บทเรียนจากตลาดพระเครื่อง: ราคะ ราคา ความฝัน และความจริงในตลาดพระเครื่อง


มีการสร้างระดับราคา ตามระดับราคะ หรือความอยากได้ของนักสะสม ที่ปั่นกลับไปกลับมา จนเป็นหลักแสนหลักล้านอยู่ในปัจจุบัน

ในรอบปีกว่าๆที่ผ่านมา ผมได้เข้ามาศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับวิวัฒนาการทางสังคม ความเชื่อ ศิลปะ และเทคโนโลยี ผ่านการรับเข้ามาพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิ จากการเก็บข้อมูลด้านพระกรุ และโบราณสถานต่างๆของประเทศไทย

ในขณะเดียวกันผมก็จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับระบบตลาดพระเครื่องแบบหลีกเลี่ยงได้ยาก

จึงทำให้ต้องทำความเข้าใจระบบตลาดบ้าง เพื่อจะได้สามารถจัดระบบความรู้ได้สะดวก ชัดเจน และใกล้เคียงความจริงมากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบที่มี “พระโรงงาน” เข้ามาปะปนอย่างมากมาย จนอาจบดบังความจริงของ ความแท้และศิลปะ “พระกรุ” ที่อาจทำให้กระบวนการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ สังคม และศาสนา ที่ผมกำลังดำเนินการอยู่ หลงทางหรือผิดพลาดได้

เพราะ “พระโรงงาน” มีระดับฝีมือที่สูงส่ง เหมือนกับของแท้ในระดับ “เชือดคอ”

ที่ทำได้ทุกอย่างที่รู้ ดังที่ผมเคยกล่าวไว้แล้วว่า “ทำตำหนิทุกอย่างจนครบตามตำราหมดแล้ว”

ที่ยังไม่ได้ทำก็คือส่วนที่ไม่รู้และไม่มีในตำรา

ดังนั้น “เซียนพระ” ส่วนใหญ่จะมีความรู้ของตำหนิ “จุดตาย” หรือ “จุดจ่ายเงิน” เป็นของตนเอง ไม่บอกใคร ถ้าไม่คุ้นเคย ไว้ใจได้ หรือรักกันจริง

และเซียนเหล่านี้จะสามารถแยกแยะพระเครื่องว่าแท้ไม่แท้ได้จากการมองในระยะไม่เกิน ๑ เมตรได้เลย หรือถ้าจำเป็นก็จับดู

ถ้าจะต้องส่องดูก็เพียงเป็นการแยกระดับความงามและความสมบูรณ์ของเนื้อหาในองค์พระเท่านั้น

จากความหลากหลายของระดับ “ความสวย” ของทั้งพระกรุ และพระโรงงาน จากระดับฝีมือ ความสมบูรณ์และความงามขององค์พระ ตามเกณฑ์ที่ตกลงกันในวงการพระเครื่อง ทำให้มีระดับราคา ที่แตกต่างกันมาก ไล่ตั้งแต่หลักสิบบาท ไปจนถึงหลักล้านบาท

ที่พัฒนามาเป็นความฝันของ “นักเลงพระ” หรือ “ผู้ค้าพระเครื่อง” ที่หวังว่าจะมี “พระหลง” ในตลาดล่าง เพื่อนำไปทำราคาในตลาดบน

ในขณะเดียวกัน ก็เป็นความหวังของ “นักสะสมพระเครื่องที่ต้องการลงทุนต่ำ” โดยการเข้ามาหา “เก็บ” พระหลงดังกล่าว

โดยหวังว่าจะมี

  • พระที่เพิ่งพบใหม่
  • พระที่เก็บอยู่กับชาวบ้านที่ไม่รู้จักพระ และไม่รู้มูลค่าของพระ ที่นำมา “ปล่อย” ในราคาที่ “แผงพระ” กำหนดขึ้น
  • พระที่เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ ที่ลูกหลาน(ไม่ได้ศึกษาเรื่องพระ)นำมาปล่อย
  • พระที่มีคนเก็บได้ ขุดได้ หรือ ขโมยมาจากบ้าน จากวัด ที่ไม่มีต้นทุนเป็นตัวเงิน ปล่อยเท่าไหร่ก็ได้เท่านั้น

ที่กลายเป็น “ภาพฝัน” ของทั้ง นักสะสมที่ต้องการลงทุนต่ำ ผู้ค้าหรือแผงพระ และนักเลงพระเครื่อง โดยทั่วไป

 

กระแสความคิดและความรู้แบบนี้เองที่ทำให้ระบบตลาดพระเครื่องมีชีวิตชีวา

  • มีนักสะสมเข้ามาสานฝันของตนเอง โดยการพัฒนาความรู้ และ ฝึกสายตา เพื่อหา “พระหลง” หรือ เพื่อหลีกเลี่ยง “พระโรงงาน” มากที่สุด เท่าที่ปัญญาจะพอมี
  • มีนักเดินสายแลกพระเครื่องตามบ้าน เพื่อหา “พระหลง” มาป้อนระบบตลาดตามระดับความรู้และความสามารถของตนเอง
  • มีนักเลงพระที่คอย “เก็บ” พระหลง ไปป้อนให้กับตลาดบนที่ทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ
  • มีช่างฝีมือผลิตพระ "โรงงาน" ฝีมือสูง เทคโนโลยีสูง (พร้อมใบรับประกันพระที่ทำขึ้นเอง) เพื่อส่งเข้าทั้งตลาดใหญ่ "ท่าพระจันทร์" และตลาดย่อยระดับพื้นที่ ตามกระแสความนิยมของตลาด
  • มีแผงพระที่รับเช่า และให้เช่าทั้งพระโรงงานและพระหลง ตามระดับ “ความงาม” ของพระแต่ละองค์
  • มีสมาคมและคณะกรรมการตัดสินพระเพื่อรับรองความแท้ของพระ ที่ส่วนใหญ่ก็เป็นพระที่ตนให้เช่าไป หรือพระที่ตนจะเช่าได้แบบมี “ใบรับประกัน”
  • มีร้านค้าระดับกลางและระดับบนที่รับเช่าพระในราคากลางๆ เพื่อนำไป “ปล่อย” ให้ผู้มีเงิน แต่ไม่มีเวลา หรือ ไม่มีความรู้ (โดยมีใบรับประกัน)ในราคาสูง เป็นหลักแสน หรือหลักล้าน ที่กลายมาเป็นราคาคุยของพระเครื่องรุ่นนั้น พิมพ์นั้นๆ ในตลาดทั่วไป ที่ทำให้ตลาดพระ มีชีวิตชีวามากขึ้น
  • มีการโฆษณาทั้งเป็นหนังสือ วารสาร อินเตอร์เน็ต เพื่อชักจูงให้คนสนใจพระเครื่อง รับรู้ ทั้ง ราคะ และ ราคา ที่ปลุกกระแส และกำหนดขึ้น และชักจูงให้นักสะสมทั่วไปมาเป็นลูกค้าของตนเอง
  • มีการเปิดตลาดพระเครื่อง ทั้งแบบถาวร ตลาดนัด ตลาดจร และเดินสาย ทั้งในระดับท้องถิ่น จังหวัด ประเทศ หรือแม้กระทั่งเชื่อมโยงถึงต่างประเทศ

จึงทำให้มีการสร้างระดับราคา ตามระดับราคะ หรือความอยากได้ของนักสะสม ที่ปั่นกลับไปกลับมา จากไม่มีราคา จนเป็นหลักร้อย หลักพัน หลักหมื่น หลักแสน หรือหลักล้านอยู่ในปัจจุบัน

 

ที่นับได้ว่าเป็นระบบความเชื่อ ความฝัน ที่ทำให้เกิดความอยากได้ (ราคะ) และ ราคา กันโดยทั่วไป

 

ดังนั้นถ้าจะศึกษาเพื่อการเรียนรู้ ก็อาจจำเป็นต้องรู้ระบบที่มา การผลิต การจัดการ ระบบตลาด จึงจะสามารถหลบเลี่ยง ไม่ไปติดกับอยู่กับมายาของระบบตลาดพระเครื่อง

 

แต่มาเน้นกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความรู้และความเข้าใจของตนเอง

 

เพื่อการพัฒนาการจัดการความรู้ที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อตนเอง และสังคมต่อไป

 

นี่เป็นอีกข้อสรุป และผมได้รับจากการเรียนรู้ในตลาดพระเครื่องในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมาครับ

 

หมายเลขบันทึก: 329406เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2010 09:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 13:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

เรียนถามท่านอาจารย์เพื่อเป็นความรู้ขอรับว่า

  • มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่กลุ่มทุนจะกำหนด "มาตรฐานตำหนิขึ้นใหม่" ให้สอดคล้องหรือตรงกับโรงงานของตน เช่น ทำเป็นหนังสือ จัดงานประกวด เป็นต้นขอรับ

 

คงไม่ถึงขนาดนั้นมั้งครับ

แต่ที่ทราบมาก็คือ เขาจะกำหนดว่าเฉพาะตำหนิของพระที่เขาเก็บไว้หรือมีมากๆ เท่านั้น เป็น "พิมพนิยม" และมีราคาสูง

ถ้าเป็นของคนอื่นเก็บนั้น จะ "ไม่เป็นสากล" ไม่เป็นที่นิยม และไม่ชอบ ราคาต่ำ เพราะตัวเอง "ไม่มีขาย"

ประมาณนี้ครับ

ว่างๆหาเวลาไปเที่ยววัดไตรมิตร ให้ได้นะครับ รับรองไปแล้วจะร้องอี๋ๆๆ

สมัยเด็กๆผมเรียนอยู่แถวนั้น เห็นแล้วดูไม่เป็น ก็ธรรมดา

เดี่๋ยวนี้ตระเวณดูพระครับ

เริ่มจากพระพุทธชินราชที่สวยที่สุดในประเทศไทย

วันก่อนอาจารย์แฮนดี้ก็พาไปวัดเบญจมบพิตร ชมพระพุทธชินราชจำลอง ครับ

วันหลังจะต้องหาทางไปดูวัดไตรมิตรแน่นอนครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับอาจารย์แสวง

          ผมอ่านโดยละเอียด และสรุปได้ว่า สิ่งที่อาจารย์พูดถึงเป็นเรื่องจริง และผมยังค้นพบว่า  ผมได้เห็นคนที่เป็นกูรูด้านพระเครื่องอย่างแท้จริงแล้ว  ขอบพระคุณครับ

สวัสดี ครับ อาจารย์

ผมเข้ามาอ่านบทเรียนบันทึกนี้ นะครับ เข้าใจคำหลาย ๆ คำที่อาจารย์กล่าวถึง นะครับ

"พระหลง" เป็นอีกคำหนึ่งที่เพิ่งเข้าใจ ครับ

อาจารย์ ครับ วันนี้ผมขออนุญาตนำ ชีวิตต้นแบบของผม มาไว้ที่ในบันทึกนี้ นะครับ

http://gotoknow.org/blog/sangsri/329442

กราบขอบพระคุณ อาจารย์มาก ครับ

 

พระโรงงาน หรือ พระCNC ทำง่ายกว่าปิ้งกล้วย แค่มี CNC Router สามแกนตัวเล็กๆ table สัก 300x300 มม กับโปรแกรม CAD/CAM หาซื้อตามแหล่งโปรแกรมเถื่อนทั่วไป 3D scan อีกตัว จะเอาพระอะไรก็ว่ามาเลย 20 นาทีเสร็จ

คุณค่าที่แทบไม่มีเหลือกับพระเครื่องที่ออกมาใหม่ ปลุกทุกวันเสกทุกวัน อาจารย์หน้าเดิมๆ เดินสายไปทั่ว โฆษณาขายกันจนเกินงาม ธุรกิจครบวงจรทั้งวัด ทั้งพระ ทั้งเซียน ทั้งสื่อ รวมมือกันทั้งหมด แล้วจะหาคุณค่าในทางสร้างสรรค์กันอย่างๆไร

ต่างจากสมัยโบราณที่อาจารย์ทำกับมือเสกด้วยใจ ให้ศิษย์พกพาเพื่อเป็นอนุสติ...อีกหน่อยคนห้อยพระที่คอ อาจจะโดนตราหน้าว่าเป็นพวกโง่เขลาเบาปัญญาก็ได้ ใครจะรู้.....คิดแล้วเศร้าใจ

ครับ

วงการพระเครื่องนี้น่ากลัวมากครับ

มีการวางหมากกลหลอกล่อให้เหยื่อเข้าไปติดกับ ด้วยระบบความเชื่อ ราคะ และราคา อย่างรุนแรง

ที่เป็นฐานเศรษฐกิจของนักค้าพระเครื่อง

โดยการกำหนดมาตรฐานและราคาเพื่อการคุมระบบการตลาด และรายได้ให้อยู่ในมือของเขา

เพราะไม่มีราคามาตรฐานแต่อย่างใด

ทุกอย่างอยู่ที่การปั่นกระแสความนิยม และอำนาจต่อรองของทั้งผู้เช่า และผู้ให้เช่า

นี่แหละมายาของระบบธุรกิจนี้

การศึกษาคือดอกไม้ของชีวิต  อยากจะให้หลายๆคนได้แสดงความคิดว่าถ้าการศึกษาของแต่ละคนเป็นไปตามความต้องการของตนเองและสังคม  แน่นอนความสุขจะเป็นความสวยงามที่ยากจะอธิบายได้  การตื่นตัวในการหาความรู้ไม่หยุดหย่อนจะทำให้สมองสมองตื่นตัวตลอดเวลา   ไม่เหี่ยวเฉา ไม่แก่เกินวัย  เพราะสมองจะพัฒนาไปยังความรู้ใหม่ๆ จนมีความสุขไปกับสิ่งที่ได้รู้ใหม่  ไม่ทับถมตนเองว่าเป็นคนไม่รู้อะไรเลย  แต่จะต้องคิดว่าวันนี้เราได้ความรู้ใหม่ๆอะไรบ้างกี่เรื่องกี่ประเด็น จะนำไปใช้ประโยชน์ในชีวตของเราได้หรือไม่อย่างไร  จะทำให้สมองของเราเกิดประสบการณ์ บันทึกเรื่องที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นและนำไปใช้ได้ในทันทีในอนาคต  เราจะกลายเป็นคนที่มีความพร้อมที่จะต่อสู้กับปัญหาได้ไม่ยากนัก   เพราะสมองเบ่งบานเหมือนดอกไม้ไม่มีวันเหี่ยวเฉา  สดชื่นตลอดเวลา  ใครที่เซ็งกับการศึกษา  ใครที่เบื่อกับการเรียนรู้ ก็เหมือนต้นไม้ที่ไร้ดอก  จะมองหาความสวยงามได้ยาก  ถึงแม้จะมีคุณสมบัติอย่างอื่นแต่ก็ไม่สามารถที่จะแสดงให้เห็นการขยายผลขยายพันธุ์ได้ถ้าไม่มีดอก  ดอกเป็นที่มาของผล   นี่คือที่มาของคำสำคัญ ที่ว่า  การศึกษาคือดอกไม้ของชีวิต

การศึกษาคือดอกไม้ของชีวิต

ขอยืมไปใช้หน่อยนะครับ

โดนใจจริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท