สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อีกโอกาสสำหรับคนไทย


ผมๆได้รับอีเมลจากผู้ใช้นามว่า son สอบถามสถานที่เรียนภาษาอาหรับและการใช้ภาษาในประเทศสหัฐอาหรับเอมิเรตส์

ณ ตอนนี้สถานที่เรียนภาษาอาหรับที่เป็นระบบก็ที่มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา นะครับ มีสองระดับ

  • ระดับพิ้นฐานก็ที่ศูนย์ภาษาอาหรับ สถาบันภาษานานาชาติ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา
  • เมื่อผ่านระดับพื้นฐานแล้วก็สามารถเข้าเรียนในสาขาวิชาภาษาอาหรับได้

ส่วนที่ถามข้อมูลของประเทศสหัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมถึงภาษาราชการนั้น เข้าไปอ่านได้ที่ลิงค์ http://www.mfa.go.th/web/2814.php?id=3106

 

หรืออ่านจากข้างล่างนี่ก็ได้ครับ ผมก็อปมาให้อ่านเลย สะดวกดี

....................................................................................................................................

ข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับผู้ที่จะเข้ามาพำนักในรัฐอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

----------------------------------------------

1.  การเตรียมตัวเพื่อการเดินทาง

                1.1  การขอรับการตรวจลงตรา

                                ผู้ที่จะเดินทางมาพำนักต้องขอรับการตรวจลงตราล่วงหน้า โดยนายจ้างหรือสปอนเซอร์

จะเป็นผู้ดำเนินการขอรับการตรวลงตราจาก Naturalization and Residence Directorate อาบูดาบี

(ดูรายละเอียด คลิ๊กจากหน้าหลัก (หัวข้อวีซ่าและข้อแนะนำการเดินทาง)) ผู้ที่จะเดินทางมาทำงานจะได้รับการตรวจลงตราประเภท Employment Visa สำหรับผู้ที่จะนำภรรยาและบุตรมาพำนักอยู่ด้วยสามารถเป็นสปอนเซอร์ขอ Residence Visa ให้แก่ภรรยาและบุตรได้หลังจากที่ตนเองได้รับใบอนุญาทำงาน Labour Card และอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ Residence Permit แล้ว

1.2  การติดต่อที่เรียนให้บุตร

                โดยทั่วไปชาวต่างชาติจะต้องเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาของเอกชนเท่านั้น อาบูดาบีมีโรงเรียนนานาชาติหลายแห่ง และมีหลายหลักสูตร โดยทั่วไปภาคการศึกษาจะแบ่งเป็น ก.ย. ธ.ค. / ม.ค.-เม.ย. / เม.ย.- ก.ค.

                การสมัครสามารถทำได้ในช่วงที่เดินทางมาถึง โดยขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบันการศึกษา โดยทั่วไปจะมีการทดสอบโดยนัดวันให้นักเรียนทำข้อสอบเข้า เพื่อใช้ประกอบการพิจารณารับเข้าศึกษา เอกสารที่ควรเตรียม ได้แก่ ใบรายงานผลการเรียนล่าสุดจากสถานศึกษาเดิม (ผ่านการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการไทย กระทรวงการต่างประเทศไทยและสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประจำประเทศไทย) สำเนาหนังสือเดินทางของนักเรียนและผู้ปกครอง สำเนาสูติบัตร รูปถ่าย ประวัติการฉีดวัคซีนและประวัติทางการแพทย์ และ Transfer certificate

1.3  การเตรียมของใช้ส่วนตัว  (เครื่องแต่งกาย ยา เครื่องประดับบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องใช้ในครัวเรือน ฯลฯ)

                ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันต่างๆ สามารถหาซื้อได้ง่ายในยูเออี ผู้ที่จะเดินทางมาพำนักควรเตรียมยารักษาโรคที่จำเป็น เนื่องจากส่วนใหญ่การซื้อยาจะต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ ยูเออีใช้ไฟฟ้า 220 โวลต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าจากประเทศไทยสามารถนำมาใช้ที่ยูเออีได้ อย่างไรก็ดี เครื่องใช้ไฟฟ้าในยูเออีไม่ได้มีราคาแพง เมื่อเทียบกับข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ ที่ราคาจะแพงกว่าประเทศไทย

1.4  เอกสารที่ต้องจัดเตรียมก่อนการเดินทาง

                เอกสารส่วนตัว อาทิ ใบขับขี่ เอกสารการศึกษา บัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน รูปถ่ายขนาด 2 นิ้ว 

1.5  การจัดส่งของใช้ส่วนตัวไปจากประเทศไทย (ทางอากาศ / ทางเรือ)

                สามารถจัดส่งได้ทั้งทางอากาศและทางเรือ โดยสายการบิน Etihad ซึ่งมีเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ อาบูดาบี หรือสายการบินที่บินเข้าอาบูดาบีได้แก่ Gulf Air และ Qatar Airways  ทั้งนี้ อาจใช้บริษัทชิปปิ้ง    ซึ่งจะมีบริษัทตัวแทนที่อยู่ปลายทางดำเนินการต่อให้ โดยส่งของมาในชื่อของตัวเอง และส่งเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น Airwaybill หรือ Bill of Landing / Invoice / Packing List ให้บริษัทตัวแทนที่อยู่ปลายทาง  (กรณีจัดส่งโดยบริษัทชิปปิ้ง บริษัทตัวแทนปลายทางจะเป็นผู้ออก Clearance Certificateให้)  เพื่อนำไปออกของจากสนามบินหรือท่าเรือ โดยต้องจ่ายค่าธรรมเนียมออกของและภาษี

1.6  การเตรียมเงินสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ในช่วงแรก

                การนำดร๊าฟเข้าบัญชีธนาคารจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ จึงควรนำเงินสดหรือ travellers’ cheque ติดตัวมาด้วย (เป็นสกุลดอลลาร์หรือยูโร) โดยสามารถแลกเป็นเงินท้องถิ่นได้ตามเคาน์เตอร์รับแลกเงินซึ่งมีอยู่ทั่วไป ซึ่งจะได้อัตราแลกเปลี่ยนที่ดีกว่าธนาคาร และบัตรเครดิตสามารถใช้ได้ตามห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์มาเก็ตในยูเออี

 

2.  การดำรงชีวิตประจำวัน

                2.1  ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

                                ยูเออีเป็นประเทศที่จัดได้ว่ามีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินสูงมากประเทศหนึ่ง

มีเหตุอาชญากรรมน้อยมาก

                2.2  สภาพทั่วไปในประเทศ

                                ยูเออีเป็นประเทศมุสลิมสายกลาง มีชาวต่างชาติอาศัยและทำงานอยู่มาก (2 ใน 3) ทั้งจากประเทศตะวันตกและเอเชีย จึงเป็นสังคมที่มีความหลากหลาย แม้ยูเออีจะเป็นประเทศมุสลิม แต่ก็เปิดกว้างในด้านสังคมและการดำรงชีวิตสำหรับคนที่อาศัยอยู่ในยูเออี (มีคนไทยในรัฐอาบูดาบีประมาณ 5,000 คน           จากทั้งหมด 12,000 คนในยูเออี)

                                เนื่องจากยูเออีเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่อากาศจึงร้อน มีฝนตกน้อยมาก ส่วนใหญ่จะตกในช่วงฤดูหนาว โดยอากาศร้อนจัดช่วงเดือน มิ.ย. ส.ค. อุณหภูมิประมาณ 47-50 องศาเซลเซียสและช่วงหน้าหนาว (พ.ย. มี.ค.) อากาศจะเย็น อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 24 องศาเซลเซียส

                2.3  การเดินทางสัญจรภายในประเทศ เครือข่ายการคมนาคม การสื่อสารไปรษณีย์

                                กรุงอาบูดาบีเป็นเมืองที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก การเดินทางในเมืองจึงใช้เวลาไม่นานนัก

โดยส่วนใหญ่จะใช้รถยนต์ส่วนบุคคลหรือแท็กซี่ ที่มีบริการจำนวนมาก (แต่ในเวลาเร่งด่วนก็มีความต้องการมากเช่นกัน)ไม่มีรถโดยสารประจำทางในกรุงอาบูดาบี แต่มีรถประจำทางระหว่างรัฐอาบูดาบีและเมืองสำคัญๆ อาทิ ดูไบ ชาร์จ้าห์ และอัล เอน   ในยูเออีมีสนามบินระหว่างประเทศทั้ง 7 รัฐแต่ที่เป็นสนามบินหลักมีเพียงสองแห่ง คือ รัฐอาบูดาบี และดูไบ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการบินสำหรับภูมิภาคนี้ด้วย

                                ยูเออีเป็นประเทศที่มีเครือข่ายโทรคมนาคมที่ดีทั้งในและระหว่างประเทศ ส่วนใหญ่ยังเป็นการผูกขาดโดยบริษัทของรัฐ (Etisalat) ให้บริการทั้งโทรศัพท์บ้าน มือถือ และอินเตอร์เน็ต การใช้โทรศัพท์ภายในรัฐเดียวกันจะไม่คิดค่าโทร และมีช่วงเวลาที่คิดอัตราพิเศษสำหรับโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ (ทั้งจากโทรศัพท์บ้านและมือถือ) คือ ทุกวันศุกร์ทั้งวัน และระหว่างเวลา 14.00 – 16.00 น. และ21.00 -07.00 ของทุกวัน อัตราค่าโทรศัพท์ไปประเทศไทยนาทีละประมาณ 14 บาท (ช่วงเวลาพิเศษ) และ 20 บาท (ช่วงเวลาปกติ)  โทรศัพท์มือถือเป็นที่นิยมใช้กันทั่วไปมีทั้งระบบเติมเงิน และระบบเรียกเก็บค่าบริการภายหลัง โทรศัพท์สาธารณะส่วนใหญ่จะต้องใช้บัตรโทรศัพท์ ซึ่งมีขายตามร้านขายของชำและร้านค้าทั่วไป

                                ในยูเออีไม่มีการส่งไปรษณีย์ตามบ้าน แต่จะส่งตามตู้ไปรษณีย์ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ต่างๆ ผู้ใช้บริการสามารถเช่าตู้ไปรษณีย์ หรือใช้ตู้ไปรษณีย์ของบริษัทที่ตนเองทำงานอยู่  การส่งไปรษณีย์สามารถใช้บริการของไปรษณีย์ยูเออีหรือบริษัทจัดส่งของและจดหมายด่วนเอกชนทั่วไป เช่น DHL  FEDEX   ARAMEXเป็นต้น

                2.4  การจับจ่ายใช้สอย

                                มีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่หลายแห่งในอาบูดาบี และมีห้างร้านอื่นๆ ทั่วไป ร้านที่ขายของเฉพาะเหมือนกันมักจะอยู่ในย่านเดียวกัน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์ช่าง ฯลฯ เป็นต้น สำหรับของใช้ประจำวันทั่วไปสามารถซื้อได้ตามห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ตซึ่งกระจายอยู่ทั่วไป บางแห่งเปิดบริการ 24 ชั่วโมง ซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ อาทิ Abu Dhabi Co-operative, Carrefour, Lulu Hyper Market, Spinneys, Emirates General Market, Choitram Supermarket เป็นต้น นอกจากนี้ตามอาคารที่พักอาศัยจะมีร้านขายของชำอยู่ในบริเวณใกล้เคียง

                                เนื้อหมูหรืออาหารที่มีหมูเป็นส่วนประกอบจะซื้อได้จากซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ได้รับอนุญาตให้จำน่ายเท่านั้น ซึ่งมีสองแห่งในอาบูดาบี คือ Spinneys และ Choitram Supermarket   เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซื้อได้ตามร้านที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่าย ผู้ซื้อจะต้องมีใบอนุญาตจึงจะสามารถซื้อได้ โดยมีการจำกัดมูลค่าการซื้อต่อเดือนประมาณ 10 เปอร์เซ็นของเงินเดือน ซึ่งสามารถขอทำใบอนุญาตซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ที่สำนักงานตำรวจสันติบาล

                2.5  อาหาร (แหล่งซื้ออาหารไทย)

                                มีร้านขายของชำ 2-3 แห่ง คือร้าน Tropical Trading และ Queen Saba  ที่มีสินค้าสำหรับประกอบอาหารไทยจำหน่าย แต่ไม่ได้มีในปริมาณที่มากหรือหลากหลาย โดยเป็นร้านที่จำหน่ายสินค้าจากเอเชีย เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สำหรับข้าวสาร และซ้อสบางอย่าง เช่น น้ำปลา น้ำมันหอย สามารถหาได้ใน         ซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป บางอย่างหากไม่สามารถหาซื้อในอาบูดาบีได้ อาจหาซื้อได้จากร้านไทยในดูไบ        สำหรับร้านอาหารไทยในกรุงอาบูดาบีมี 5 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นร้านที่อยู่ในโรงแรม

                2.6  การรักษาพยาบาลและมาตรฐานด้านสาธารณสุข

                                ยูเออีจัดว่ามีการรักษาพยาบาลและมาตรฐานด้านสาธารณสุขค่อนข้างดี มีบุคลากรทางการแพทย์จากประเทศตะวันตก เอเชีย และอาหรับประเทศอื่นๆ  ตามกฎหมายแรงงานยูเออีกำหนดให้นายจ้างต้องรับผิดชอบค่าประกันสุขภาพของลูกจ้าง ภรรยาและบุตร 3 คนของลูกจ้างด้วย ซึ่งสามารถนำบัตรประกันสุขภาพไปใช้บริการตามโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน หรือตามศูนย์อนามัยตามที่ระบุในเงื่อนไขการใช้บริการของบัตรประกันสุขภาพ

                2.7  แหล่งบันเทิง สวนสาธารณะ สโมสรกีฬา

                                อาบูดาบีมีสวนสาธารณะกระจายอยู่หลายแห่ง ในวันหยุดสุดสัปดาห์โดยเฉพาะวันศุกร์คนนิยมที่จะพาครอบครัวออกมาปิกนิกตามสวนสาธารณะ มีสโมสรกีฬาซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นของโรงแรม จะต้องสมัครเป็นสมาชิก หรือเสียค่าใช้บริการเป็นครั้งไป และมีสโมสรสำหรับสตรีโดยเฉพาะด้วย

                                แหล่งบันเทิงหรือร้านอาหารที่มีการเสิร์ฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะต้องเป็นร้านที่ได้รับอนุญาต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นร้านที่อยู่ภายในโรงแรม

                2.8  วัดและสถานที่ประกอบศาสนกิจ ชุมชนชาวไทย

                                ไม่มีวัดไทยในยูเออี แต่บางครั้งชุมชนชาวไทยและศรีลังกาจะมีการนิมนต์พระสงฆ์หรือจัดกิจกรรมทางศาสนา เช่น การนั่งสมาธิ บ้างในบางโอกาส  ในกรุงอาบูดาบีมีโบสถ์ศาสนาคริสต์นิกายต่างๆ อยู่  ในกรุงอาบูดาบี

                2.9  ธนาคาร การโอนเงิน การฝากเงิน การขอบัตรเครดิต

                                สามารถขอเปิดบัญชีธนาคารได้ด้วยตนเอง หรือบริษัทนายจ้างเป็นผู้ดำเนินการเปิดบัญชีเนื่องจากบางหน่วยงานหรือบริษัทมีการจ่ายเงินเดือนโดยผ่านธนาคาร  โดยสามารถเลือกเปิดบัญชีเงินท้องถิ่นหรือเป็นดอลลาร์สหรัฐได้ และการขอบัตรเครดิตสามารถทำได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อเปิดบัญชีกับทางธนาคารแล้ว และหลายแห่งไม่เก็บค่าธรรมเนียมรายปี

                                ยูเออีให้มีการโอนเงินได้เสรี เคาน์เตอร์รับแลกเปลี่ยนเงินส่วนใหญ่จะมีบริการโอนเงินไปต่างประเทศ โดยจะคิดอัตราเป็นดอลลาร์สหรัฐ และได้อัตราแลกเปลี่ยนที่ดีกว่าธนาคาร การโอนเงินกลับประเทศไทยจะเสียค่าธรรมเนียมการโอนครั้งละ 25 ดีแรห์ม ไม่ว่าจะโอนเงินจำนวนเท่าใด

                2.10  โทรทัศน์ วิทยุ และสื่อต่างๆ

                                มีสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นซึ่งสามารถรับชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่สำหรับช่องท้องถิ่นที่เป็นภาษาอังกฤษจะต้องติดตั้งจานดาวเทียม หรือหากอาคารที่พักอาศัยมีจานดาวเทียมให้ ผู้เช่าจะต้องซื้อเครื่องถอดรหัสสัญญาณ ซึ่งนอกจากจะสามารถรับช่องท้องถิ่นได้แล้ว ยังมีช่องต่างประเทศอื่นๆ รวมทั้งช่อง Thai TV Global Network ได้ด้วย แต่หากต้องการรับช่องภาษาอังกฤษที่หลากหลายขึ้น สามารถสมัครติดตั้งรายการโทรทัศน์ประเภทบอกรับเป็นสมาชิก ซึ่งมีให้เลือกทั้งเคเบิ้ล และจานดาวเทียม โดยมี package รายการต่างๆ     ให้เลือก สำหรับวิทยุส่วนใหญ่จะเป็นภาษาอาหรับ แต่จะมีบางช่องที่เป็นช่องภาษาอังกฤษ

                                มีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาษาอังกฤษ 3 ฉบับ และมีนิตยสารประเภทไลฟ์สไตล์ที่เป็นภาษาอังกฤษ นิตยสารและวารสารต่างประเทศมีจำหน่ายตามร้านหนังสือและซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ แต่ราคาจะสูงกว่าราคาหน้าปก บางครั้ง 2-3 เท่า             

 2.11  การใช้ภาษาอังกฤษของบุคคลระดับต่างๆ ในท้องถิ่น

                                เนื่องจากมีชาวต่างชาติอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ภาษาอังกฤษจึงสามารถใช้เป็นภาษาสื่อสาร ในชีวิตประจำวันได้ ป้ายต่างๆ มีการบอกเป็นภาษาอาหรับและอังกฤษ แต่บางครั้ง เช่น คนขับรถแท็กซี่ ไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ แต่หากสามารถบอกจุดหมายที่เป็นที่รู้จักก็จะสามารถเข้าใจได้

 

3.  การจัดหาที่พักอาศัย

                3.1  ลักษณะที่พักอาศัยและสภาพแวดล้อมโดยทั่วไป

                                อาบูดาบีเป็นเมืองขนาดค่อนข้างเล็ก แต่กำลังมีการพัฒนาและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ความต้องการที่พักอาศัยจึงมีสูง ทำให้ที่พักอาศัยในอาบูดาบีขึ้นราคาอย่างรวดเร็ว   ที่พักอาศัยมีทั้งที่เป็นบ้าน และ  serviced apartment ซึ่งจะมีราคาสูงมาก ที่คนส่วนใหญ่อาศัยจึงจะเป็นลักษณะอพาร์ทเม้นต์ซึ่งบางครั้งอยู่ในอาคารสำนักงานและที่พักอาศัยรวมกัน บางแห่งจะมีสระว่ายน้ำหรือห้องออกกำลังกาย หรือที่จอดรถส่วนกลางให้

                3.2  ทำเลที่ตั้งและการเดินทาง

                                การเดินทางภายในตัวเมืองอาบูดาบีไม่ไกลกันมากนัก และสามารถเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวหรือแท็กซี่ได้สะดวก ดังนั้น การเลือกที่พักจึงอยู่ที่ความพอใจของแต่ละคน อาคารที่พักส่วนใหญ่จะไม่มีชั้นจอดรถ ทำให้ผู้อาศัยประสบปัญหาเรื่องที่จอดรถ บางอาคารที่มีที่จอดรถให้ผู้อาศัยอาจคิดค่าเช่าเพิ่มสูงขึ้น

                3.3  วิธีหาบ้านพัก

                                ส่วนใหญ่ต้องใช้บริการผ่านนายหน้า เนื่องจากอาคารที่พักบางแห่งจะไม่ให้เข้าชมหากไม่มีนายหน้า โดยนายหน้าจะพาชมห้องพักจนกว่าจะได้ห้องที่เป็นที่พอใจ

                3.4  อัตราค่าเช่า

                                โดยทั่วไปนายจ้างจะเป็นผู้รับผิดชอบจัดที่พักให้พนักงานหรือบางบริษัทอาจให้เป็นเงินแทนค่าที่พักแล้วให้พนักงานจัดหาที่พักเองตามที่พอใจ   อัตราค่าเช่าบ้านพักส่วนใหญ่คิดเป็นรายปี ราคาขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้งและความเก่า-ใหม่ของตึก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นห้องที่ยังไม่ได้ตกแต่งไม่มีเฟอร์นิเจอร์ และกฎหมาย      ยูเออีกำหนดให้ขึ้นค่าเช่าได้ปีละ 7 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ค่าเช่าบ้านจะเพิ่มสูงขึ้นทุกปี

                3.5  การทำสัญญาและค่านายหน้า

                                ส่วนใหญ่นายหน้าจะคิดค่าบริการประมาณร้อยละ 5 ของอัตราค่าเช่าบ้านพัก การทำสัญญาเช่าบ้านพัก หากพอใจและคิดว่าจะอยู่เกินกว่า 1 ปี ก็อาจขอทำสัญญาครั้งละ 2 ปี แต่จ่ายเป็นรายปีก็ได้ เพื่อชะลอการขึ้นราคาของบ้านพัก

                3.6  การขอติดตั้งโทรศัพท์และสาธารณูปโภคอื่นๆ

                                เมื่อทำสัญญาเช่าบ้านเรียบร้อยแล้ว สามารถนำสำเนาสัญญาเช่าบ้านกับเอกสารแสดงตัวไปติดต่อหน่วยงานด้านประปาและไฟฟ้าอาบูดาบี เพื่อให้ดำเนินการติดตั้งไฟฟ้าและน้ำประปาภายใต้ชื่อของผู้เช่าบ้าน เช่นเดียวกับการขอติดตั้งโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต คือต้องนำสำเนาสัญญาเช่าบ้านกับเอกสารแสดงตัวไปติดต่อองค์การสื่อสารยูเออี (Etisalat)

 แหล่งอ้างอิง http://www.mfa.go.th/web/2814.php?id=3106

หมายเลขบันทึก: 218616เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2008 20:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 11:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท