สรุปบทเรียนจากตลาดพระเครื่อง ๑๐ : เหลียวหลังแลหน้า การพัฒนาการของตัวเอง


ผมจึงคิดว่าจะยังพัฒนาตัวเองต่อในขั้นที่ ๔ ด้วยเทคนิคของ การอธิษฐาน ความรู้ และการจัดการบูรณาการชีวิต แบบ KM ธรรมชาติ ดังที่เคยเขียนไว้แล้ว

ในระยะเดือนกว่าๆ ที่ผ่านมา ผมชะลอการเขียนบันทึกลงใน gotoknow ด้วยทั้งเหตุความจำเป็นทางการงาน และ ผมได้ถือโอกาสเป็นระยะเวลาทบทวนพัฒนาการของตนเองเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไปในขณะเดียวกัน

หลังจากการเดินทางไปศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในพื้นที่ต่างๆ ปรึกษาหารือกับผู้มีประสบการณ์หลากหลายด้านแล้ว ผมได้พิจารณาไต่ตรองแบบทบทวนเส้นทางเดินของตนเอง บนถนน “พระเครื่อง” ว่าควรจะวางตัวให้เหมาะสมอย่างไร ทำให้ผมได้พบว่า ผมกำลังศึกษาอยู่ในระดับที่ ๓-๔ จากอย่างน้อย ๖ ระดับ ที่เรียกได้ว่า อยู่ประมาณครึ่งทางพอดี ดังนี้

1. ระดับ “หมูสนาม”

ที่ผมเข้าไปในระบบ แบบแทบไม่มีความรู้ ทั้งชนิด เนื้อ พิมพ์ทรง ความสวยงาม และราคาที่เหมาะสม ที่ทำให้แผงพระทุกแผง ผู้ต้องการจำหน่ายพระทุกคนยินดีต้อนรับ และใช้ผมเป็นเหยื่อในการหาเงินของเขา แม้ผมจะมีพี่เลี้ยงดี ระดับ “เซียนใหญ่” ก็ยังโดน “เชือด” ไปหลายแผล กว่าจะผ่านขั้นนี้มาได้ ใช้เวลาเกือบ ๖ เดือน

2. ระดับ “นักซื้อของแพง”

ที่เริ่มมีบางคน บางแผงยังคงสามารถ “ใช้” ผมเป็นเหยื่อได้ เพียงแต่ต้องมีพระแท้ๆ ให้ผมได้เลือก แต่ราคาก็ยังแพงเกินปกติ ด้วยความที่อ่อนหัดด้านราคาพระแต่ละองค์ แต่ละระดับ แต่ผมก็เริ่มซื้อเข้าลดลง เพราะเริ่มเข้าใจระบบราคา “โหด”และระมัดระวังตัวมากขึ้น ตรงนี้ก็ใช้เวลาอีกเกือบ ๓ เดือน

3. ระดับ “นักสะสมพระเครื่องตามราคาตลาด”

ที่ไม่ค่อยมีแผงพระยินดีต้อนรับนัก เพราะผมพอจะรู้ราคาพระ ว่าควรจะเป็นเท่าไหร่ ทำให้เขาทำกำไรได้ไม่มากนัก แต่ก็ยังดีกว่า ไม่ได้ขาย ในระดับนี้ผมยังมีปัญหาว่ายังไม่สามารถปล่อยพระที่มีเกินพอไม่ได้ เพราะต้นทุนซื้อเข้าของผมสูงติดเพดานราคาพระแล้ว ใครมาดู ก็มีแต่จะต่อในระดับที่ผม “ขาดทุน” จึงปล่อยไม่ได้ และไม่ได้ปล่อย มีแต่เก็บไว้ใช้อย่างเดียว จนมีมากมาย เกินกว่าที่จะใช้ได้หมดในรอบหลายๆเดือน ตรงนี้ผมใช้เวลาประมาณ ๓ เดือน ทำให้ครบรอบปีของการเข้ามาในวงการพระเครื่อง

4. ระดับ “นักสะสมพระเครื่องที่ซื้อต่ำกว่าราคาตลาด แต่สามารถปล่อยพระตามราคาตลาดต้นได้”

ที่ผมกำลังศึกษา โดยเริ่มทำตัวแข่งกับแผงพระ โดยการต่อรองราคาในระดับที่แผงพระเขาทำกัน เมื่อได้ก็นำพระกรุ พระเครื่องที่ผม “คัดออก” ไปฝากให้คนรู้จักช่วยปล่อยต่อในราคาตลาด ที่พอจะได้ทุนคืนบ้างเล็กน้อย จากพระที่คัดออกด้วยสาเหตุที่ดูไม่ขาด มีมากเกินไป ใช้ไม่ทัน และ/หรือ มีองค์ที่สวยกว่า ตรงใจกว่า จึงเลือกใช้เฉพาะบางองค์ ที่ชอบ และถูกโฉลกกับวิถีชีวิตในแต่ละวัน

5. ระดับ “นักสะสมพระเครื่องที่ซื้อได้ต่ำกว่าราคาตลาด และสามารถปล่อยพระตามราคาตลาดกลางและปลายได้”

ที่ผมกำลังศึกษาว่าเส้นทางเดินของตลาดพระแบบนี้มีอยู่กี่แบบ แต่ละแบบต้องทำอย่างไร และได้ผลขนาดไหน ที่ผมมองว่าเป็นภาพมายา และลวงตาให้คนเข้ามาติดกับกับระบบตลาดพระ

6. ระดับ “นักซื้อต่ำกว่าราคาตลาด แต่สามารถปล่อยพระทั้งพระแท้และพระเก๊ตามราคาตลาดปลายได้”

ที่ผมยังไม่ค่อยเชื่อว่าความเป็นจริงจะตรงไปตรงมาอย่างที่ประกาศโฆษณาทั้งเชิงเอกสาร ตำรา วารสาร และในอินเทอรเนต ผมจึงอยู่ในขั้นกำลังประมวลผลข้อมูลจากเอกสาร จากอินเทอรเนตว่า ความเป็นจริงนั้นมีหรือไม่ เขาทำกันอย่างไร ที่ผมไม่คิดว่าชาตินี้ผมจะไปได้ถึงระดับนี้ เนื่องด้วยทั้งเส้นทางชีวิต และขีดความสามารถไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขของเส้นทาง

การพัฒนาการมาถึงขั้นนี้ ในระยะเวลาประมาณ ๑ ปี ๓ เดือน ที่ผ่านมา ผมต้องอ่านหนังสือ ศึกษาจากอินเทอรเนต สนทนากับผู้เกี่ยวข้องทุกระดับ ทุกโอกาสเท่าที่ทำได้ ทำให้ได้รับบทเรียนที่พอจะเริ่มเอาตัวรอดได้ มาถึงระดับนี้ ที่ยังอยู่ในสภาพที่ได้ “จ่ายค่าลงทะเบียน” ไปพอสมควร ที่ถ้าหยุดเสียตอนนี้ ก็อาจจะได้แค่ความรู้ มีทรัพย์สินเกินทุน แต่ยังขาดทุนตัวเงิน จึงคิดว่ายังต้องเดินหน้าต่อไปครับ

นี่คือเหตุผลที่สำคัญที่ทำให้ผมไม่ยอมหยุดเรียน หรือ ออกจากระบบในขั้นแรกๆ เนื่องจากที่ผมได้ข้อสรุปว่า

ถ้าออกจากระบบตลาดพระ ในระหว่างอยู่ในขั้นที่ ๑ จะเสียเงินเปล่าๆ เสียเวลาเปล่าๆ ไม่ได้ของจริง ไม่ได้พระแท้ ไม่ได้ความรู้ ที่ไม่ใช่ผมแน่นอน

ถ้าออกในขั้นที่ ๒ จะเริ่มได้พระแท้ แต่ยังราคาแพง และนับได้ว่าจะยังขาดทุนอยู่มาก

ถ้าออกในขั้นที่ ๓ จะได้พระแท้ๆ มาก ราคาเริ่มถูก แต่จะมีมากเกินไปปล่อยไม่ออก

ถ้าออกในขั้นที่ ๔ จะปล่อยพระออกได้ แต่ที่ได้จะยังไม่คุ้ม “ค่าลงทะเบียน”

ถ้าถึงขั้นที่ ๕ จะสามารถดึง “ค่าลงทะเบียน” คืนได้ และมีพระแท้ๆ สวยๆ ไว้บูชา

ถ้าถึงขั้นที่ ๖ จะสามารถใช้ “พุทธพานิช” และ "วิชามาร" เป็นงานอดิเรกหรือช่องทางหาเงินได้

 

ผมจึงคิดว่าจะยังพัฒนาตัวเองต่อในขั้นที่ ๔ ด้วยเทคนิคของ การอธิษฐาน ความรู้ และการจัดการบูรณาการชีวิต แบบ KM ธรรมชาติ ดังที่เคยเขียนไว้แล้ว

อีกไม่นานคงได้ข้อมูลชัดเจนกว่านี้ว่าจะทำได้สักแค่ไหน

ผมกำลังทำตัวเป็นนักเรียนอยู่ครับ และเรียนด้วย “ชีวิต” เช่นเดียวกับที่ทำในทุกเรื่องครับ

ใครสนใจ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ครับ

 

หมายเลขบันทึก: 347880เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2010 03:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2012 23:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

 

เรียน ท่านอาจารย์ขอรับ

  • เสียดายที่มาอ่านเจอบันทึกนี้ช้าเกินไปขอรับ เพราะภายในเดือนเดียวกระผมเองได้จ่าย "ค่าลงทะเบียน" ไปจำนวนไม่น้อยเลยขอรับ
  • วงการพระเครื่องนี้มีเสน่ห์ยิ่งนัก หรือจะพูดตรง ๆ ได้เลยว่า สามารถทำให้ผู้ที่เข้าสู่วงการมือใหม่ (อย่างกระผม) "ติด" และ "หลง" อย่างโงหัวไม่ขึ้นก็ว่าได้ 
  • ทั้งนี้อาจมีเหตุปัจจัยมาจาก ทางด้านพุทธคุณที่รู้เองเห็นเอง ผสมผสานกับ "การลงทุน" ในเชิงพุทธพานิชย์ ก็เป็นได้
  • เฮ้อ! ตอนนี้กำลังพยายาม "หักดิบ" เพื่อ "หยุด" โดยการพยายามต่อสู้กับ ความหลง+ความโลภ อันละเอียดอ่อนในใจของตนอยู่ขอรับ ...    
  • ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ ที่กรุณาเล่าประสบการณ์ตรงไว้ ให้เป็นแนวทางสำหรับผู้ที่เดินตามหลังมาขอรับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท