อำนาจเผด็จการรัฐสภา ฤาประชาธิปไตยบนดวงดาว


ประชาธิปไตย เป็นของประชาชน จริง?หรือ....

ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องยอมรับกันว่าบ้านเมืองเราไม่เคยมี “ระบอบประชาธิปไตยในความหมายที่เป็นจริง” เลย อย่างน้อยก็ในความหมายที่เรารับรูปแบบมาจากตะวันตก โดยมิพักต้องพูดไปถึงว่าประชาธิปไตยตะวันตกที่คู่มากับระบบทุนนิยมเสรีนั้นเนื้อแท้แล้วเป็นประชาธิปไตยในระดับไหน

เรามีแต่การเลือกตั้ง เรามีแต่โครงสร้างองค์กรรัฐชื่อเหมือน ๆ กับประเทศประชาธิปไตยตะวันตกที่เรารับเข้ามา

เป็นมานานแล้วครับ ไม่ใช่เฉพาะวันนี้

ในทางวิชาการ รัฐธรรมนูญทุกฉบับต่างหากที่สร้าง “ระบอบเผด็จการรัฐสภา” ขึ้นมา

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ด้วยความเห็นชอบขององค์กรประชาธิปไตยทั้งหลายด้วยนั่นแหละ ที่กระชับระบอบเผด็จการรัฐสภา และมอบอาวุธให้ผู้มาเป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้โครงสร้างการเมืองใหม่ ในนามของ Strong Prime Minister ผมเคยเขียนมาหลายครั้งแล้ว

ระบอบการเมืองปัจจุบันถ้าจะเรียกว่าประชาธิปไตย ก็เป็นได้อย่างมากแค่....

“ประชาธิปไตยอุปถัมภ์”

หรือจะประยุกต์ใหม่ให้เข้ากับยุคสมัยว่า...

“ประชาธิปไตยเอื้ออาทร”

โดยพื้นฐานแล้วผมเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย หากจะนับจากปี 2475 อันเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา เรายังไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานทางการเมืองอะไรมากมายนัก

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดของโครงสร้างการเมืองไทย น่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงรัฐไทยที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี 2435 หรือเมื่อ 112 ปีมาแล้ว

นั่นคือ การปฏิรูประบบราชการ

โดยก่อตั้งกลไกการปกครองสมัยใหม่ และรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง

ซึ่งในทางรัฐศาสตร์คือการก่อตั้ง “รัฐชาติสมัยใหม่” ขึ้นมา


ในสมัยนั้น มีการจัดตั้งกระทรวง ทบวง กรม อีกทั้งยังได้สลายอำนาจของขุนนาง และสร้างรูปแบบของรัฐชาติสมัยใหม่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย พร้อม ๆ ไปกับการปฏิรูปสังคมในทุก ๆ ด้าน ถือว่าเป็นการปฏิวัติหรือปฏิรูปอย่างแท้จริงของการเมืองไทย

นักรัฐศาสตร์และนักประวัติศาสตร์จำนวนไม่น้อยได้สรุปถึงสาเหตุแห่งการปฏิรูปการปกครองครั้งนี้ว่า มีมูลเหตุสำคัญจากการป้องกันภัยคุกคามของลัทธิล่าอาณานิคม โดยมหาอำนาจตะวันตก

การปรับตัวของโครงสร้างการเมืองดังกล่าว ก็เป็นการลอกเลียนแบบจากการปกครองอาณานิคมของประเทศตะวันตก ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ตอบสนองอย่างดีกับระบอบการเมืองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันเป็นการปกครองแบบบังคับบัญชา ควบคุมจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงลงสู่ระดับล่าง และเป็นการปกครองแบบใช้กลไกและเครื่องมือรัฐมาควบคุมประชาชนให้ทำตาม

การปกครองเช่นนี้ในช่วงแรก ๆ ยังไม่เป็นปัญหาอะไรมากมายนัก กลับสร้างความเจริญด้วยซ้ำ เพราะผู้ปกครองยังยึดถือการปกครองโดยมีทศพิศราชธรรม

แต่เมื่อสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ตามมาส่วนใหญ่เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางการเมืองการปกครอง

โดยนำโครงสร้างรูปแบบทางการเมืองใหม่มาสวมครอบทับลงไปบนโครงสร้างพื้นฐานระบอบเดิม อันได้แก่โครงสร้างอำนาจนิยม และระบบอุปถัมภ์

กลายเป็นรัฐราชการรวมศูนย์


การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 เป็นการเปลี่ยนอำนาจการปกครองจากพระมหากษัตริย์มาสู่กลุ่มขุนนาง และต่อมาก็เป็นการเปลี่ยนถ่ายจากขุนนางพลเรือนไปสู่ขุนนางทหารในการปฏิวัติครั้งต่าง ๆ

เรื่อยมาจนถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นักการเมืองพลเรือนจึงเริ่มมีบทบาทมากขึ้น แต่ใจความหลักก็ยังเป็นการเปลี่ยนหน้า เปลี่ยนชุด ของชนชั้นปกครอง ที่ขึ้นมาสวมทับบนโครงสร้างเดิมของสังคมไทยที่มีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5

สังคมไทยมักจะแก้ไขโครงสร้างส่วนบน แต่โครงสร้างส่วนล่างหรือรากฐานของสังคมไทยกลับเปลี่ยนแปลงน้อยมาก

ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 เมื่อปี 2504 ซึ่งเป็นแผนพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมส่งออก ได้ส่งผลกระทบให้เกิดการดึงทรัพยากรจากชนบทเข้ามาสู่เมือง เป็นการขยายระบบอุถัมภ์ในเชิงวัฒนธรรมเข้าสู่โครงสร้างเศรษฐกิจ

คนในเมืองคือผู้ที่ได้อรรถประโยชน์ในทรัพยากร ซึ่งต่อจากนั้น ทรัพยากรก็ถูกดูดไปต่างประเทศ ส่วนคนในภาคชนบทกลับเป็นเหยื่อที่ถูกทำร้าย ถูกเอาเปรียบตลอด ทั้งยังถูกมองว่ามีความล้าหลังทางแนวคิดประชาธิปไตย เพราะมีการซื้อสิทธิขายเสียงกันมาก

ในระยะหลัง ๆ เวลาเราพูดถึงการแก้ไขปัญหาการเมือง การขจัดการซื้อเสียง ขจัดการขายเสียง หรือพยายามทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรมนั้น เราก็รับรู้กันว่า จะต้องเลือกคนดีมีความสามารถ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ทั้งหมด

ในมุมมองหนึ่ง การขายเสียงไม่ใช่เพราะว่าคนชนบทโง่ หรือคิดสั้น

แต่มันเป็นโอกาสอันเดียวที่คนชนบทจะได้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมจากกลไกการเมืองการปกครอง


เพราะที่ผ่านมาพวกเขาถูกซ้ำเติมจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ถูกดึงทรัพยากรทุกอย่างจากภาคเกษตรเข้ามาสู่เมือง ทำให้พวกเขาไม่มีสิทธิ์ที่จะกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง

หนทางรอดเดียวคือการสมยอมอยู่ภายใต้ระบบเครือข่ายอุปถัมภ์ที่ฝั่งรากลึกมานานในสังคมไทย

ทำให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เรานำเข้ามาจากตะวันตกไม่ประสบความสำเร็จ แม้จะมีการปฏิรูปทางการเมืองไปแล้วก็ตาม

เพราะวัฒนธรรมในระบบอุปถัมภ์ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับวัฒนธรรมในระบอบประชาธิปไตย

อย่าลืมว่าการก่อกำเนิดของระบอบประชาธิปไตยในโลกตะวันตกนั้น มาจากรากฐานของการของการดิ้นรนให้หลุดพ้นจากอำนาจการปกครองของกษัตริย์ พระ และขุนนาง แล้วสร้างกฎเกณฑ์ใหม่เป็น “ตัวหนังสือ” ขึ้นมาเพื่อเป็นที่พึ่ง เป็นที่ยึดเหนี่ยว

การเคารพกฎหมายเคารพรัฐธรรมนูญของคนตะวันตกจึงเป็นไปด้วยจิตสำนึกเป็นหลัก ไม่ใช่เพราะเกรงกลัวถูกลงโทษ

แต่ของบ้านเราเป็นการนำเอากรอบความคิด กรอบโครงสร้าง ที่เขาพัฒนามาแล้ว มาครอบทับกับสังคมที่มันมีพื้นฐานแตกต่าง การเคารพกฎหมายเคารพรัฐธรรมนูญโดยจิตสำนึกนอกจากจะไม่เกิดแล้ว ยังมีแต่การพยายามหลีกเลี่ยงหาช่องว่างช่องโหว่ในทุกทาง


ในตะวันตกเขามีการเมืองท้องถิ่นก่อน มีรัฐบาลท้องถิ่นที่เข้มแข็ง ในขณะที่บ้านเรายังไม่มีการเมืองท้องถิ่นและรัฐบาลท้องถิ่นเลย

วัฒนธรรมของสังคมไทยจึงยังเป็นแบบวัฒนธรรมตะวันออก วัฒนธรรมระบบศักดินา ผู้น้อยพึ่งผู้ใหญ่

เป็นวัฒนธรรมที่เห็นพวกพ้องสำคัญกว่าเรื่องของความถูกต้อง เป็นวัฒนธรรมที่เห็นความสำคัญของพรรคพวกมากกว่าอุดมการณ์ของพรรค

เป็นวัฒนธรรมที่คนในระดับรากหญ้าหรือแม้กระทั่งคนชั้นกลางส่วนใหญ่เรียกร้องความเด็ดขาด ความรวดเร็ว โดยไม่คำนึงกระบวนการทางนิติรัฐเท่าที่ควร พูดง่าย ๆ ว่าต้องการ “ผล” มากกว่า “วิธีการ” นั่นเอง เสียงเรียกร้องผุ้นำแบบจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แบบจอมพลป. พิบูลสงคราม แบบพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มีมาโดยตลอด

หมายเลขบันทึก: 174718เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2008 10:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 10:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ

เห็นด้วยค่ะ แต่ก็ต้องอดทนและต้องต่อสู้ต่อไป เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยที่แท้จริง

เราต้องไม่ยอมจำนนนะคะ

ขออนุญาตนำไปรวมครับ   ขอบคุณมากครับ

                                                                                            รวมตะกอน

เห็นด้วยกับท่านอย่างยิ่ง ท่านวิเคราะห์ได้ชัดเจน เป็นเหตุเป็นผล ควรแก่การนำไปเผยแพร่ เพื่อความเข้าใจที่ถูกตรงของคนในบ้านในเมืองของเรา และก้าวเดินต่อไปอย่างรู้เท่าทันเสียที

หนทางรอดเดียวคือการสมยอมอยู่ภายใต้ระบบเครือข่ายอุปถัมภ์ที่ฝั่งรากลึกมานานในสังคมไทย ผมค่อนข้างไม่เห็นด้วยนคับกับประโยคนี้ เพราะถ้าท่านกล่าวแบบนี้แสดงว่าสิ่งที่สังคมชั้นชนบทได้ประประโยชน์จากการมีประชาธิปไตยคือ การได้เงินขายเสียงจากนักการเมืองอย่างนั้นหรือ แสดงว่าใครที่เอาเงินมาให้กับคนเหล่านี้คนเหล่านี้ต้องเลือกอย่างนั้นหรือ ถ้าอย่างนั้นก่อนการเลือกตั้ง

มีหัวคะแนนผู้สมัคร สส เอาเงินมาให้ผมผมก็รับเงินมาแล้วผมไม่ได้เลือกเพราะเค้ามาซื้อเสียง ผมกับเลือกอีกคนที่ไม่ได้มาซื้อเสียงและผมคิดว่าเค้าเป็นคนดีมีความสามารถ อย่างนี้ยังจะถือว่าผมขายเสียงหรือไม่ การที่ท่านผู้เขียนบอกว่าการได้เงินจากการซื้อเสียงของนักการเมืองเป็นประโยชน์เพียงอย่างเดียวของคนชั้นชนบทในระบอบประชาะปไตยที่มีการเลือกตั้งนั้น ผมคิดว่าเป็นการดูถูกความคิดของชนชั้นชนบทมากเกินไปนะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท