สิทธิของคนสัญชาติไทยในการเข้าไปลงทุนประกอบธุรกิจในออสเตรเลียภายใต้ความตกลงการค้าเสรี


การเข้าไปประกอบธุรกิจในออสเตรเลีย

        สิทธิของคนสัญชาติไทยในการเข้าไปลงทุนประกอบธุรกิจในออสเตรเลียภายใต้ความตกลงการค้าเสรี  

                  
        ตามที่ประเทศไทยกับออสเตรเลียได้จัดทำความตกลงการค้าเสรีและมีผลบังคับเมื่อวันที่1 มกราคม 2548 ที่ผ่านมา ทำให้คนสัญชาติไทยได้สิทธิประโยชน์เข้าไปลงทุนประกอบธุรกิจประเภทต่าง ๆ ในออสเตรเลียมากกว่าประเทศอื่น ๆ


        การศึกษาสิทธิของคนสัญชาติไทยในการเข้าไปลงทุนประกอบธุรกิจในออสเตรเลียภายใต้ความตกลงการค้าเสรีนี้ จึงกำหนดขอบเขตของการศึกษาจากความตกลง FTA  และกฎหมายของประเทศไทยที่ส่งเสริมให้มีการเข้าไปลงทุน    ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความเข้าใจในสถานะภาพของข้อตกลงระหว่างประเทศและกฎหมายของไทยที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันว่ามีอยู่อย่างไร  และมีปัญหาหรืออุปสรรคที่ควรจะต้องมีการแก้ไขในอนาคต


        การศึกษาจะเริ่มจากความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย  ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์  และประเภทของธุรกิจที่เอื้อต่อคนสัญชาติไทยในการเข้าไปลงทุน รวมทั้งเงื่อนไขตามกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติตาม  ต่อจากนั้น จะศึกษากฎหมายของไทยที่สนับสนุนหรือเอื้อประโยชน์ให้คนสัญชาติไทยเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งศึกษาถึงปัญหาข้อกฎหมายในการเข้าไปประกอบธุรกิจและข้อเสนอแนะ

        I.    ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ในส่วนที่เอื้อประโยชน์ให้คนสัญชาติไทยได้เข้าไปลงทุนประกอบธุรกิจในออสเตรเลีย


        ผลจากการเจรจาการค้าเสรี ทำให้คนสัญชาติไทยสามารถเข้าไปลงทุนจัดตั้งธุรกิจในออสเตรเลียได้สะดวกมากยิ่งขึ้น  โดยหากเป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีคนสัญชาติไทยเป็นผู้ถือหุ้นข้างมาก  และดำเนินการไม่ขัดต่อกฎหมายก็สามารถเข้าไปจัดตั้งธุรกิจได้ทันทีโดยไม่ข้อจำกัด  แต่หากเป็นธุรกิจที่คนสัญชาติไทยถือหุ้นข้างมากและมีการลงทุนเกิน 50ล้านเหรียญออสเตรเลียหรือการลงทุนในธุรกิจเฉพาะบางประเภท  เช่น ธนาคาร  สื่อสารมวลชน  การซื้อที่ดินและอาคารในเขตเมือง การขนส่งทางทะเล การขนส่งทางอากาศ  จะต้องขออนุญาตจาก Foreign Investment Review Board  ซึ่งแต่งตั้งขึ้นโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  ตามกฎหมาย Foreign Acquisition and Takeover Act  (ที่มา:  www.dtn.moc.go.th)
การที่คนสัญชาติไทยจะเข้าไปลงทุนประกอบธุรกิจในออสเตรเลียนั้น  ควรเน้นธุรกิจที่มีศักยภาพในการแข่งขันกับบริษัทในท้องถิ่น  โดยควรเป็นธุรกิจที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในประเทศไทยหรือเป็นธุรกิจที่คนไทยมีความชำนาญ  ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าในออสเตรเลียที่จะเข้ามาใช้บริการ   อีกทั้งควรเป็นธุรกิจที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก   และเป็นกิจการขนาดเล็ก  ซึ่งธุรกิจที่ออสเตรเลียได้
เปิดตลาดให้แก่คนสัญชาติไทยเข้าไปลงทุนและไทยมีความพร้อมที่จะแข่งขัน  ได้แก่  บริการภัตตาคาร  
    
        


ร้านอาหาร  ธุรกิจสปา  ธุรกิจบริการจัดการขายปลีกสินค้าอาหาร  บริการซ่อมแซมรถยนต์ ท่องเที่ยว สถาบันสอนภาษาไทย  บริการธุรกิจแต่งผม   บริการสอนทำอาหารไทย  บริการสอนนวดแผนไทย  เป็นต้น (ที่มา: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 10 มิถุนายน 2547)

    เมื่อพิจารณาจากภาคผนวกที่ 8 ของความตกลง  FTA  ไทย-ออสเตรเลีย สามารถกำหนดหลักเกณฑ์และประเภทธุรกิจที่เอื้อต่อคนสัญชาติไทยที่จะเข้าไปลงทุน ดังต่อไปนี้

1
. กลุ่มธุรกิจที่เข้าไปลงทุนได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
1.1   กลุ่มธุรกิจบริการวิชาชีพ  เช่น บริการด้านภาษี  บริการสถาปัตยกรรม  บริการวิศวกรรม  บริการออกแบบและตกแต่งภูมิทัศน์  บริการคอมพิวเตอร์  บริการค้นคว้าวิจัย บริการด้านอสังหาริมทรัพย์  บริการโฆษณา วิจัยตลาด บริการจัดการและให้คำปรึกษา  บริการที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และที่ปรึกษาเทคนิคบริการหอประชุม  บริการถ่ายภาพ  บริการถ่ายเอกสาร บริการแปลภาษาบริการออกแบบภายใน บริการซ่อมแซมยานพาหนะ  
1.2   กลุ่มธุรกิจบริการด้านโทรคมนาคม เช่น บริการด้านจดหมาทางอิเลคทรอนิค  
บริการวอยส์เมล  บริการให้ข้อมูลผ่านทางออนไลน์ บริการ EDI (Electronic Data Intercharge)
1.3   กลุ่มธุรกิจด้านการก่อสร้าง และที่เกี่ยวข้องกับบริการวิศวกรรม  ได้แก่ บริการที่
ปรึกษาด้านการก่อสร้าง บริการสร้างอาคาร
        1.4  กลุ่มธุรกิจบริการจัดจำหน่ายสินค้า  ได้แก่   บริการตัวแทนนายหน้า บริการค้าปลีก ค้าส่ง แฟรนไชส์
    1.5   กลุ่มธุรกิจบริการด้านสิ่งแวดล้อม   ได้แก่   บริการกำจัดน้ำเสีย  บริการให้ความคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ
    ทั้งนี้ เปิดโอกาสให้สัญชาติไทยเข้าไปลงทุนได้ 100% แต่หากลงทุนเกิน 10 ล้านเหรียญออสเตรเลีย จะต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาการลงทุนต่างประเทศของออสเตรเลีย

        2. ธุรกิจที่เข้าไปลงทุนได้ แต่มีข้อจำกัดบางประการ
2.1 ธุรกิจที่ต้องมีกรรมการอย่างน้อย2 คนเป็นคนสัญชาติออสเตรเลีย  เช่น ธุรกิจบริการ
ด้านสื่อสารมวลชน  หนังสือพิมพ์ ธนาคาร บริการเผยแพร่เสียงแพร่ภาพ  บริการสายการบินภายในประเทศ  บริการสายการบินระหว่างประเทศ 
        


2.2 ธุรกิจที่ต้องมีนักจิตวิทยาออสเตรเลีย ที่พำนักในออสเตรเลีย  เช่นบริการค้นคว้าวิจัย  
ทางด้านวิทยาศาสตร์ สังคม และมนุษยวิทยา
2.3 ธุรกิจที่ต้องเข้าไปก่อตั้งกิจการในออสเตรเลีย เช่นบริการให้เช่าทรัพย์สิน   บริการประกันภัย บริการธนาคาร



        3.  กลุ่มธุรกิจที่คนสัญชาติไทยมีศักยภาพในการเข้าไปจัดตั้งและประกอบธุรกิจในประเทศออสเตรเลีย


3.1      การประกอบธุรกิจในธุรกิจค้าปลีกสินค้าอาหารในออสเตรเลีย
จากการที่ประเทศไทยมีจุดเด่นในเรื่องของดินแดนแห่งการผลิตอาหารเลี้ยงประชากรโลก รวมทั้งมีการจัดทำสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)  ทำให้ไทยมีศักยภาพหรือมีสินค้าอาหารที่มีคุณภาพที่จะส่งไปขายในต่างประเทศ  เมื่อออสเตรเลียได้เปิดเสรีให้คนสัญชาติไทยสามารถเข้ามาลงทุนธุรกิจด้านนี้ ย่อมนับว่าเป็นการเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าให้แก่ประเทศไทยทางหนึ่งด้วยหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งธุรกิจภายใต้ความตกลง TAFTA  ทำให้ออสเตรเลียอนุญาตให้คนสัญชาติไทยเข้าไปลงทุนได้ 100%  ในธุรกิจการค้าสินค้าปลีก โดยเป็นกิจการขนาดเล็กที่มีเงินลงทุนไม่เกิน 10ล้านเหรียญออสเตรเลีย  ซึ่งจะสามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาการลงทุนของชาติ (Foreign  Investment Review Board-FIRB)


        การเข้าไปจัดตั้งหน่วยธุรกิจ  ต้องจัดตั้งอยู่ในรูปของบริษัทจำกัด มีการจดทะเบียนชื่อธุรกิจ  จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท  จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม  จดทะเบียนภาษีเงินได้  จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการค้าส่ง ค้าปลีกอาหารกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ  และปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยอาหารของออสเตรเลีย เช่น การปิดฉลากสินค้าอาหารซึ่งระบุชื่ออาหารวันที่ผลิต และที่อยู่ของผู้ผลิต  ชื่อและที่อยู่ของผู้นำเข้า  รายละเอียดส่วนประกอบของอาหาร เป็นต้น (ที่มา: สำนักงานเจรจาการค้าบริการ กรมเจรจาการค้าต่างประเทศ)





        


    3.2  การประกอบธุรกิจร้านอาหารไทยในออสเตรเลีย


    จากการที่อาหารไทยเป็นที่นิยมในตลาดออสเตรเลีย และมีการเติบโตสูงโดยติดอันดับ 1 ใน 3  ของอาหารต่างชาติที่ได้รับความนิยมมากที่สุด และปัจจุบันมีร้านอาหารไทยที่ตั้งอยู่ในออสเตรเลียประมาณ 800 แห่ง   อีกทั้งกระทรวงพาณิชย์ ยังสนับสนุนให้คนไทยไปลงทุน เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นครัวของโลก (Kitchen of the World)  และเป็นช่องทางการขายสินค้าอาหาร สินค้า OTOP ทำให้ธุรกิจด้านนี้ในคนสัญชาติไทยมีศักยภาพที่จะเข้าไปลงทุนในออสเตรเลีย
หลักเกณฑ์ในการจัดตั้งธุรกิจคนสัญชาติไทยสามารถเข้าไปลงทุนได้ 100%   ซึ่งการเปิดกิจการร้านอาหารในออสเตรเลีย แบ่งเป็น 2 ประเภท


1) Licensened Restaurant  เป็นร้านอาหารที่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์  ร้านประเภทนี้จะต้องยื่นขอใบอนุญาตตามกฎหมาย LIQUOR  LICENSING ACT   โดยผู้ยื่นขอจะต้องผ่านการทดสอบความรู้ในด้านนี้


2) B.Y.O (Bring Your Own)  ร้านอาหารประเภทนี้ ไม่ได้รับอนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่ลูกค้า  แต่ลูกค้าสามารถนำเอาเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เข้ามาดื่มในร้านได้  (ที่มา:  www.restaurantcater.asn.au)


3.3 การประกอบธุรกิจด้านการแต่งผมในออสเตรเลีย


ร้านแต่งผมในออสเตรเลียเป็นกิจการขนาดเล็ก  ใช้เงินลงทุนประมาณ 40,000 –150,000  เหรียญออสเตรเลีย  โดยมีการให้บริการทั้งในลักษณะที่จัดตั้งเป็นร้าน และให้ช่างแต่งผมเดินทางไปให้
บริการตามสถานที่ที่ลูกค้าต้องการ เป็นบริการที่ในออสเตรเลียมีความขาดแคลน  แต่เป็นธุรกิจที่คนสัญชาติไทยมีความถนัด  จึงเป็นธุรกิจที่คนสัญชาติไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน

 


        หลักเกณฑ์ในการจัดตั้งธุรกิจ


    คนสัญชาติไทยสามารถเข้าไปลงทุนได้ 100%  ซึ่งหากจะจัดตั้งเป็นหน่วยธุรกิจต้องตั้งอยู่ในรูปบริษัท  มีการจดทะเบียนชื่อธุรกิจ  และจดทะเบียนเกี่ยวกับภาษีต่างๆ  
    การประกอบธุรกิจด้านนี้  ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของแต่ละรัฐ  เช่น การตรวจสอบและจดทะเบียนการประกอบธุรกิจแต่งผม เป็นต้น (ที่มา:  สำนักเจรจาการค้าบริการ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ)

        


II. กฎหมายของไทยที่สนับสนุนหรือเอื้อประโยชน์ให้คนสัญชาติไทยเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ  

  
1. รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540  มาตรา 50  กำหนดว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมการจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง  จะกระทำมิได้  เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติ
แห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือเศรษฐกิจของประเทศ”


        จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้รับรองสิทธิเสรีภาพของคนสัญชาติไทยในการประกอบธุรกิจไว้อย่างชัดเจน  ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าสิทธิดังกล่าวรวมถึงสิทธิในการประกอบธุรกิจในต่างประเทศด้วย
        2.  พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520  มาตรา 16   กำหนดว่า “กิจการที่คณะกรรมการจะพึงให้มีการส่งเสริมการลงทุนได้  ต้องเป็นกิจการที่สำคัญและเป็นประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ  กิจการเพื่อการส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ…”
        “ให้คณะกรรมการประกาศกำหนดประเภทและขนาดของกิจการที่จะให้การส่งเสริมการลงทุน  โดยจะกำหนดเงื่อนไขในการให้การส่งเสริมไว้ด้วยก็ได้  และจะแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกเงื่อนไขดังกล่าวในเวลาใด ๆ ก็ได้”

        อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากนโยบายและหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)  ซึ่งกำหนด “ให้มีการปรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้สอดคล้องกับข้อตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ”   (ที่มี:  ประกาศนโยบายของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน www.boi.go.th/thai/about/investment_policies_criteria.asp)  นอกจากนี้ BOI  ยังได้ออกประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ ส.5/2547 เรื่องการส่งเสริมกิจการค้าระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนการเข้าไปลงทุนต่างประเทศด้วย ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า  นอกจาก BOI  จะส่งเสริมให้คนต่างชาติหรือคนไทยลงทุนภายในประเทศแล้ว    BOI  ยังส่งเสริมให้คนไทยไปลงทุนต่างประเทศด้วย  ซึ่งกิจกรรมที่ BOI  จัดทำขึ้น ได้แก่


1) BOI  มีแผนนำนักธุรกิจไทยไปลงทุนต่างประเทศ  เช่น จีน อินเดีย เยอรมันนี  ญี่ปุ่น
เวียดนาม พม่า  กัมพูชา  และ ลาว (ที่มา:  ข่าวสำหรับสื่อมวลชน ฉบับที่ 34/2548 (อ.9)  วันที่ 18 มีนาคม 2548)


    
        


2)  BOI  เดินหน้าชักจูงคณะลงทุนกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมอุดหนุนคนไทยลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย  (ที่มา:-ข่าวสำหรับสื่อมวลชน ฉบับที่ 35/2548 (อ.10) วันที่ 21 มีนาคม 2548)        3)   BOI  จัดสัมมนาหนุนคนไทยลงทุนนอกบ้าน ชูอุตสาหกรรมท่องที่ยว-เกษตรแปรรูป (ที่มา:  ข่าวสำหรับสื่อมวลชน ฉบับที่ 96/2548 (อ.36)   วันที่ 20 กรกฎาคม 2548)   

    
3.  กรมส่งเสริมการส่งออก  กระทรวงพาณิชย์


     มีหน้าที่หลักในการส่งเสริมผู้ประกอบการผิตและผู้ส่งออกให้สามารถใช้ศักยภาพ การผลิตและการตลาดได้อย่างเต็มที่  เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก  ซึ่งรวมทั้งส่งเสริมให้มีการพัฒนา และให้บริการด้านการค้าและการเพิ่มศักยภาพในการส่งออก   ซึ่งรวมทั้งการขยายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ (ที่มา:  บทบาทและหน้าที่ของกรมส่งเสริมการส่งออก www.depthai.go.th/48)  


4. พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย  พ.ศ.2536     แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542


มาตรา 7 กำหนดว่า “ธนาคารมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการส่งออก  การ
นำเข้า และการลงทุน เพื่อการพัฒนาประเทศ โดยการให้สินเชื่อ  ค้ำประกัน…..”
มาตรา 8 (8)   “เข้าร่วมลงทุนในกิจการต่างประเทศ ที่จะมีข้อสนับสนุนการนำเข้าจาก
ประเทศไทยหรือส่งเสริมธุรกิจไทย      และร่วมลงทุนในกิจการในประเทศเพื่อสนับสนุนการส่งออกหรือการพัฒนาประเทศ”


        ปัจจุบันทางธนาคารได้มีบริการสนับสนุนธุรกิจต่าง ๆ ของคนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ  ได้แก่


1) การสนับสนุนธุรกิจการก่อสร้างในต่างประเทศ (ที่มา:
www.exim.go.th/services/invest_construction_in_other.asp)  ซึ่งรวมถึง ธุรกิจรับจ้าง ปรับปรุง และตกแต่งอาคาร ซ่อมแซมและปรับปรุงเครื่องจักร  รับจ้างเป็นที่ปรึกษาทางเทคนิค เป็นต้น  โดยให้บริการปล่อยเงินกู้แก่ผู้ลงทุน, การออกแบบหนังสือ ค้ำประกันต่าง ๆ  ตั้งแต่เริ่มประมูลงาน จนถึงงานเสร็จ


2) บริการสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศ  (ที่มี: www.exim.go.th/services/
invest_in_others.asp)  โดยเป็นการให้สินเชื่อระยะยาวในการสนับสนุนโดยการลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนไทย

        


3) บริการสนับสนุนร้านอาหารไทยในต่างประเทศ (ที่มา:
www.exim.go.th/services/thai_restaurants.asp)

III. ปัญหาข้อกฎหมายและข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาสำหรับในการเข้าไปลงทุนประกอบธุรกิจ


        อุปสรรคของการค้าขายสินค้าระหว่างประเทศนั้น จะมาจากเรื่องของภาษีศุลกากร และอุปสรรคของการขนส่งสินค้าข้ามแดน  แต่สำหรับการค้าบริการนั้น มีมากกว่านั้น  เพราะรวมถึงมาตรการที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการท้องถิ่น  รัฐเจ้าของประเทศที่รับการลงทุน  จึงมักจะสร้างอุปสรรคในรูปกฎระเบียบที่รัดกุมเพื่อที่จะเป็นการลดทอนกำลังนักลงทุนต่างชาติ  
        สำหรับความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลียนี้  แม้จะมีการเปิดโอกาสให้คนสัญชาติไทยเข้าไปลงทุนได้มากกว่าประเทศอื่น ๆ  แต่ในด้านกฎระเบียบที่รัดกุมนั้น  ยังคงมีอยู่    อย่างไรก็ตาม กฎหมายหรือกฎระเบียบที่ออกมาใช้บังคับนั้น  เป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับทั่วไป  ทั้งนี้เพื่อสร้างมาตรฐานและเป็นหลักประกันให้กับประชาชนในประเทศ


        ข้อเสนอแนะในเรื่องนี้  คือการยกระดับมาตรฐานของการให้การบริการให้เทียบเท่ากับหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่กำหนด  เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน
        ปัญหาอีกประการหนึ่งของคนสัญชาติไทยในการเข้าไปประกอบธุรกิจคือการขาดความเข้าใจในกฎเกณฑ์หรือกฎหมายของประเทศออสเตรเลีย  ทั้งนี้ เพราะกฎหมายของประเทศนี้เป็นประเทศที่ใช้กฎหมายในระบบ Common Law ที่แตกต่างจากของประเทศไทยที่เป็นแบบ Civil  Law  ทำให้การศึกษาและเข้าใจในเรื่องหลักเกณฑ์ หรือกฎเกณฑ์บางประการเป็นไปได้ยาก

        ข้อเสนอแนะในเรื่องนี้  คือการ หาที่ปรึกษากฎหมายในออสเตรเลียเพื่อให้ช่วยแนะนำและวางแผนเพื่อให้การลงทุนประกอบธุรกิจในด้านต่าง ๆ เป็นไปด้วยความราบรื่น






                

            บรรณานุกรม

1. ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย
2. www.dtn.moc.go.th
3. หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 10  มิถุนายน 2547
4. การประกอบธุรกิจในธุรกิจค้าปลีกสินค้าอาหารไทยในออสเตรเลีย, สำนักงานเจรจาการค้าบริการ กรมเจรจาการค้าต่างประเทศ    
5. การประกอบธุรกิจร้านอาหารในออสเตรเลีย, สำนักงานเจรจาการค้าบริการ กรมเจรจาการค้าต่างประเทศ
6. www.restaurantcater.asn.au
7. การประกอบธุรกิจด้านการแต่งผมในออสเตรเลีย, สำนักงานเจรจาการค้าบริการ กรมเจรจาการค้าต่างประเทศ
8. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540
9. พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520
10. www.boi.th/thai/about/invesment_policies.criteria.asp
11. สำนักงานส่งเสริมการลงทุน  ข่าวสื่อมวลชน ฉบับที่34/2548 (อ.9)  วันที่ 18 มีนาคม 2548
12. สำนักงานส่งเสริมการลงทุน ข่าวสื่อมวลชน ฉบับวันที่35/2548 (อ.10) วันที่ 21 มีนาคม 2548
13. สำนักงานส่งเสริมการลงทุน ข่าวสื่อมวลชน ฉบับที่ 96/2548 (อ.36) ลงวันที่ 20 กรกฎาคม
2548
14. บทบาทหน้าที่ของกรมส่งเสริมการส่งออก www.depthai.go.th/48
15. พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2536  แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542










หมายเลขบันทึก: 48423เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2006 15:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 11:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
เป็นข้อมูลที่ดีมากเลยค่ะพี่อ๋องกำลังต้องการศึกษาเรื่องนี้อยู่พอดี

ขอยืมบันทึกเอาไว้อ้างอิงหน่อยนะคะ ^__^

ผมสนใจเรื่องการลงทุนนี้มากครับ จะเริ่มกระบวนการการเข้าไปทำธุรกิจร้านอาหารที่นั่นได้อย่างไร และถ้าไม่มีทุน่จะเป็นการเขียนเพื่อเสนอให้ธนาคารปล่อยกู้ได้ไหมครับรบกวนตอบด้วย ขอบพระคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท