Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ตอบคุณธมลวรรณเรื่องผลของการสละสัญชาติไทยเพื่อสมรสกับชายต่างด้าว


คำถาม

โดยผ่าน http://gotoknow.org/ask/archanwell/12210?page=1  คุณธมลวรรณได้เข้ามาตั้งคำถาม เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓ @ 16:01 ต่อ อ.แหววว่า “เรียนถามอาจารย์ หนอ่ยนะคะ หนูมีปัญหาดังนี้คะ จดทะเบียนสมรสกับสามีชาวเกาหลีถูกต้องตามกฦหมายและได้ทำเรื่องสละสัญชาติไทยไปแล้ว ตอนนี้ชื่อของหนูประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วว่าได้เสียสัญชาติไทย แต่มีปัญหากับสามีไม่สามารถยื่นเรื่องขอสัญชาติเกาหลีได้อีก กรณีนี้สามารถทำเรื่องขอคืนสัญชาติได้รึไม่ หากหย่ากับสามีแล้ว แล้วกรณีแบบนี้หนูต้องเป็นคนไร้สัญชาติรึเปล่า ต้องทำยังไงถึงจะกลับมาใช้สัญชาติไทยอีก ขอคำแนะนำด้วยคะ”

คำตอบ

กรณีของคุณน่าจะวิเคราะห์ได้เป็น ๒ ทาง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นทางใด คุณก็จะมีสิทธิในสัญชาติไทยได้ทั้งสิ้น

ทางแรก ก็คือ คุณยังไม่เสียสัญชาติไทย เพราะการสละสัญชาติไทยมิได้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ กฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องก็คือ มาตรา ๑๓[1] แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ดั้งเดิม หากเป็นการร้องขอสละสัญชาติไทยก่อนวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ หรือมาตรา ๑๓[2] แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ หากเป็นการร้องขอสละสัญชาติไทยตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ เป็นต้นมา

มาตรา ๑๓ ในทั้ง ๒ สถานการณ์ไม่แตกต่างกันในเรื่องวิธีการ เพียงแต่มาตรา ๑๓ ดั้งเดิมรับรองสิทธิสละสัญชาติเพราะสมรสกับคนต่างด้าวแก่หญิงสัญชาติไทยเท่านั้น ในขณะที่มาตรา ๑๓ ใหม่รับรองสิทธิดังกล่าวให้แก่ทั้งชายและหญิงสัญชาติไทย

ในทั้งสองยุคของมาตรา ๑๓ ผู้ที่จะร้องขอสละสัญชาติไทยตามมาตรา ๑๓ จะต้องเป็น “มีสัญชาติไทยและได้สมรสกับคนต่างด้าว” และนอกจากนั้น ผู้ทรงสิทธิสละสัญชาติไทยตามมาตรา ๑๓ จะต้องเป็นผู้ที่ “อาจถือสัญชาติของสามีได้ตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของสามี”  

เมื่อย้อนกลับมาในกรณีของคุณธมลวรรณ จะเห็นได้ว่า ในวินาทีที่คุณยื่นขอสละสัญชาติไทย คุณยังมิอาจได้สัญชาติเกาหลีตามสามี ดังนั้น คำสั่งอนุญาตให้คุณสละสัญชาติไทยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงมิชอบด้วยกฎหมาย แม้จะมีการประกาศการเสียสัญชาติไทยของคุณในราชกิจจานุเบกษา ประกาศดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เหตุผลที่มาตรา ๑๓ กำหนดให้ผู้สละสัญชาติไทยจะต้องเป็นผู้ที่ “อาจถือสัญชาติของสามีได้ตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของสามี” ก็เพราะผู้ร่างกฎหมายเกรงว่า ผู้สละสัญชาติไทยจะตกเป็นคนไร้สัญชาติ หากการสละสัญชาติไทยมีผล แต่การได้สัญชาติตามคู่สมรสยังไม่มีผลหรือไม่มีผลเลย ดังที่คุณธมลวรรณประสบอยู่

ในกรณีเช่นนี้ คุณธมลวรรณก็อาจไปร้องขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมที่อนุญาตให้สละสัญชาติไทย โดยอ้างเหตุที่คุณธมลวรรณในวินาทีที่ร้องขอสละสัญชาติไทยนั้น ยังมีคุณสมบัติไม่ครบตามที่มาตรา ๑๓ กำหนด ซึ่งหากรัฐมนตรีดังกล่าวไม่ยอมเพิกถอนคำสั่งอนุญาตดังกล่าว คุณธมลวรรณก็อาจร้องขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งบังคับให้รัฐมนตรีเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้สละสัญชาติ

ทางสอง ก็คือ หากคุณไม่ประสงค์ที่จะไปร้องขอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้เพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้สละสัญชาติไทย คุณธมลวรรณก็อาจใช้สิทธิร้องขอกลับคืนสัญชาติไทยแทน ซึ่งตามข้อเท็จจริง คุณกำลังจะหย่ากับสามีสัญชาติเกาหลี กรณีย่อมเป็นไปตาม มาตรา ๒๓ แห่ง แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑  ซึ่งบัญญัติว่า  

ชายหรือหญิงซึ่งมีสัญชาติไทยและได้สละสัญชาติไทยในกรณีที่ได้สมรสกับคนต่างด้าวตามมาตรา ๑๓ ถ้าได้ขาดจากการสมรสแล้วไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ย่อมมีสิทธิขอกลับคืนสัญชาติไทยได้

การขอกลับคืนสัญชาติไทยให้ยื่นแสดงความจำนงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง”

ดังนั้น คุณธมลวรรณจึงอาจใช้สิทธิในฐานะของ “หญิงซึ่งมีสัญชาติไทยและได้สละสัญชาติไทยในกรณีที่ได้สมรสกับคนต่างด้าวตามมาตรา ๑๓” และ “ขาดจากการสมรสแล้ว” เพราะหย่ากับสามีต่างด้าว

โดยข้อ ๙ แห่ง กฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๑๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ บัญญัติว่า การยื่นคำขอตามมาตรา ๒๓ เพื่อขอกลับคืนสัญชาติไทยของหญิงซึ่งมีสัญชาติไทยและได้สละสัญชาติไทยในกรณีที่ได้สมรสกับคนต่างด้าว ให้ยื่นคำขอตามแบบ ก.ช.๒ ท้ายกฎกระทรวงนี้ พร้อมด้วยหลักฐานประกอบคำขอและชำระค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้” และในส่วนของพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจรับคำร้อง ข้อ ๑๑ แห่ง กฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๑๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ บัญญัติว่า

ผู้ยื่นคำขอตามข้อ ๙ หรือข้อ ๑๐ ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดพระนครหรือจังหวัดธนบุรี ให้ยื่นคำขอต่อผู้บังคับการตำรวจสันติบาล ถ้ามีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดอื่นให้ยื่นคำขอต่อผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนั้น

ถ้าผู้ยื่นคำขออยู่ในต่างประเทศ ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานทูตหรือกงสุล ณ ที่ทำการสถานทูตไทยหรือสถานกงสุลไทยในประเทศนั้น”

แต่ในส่วนค่าธรรมเนียมสำหรับการกลับคืนสัญชาติไทยนั้น พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ กำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับคำขอกลับคืนสัญชาติไทยไว้ ครั้งละ ๒,๐๐๐ บาท

โดยมาตรา ๕ แห่ง แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ การกลับคืนสัญชาติไทยจะมีผลเฉพาะตัวและเมื่อประกาศในราชกิจจานุเษกษา

ดิฉันหวังว่า คำตอบนี้จะไม่ช้าเกินไปสำหรับคุณธมลวรรณ และมีคำถามว่า ในวันนี้ คุณธมลวรรณถือเอกสารอะไรในการพิสูจน์ตัวบุคคลและเดินทางคะ

 


[1] ซึ่งบัญญัติว่า “หญิงซึ่งมีสัญชาติไทยและได้สมรสกับคนต่างด้าว และอาจถือสัญชาติของสามีได้ตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของสามี ถ้าประสงค์จะสละสัญชาติไทย ให้แสดงความจำนงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

[2] ซึ่งบัญญัติว่า “ชายหรือหญิงซึ่งมีสัญชาติไทยและได้สมรสกับคนต่างด้าวและอาจถือสัญชาติของภริยาหรือสามีได้ตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของภริยาหรือสามี ถ้าประสงค์จะสละสัญชาติไทยให้แสดงความจำนงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง”

หมายเลขบันทึก: 360969เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2010 23:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 03:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วทำให้เข้าใจมากขึ้นว่า ต่อไปนี้สิ่งที่รัฐไทยต้องพยายามทำให้มากๆๆๆ ยิ่งขึ้น คือ "การดูแลคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ" ค่ะ..

อีกอย่าง คือ ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ถือกันอยู่ก็กำหนดไว้ชัดเจนค่ะว่า.. "รัฐจะอนุญาตให้มีการสละสัญชาติได้ก็ต่อเมื่อบุคคลดังกล่าวจะไม่ตกเป็นคนไร้สัญชาติ" (ข้อ 8 แห่ง อนุสัญญายุโรปว่าด้วยสัญชาติ) เท่านั้น..!!

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท