การคุ้มครองผู้บริโภค: แนวคิด


การคุ้มครองผู้บริโภค

ความนำ

การคุ้มครองประชาชนเป็นหน้าที่ของรัฐที่พึงดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ  อีกทั้งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองที่ต้องได้รับความคุ้มครองจากรัฐ ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ  และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องดำเนินการโดยอาศัยกระบวนการทางกฎหมาย เพื่ออำนวยความยุติธรรมและสร้างความเสมอภาคอย่างเป็นรูปธรรมแก่ประชาชน ทุกคน  ภารกิจดังกล่าวของรัฐบาลจึงมีความเกี่ยวพันกับกระบวนการยุติธรรมและกระบวนการ  นิติบัญญัติอย่างแยกไม่ออก ทั้งในฐานะเป็นผู้เสนอกฎหมาย ผู้บังคับใช้กฎหมาย และในฐานะที่ต้องบริหารราชการเพื่อให้เกิดความสงบสุขแก่ส่วนรวม  กระบวนการปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งวิธีหนึ่งที่ต้องดำเนินการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยผ่านกระบวนการนิติบัญญัติและกระบวนการยุติธรรม  

รัฐมีแนวนโยบายเป็นผู้คุ้มครองผู้บริโภค (paternalism) ดังจะเห็นได้จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ (ซึ่งถูกยกเลิกโดยหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ..๒๕๒๒ เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคขั้นพื้นฐาน และการดำเนินคดีแทนผู้บริโภคในฐานะที่รัฐเป็นผู้ปกครอง (parens patriae) และกฎหมายอื่น ๆ เช่น กฎหมายว่าด้วยอาหารและยา  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๐ เป็นต้นไป โดยที่หมวด ๓ สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ส่วนที่ ๑๐ สิทธิในข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียน มาตรา ๖๑ ตามรัฐธรรมนูญนี้ได้คุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค และกำหนดให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ  และในบทเฉพาะกาล มาตรา ๓๐๓ วรรคหนึ่ง (๑) ได้กำหนดในวาระเริ่มแรก ให้คณะรัฐมนตรีที่เข้าบริหารราชการแผ่นดินภายหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ดำเนินการจัดทำหรือปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระตามมาตรา ๖๑ วรรคสอง ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา 

สภาพปัญหา                                   

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภคยังคงมีอยู่ เนื่องจากการคุ้มครองผู้บริโภคโดยรัฐในรูปแบบของการใช้มาตรการทางกฎหมายไม่อาจคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคเอง ทัศนคติของเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อเรื่องดังกล่าว  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสารอยู่ตลอดเวลา กระบวนการผลิตสินค้าต่างๆ เริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น มีการนำเทคโนโลยีที่ซับซ้อนมาใช้ในกระบวนการผลิตอย่างแพร่หลาย ซึ่งทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถทราบได้เลยว่าสินค้านั้นมีความชำรุดบกพร่องหรืออาจไม่ปลอดภัยในขณะที่ซื้อมาหรือไม่ โดยความชำรุดบกพร่องหรือความไม่ปลอดภัยของสินค้าเหล่านี้อาจเกิดขึ้นจากวัตถุดิบที่ใช้ไม่ได้คุณภาพหรือความบกพร่องในกระบวนการผลิตเองหรือวิทยาการในขณะที่ผลิตสินค้านั้นไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าความชำรุดบกพร่องนั้นจะเกิดขึ้น (State of the art) และกรณีที่ยังไม่ทราบว่าจะเกิดผลกระทบขึ้น  นอกจากนี้ การเพิ่มจำนวนการผลิตเพื่อประหยัดต้นทุนการผลิต (Economy of Scale) ประกอบกับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของตลาดโดยไม่มีพรมแดน ทำให้สินค้าหลากหลายชนิดกระจายไปยังผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว ซึ่งในจำนวนนี้มีสินค้าที่ชำรุดบกพร่องและไม่ปลอดภัยอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก ผู้บริโภคจึงอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบและไม่สามารถคุ้มครองตัวเองได้                     

แม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ให้ความสำคัญของการคุ้มครองผู้บริโภค และเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากประชาชนผู้บริโภค เพื่อการกำหนดนโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคโดยประชาชนเองก็ตาม  ในช่วงระยะเวลานับแต่ที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ บังคับใช้จนกระทั่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ องค์การอิสระผู้บริโภคตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญยังไม่สามารถจัดตั้งขึ้นได้ เนื่องจากอุปสรรคสำคัญในด้านการบริหาราชการแผ่นดิน กล่าวคือ มีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบหลายครั้งในรัฐบาลที่ผ่านมา รวมทั้งในรัฐบาลปัจจุบันซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีด้วยเช่นกันและได้ส่งร่างกฎหมายว่าด้วยดังกล่าวกลับคืนไปให้ส่วนราชการเจ้าของเรื่อง (สคบ.) พิจารณาทบทวนใหม่ และการเสนอกฎหมายหลายฝ่ายยังมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันอยู่ ซึ่งแนวคิดหลักของรัฐบาลเห็นว่าองค์การอิสระไม่จำเป็นต้องเป็นตราเป็นกฎหมายใหม่เป็นการเฉพาะ แต่สามารถอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๒๒ แต่แนวคิดของผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคมีความเห็นว่า องค์การอิสระควรเป็นอิสระอย่างแท้จริง ทั้งรูปแบบของการบริหารจัดการและบทบาทหน้าที่ขององค์การอิสระเอง  ดังนั้น จึงควรตราเป็นกฎหมายใหม่เฉพาะ                                   

ผู้เขียนมีความเห็นว่า แม้ว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ จะได้กำหนดให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐและให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์กรอิสระดังกล่าวก็ตาม แต่ความเป็นอิสระนั้นมิใช่การแยกสำนักงานธุรการ หากแต่กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องหลักการบริหารจัดการว่าจะทำอย่างไรที่จะไม่ทำให้เกิดความสับสนในการบังคับใช้กฎหมาย ภาระในการบริหารและความสามารถของรัฐในเรื่องงบประมาณ ตลอดจนความคุ้มค่าต่อจำนวนงบประมาณที่รัฐมีหน้าที่จะต้องให้การสนับสนุนตามร่างรัฐธรรมนูญหากมีการแยกสำนักงานธุรการออกไปต่างหากจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค  นอกจากนี้ ความเชื่อมโยงและความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรเอกชนผู้บริโภคกับองค์กรของรัฐ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคก็จะไม่ราบรื่นและไม่เป็นเอกภาพ ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดบรรยากาศแห่งความสมานฉันท์ระหว่างกันและกัน  และจะนำไปสู่การขาดประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภคโดยรวม                     

อย่างไรก็ตาม การจะทำให้ องค์การอิสระผู้บริโภคเกิดขึ้นได้จริงนั้น ไม่ควรมุ่งรอแต่การผลักดันกฎหมายเพียงอย่างเดียว ควรสร้างวัฒนธรรมการปกป้องเรียกร้องสิทธิของตนเองในฐานะผู้บริโภคสร้างอำนาจต่อรองกับผู้ประกอบธุรกิจเรียกร้องในสิ่งที่เป็นไปได้บนพื้นฐานที่เป็นธรรมและความพอดี เพื่อให้เกิดวิวัฒนาการอย่างเป็นธรรมชาติและจะเกิดความยั่งยืน  ซึ่งกระบวนการตรากฎหมายนั้นอาจจะต้องอาศัยระยะเวลาที่ยาวนาน  ฉะนั้น ควรให้มีการพัฒนากลไกด้านการคุ้มครองผู้บริโภคอื่น ๆ คู่ขนานไปด้วยกันกับการเตรียมความพร้อมของประชาชนผู้บริโภคในการมีส่วนร่วม เพื่อริเริ่มและผลักดันแนวคิดเกี่ยวกับองค์การอิสระผู้บริโภคข้างต้น ให้เกิดเป็นรูปธรรมและอย่างยั่งยืน   

การพัฒนากลไกด้านการคุ้มครองผู้บริโภค: ข้อเสนอแนะ     

๑. การบูรณาการบทบาทอำนาจหน้าที่ระหว่างหน่วยงาน       

 ควรพิจารณาแนวทางดำเนินการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อที่จะให้มีการประสานและบูรณาการทำงานร่วมกันเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคโดยคำนึงถึงสาระของงานมากกว่าสถานภาพหรือชื่อขององค์กร  เนื่องจากปัจจุบันมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานกระจัดกระจาย ทำให้การทำงานไม่เป็นระบบ และแนวทางดำเนินการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นการดำเนินการเฉพาะในส่วนของการดำเนินคดีแต่เพียงประการเดียวน่าที่จะไม่ครอบคลุมเนื่องจากเป็นมาตรการในเชิงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเท่านั้น  โดยควรที่จะดำเนินมาตรการในเชิงป้องกันมิให้ปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นซ้ำอีกหรือลดลง  สิ่งที่ควรจะต้องให้ความสำคัญสำหรับมาตรการในเชิงป้องกัน ได้แก่ การมีฐานข้อมูลข้อมูลในเชิงสถิติเพื่อการวิเคราะห์แนวโน้ม ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีศูนย์กลางข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค  และถือได้ว่าข้อมูลเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนางานต่อไป  ในหลักการในการบูรณาการการทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคครบวงจร โดยไม่ควรเน้นแต่เฉพาะการดำเนินคดีแทนผู้บริโภคตามกฎหมายเท่านั้น  นอกจากนั้น แนวทางการพัฒนาระบบการคุ้มครองผู้บริโภคเชิงบูรณาการ จำเป็นต้องมีการปรับรูปแบบการดำเนินงานในส่วนภูมิภาค โดย                                              

 ๑. ให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการร่วมกำหนดนโยบายในและแผนงานการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับจังหวัด (Civil Participation) โดยเพิ่มสัดส่วนภาคประชาชน นักวิชาการ สื่อมวลชน และผู้ประกอบการ ในคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัด                                                       

๒. จัดตั้งเป็นศูนย์ประสานงานองค์กรเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัด ดำเนินงานประสานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สร้างเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จัดการความรู้ร่วมกันของผู้บริโภคและหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมวางแผนงานหรือนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับจังหวัด  ทั้งนี้ โดยให้เน้นที่เนื้อหาสาระมากกว่ารูปแบบ                                   

๒. การทบทวนบทบาทอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค                                   

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ควรหันกลับมาทบทวนบทบาทอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นิติปรัชญาหรือเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการรับเรื่องร้องเรียนรวมถึงการดำเนินคดีแทนผู้บริโภค การที่ผู้บริโภคแต่ละรายจะไปฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจฯ เมื่อมีการละเมิดสิทธิผู้บริโภค ย่อมจะเสียเวลาและค่าใช้จ่าย ฯลฯ นั้น แนวความคิดตรงนี้ สคบ.ควรจะต้องตระหนักอยู่บนพื้นฐานของความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภคซึ่งอำนาจต่อรองของผู้ประกอบธุรกิจมีอำนาจเหนือกว่าเท่านั้น  กรณีแบบนี้ สคบ.ในฐานะองค์กรของรัฐและในฐานะผู้ปกครองจำเป็นต้องเข้าไปดูแลปกป้องประชาชนผู้บริโภคในฐานะผู้ใต้ปกครอง ซึ่งควรจะต้องเป็นไปตามกรณีเช่นว่านี้จริง ๆ และโดยแท้                                     

กรณีปัญหาการร้องเรียนที่ปรากฏส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์ หรืออื่น ๆ ถือว่าเป็นข้อโต้แย้งสิทธิธรรมดา ซึ่งผู้บริโภคเองในข้อเท็จจริงสามารถที่จะต้องช่วยตนเองได้ในระดับหนึ่งก่อนซึ่งถือได้ว่าจะทำให้ผู้บริโภคได้เกิดการเรียนรู้ถึงสิทธิของตนเองและพัฒนาต่อไปด้วยตนเองโดยเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะมีแนวทางที่จะทำให้ผู้บริโภคค่อย ๆ ได้รับการเรียนรู้เพื่อช่วยเหลือตนเองก่อนก่อนที่จะขอความช่วยเหลือจากรัฐซึ่งปรัชญาของการคุ้มครองผู้บริโภคโดยรัฐคือผู้บริโภคจะต้องช่วยเหลือตนเองก่อนซึ่งจะทำให้เกิดความเข้มแข็ง ภาคประชาชนในฐานะผู้บริโภค  ในการนี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่ารัฐควรค่อย ๆ ผ่อนคลายการใช้อำนาจตามกฎหมายและรวมถึงการฟ้องคดีแทนผู้บริโภคในส่วนนี้ด้วย โดยให้สังคมเกิดการเรียนรู้ และกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกร่วมของผู้บริโภคเอง ในขณะเดียวกัน กระบวนการยุติธรรมหากมีการพัฒนาไปด้วยอีกทางหนึ่งด้วยการให้มีการเข้าถึงได้โดยง่ายและมีค่าใช้จ่ายในระดับที่เพียงพอที่ไม่ทำให้ผู้บริโภคต้องมีความรู้สึกว่าจะเสียเวลาไม่คุ้มค่า ต้องสร้างบรรยากาศเช่นว่านี้ในสังคมให้เกิดขึ้นโดยลดบทบาทของ สคบ.ในการฟ้องคดีแทนผู้บริโภคลง เร่งรัดการตรากฎหมายว่าด้วยการดำเนินคดีแบบกลุ่มโดยให้นำมาใช้ทั้งการฟ้องคดีโดยผู้บริโภค สมาคมผู้บริโภค และโดยรัฐด้วย  และสนับสนุนให้ผู้บริโภคเข้าถึงเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย  ด้วยเหตุผลดังกล่าว สคบ.ควรจะดำเนินการรับเรื่องร้องทุกข์และแก้ไขปัญหาในเชิงนโยบายด้วยการเก็บสถิติข้อมูลจากสภาพปัญหาของผู้บริโภค รวมถึงการฟ้องคดีแทนผู้บริโภคในกรณีที่เป็นคดีที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคเป็นส่วนรวมจริง ๆ เท่านั้น และให้องค์กรวิชาชีพอื่น ได้แก่ สำนักงานอัยการสูงสุด หรือสมาคมที่มีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้รับการรับรองแล้ว เป็นผู้ดำเนินคดีแทนผู้บริโภค  นอกจากการดำเนินคดีจะมีประสิทธิมากด้วยบุคคลากรที่มีความพร้อมแล้ว (พนักงานอัยการ) ยังเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการรวมตัวภาคประชาชนในฐานะผู้บริโภคให้เกิดประชาสังคมด้วย  ทั้งนี้ โดยให้ สคบ.ทำหน้าที่ในเชิงนโยบายเท่านั้น  สำหรับการปฏิบัติการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องที่มีการร้องทุกข์จากผู้บริโภค การออกตรวจโฆษณา ฉลาก และสัญญา หรือแม้กระทั่งการออกตรวจจับผู้กระทำการละเมิดสิทธิผู้บริโภคในลักษณะของความผิดในทางอาญานั้นนั้น ให้มอบหมายองค์กรส่วนภูมิภาค องค์กรส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ปฏิบัติการแทน                                    

ดังนั้น องค์กรของ สคบ.ไม่ว่าจะมีแผนการปรับปรุงการบริหารโดยจะให้อยู่ภายใต้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีเช่นเดิมหรือหน่วยงานใด ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงยุติธรรมหรือกระทรวงพาณิชย์ก็ตาม ย่อมไม่ใช่ปัญหา เนื่องจากทำหน้าที่แต่เพียงเป็นหน่วยงานในเชิงนโยบายเสนอความเห็นและข้อมูลในเชิงวิเคราะห์ให้แก่คณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดนโยบายหรือมาตรการด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเท่านั้น นี่คือบทบาทของ สคบ.ในเชิงนโยบาย ซึ่งจะเป็นเพียงหน่วยงานเล็ก ๆ ปฏิบัติหน้าที่เชิงคุณภาพและจะได้ไม่มีปัญหาในเรื่องจำนวนและคุณภาพของบุคลากรซึ่งไม่เพียงพออันจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในฐานะผู้บริโภคอีกต่อไป                                   

 ๓. การทำให้ประชาชนในฐานะผู้บริโภคเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย                                   

นอกจากปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การขาดนโยบายและแผนงานการคุ้มครองผู้บริโภคที่ชัดเจน การมีทัศนคติด้านลบต่อผู้ร้องเรียนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ การขาดข้อมูลทักษะที่จำเป็นในการคุ้มครองผู้บริโภค และการขาดการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการอย่างต่อเนื่องแล้ว  ช่องทางและกระบวนการร้องเรียนยากแก่การเข้าถึงก็เป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดสำหรับประชาชนในฐานะที่เป็นผู้บริโภค ดังจะเห็นได้เนื่องจากปัจจุบันนี้การเสนอสินค้าและบริการต่าง ๆ ต่อประชาชนนับวันแต่จะเพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบธุรกิจการค้าและผู้ที่ประกอบธุรกิจโฆษณาได้นำวิชาการในทางการตลาดและทางการโฆษณามาใช้ในการส่งเสริมการขายสินค้าและบริการ ซึ่งการกระทำดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ เพราะผู้บริโภคไม่อยู่ในฐานะที่ทราบภาวะตลาดและความจริงที่เกี่ยวกับคุณภาพและราคาของสินค้า และบริการต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องทันท่วงที  นอกจากนั้น ในบางกรณีแม้จะมีกฎหมายให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคโดยการกำหนดคุณภาพและราคาของสินค้าและบริการอยู่แล้วก็ตาม แต่การที่ผู้บริโภคแต่ละรายจะไปฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือผู้ประกอบธุรกิจโฆษณาเมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ย่อมจะเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเป็นการไม่คุ้มค่า และผู้บริโภคจำนวนมากไม่อยู่ในฐานะที่จะสละเวลาและเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีได้ และในบางกรณีก็ไม่อาจระงับหรือยับยั้งการกระทำที่จะเกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภคได้ทันท่วงที  การปฏิรูปหน่วยงานและกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เช่น การมีหน่วยให้การช่วยเหลือแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) โดยพิจารณาแนวทางดำเนินการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อที่จะให้มีการประสานและบูรณาการทำงานร่วมกันเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคโดยคำนึงถึงสาระของงานมากกว่าสถานภาพหรือชื่อขององค์กร  เนื่องจากปัจจุบันมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานกระจัดกระจาย ทำให้การทำงานไม่เป็นระบบ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น  การตรากฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ความรับผิดต่อความเสียหายอันเนื่องมาจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย และการฟ้องร้องแบบรวมกลุ่ม (Class Action) ประกอบกับการตั้งกองทุนในลักษณะเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับการชดเชยเยียวยาโดยทันที หรือกองทุนยุติธรรม ก็เป็นมาตรการคู่ขนานที่จะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย และเป็นทางเลือกอื่นโดยที่ไม่จำต้องไปร้องเรียนต่อ สคบ.ซึ่งจะเป็นการล่าช้าและไม่อาจตอบสนองต่อความต้องการหรือการเยียวยาชดเชยได้อย่างทันท่วงที                                   

 ๔. ดำเนินการจัดตั้งองค์การอิสระผู้บริโภคที่เป็นหน่วยงานอิสระอย่างแท้จริง เพื่อให้มีระบบการสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคที่สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ                                    

การจัดตั้งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและการเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคหรือการบัญญัติขึ้นเป็นกฎหมายเฉพาะอีกฉบับหนึ่งว่ากรณีใดมีความเหมาะสมกว่านั้นอยู่ที่เจตจำนงของฝ่ายนิติบัญญัติ  ทั้งนี้ จะต้องพิจารณาความสามารถของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลในการสนับสนุนงบประมาณบนพื้นฐานของหลักความคุ้มค่าและความมีประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภคโดยรวมด้วย ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่าตามเจตนารมณ์ของมาตรา ๖๑ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ นั้น รัฐต้องการให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ กล่าวคือองค์การอิสระนี้ จะต้องมาจากกฎหมายซึ่งจัดตั้งให้มีขึ้นเป็นการเฉพาะ มิได้อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๒๒ โดยให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นฝ่ายเลขานุการแต่ประการใดอย่างชัดเจo

บทสรุป

การคุ้มครองผู้บริโภค ผู้บริโภคจะต้องช่วยเหลือตนเองก่อน  ทั้งนี้ รัฐจะทำหน้าที่สนับสนุนและคุ้มครองให้ประชาชนในฐานะผู้บริโภคได้ใช้สิทธิเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ได้รับรองสิทธิของผู้บริโภคไว้  เมื่อกลไกของรัฐยังไม่สามารถที่จะอำนวยการให้ประชาชนในฐานะผู้บริโภคได้ใช้สิทธิเช่นว่านั้นนับแต่ก่อนและขณะที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๒๒ ใช้บังคับ รัฐมีหน้าที่ที่จะต้องปกป้องดูแลประชาชนในมิติของการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่ง สคบ.ในฐานะองค์กรของรัฐและในฐานะผู้ปกครองจำเป็นต้องเข้าไปดูแลปกป้องประชาชนผู้บริโภคในฐานะผู้ใต้ปกครองในเบื้องต้น เมื่อทางสังคมมีวิวัฒนาการ ประกอบกับรัฐกำลังอำนวยการตอบสนองการใช้สิทธิของผู้บริโภคซึ่งจะต้องช่วยตนเองได้ในระดับหนึ่งก่อนซึ่งถือได้ว่าจะทำให้ผู้บริโภคได้เกิดการเรียนรู้ถึงสิทธิของตนเองและพัฒนาต่อไปด้วยตนเองโดยเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะมีแนวทางที่จะทำให้ผู้บริโภคค่อย ๆ ได้รับการเรียนรู้เพื่อช่วยเหลือตนเองก่อน เมื่อกลไกทางกลไกทางกฎหมายต่าง ๆ ที่อยู่ในชั้นการร่างและพิจารณาของฝ่ายบริหารและฝ่าย นิติบัญญัติเป็นไปตามเจตนารมณ์ ประกอบกับเมื่อภาคประชาสังคมผู้บริโภคเกิดความเข้มแข็ง บทบาทของรัฐต้องค่อย ๆ ผ่อนคลายการออกมาตรการเชิงบังคับ (Deregulation) และต้องสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจควบคุมกันเองคู่ขนานไปด้วยกัน (Self-regulation) และเมื่อเกิดวิวัฒนาการจนกระทั่งผู้บริโภคเกิดความเข้มแข็งเองโดยธรรมชาติโดยที่รัฐก็จะลดบทบาทความสำคัญลง  และในที่สุด หน่วยงานภาครัฐ (สคบ.) ก็อาจจะต้องยุติบทบาท โดยเน้นปฏิบัติหน้าที่ในเชิงนโยบายเท่านั้นเมื่อองค์การอิสระผู้บริโภคมีความเข้มแข็ง และประชาชนในฐานะผู้บริโภคให้ความเชื่อมั่นในตนเองมากกว่าที่จะพึ่งพาภาครัฐ โดยที่รัฐจะต้องพิจารณาทบทวนบทบาทในฐานะที่เป็นเสมือนองค์กรที่มีคู่แข่งเสมือนการแข่งขันในทางธุรกิจ ซึ่งหากหน่วยงานภาครัฐไม่ปรับปรุง ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ หรือทบทวนบทบาทเพื่อกำหนดทิศทางในอนาคต  ก็มีความเป็นไปได้ที่จะต้องยุติบทบาทหรือยุบหน่วยงานลงตามหลักความคุ้มค่าและประสิทธิผลในทางธุรกิจที่จะต้องมีการลงทุนซึ่งต้องอาศัยงบประมาณแผ่นดินนั่นเอง 

--------------------------------

หมายเลขบันทึก: 135760เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2007 11:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กรกฎาคม 2012 06:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ขอบคุณทางรัฐมากๆที่ตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมา

เป็นประโยชน์แก่ประชาชนมากเลยครับ

ขอบคุณครับที่ได้กรุณาเข้ามาเยี่ยมชมครับ

หากท่านมีความเห็นที่เป็นประโยชน์ประการใดเพิ่มเติม กรุณาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันครับ

มาตอบเร็วจัง :-)

ผมเคยมีปัญหาเรื่องการซื้อหูฟังโทรศัพท์ เข้าเว็บของสคบ แล้วก็หาเบอร์โทรติดต่อ

โทรไปฝ่ายคดีความ คนที่รับพูดจาดีมากครับ และก็ให้คำปรึกษาที่เป็นประโยชน์มากเลย

ผมไปเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้เพื่อนๆฟัง เพื่อนก็มาปรึกษา เพราะมีพวกงานขายตรงที่ดูเหมือนเป็นธุรกิจแชร์ลูกโซ่

ผมก็บอกให้โทรไปหาสคบ ทางสคบเขาก็ให้คำปรึกษาที่เป็นประโยชน์อีกเช่นเคย

ผมรู้สึกอุ่นใจครับ ขนาดผมเป็นปัญญาชน มีเรื่องขึ้นมายังมึนๆเลยครับ แล้วพวกตาสีตาสา ที่เขาโดนเอารัดเอาเปรียบ

เขาจะเป็นอย่างไร ก็น่าคิด แต่เมื่อมีหน่วยงานนี้เข้ามาดูแล ผมก็ดีใจครับ

ดีใจครับ ที่ทางหน่วยงานเดิมของผม คือ สคบ.ได้สร้างความพึงพอใจให้แก่ประชาชนในฐานะผู้บริโภค

ผมเคยเป็นผู้อำนวยการส่วนกฎหมาย สคบ.ครับ หากมีโอกาสเจอเพื่อน สคบ.เก่า ๆ ก็จะส่งต่อ้ข้อความนี้ให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องครับ

ขอบคุณมากครับ

ท่านได้เสนอแนวทางการพัฒนากลไกด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ดีมาก ผมขอแลกเปลี่ยนและเสนออย่างนี้ครับ ว่า การคุ้มครองผู้บริโภคในอุดมคติ คือ ประชาชนต้องลุกขึ้นมาปกป้องและพิทักษ์สิทธิตนเอง เพราะฉะนั้นนโยบายควรม่งเน้นแก้ปัญหาระดับปัจเจกชน ไม่ใช่ส่งเสริมนโยบายสาธารณะเท่านั้น เราจะเห็นว่าการถ่ายโอนอำนาจลงสู่แนวดิ่งไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เช่น สคบ ลงสู่ จังหวัด เห็นปัญหามากมาย บางจังหวัดอ้างว่าไม่มีคนทำงาน สคบ.เป็นงานฝากไม่ใช่งานประจำ

ผมขอเสนอการแก้ปัญหาดังนี้ จัดตั้งศูนย์ประสานงาน สคบ.ในชุมชน โดยสนับสนุนงบประมาณบางส่วนให้ชุมชนไม่ต้องไปกองงบที่จังหวัด เช่น ปีนี้เครือข่าย สคบ.จังหวัดผมใช้เงินจากชุมชนดำเนินงานเรื่อง สคบ. 20,000 บาท ทำงานได้ทั้งปี ไม่ได้ใช้เงินจาก สคบ.เลย แต่ สคบ.จังหวัดบอกว่ามีเงิน 400,000 กว่าบาทเงินไม่พอทำงานแถมยังกระแทกเสียงใส่อีกว่าไม่ใช่งานตนเอง จะเห็นได้ว่าการดำเนินงานภาครัฐต้นทุนสูงมากเนื่องจาก อบรม ประชุม ถ่ายภาพ พรีเซนต์ ขอเลื่อนขั้น การทำงานตามงบปีก็จบลง แต่ชาวบ้านใช้เวทีชุมชนพูดจาหารือกัน ให้ความรู้กันผ่าน วิทยุชุมชน และลงตรวจสินค้าในชุมชน โดยสร้างชุมชน CSR COMMUNITY สร้างทัศนคติการรับผิดชอบต่อสังคม แค่นี้น่าจะเพียงพอต่อการแก้ปัญหา สคบ.ในประเทศไทย

สมัยก่อน สคบ.ตั้งงบประมาณแจกเงินให้ทุกจังหวัด โดยที่จังหวัดไม่ได้เสนอโครงการใด ๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรมก่อน เรียกว่าแจกเงินนั่นแหละครับ

ต่อมา แนวทางการตั้งงบประมาณ ให้จังหวัดเสนอโครงการ แล้ว สคบ.จึงตั้งงบประมาณให้ อย่างที่เห็นปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังเห็นว่าจังหวัดยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของรัฐในการคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ประการหนึ่งตามที่ท่านเห็นและสัมผัสคือเจ้าหน้าที่มีทัศนคติว่าไม่ใช่งานของจังหวัด หากแต่เป็นงานฝาก

จริง ๆ เรืองนี้ เคยมีการลงนาม MOU ระหว่างรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเมื่อรัฐบาลสมัยก่อน ๆ สุดท้ายก็ยังเหมือน ๆ เดิม เป็นเพียงในรูปแบบ ทราบว่าขณะนี้ มีแผนการตั้ง สคบ.ภาค ๙ ภาค และมีแนวคิดเป็นไปในทิศทางเดียวกับคุณ

ขอบคุณมากครับที่ได้แวะมาเยี่ยมชมและเสนอความเห็น หากมีโอกาส จะได้ส่งต่อให้ สคบ.เพื่อพิจารณาต่อไป

ขอบคุณอีกครั้งครับ

รบกวนเขียนอ้างอิงให้หน่อยได้มั้ยค่ะส่งมาทางเมลน่ะค่ะขอบคุณค่ะ

@AommY: ขอบคุณครับที่เข้ามาอ่าน และหวังว่าจะได้รับประโยชน์จากบันทึกนี้บ้างครับ สำหรับการเขียนในบันทึกนี้ ผมได้เขียนจากประสบการณ์ จากการที่ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และศึกษาในต่างประเทศจากบุคคลต่าง ๆ ในต่างประเทศ องค์กรภาครัฐในต่างประเทศ และองค์กรพัฒนาเอกชนในต่างประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของเอกสารเสนอแนะต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคก่อนที่จะโอนย้ายไปหน่วยงานอื่น และได้นำมาแบ่งปันความรู้ประสบการณ์ในบล๊อกนี้สำหรับผู้สนใจ หากคุณ AommY จะนำไปใช้ประโยชน์ก็จะยินดีครับ ผมยินดีอนุญาตให้นำไปอ้างอิงครับ

ท่านอัครพงษ์ เวชยานนท์ ครับ ช่วย เรียงความ การคุ้มครองผู้บริโภคให้หน่อยได้ไหมอะ

ขอบคุณครับที่ได้ให้ความสนใจและได้เข้ามาอ่าน

ข้อความที่เขียนนี้ อนุญาตให้นำไปอ้างอิงได้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท