แก้ปัญหาเข้าถึงยาต้านไวรัสไข้หวัด2009


ระบบส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ

ในระยะนี้ข่าวไข้หวัด2009คงขึ้นหน้าหนึ่งทุกสื่อไปอีกหลายวัน พรุ่งนี้ก็จะมีการแถลงตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจถึงหลักหมื่น(ที่ส่งตรวจ)ผู้เสียชีวิตคงไม่น้อยกว่า50คน จังหวัดราชบุรีมีผู้เสียชีวิตสูงที่สุด และพบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ได้รับยา ต้านไวรัสช้าเพราะไปที่คลินิคก่อน แต่ยาตัวนี้ไม่มีให้ใช้ที่ คลินิคหรือร้านขายยา เป็นยาที่ยังต้องควบคุม มาตราการให้คลินิคมียาไว้ถูกนำมาใช้นำร่วงที่ จ.ราชบุรี ผลคงต้องรอการประเมิน แต่ความจริงแล้วกระทรวงสาธารณสุขสามารถทำพร้อมกันได้ทั่วประเทศโดยไม่จำเป็นต้องมียาไว้ที่คลินิค ให้มีเฉพาะใน รพ.อย่างเดียว แต่ให้คลินิคที่มีแพทย์สามารถมีหนังสือส่งตัวมารับยาที่ รพ.ได้พร้อมประวัติการส่งตัวที่มีรายละเอียดครบถ้วนในการบันทึกและติดตามผู้ป่วยหลังได้รับยา เพราะอย่างไรก็ตามแพทย์ทุกคนต้องติดตามแนวทางการรักษาตามมาตรฐานอยู่แล้ว ที่ รพ.สิชลผมใช้วิธีนี้ครับ

ผมเชิญแพทย์ที่เปิดคลินิคทุกคนในอำเภอประชุมถึงแนวทางการดูแลผู้ป่วยตามมาตรฐานการรักษา ผู้ป่วยที่จะให้ยามีข้อบ่งชี้อย่างไร เมื่อไรจะส่งมารับไว้เป็นผู้ป่วยใน เมื่อเข้าใจตรงกนเราก็สร้างแบบฟอร์มการส่งต่อผู้ป่วยมารับยาที่ รพ.สิชลกรณีที่แพทย์คลินิคตรวจแล้วเห็นว่าควรได้รับยาต้านไวรัส โดยให้ญาติมารับแทนพร้อมหนังสือส่งตัว ไปที่จุดที่จัดไว้เป็นพิเศษ ไม่เสียเวลา เจ้าหน้าที่ก็จะบันทึกข้อมูลประวัติคนไข้ ตามหนังสือส่งตัวที่แพทย์บันทึกมาแล้วเภสัชกรก็จ่ายยาต้านไวรัสได้ คนไข้ไม่ต้องจ่ายเงินใช้สิทธิตามสิทธิของแต่ละคนครับ แค่นี้ก็แก้ปัญหาได้แล้ว นอกจากนั้น รพ.ยังได้ขอความร่วมมือคลินิครายงานยอดผู้ป่วยกลุ่มอาการป่วยทางเดินหายใจให้ รพ.ด้วยเพื่อเฝ้าระวัง เนื่องจากเราพบว่า คนไข้อย่างน้อย 50 เปอร์เซนต์รักษาที่คลินิค มาตรการนี้ถือว่าได้ผลดีทีเดียวครับ คนไข้ก็ไม่ต้องเสียเงินซื้อยาต้านไวรัส เพราะรับที่ รพ. รพ.ก็มีข้อมูลผู้ป่วยที่รับยาต้านทั้งหมด คนไข้ก็ไม่ต้องแห่มาที่ รพ.ได้หลายต่อ

     ที่รพ.สิชลมีผู้ป่วยตรวจยืนยันแล้วหลายรายที่น่าสนใจการตรวจเบื้องต้น ได้ผลลบอย่าวางใจครับเพราะความไวต่ำ มีอยู่รายหนึ่ง อายุประมาณ45ปี เป็นเอสแอลอีกินยาสเตียรอยด์ ไข้ สาม วันเริ่มหอบ จึงรับไว้ใน รพ.ทันที ผลซีบีซี เม็ดเลือดขาวสูงและ neutrophil สูงด้วย ผลตรวจเบื้องต้นให้ผลลบ แต่แพทย์ให้ยา ทามิฟลูไปพร้อมกับยาต้านแบคทีเรีย  เพียงวันเดียวอาการดีขึ้น ผลตรวจยืนยันกลับมา พบเป็นหวัด2009 ครับ เพราะฉะนั้นอย่าดูที่แลปให้ดูอาการผู้ป่วยด้วยครับ

นพ.อารักษ์ 28/07/2552

หมายเลขบันทึก: 280965เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2009 14:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณมากค่ะ เป็นประโยชน์มากค่ะ
มีคนรู้จักเป็นเอสแอลอีกินยาสเตียรอยด์อยู่ จะได้ไปแนะนำเขาด้วย ว่า ถ้าเป็นไข้หวัด ให้รีบไปหาหมอด่วนมาก 

ความจริงแล้วคลินิคไม่จำเป็นต้องมียาไว้ก็ได้เพียงแต่ถ้ามีผู้ป่วยเข้าหลักเกณฑ์ที่ต้องจ่ายยาก็ส่งตัวมารับยาที่ รพ.ตามที่ผมเสนอเพราะว่าข้อมูลจะได้สามารถติดตามได้ที่ รพ.ในขณะเดียวกันคลินิคเขาไม่ต้องการทำอะไรที่เพิ่มภาระเขาหรอก อีกทั้งหากเป็นผู้ป่วยเด็กที่ต้องให้ยาตาม นน.ตัวก็ต้องมีวิธีการผสมให้ได้สัดส่วนอีก หมอไม่อยากยุ่งยาก ปัญหานี้ไม่ต้องรีบร้อนขนาดนั้น เอาเป็นว่าลองทำตามที่ผมเสนอจะดีกว่าแน่นอน

ข่าวนี้จึงไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย

คลินิกเอกชนเมินรับ “โอเซลทามิเวียร์” ต้านหวัด 2009 สมัครร่วมโครงการแค่ 31 แห่ง

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 2 สิงหาคม 2552 16:51 น.

คลินิกเอกชนใน กทม.ไม่สนรับยาโอเซลทามิเวียร์ สมัครเข้าโครงการแค่ 31 แห่ง อธิบดีกรมสนับสนุนฯ ชี้ตัวเลขยังไม่นิ่ง รอรับสมัครอีก 3 วัน ระบุคลินิกเข้าร่วมโครงการน้อย เหตุส่วนใหญ่เป็นคลินิกเฉพาะทาง คลินิกตรวจรักษาโรคทั่วไปมีแค่ 1 ใน 3 ของคลินิกทั้งหมดใน กทม.

วันที่ 2 สิงหาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เป็นประธานในการประชุมการกระจายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์และจัดอบรมความรู้ในการวินิจฉัยโรคและการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ให้แก่คลินิกเอกชนต่างๆ ใน กทม. ซึ่งมีคลินิกลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการและรับการอบรมครั้งจำนวน 181 แห่ง จากคลินิกในกทม.ทั้งหมดจำนวน 3,805 แห่ง

นพ.สมยศ กล่าวว่า ได้มีการชี้แจงให้คลินิกรับทราบเงื่อนไขต่างๆ ในการเข้าร่วมภาคีเครือข่ายโครงการเพิ่มศักยภาพสร้างแนวทางการรักษาและควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ตามที่คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข กำหนดขึ้น 8 ข้อ คือ 1.คลินิกต้องมีแพทย์เป็นผู้ดูแลและการสั่งจ่ายยาต้านไวรัสต้องทำโดยแพทย์เท่านั้น 2.มีบันทึกทางการแพทย์และรายงานอาการข้างเคียงจากการใช้ยา 3.มีการส่งต่อผู้ป่วยในรายที่มีอาการรุนแรงเกินกว่าจะดูแลรักษา 4.มีการติดตามการเปลี่ยนแปลงโรคของผู้ป่วยที่ดูแลรักษา 5.มีการป้องกันการติดเชื้อในสถานที่ตรวจ

6.แพทย์ต้องได้รับการอบรม และผ่านการประเมินความรู้ความเข้าใจ 7.แพทย์ต้องให้การดูแลรักษาตามแนวทางปฏิบัติการดูแลผู้ป่วย (Clinical Practice Guideline) และ 8.มีการติดตาม ตรวจสอบ หารือเพื่อปรับปรุงแก้ไขปัญหาเป็นประจำทุกเดือน โดยให้กรอกใบสมัครเข้าร่วมโครงการฯ และหากคุณสมบัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์กองประกอบโรคศิลปะ จะจ่ายยาต้านไวรัสให้ทันทีจำนวน 50 เม็ด รักษาผู้ป่วยได้ 5 คน โดยพร้อมที่จะใช้รักษาประชาชนตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.เป็นต้นไป

“สธ.ที่มีให้เลือก 2 แนวทาง คือ 1.เข้าร่วมเฉพาะการคัดกรองผู้ป่วย และส่งต่อในโรงพยาบาลแม่ข่ายที่กำหนด 2.เข้าร่วมโครงการ และพร้อมจ่ายยาต้านไวรัสตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด พบว่า มีคลินิกลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเป็นเครือข่ายคัดกรองและส่งต่อผู้ป่วย จำนวน 39 แห่งจากทั้งหมด 181 แห่ง ในจำนวนนี้มีคลินิกเพียง 31 แห่ง ที่สมัครใจรับยาต้านไวรัสสำรองในคลินิก แต่ตัวเลขดังกล่าวยังไม่นิ่งต้องรอให้ครบกำหนดคือวันที่ 5 สิงหาคมนี้เป็นวันสุดท้าย แต่ต้องยอมรับว่ามีคลินิกที่สมัครรับยาต้านไวรัสน้อย เพราะคลินิกทั้ง 181 แห่ง ประมาณ 2 ใน 3 เป็นคลินิกรักษาโรคเฉพาะทาง เช่น คลินิกผิวหนัง โรคหัวใจ หู คอ จมูก เป็นต้น แต่เป็นคลินิกตรวจรักษาโรคทั่วไป เพียง 1 ใน 3 ของคลินิกทั้งหมดในเขต กทม.”นพ.สมยศกล่าว

ชี้รักษาคลินิกฟรีเฉพาะค่ายา ค่ารักษาบริการจ่ายตามปกติ

นพ.สมยศ กล่าวต่อว่า สำหรับประชาชนที่เข้าใช้บริการที่คลินิกที่ร่วมโครงการฯ จะได้รับการยกเว้นค่ายาเฉพาะยาต้านไวรัสโอเซลทาเวียร์อย่างเดียวเท่านั้น แต่บริการอื่นๆ คงต้องจ่ายตามปกติ เช่น ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก หรือยาแก้อักเสบ และอื่นๆ เป็นต้น โดยให้คลินิกจัดทำสรุปหลักฐานการจ่ายยา ส่งกองการประกอบโรคศิลปะทุกสัปดาห์ หรือหากยาหมดก่อนก็สามารถแจ้งรายงานการใช้ก่อนได้

นพ.สมยศ กล่าวอีกว่า หากแพทย์คลินิกพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่มีอาการรุนแรง ให้ส่งตัวผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยมีแบบฟอร์มการบันทึกประวัติการรักษาผู้ป่วยที่คลินิกควบคู่ไปด้วย เพื่อการดูแลรักษาต่อของแพทย์โรงพยาบาล โดยให้ส่งไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลในสังกัด สธ.ใน กทม.และปริมณฑล 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลเลิดสิน สถาบันโรคทรวงอก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี และสถาบันบำราศนราดูร ตลอด 24 ชั่วโมง

สธ.เตือนคลินิกฝากท้อง-รักษาโรคเรื้อรัง ตั้งจุดคัดกรองแยกผู้ป่วยหวัด 2009

นพ.ธารา ชินะกาญจน์ ผู้อำนวยการกองการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า สธ.ได้จัดเอกสารทำแนวทางการป้องกันการการแพร่กระจายเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ในคลินิก โดยให้คลินิกจัดสถานที่ตรวจผู้ป่วยที่สงสัยไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้ ร่วมกับอาการไอ คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ เป็นต้น ให้ผู้ป่วยทุกรายสวมหน้ากากอนามัยระหว่างรอตรวจ ต้องจัดให้มีจุดล้างมือด้วยน้ำ และสบู่หรือเจลล้างมือ รวมถึงถังขยะติดเชื้อ โดยได้จัดส่งแนวทางดังกล่าวให้คลินิกทั่วประเทศเพื่อปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกันแล้ว

“คลินิกเอกชนที่รับฝากครรภ์ หรือรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่นโรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน อาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ ควรแยกจุดบริการผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ออกจากผู้ป่วยอื่นๆ ตั้งแต่การทำบัตร คัดกรอง ตรวจรักษา จ่ายเงินและรับยา โดยบุคลากรในคลินิกต้องได้รับการอบรมความรู้เรื่องไข้หวัดใหญ่ และการควบคุมการติดเชื้อในคลินิก และมีการดูแลความสะอาดคลินิกตามมาตรฐาน” นพ.ธารา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท