Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

บุคคลผู้ถือบัตรบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยและบุตร จะมีสิทธิขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านตามมาตรา ๒๓ หรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?


โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร งานเขียนเพื่อหนังสือแจกในงานวันเด็กไร้สัญชาติ ครั้งที่ ๗ พ.ศ.๒๕๕๒ ของศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๑

        งานเขียนฉบับนี้เขียนขึ้นเพื่อตอบคำถามของศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชนซึ่งมีมายังผู้เขียนว่า “บุคคลผู้ถือบัตรบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยและบุตร จะมีสิทธิขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านตามมาตรา ๒๓ หรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?” ทั้งนี้ เพื่อจะเผยแพร่ให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชนที่ยังไร้สัญชาติในชุมชนสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

     เรื่องบัตรเป็นเรื่องของกฎหมายการทะเบียนราษฎร เป็นคนละเรื่องกับกฎหมายสัญชาติ โดยทั่วไป จะเป็นเรื่องที่มีความเชื่อมโยงกัน และเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน แต่ในบางสถานการณ์ ก็อาจขัดแย้งกัน ด้วยเหตุผลหลายสาเหตุ เพื่อตอบคำถามนี้ เราจึงควรทำความเข้าใจทีละประเด็น เรียงลำดับตามตรรกวิทยาของเรื่อง กล่าวคือ

ใครคือบุคคลเป้าหมายของมาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑ ?

          เราจะต้องไม่ลืมว่า มาตรา ๒๓ นี้ถูกบัญญัติขึ้นเพื่อคืนสิทธิในสัญชาติไทยให้แก่คนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรที่เกิดในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๖ จนถึงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ และบุตรที่เกิดในประเทศไทย  ซึ่งความเป็นคนต่างด้าวของบุคคลกลุ่มดังกล่าวเกิดจากผลของข้อ ๑[1] และข้อ ๒[2] แห่งประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕

         แต่ด้วยว่า บุคคลดังกล่าวมีลักษณะกลมกลืนทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมแล้วกับประเทศไทย สภานิติบัญญัติแห่งชาติในปี พ.ศ.๒๕๕๐ จึงไม่ลังรอที่จะยอมรับให้สิทธิในสัญชาติไทยให้แก่บุคคลดังกล่าวโดยมาตรา ๒๓ วรรคแรก[3] แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔)พ.ศ.๒๕๕๑  สถานะคนสัญชาติไทยจึงเกิดแก่บุคคลในสถานการณ์ ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑[4]

         จะเห็นว่า สัญชาตินี้จึงเป็นสัญชาติไทยที่เกิดขึ้นโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย มิใช่สัญชาติไทยโดยผลของคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ดังเช่นกรณีของสัญชาติไทยโดยผลของมาตรา ๗ ทวิ วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕

นางสาวมึดา[5]: กรณีตัวอย่างของบุคคลเป้าหมายของมาตรา ๒๓

      มึดาเป็นตัวอย่างที่ดีของบุคคลในแม่ฮ่องสอนที่เป็นบุคคลเป้าหมายของมาตรา ๒๓    เราจึงควรจะมาใช้ชีวิตของมึดาเป็นบทเรียนของเรา

            มึดาเกิดเมื่อวันที่ ๑๒  กันยายน  พ.ศ.๒๕๒๙        ณ เหมืองผาแล บ้านท่าเรือ หมู่ ๘ ตำบลสบเมย อำเภอสบเมย  จังหวัดแม่ฮ่องสอน จากนายหม่องละ ซึ่งเกิดในประเทศพม่าเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๗ และจากนางนาบือ ซึ่งเกิดในประเทศพม่าเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๘  บิดาและมารดาของมึดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย

           บิดาของมึดาเข้ามาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๐ ในขณะที่มารดาเข้ามาในประเทศไทย พ.ศ.๒๕๑๒ บุคคลทั้งสองเป็นคนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ตกหล่นจากทะเบียนราษฎรของรัฐพม่า จึงประสบความไร้รัฐ แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งบิดามารดาก็มีสถานะบุคคลในประเทศไทยเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ถือเป็น “ลักษณะการเข้าเมืองแบบไม่ถาวร”

            มึดา และครอบครัว รวมถึงคนในหมู่บ้านเดียวกับมึดา เพิ่งได้รับการสำรวจและบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๒ แต่ด้วยความล่าช้าในการออกบัตรประจำตัวตามกฎหมายทะเบียนราษฎร ครอบครัวของมึดาตลอดจนคนในหมู่บ้านดังกล่าวเพิ่งได้รับการออกบัตรประจำตัวประเภท “บัตรสำรวจชุมชนบนพื้นที่สูง” เพียงเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๖ ซึ่งบัตรนี้ มักถูกเรียกย่อๆ โดยประชาชนว่า “บัตรเขียวขอบแดง” เพราะบัตรมีสีเขียวทั้งใบ ยกเว้นเส้นขอบเป็นสีแดง

        โดยข้อเท็จจริงในขณะที่เกิด มึดาจึงสรุปข้อกฎหมายได้ว่า มึดาย่อมไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดนโดยผลของข้อ ๒ แห่งประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ เพราะเกิดในประเทศไทยจากมารดาซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองในลักษณะไม่ถาวร โดยไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย

        ตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ จนถึงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ มึดาถูกถือเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายโดยผลของมาตรา ๗ ทวิ วรรคสาม[6] แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘   ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕

        แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามึดาจะมีสถานะเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย มึดาก็ไม่ถูกส่งออกนอกประเทศไทย เพราะเธอได้รับสิทธิอาศัยชั่วคราวตามมาตรา ๑๗ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๕๒ โดยผลของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๓

         ในที่สุด ในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ มีผล จึงฟังได้ว่า มึดาเป็นบุคคลเป้าหมายของมาตรา ๒๓ แห่งกฎหมายนี้ หากปรากฏข้อเท็จจริงครบตามที่มาตรา ๒๓ วรรคแรกกำหนด กล่าวคือ  (๑) มึดาเกิดในประเทศไทย  (๒) ถ้าบุคคลผู้นั้นอาศัยอยู่จริงในราชอาณาจักรไทยติดต่อกันโดยมีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร และ (๓) เป็นผู้มีความประพฤติดี หรือทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมหรือประเทศไทย

        ในส่วนวิธีการบังคับการตามสิทธิในสัญชาติไทยตามมาตรา ๒๓ วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ นั้น  ย่อมเป็นไปตามที่กำหนดในมาตรา ๒๓ วรรคสอง[7] แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งหากเราอ้างบทบัญญัติแห่งวรรคนี้ เราจะพบว่า เป็นบทบัญญัติที่เชื่อมให้ “นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น” ต้องทำหน้าที่ตามกฎหมายทะเบียนราษฎร อย่าเข้าใจผิดเด็ดขาดว่า นายอำเภอเป็นผู้มี  “อำนาจอนุญาตให้สัญชาติ” แก่มึดา ในทางตรงข้าม กฎหมายกำหนดให้นายอำเภอมี “หน้าที่ลงรายการสัญชาติไทย” ให้แก่มึดา  ขอให้สังเกตว่า สัญชาติไทยตามมาตรา ๒๓ ของมึดานี้เป็นไปโดยผลของกฎหมาย ดังนั้น ผู้ให้สัญชาติไทยแก่มึดา ก็คือ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ซึ่งทรงลงพระปรมาภิไธยใน พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ นั่นเอง

        ขอให้สังเกตว่า แม้อำเภอสบเมยจะออกบัตรประชาชนให้แก่มึดาในวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๑ แต่สิทธิในสัญชาติไทยของมึดาก็เริ่มต้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๓ วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ กล่าวคือ เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑

           ขอให้ตระหนักว่า บุคคลในสถานการณ์เดียวกับมึดา ย่อมมีความสามารถที่จะได้รับสิทธิในสัญชาติไทยตามมาตรา ๒๓ ได้เฉกเช่นมึดาทุกประการ

             จะเห็นว่า การถือบัตรประจำตัวคนต่างด้าวตามกฎหมายทะเบียนราษฎรที่เรียกว่า “บัตรเขียวขอบแดง” ของมึดา ไม่ทำให้เธอต้องเสียสิทธิตามมาตรา ๒๓ วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑  ในความเป็นจริง บุคคลที่ถือบัตรคนต่างด้าวตามกฎหมายทะเบียนราษฎรประเภทต่างๆ ย่อมมีสิทธิในลักษณะเดียวกับมึดา หากมีข้อเท็จจริงครบตามที่กำหนดในมาตรา ๒๓ วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ เฉกเช่นมึดา

         ในท้ายที่สุด อำเภอมิได้มีหน้าที่เพียงลงรายการสัญชาติไทยให้แก่มึดาในทะเบียนบ้านเท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่ต้องลงรายการสัญชาติไทยใน “เอกสารการทะเบียนราษฎรตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร” ทั้งหมดตามที่กำหนดในมาตรา ๒๓ วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑

--------------------------------------------------------------------------------

[1] ซึ่งบัญญัติว่า

“ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะทีเกิด บิดาหรือมารดานั้นเป็น

(๑) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นพิเศษเฉพาะราย
 
(๒) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หรือ
 
(๓) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

ทั้งนี้ เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งเฉพาะรายเป็นประการอื่น”

[2] ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลตามข้อ ๑ ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยเมื่อประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว ไม่ได้สัญชาติไทย เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งเฉพาะรายเป็นประการอื่น”

[3] ซึ่งบัญญัติว่า “บรรดาบุคคลที่เคยมีสัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทย   แต่ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ ข้อ ๑ และผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ไม่ได้สัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ ข้อ ๒ รวมถึงบุตรของบุคคลดังกล่าว ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและไม่ได้สัญชาติไทยตามมาตรา ๗ ทวิ  วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ถ้าบุคคลผู้นั้นอาศัยอยู่จริงในราชอาณาจักรไทยติดต่อกันโดยมีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร และเป็นผู้มีความประพฤติดี หรือทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมหรือประเทศไทยให้ได้สัญชาติไทยตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เว้นแต่ผู้ซึ่งรัฐมนตรีมีคำสั่งอันมีผลให้เป็นผู้มีสัญชาติไทยแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ”

[4] มาตรา ๒ บัญญัติว่า “พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป”  ซึ่งก็คือ ราชกิจจานุเบกษา ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๓๙ ก หน้า ๒๔

[5] ข้อมูลที่เสนอต่อเวทีเสวนาเพื่อแสวงหาองค์ความรู้ในการจัดการปัญหาเด็กไร้สัญชาติครั้งที่ ๓ เรื่องการศึกษาผลกระทบด้านสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยที่เกิดแก่เด็กไร้สัญชาติในประเทศไทย ณ ห้องประชุมใหญ่ ๑๐๙ อาคารบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพายัพ วันอาทิตย์ ที่ ๕ ตุลาคม  พ.ศ.๒๕๔๖.

[6] ซึ่งบัญญัติว่า “ให้ถือว่า ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทยตามวรรคหนึ่ง เป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เว้นแต่จะมีการสั่งเป็นอย่างอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น"

[7] ซึ่งบัญญัติว่า “เมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้มีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งยื่นคำขอลงรายการสัญชาติในเอกสารการทะเบียนราษฎรต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรแห่งท้องที่ที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนาในปัจจุบัน”

หมายเลขบันทึก: 228684เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2008 01:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:39 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

แม้ว่ามึดาจะมีสถานะเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย มึดาก็ไม่ถูกส่งออกนอกประเทศไทย เพราะเธอได้รับสิทธิอาศัยชั่วคราวตามมาตรา ๑๗ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๕๒ โดยผลของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๓

อ.แหววครับ ผมสนใจมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2543 ครับ แต่ว่าอาจารย์ไม่ได้ใส่ฟุตโน้ตเอาไว้ ผมไปค้นหามติดังกล่าวในเวบไซค์ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้วก็ยังไม่เจอ ผมเลยไม่ทราบว่าเกี่ยวกับอะไร

แล้วพ.ร.บ.คนเข้าเมือง ผมว่าอาจารย์พิมพ์ผิดนะครับ เพราะมันน่าจะเป็นพ.ศ.2522 หากไม่ใช่แล้ว ผมงงงงงง

เนื่องจากผมเข้าเวบไซค์ของราชกิจจานุเบกษาไม่ได้ผมจึงไม่ทราบว่าพ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2552 มีหรือไม่ครับ

 

ในประการแรก พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ซึ่งเป็นกฎหมายไทยหลักว่าด้วยคนเข้าเมือง เป็นกฎหมายที่ออกใน พ.ศ.๒๕๒๒ จริงค่ะ มิใช่ ๒๕๕๒ พิมพ์ผิดค่ะ แต่สำหรับฉบับปัจจุบันนั้น มิใช่ฉบับดั้งเดิม แต่ถูกแก้ไข ดังนั้น ฉบับที่มีผลก็คือ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คนเข้าเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๒๓ และโดย พ.ร.บ.คนเข้าเมือง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๔๒

ในประการที่สอง มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2543  ขอเวลาเอาขึ้นเน็ตก่อนค่ะ บอกให้คนทำให้ ไม่มีคนทำให้เสียที เดี๋ยวทำเองดีกว่าค่ะ รอหน่อยนะคะ

สวัดดีครับอาจารย์แววครับ ผมเป็นทหารเรือชั้นประทวนรับราชการมาแล้ว๒๖ปีกว่าพยามสอบเป็นนายทหารสัญญาบัติให้ได้สอบมาสิบกว่าปีบังเอิญโชคดี(ทนรับราชการมานาน)จึงสอบได้เมื่อปีงป.๕๐ แน่ทางกำลังพลทหารเรือตรวจประวัติตามทะเบียนราษฎร

ปรากฎว่า ผู้ที่จะเป็นสัญญาบัตร จะต้องมีบิดาผู้ให้กำเหนิดจะต้องมีสัญชาติไทย โดยการเกิด แต่บิดากระผมได้ไปแจ้งขอถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวมาตั้งแต่ต้น และมีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรมีสัญชาติจีนปัญหากระผมจึงเริ่มก่อตัวขึ้น เพราะว่าทางกำลังพลทหารเรือเขาแจ้งให้ผมทราบว่าถ้าบิดาผู้ให้กำเหนิดมิได้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด ก็จะไม่มีสิทธิติดยศนานทหารสัญญาบัติจนเกษียณอายุ แต่บิดากระผมเกิดในประเทศไทยมีย่าเป็นคนไทย มีญาติพี่น้องเป็นคนไทยกระจายอย่หลายจังหวัดสามารถมายืนยันได้ทุกคน

สวัสดีค่ะอาจารย์ ตอนนี้หนูกำลังหาทางช่วยเพื่อนอยู่ เพื่อนของหนูอยากเรียนต่อมาก แต่เขาไม่มีบัตรประชาชน พ่อของเขาเป็นคนไทย แต่เขาไม่รู้ว่า พ่อเขาชื่ออะไร เพราะว่าพ่อเขาทิ้งเขาไปตั้งแต่เด็ก ส่วนแม่เป็นคนลาวค่ะ เขาเติบโตมาที่ประเทศไทย

เรียนจบม.6มา 2 ปีแล้ว เขารอที่จังหวัดจะออกบัตรให้เพื่อไปเรียนต่อ แต่เรื่องกับเงียบหายไป อาจารย์ช่วงแนะนำวิธีให้หนูหน่อยนะค่ะ เพื่อนเขาอยากเรียนมาก หนูอยากให้เพื่อนมีอนาคตค่ะ

คุณชลธิชา เรื่องเรียนต่อ ไม่ต้องใช้บัตรประชาชนนะคะ

เป็นคนละเรื่องกันค่ะ

เรื่องเรียนต่อ ทำไมจะไม่ใช่บัตรหละค่ะ ก้อในเมื่อเวลาสอบเขาก็ตรวจบัตรประชาชน เวลาไปแสดงตัวก้อต้องแสดงบัตรให้เขาดู

คุณดารณีคะ คนบางคนไม่มีบัตรประชาชน เพราะตกอยู่ในความไร้รัฐหรือไร้สัญชาติค่ะ

เมื่อไปสมัครเรียน โรงเรียนต้องรับค่ะ และก็จะมีชื่อในทะเบียนนักเรียนของโรงเรียนหรือทะเบียนนักศึกษาของมหาวิทยาลัย

เวลาสอบ ก็จะใช้บัตรที่ออกโดยโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย

ในวันนี้ โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยมีหน้าที่ต้องแจ้งชื่อนักเรียนหรือนักศึกษาไร้รัฐเพื่อขอรับการสำรวจเป็น "บุคคลไร้รัฐหรือบุคคลที่ไม่มีสถานะตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร" และกรมการปกครองก็จะออก "บัตรบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน" ให้ถือ ในระหว่างรอกระบวนการพิสูจน์และพัฒนาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย

สวัสดีค่ะอาจารย์ คือหนูมีเรื่องรบกวนสอบถามอาจารย์หน่อยค่ะ หนูรับอุปการะเด็กพม่าอยู่หนึ่งคนเลี้ยงมาตั้งแต่อายุ4เดือน ปัจจุบันนี้เด็กอายุ7ปี(เด็กจะอยู่กับหนูวันจันทร์-วันศุกร์ ส่วนเสาร์-อาทิตย์ก็จะไปอยู่กับพ่อแม่ของเด็ก ซึ่งพ่อแม่ของเด็กก็อยู่เมืองไทยมาเกิน10ปี อย่างถูกกฎหมาย) เข้าโรงเรียนตามปกติ แต่พอดีคุณแม่ของหนูทราบข่าวทางโทรทัศน์ว่ามีการเปิดให้ขอสัญชาติไทยให้กับเด็กได้ หนูต้องทำอย่างไรบ้างคะ อยากให้เด็กมีอนาคตที่ดีค่ะ  

สวัสดีค่ะ

หนูชื่อปรางทิพย์ค่ะ ตอนนี้กำลังเรียนอยู่ม.5หนูอยากได้สัญชาติค่ะหนูพอจะมีสิทธิ์ไหมค่ะ

พ่อแม่หนูเขาถือบัตรบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนค่ะ ส่วนหนูเกิดที่ประเทศไทยค่ะ 4/2/2542 โรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่น นครปฐมค่ะ แต่ในสูติบัตรระบุว่าสัญชาติอาข่าค่ะ มีทะเบียนบ้านด้วยค่ะแต่เป็นเล่มสีเหลือง เลขประจำตัวประชาชนเป็นเลข7ค่ะ หนูอยู่ตั้งแต่เกิดค่ะมีพี่ชายและก็พี่สาวด้วยค่ะเกิดที่ประเทศไทยเหมือนกัน พ่อแม่มาอยู่ประเทศไทยนานแล้วค่ะ แต่พึ่งทำบัตรบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนตอน2549ค่ะ เดือนตุลานี้จะครบสิบปีค่ะ

คือต้องการเรียนต่อมหาลัยค่ะแต่ม่มีบัตรแสดงตัวตนไปสมัครเลย แล้วก้สิทธิอะไรก้ไม่เท่าคนอื่นด้วยค่ะ จะเรียนก็กะไรอยู่เพราะไม่มีเงินแถมกู้ก.ย.ศ.ไม่ได้เพราะไม่มีสัญชาติ

มีวิธีไหนจะช่วยได้บ้างไหมค่ะ

เรียนอยู่โรงเรียนอะไรคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท