Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

มาคุยกันเรื่องของคณะกรรมการเครือข่ายการแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐและคนไร้สัญชาติ


            เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ คุณดรุณี เทพเฉลิม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพิทักษ์ผู้ด้อยโอกาส กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ได้ชวนคนทำงานด้านคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติใน พม. อีก ๕ คนมาคุยด้วย ซึ่งก็มี (๑) นางจินดา โพทะรัตน์ศิริ ผู้อำนวยการกลุ่มการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ (๒) นายสุทัศน์ ศรีประยูรธรรม นักวิชาการ 8กลุ่มการพัฒนามาตรการ กลไก (๓) นายกาญจนภาส พรหมรัตนลิขิต นักวิชาการพัฒนาสังคม 5  กลุ่มการพัฒนามาตรการ กลไก  (๔)  น.ส.วรรณา อรัญกุล นักสังคมสงเคราะห์ 7กลุ่มการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ด้อยโอกาส และ (๕) นายรักชาติ ริ้วทอง 

              ประเด็นหลักที่คุยกัน ก็คือ การจัดสัมมนาเพื่อสร้างองค์ความรู้ในการจัดการปัญหาคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติให้แก่เครือข่ายทำงานด้านการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์อ.แหววเสนอให้มี "การเลือกคณะกรรมการเครือข่ายการแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐและคนไร้สัญชาติ"

              ในที่ประชุมสัมมนา ซึ่งทาง พม.ก็เห็นด้วย แต่ก็มีประเด็นถึง "ความเป็นไปได้ในการเลือกคณะกรรมการเครือข่ายการแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐและคนไร้สัญชาติ" เราเห็นพ้องต้องกันว่า  "การเลือกคณะกรรมการเครือข่ายการแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐและคนไร้สัญชาติ"  เป็นสิ่งที่ดีเพราะจะเป็นตัวขับเคลื่อนการทำงานต่อไปนั้น  แต่คุณวรรณาก็ตั้งคำถามว่า คณะกรรมการฯ ต้องกำหนดบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ว่าเขาควรต้องทำอะไรบ้าง  และอาจต้องให้ความรู้ความเข้าใจแนวทางการปฏิบัติงาน  ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะมีเวลาเพียงพอหรือไม่" อ.แหววก็เลยขอแสดงความคิดเห็นเพื่อ clarify ประเด็นดังนี้ค่ะ 

               ในประการแรก "คณะกรรมการเครือข่าย" หรือ "คณะกรรมการชุมชน" หรือ "สภาชุมชน" เป็นรูปแบบของการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม แน่นอนค่ะ เรื่องนี้ เป็นเรื่องดี แต่เป็นเรื่องยาก โดยหลักการ เราจะต้องผลักดันให้เกิดขึ้นในยุคประชาธิปไตย อำนาจในการจัดการปัญหาจึงจะเป็นของ "ประชา" กล่าวคือ ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในทั้งการจัดการปัญหาและโอกาส 

         ในประการที่สอง แม้เรื่องของการเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมจะทำได้ยาก  และทำได้ยากในเวทีเสวนาที่มีช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็ทำได้ค่ะ  ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย มาไล่ดูกัน (๑) ประธานการประชุม หรือผู้ดำเนินการเสวนา เห็นความสำคัญและยกเรื่องนี้ขึ้นหารือกับที่ประชุมสัมมนาไหม ? (๒) ถ้าผู้จัดการสัมมนา กล่าวในที่นี้คือ พวกคุณเอง หรือ พมจ. เห็นความสำคัญ ก็จะไปมีการเตรียมความคิดภาคประชาชน และภาคราชการที่ทำงานได้กับภาคประชาชนไว้ก่อนวันงาน เมื่อผู้ดำเนินการประชุมสัมมนาหารือ พวกเขาก็จะเสนอกันขึ้นมาเป็นคณะกรรมการเองล่ะค่ะ (๓) และเมื่อพ้นการประชุมนะคะ คณะกรรมการจะเริ่มต้นทำงานได้ ก็ด้วยการผลักดัน โดยทั้ง พม.ส่วนกลาง อาทิ คนใน สทอ. และ พมจ. ในแต่ละพื้นที่ การทำงานด้วยกันนั้นต้องเรียนรู้ร่วมกัน จะต้องมีการล้มลุกคลุกคลานร่วมกัน และ (๔) เมื่อมีการเลือกคณะกรรมการในที่ประชุม คนที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมจะภาคภูมิใจค่ะที่จะทำ        

              ในประการที่สาม ภาพรวมของปัญหาและโอกาสในการแก้ไขปัญหาจะปรากฏตัวผ่านเวทีสัมมนา ๔ ภาคครั้งนี้ นะคะ ขอให้ สท. ตระหนักนะคะว่า งานสัมมนาที่ออกแบบให้นะคะ จะนำไปสู่งานอีกหลายลักษณะ ที่เป็นการต่อยอด อย่าลืมตระหนักนะคะ หนึ่งในนั้น ก็คือ "คณะกรรมการเครือข่ายฯ" ใน ๔ พื้นที่ แค่ผลักดันให้เกิดได้ ก็เป็นผลงานส่วนแรก และเมื่อพวกเขาประชุมกัน รายงานประชุมทั้ง ๔ ฉบับที่ได้มา ก็จะแสดงให้เห็นความคิดเห็นของ ๕ ส่วนย่อยในสังคมไทย           

              ตอนนี้ อ.แหววและทีมลูกศิษย์อีกสาย ก็เสนอให้กระทรวงวัฒนธรรมตั้ง "คณะกรรมการชุมชน" เพื่อจัดการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในแต่ละจังหวัด ตอนนี้ ทำเสร็จใน ๒ จังหวัด กล่าวคือ (๑) อุบลราชธานี และ (๒) พิษณุโลก

               นอกจากนั้น เราก็มีตัวอย่างจากภาคเหนือ เขามี "เครือข่ายทำงานภาคเหนือเพื่อคนไร้สัญชาติ" ที่เขารวมตัวกันมาจากการสัมมนาที่พายับตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๔ และมีผลงานมากมาย รวมถึงเป็นเจ้าของงานวันเด็กไร้สัญชาติที่แม่จัน ที่ท่านทั้งหลายกำลังจะไปดูงานไงคะ 

             ในประการที่สี่ ในส่วนอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเครือข่ายนั้น ก็ให้ที่ประชุมเขากำหนดกันเองซิคะ เราเป็นประชาธิปไตยนี่นา อย่าไปกังวลที่จะสั่งการเลย หากต้องการคำสั่งกระทรวงเพื่อแต่งตั้ง ก็ควรเป็นการสั่งตามที่ภาคประชาสังคมที่อยู่ในคณะกรรมการร้องขอ        

             ในประการที่ห้าและเป็นประการสุดท้าย เมื่อมีข้อเสนอจากภาคประชาสังคมในคณะกรรมการนะคะ อยากลืมนำไปทำเป็น "มติคณะรัฐมนตรี" จะทำให้กรอบคิดนี้มีพลังทางกฎหมายและนโยบาย ไม่ผันแปรตามความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เป็นมติคณะรัฐมนตรีของ สท.เอง        

               เอาใจช่วย สท.ค่ะ

หมายเลขบันทึก: 157188เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2008 14:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 22:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

งานพัฒนาด้านเด็กไร้รัฐเด็กไร้สัญชาติของแม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะในโซนเหนือ (อำเภอเมือง ปางมะผ้า และปาย) ไม่ค่อยขยับเลยครับ จริงๆแล้วแกนนำที่ทำงานกับผมอยู่ล้วนเป็นเด็กไร้สัญชาติ (ไทใหญ่ ปะโอ และลีซู)เราเป็นกลุ่มคนทำงานเล็กๆอยู่ติดพื้นที่แต่ยังไม่มีจังหวะจะไปเชื่อมกับเครือข่ายใหญ่ที่ทำงานด้านนี้ งบประมาณก็น้อย แต่อาศัยงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นและงานสื่อสร้างสุขภาวะจาก สสส.มาหล่อเลี้ยงให้งานพัฒนาเด็กไร้สัญชาติเดินหน้าไปได้ หากแต่ยังไม่ได้เชื่อมงานด้านกฏหมายเข้ามาเท่าที่ควร อยากให้เครือข่ายใหญ่สนใจขยายพื้นที่มาโซนนี้บ้าง ทางผมยินดีช่วยประสานงานภายในให้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท