี้ยงปลากัดเป็นเวลา 14 วันโดยเริ่มให้ไรแดงแช่ฮอร์โมนเมื่อลูกปลามีอายุ 3 วันจะสามารถเปลี่ยนปลากัดเพศเมียให้มีสีเข้มขึ้นและครีบหางยาวขึ้นคล้ายปลาเพศผู้ได้ และจากการใช้ 17 แอลฟาเมทธิลเทสโทสเตอโรน (17 a methyltestosterone) ผสมอาหารในอัตราฮอร์โมน 500 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักปลา 1 กรัมใช้เลี้ยงปลาสอด (Xiphophorus helleri) เป็นเวลา 10 วันสามารถเปลี่ยนปลาสอดเพศเมียให้เป็นเพศผู้ได้นอกจากนั้นยังพบว่าการใช้เมทธิลเทสโทสเตอโรนผสมอาหารในอัตรา 40 มก./อาหาร 1 กก. และฟลูออกซีเมสเตอโรน 5 มก./อาหาร 1 กก. เลี้ยงปลานิลเป็นเวลา 30 - 40 วัน จะสามารถแปลงเพศปลานิลเพศเมียให้เป็นเพศผู้ได้เป็นต้น
อายุปลาที่เริ่มให้ฮอร์โมน การให้ฮอร์โมนจะได้ผลดีที่สุดเมื่อเริ่มให้ก่อนที่อวัยวะสืบพันธุ์ภายในของปลาจะพัฒนาแยกเป็น 2 เพศ ในการทดลองส่วนใหญ่พบว่าการให้ฮอร์โมนเพศตั้งแต่ปลาเริ่มกินอาหารได้เองหรือตั้งแต่ไข่แดง (yolk) ยุบหมด (อายุ 3-4) จะทำให้ผลของการใช้ฮอร์โมนเพศมีประสิทธิภาพสูงที่สุด
ในการใช้ฮอร์โมนเพื่อปรับปรุงคุณภาพปลาจะต้องคำนึงถึงสุขภาพของปลาหลังการให้ฮอร์โมนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานด้วย หลักการทั่วไปมักจะเลือกใช้ฮอร์โมนที่มีประสิทธิภาพ ราคาถูกและในทางปฏิบัติจะต้องใช้ฮอร์โมนที่เข้มข้นสูงหรือให้เป็นระยะเวลานานเกินความจำเป็น นอกจากจะต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายแล้วยังอาจจะทำให้กระทบกระเทือนต่อสุขภาพปลาได้ ปลาที่ได้รับฮอร์โมนในปริมาณมากและระยะนานเกินไปจะอ่อนแอและความต้านทานโรคจะลดลง
นอกจากวิธีดังกล่าวข้างต้นแล้ว ปัจจุบันได้มีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าช่วยทำให้การปรับปรุงพันธุ์ปลามีประสิทธิภาพมากขึ้น เรียกว่า พันธุวิศวกรรม ซึ่งเป็นเทคนิคด้านการเปลี่ยนถ่ายยีน
1.2.5 การปรับปรุงพันธุ์ปลาโดยวิธี พันธุวิศวกรรม (Fish Genetic improvement by means of genetic engineering) พันธุ์วิศวกรรมคือกระบวนการตัดต่อยีนจากหลายแหล่งเข้าด้วยกันตามความเหมาะสมแล้วใส่กลับเข้าไปในสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งทั้งนี้เพื่อให้สิ่งมีชีวิตนั้น ๆ แสดงลักษณะปรากฏที่ต้องการ ในการปรับปรุงพันธุ์ปลาได้มีการใช้เทคนิคพันธุวิศวกรรมกันมาก ในปลาสวยงามก็ได้มีการนำเทคนิคนี้ใช้กันมากขึ้น
2. การปรับปรุงทางด้านสิ่งแวดล้อม
2.1 การใช้อาหารปรับปรุงคุณภาพ
อาหารที่ใช้เลี้ยงปลาสวยงามนับว่ามีบทบาทสำคัญต่อการเพิ่มความเข้มข้นของสีปลาเนื่องจากอาหารบางชนิด เช่น สาหร่ายและพืชบางชนิด สัตว์น้ำ ประเภทกุ้ง ปู และเศษเหลือใช้ ยีสต์ (yeast) บักเตรี (bacteria) เป็นต้น จะมีรงควัตถุที่ให้สีแดง ส้ม และเหลือง เรียกว่า คโรทินอยด์ (carotenoid) ซึ่งเมื่อปลากินเข้าไปจะสะสมรงควัตถุดังกล่าวไว้ในเนื้อเยื่อต่าง ๆ ได้ เช่นที่ผิวหนัง ผนังช่องท้อง ไข่และรังไข่เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่จะปรากฏให้เห็นชัดเจนที่ผิวหนัง (ปลาไม่สามารถสร้างรงควัตถุดังกล่าวได้เอง รงควัตถุที่ปรากฏในตัวปลาได้จากการกินเข้าไป)
จากสาเหตุดังกล่าวจึงได้มีนักเพาะเลี้ยงปลาได้ทำการทดลอง และมีการนำอาหารธรรมชาติชนิดต่าง ๆ ดังกล่าวมาผสมกับอาหารที่ใช้เลี้ยงปลาเพื่อเพิ่มความเข้มของสีแดง สีส้ม หรือสีเหลืองในตัวปลา เช่น ใช้สาหร่ายสไปรูลิน่า (Spirulina sp.) ผสมกับอาหารเลี้ยงปลาคาร์พจะสามารถเพิ่มความเข้มข้นของสีแดงและสีส้มได้ และจากการใช้เศษเหลือจากกุ้ง (หัวและเปลือก) ผสมอาหารเลี้ยงปลาแซลมอน (salmon) จะสามารถเพิ่มความเข้มข้นของสีส้มในเนื้อปลาเซลมอล ได้เป็นต้น
นอกจากนั้นในปัจจุบันได้มีผู้ผลิตรงควัตถุสังเคราะห์ แอสตาแซนทิน (astaxanthin) และ แคนตาแซนทิน (canthaxanthin) ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่า Carophyll red หรือ Roxanthin (canthxnthin) และ Carophyll pink (astaxanthin) ซึ่งที่นิยมนำมาเลี้ยงผสมอาหารปลาสวยงามเพื่อเพิ่มความเข้มของสีแดงสีส้มและสีเหลือง
2.2 การจัดการบ่อเลี้ยง
โดยปรับปรุงคุณสมบัติของน้ำ เช่น อุณหภูมิ ปริมาณออกซิเจน ความเป็นกรดด่าง ความกระด้าง และความเค็มของน้ำที่ใช้เลี้ยงปลา ตลอดจนความหนาแน่นของปลา


เอกสารอ้างอิง
วันเพ็ญ มีนกาญจน์.2542. เทคนิคการปรับปรุงคุณภาพปลาสวยงาม (เอกสารประกอบคำบรรยาย).
อุทัยรัตน์ ณ นคร.2538. พันธุศาสตร์สัตว์น้ำ. ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมงมหาวิทยาลัย
เกษตรศาสตร์. 231 หน้า.
Maclean, N. and D. Penman 1990. Tha application of gene manipulation to aquaculture.
Aquaculture, 85: 1 - 20.
Yoon, S.J.,E.M. Hallerman, M.L. Gross, Z., Schneider, J.F.Faras, A.J. Hackett, P.B. Kapuscinski,
A.R. and Guise, K.S. 1990 Transfer of the gene for neomycin resistance into goldfish,
Carassius auratus. Aquaculture
ริมบ่อ

หมายเลขบันทึก: 332772เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2010 15:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

การเลี้ยงปลาสวยงาม หรือการเลี้ยงสัตว์ชนิดไหนก็ตามน่ะ ผมว่าเขาต้องการความเอาใจใส่จากผู้เลี้ยงนะครับ เอาตัวเราเป็นตัวอย่างก็แล้วกันครับ ตามคำโบราณว่า เอาใจเขามาใส่ใจเราครับ ก็จะได้ผลและปลอดภัยสบายใจครับ

ผมสนใจการทำ แอนโดรเจนีซิส (Androgenesis) และไจโนเจนีซีส (Gynogenesis) เป็นอย่างมาก อยากทราบราบละเอียดให้มากกว่านี้ และสามารถนำมาปฎิบัติได้ ไม่ทราบจะติดต่อได้ที่ไหนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท