Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ยุทธนา ผ่ามวัน : แรงบันดาลใจในการปรับเป้าหมายการทำงานวิจัยและพัฒนาภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐ


จากกรณียุทธนา ผ่ามวัน เราเรียนรู้ว่า วิธีการช่วยเหลือเจ้าของปัญหาที่ยั่งยืนที่สุด ก็คือ (๑) การชี้ให้เจ้าของปัญหาเห็นสาเหตุของปัญหา (๒) การให้ความรู้แก่เจ้าของปัญหาในการแก้ไขปัญหา และ (๓) การสนับสนุนให้เจ้าของปัญหาเริ่มต้นแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง

            นอกจากนั้น โครงการเด็กไร้รัฐยังเป็นงานวิจัยครั้งนี้ยังเป็นงานแรกที่ดิฉันมุ่งเป้าหมายของการทำงานไปที่ตัวคนไร้รัฐเอง ซึ่งโดยทั่วไป งานวิจัยเพื่อการพัฒนานั้นก็ย่อมเอาประโยชน์ในแง่การพัฒนามนุษย์เป็นตัวตั้งอยู่แล้ว แต่สำหรับงานวิจัยเพื่อการพัฒนาภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐครั้งนี้ ยิ่งมุ่งที่จะเอา “เด็ก เยาวชน และครอบครัวที่ประสบความไร้รัฐและความไร้สัญชาติในสังคม” ซึ่งเป็น “เจ้าของปัญหา” มาเป็นทั้ง (๑) วัตถุแห่งการวิจัย (๒) ผู้ร่วมวิจัย และ (๓) ผู้ใช้ประโยชน์งานวิจัย             

            “เด็กและครอบครัวไร้รัฐหรือไร้สัญชาติจะถูกนำมาเป็นวัตถุแห่งการศึกษา” คนไร้รัฐและคนไร้สัญชาติก็เป็นวัตถุแห่งการศึกษาสำหรับเรามาโดยตลอด ประเด็นนี้คงไม่แปลกใหม่อะไรนักหากผู้ศึกษานั้นคือเราเอง แต่ในครั้งนี้ เราจะไม่ยอมศึกษาแต่ลำพัง เราจะลากเอาคนไร้รัฐและคนไร้สัญชาติซึ่งเป็นเจ้าของปัญหามาเป็น “ผู้ร่วมวิจัย” ด้วย เราจะเขี่ยวเค็ญให้พวกเขาต้องมาวิจัยตัวของเขาเอง เราจะสอนให้เขาเข้าใจให้ได้ว่า (๑) อะไรคือสาเหตุที่ทำให้พวกเขาไร้รัฐหรือเพียงไร้สัญชาติ และ (๒) การแก้ไขปัญหาความไร้รัฐหรือความไร้สัญชาติของพวกเขานั้นจะทำได้อย่างไร จะเห็นว่า องค์ความรู้ในการจัดการปัญหาความไร้รัฐและความไร้สัญชาตินั้นจะบังเกิดขึ้นแก่ผู้เป็นเจ้าของปัญหาเอง                

          เหลือแต่ความกล้าหาญและความอดทนที่เราจะต้อง “ฉีดวัคซีน” ให้กับเขา การนำเอาองค์ความรู้ที่สังเคราะห์ได้จากการวิจัยมาใช้ประโยชน์ก็เป็นทั้งศาสตร์และศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่จะต้องเรียนรู้ ศาสตร์แห่งการจัดการองค์ความรู้ยังเป็นสิ่งที่ใหม่สำหรับสังคมทางวิชาการของประเทศไทย การใช้ประโยชน์องค์ความรู้ก็ต้องการทักษะ ในสายวิชาชีพกฎหมาย เราชัดเจนว่า ครูสอนกฎหมายย่อมมีองค์ความรู้ในการกำหนดสิทธิหน้าที่ให้แก่มนุษย์หรือรัฐได้ แต่ครูสอนกฎหมายก็อาจจะรู้แค่ทฤษฎีกฎหมายในเรื่องนั้นๆ แต่ก็ไม่มีทักษะที่จะยอมทฤษฎีกฎหมายที่สร้างสรรค์ขึ้นมาใช้ในชีวิตจริง ซึ่งทนายความจะมีทักษะดังกล่าวนี้ และใช้ประโยชน์ทฤษฎีกฎหมายได้อย่างดีกว่าครูสอนกฎหมาย ซึ่งเป็นเจ้าของทฤษฎี เมื่อเราเริ่มต้นคิดโครงการเด็กไร้รัฐ เราฝันที่จะทดลองสอนให้เด็กไร้รัฐคนหนึ่งลุกขึ้นมาศึกษาปัญหาของตนเองและแก้ไขปัญหาด้วยตัวของเขาเอง เราเรียนรู้ว่า การปล่อยภารกิจในการแก้ไขปัญหาไว้ที่ภาคราชการ ภาคองค์กรพัฒนาเอกชน หรือแม้ภาควิชาการ น่าจะเป็นแนวคิดที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าใดนัก การแก้ไขปัญหาขึ้นอยู่กับความพร้อมของพวกเขาเหล่านี้ และเราเรียนรู้ว่า เจ้าของปัญหาไม่มีวันที่จะทอดทิ้งงานแก้ปัญหาของตนเอง เพียงแต่วิธีการที่พวกเขาใช้นักจะนำมาซึ่งคุณหรือโทษต่อพวกเขา และวิธีการที่พวกเขาใช้นั้นจะเป็นวิธีการที่อุดมปัญญาแค่ไหนกัน              

           เราอยากสร้างห้องทดลองทางสังคม (Social Lab) สำหรับความคิดเชิงญานวิทยาดังว่ามานี้และแล้ว “ยุทธนา ผ่ามวัน” ซึ่งเป็นเยาวชนไร้สัญชาติ ก็ปรากฏตัวขึ้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๗ เสมือนเพื่อเป็น “หนูทดลอง” สำหรับเรา     

         

           ยุทธนาสอบข้อเขียนเข้าคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ ได้ แต่ในชั้นของการสอบสัมภาษณ์ ประเด็นที่จุฬาฯ พบ ก็คือ เขาถือเพียงบัตรที่กรมการปกครองไทยออกให้แก่ “ญวนอพยพ” ซึ่งหมายถึงคนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่ผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทย เนื่องจากนักศึกษาแพทย์จะต้องรับราชการเมื่อจบแล้ว และข้าราชการต้องมีสัญชาติไทย สิ่งที่คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ บอกแก่ยุทธนา ก็คือ เขาคงจะไม่มีคุณสมบัติที่จะขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาแพทย์ฯ ของจุฬาฯ โอกาสทางการศึกษาของยุทธนาจึงดับลงเหมือนหลายครั้งในชีวิตของเขา           

          ยุทธนา เยาวชนไร้สัญชาติ เดินเข้ามาหาเรา เราตรวจข้อเท็จจริงของเขาอย่างละเอียด เราทราบแล้วว่า เขามิใช่คนต่างด้าว เขาเป็นเพียงเยาวชนที่โชคร้ายซึ่งถูกภาคราชการเข้าใจว่า เป็นคนต่างด้าวมาตั้งแต่เกิด  และด้วยความไม่รู้กฎหมายและด้วยความหวาดกลัวของครอบครัวของเขาที่ตระหนักว่า ตนนั้นมีเชื้อสายเวียดนาม จึงยอมรับมาโดยตลอดว่า ตนไม่มีสัญชาติไทย               

          เราเสนอให้เขาเอาเรื่องราวของเขาและครอบครัวมาศึกษา เราไม่ยอมให้เขาและครอบครัวเป็นแค่ “ผู้รับบริการด้านกฎหมาย” เราเคี่ยวเข็ญให้เขาศึกษาปัญหาความไร้สัญชาติของตัวเขาเองและครอบครัวร่วมกับเรา ยุทธนาจึงยอมรับเป็น “หนูตระเภา” ตัวแรกในห้องทดลองของเรา ยุทธนาและครอบครัวเป็นทั้ง “วัตถุแห่งการศึกษา” และเป็นทั้ง “นักศึกษา” ห้องเรียนของเราถูกสถาปนาขึ้นระหว่างเราและเขา รวมถึงครอบครัวของเขา พวกเขาจบการเรียนรู้ด้วยน้ำตาและรอยยิ้ม เขาทราบว่า (๑) ทำไมพวกเขาจึงถูกถือเป็นคนต่างด้าวโดยทุกรัฐบนโลก ? และ (๒) พวกเขาจะต่อสู้เอาสิทธิในสัญชาติที่เขามีอยู่กลับคืนมาอย่างไร ?ในขั้นตอนของการนำองค์ความรู้มาแก้ปัญหาของตนเอง เยาวชนอายุเพียง ๑๙ ปีอย่างยุทธนามีความหวาดกลัวทีเดียว เขาถูกปฏิเสธโอกาสทางการศึกษามาแล้วหลายครั้ง เราพยายามเรียนรู้ที่จะใส่ความกล้าหาญเข้าไปในจิตใจของเขา เราทำสำเร็จ เขายอมรับที่จะลุกขึ้นต่อสู้ด้วยองค์ความรู้ที่เราให้แก่เขา เขาไม่ท้อถอยอีกต่อไป เขาบอกเราว่า ความกล้าหาญของเขามาจากเราซึ่งยืนอยู่ข้างๆ เขา อันนี้นี่เองที่เราถอดประสบการณ์ออกมาใช้ในกรณีอื่นๆ ในการวิจัยและพัฒนาภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐ และพัฒนาต่อไปยังโครงการอื่นที่เราทำต่อๆ มาจนถึงวันนี้             

          จากกรณียุทธนา ผ่ามวัน เราเรียนรู้ว่า วิธีการช่วยเหลือเจ้าของปัญหาที่ยั่งยืนที่สุด ก็คือ (๑) การชี้ให้เจ้าของปัญหาเห็นสาเหตุของปัญหา (๒) การให้ความรู้แก่เจ้าของปัญหาในการแก้ไขปัญหา และ (๓) การสนับสนุนให้เจ้าของปัญหาเริ่มต้นแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง นับแต่ความสำเร็จของยุทธนา เยาวชนไร้สัญชาติและครอบครัวจำนวนมากเรียนรู้จากกรณียุทธนาผ่านสื่อมวลชน และแก้ไขปัญหาของตนเองได้สำเร็จ  

         ความเห็นทางกฎหมายเรื่องสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนของยุทธยาได้กลายเป็น “บทเรียนกฎหมายสัญชาติไทย” ซึ่งนักศึกษากฎหมายในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลได้ใช้ในการเล่าเรียนตลอดมา ดูเหมือนไม่มีข้อสงสัยอีกต่อไปว่า คนที่เกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ จากบิดาและมารดาที่เกิดในประเทศไทย มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนตั้งแต่เกิดตามกฎหมายสัญชาติที่มีผลในขณะที่พวกเขาเกิด และไม่เสียสัญชาติไทยโดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ในเวลาต่อมา หรือโดยมาตรา ๑๑ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ อันเป็นสองกฎหมายที่สร้างความทุกข์ในแก่คนเกิดในประเทศไทยที่มีเชื้อสายต่างด้าวจำนวนไม่น้อย

          จากกรณียุทธนา เราเสนอ มสช. ที่จะทำกรณีศึกษาเกี่ยวกับเด็กและครอบครัวที่ไร้รํบหรือไร้สัญชาติอีกมากมาย มีทั้งที่เราแก้ไขปัญหาของพวกเขาได้ และเราแก้ไขไม่ได้ เราสัญญาว่า เราจะพยายามใช้ “สูตรยุทธนา ผ่ามวัน” สำหรับเจ้าของปัญหาที่ร้องทุกข์เข้ามา   

        โดยชัยชนะของยุทธนาในการได้มาซึ่งสถานะคนสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดนในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๗ ด้วยตัวของเขาเอง ก็คือ ชัยชนะของบุคคลในสถานการณ์เดียวกันอีกกว่าสามพันคน

           จึงอยากจะบันทึกไว้ ณ ที่นี้ว่า ภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐนี้ เราได้พิสูจน์แล้วว่า การสร้างความเข้มแข็งและความรู้ให้แก่คนไร้รัฐและคนไร้สัญชาติเป็นสิ่งที่ควรทำ และเป็นทั้งปัจจัยและวิธีการที่สร้างความสำเร็จในการจัดการปัญหาและผลกระทบของปัญหาความไร้รัฐและความไร้สัญชาติของเด็ก เยาวชน และครอบครัวในสังคมไทย โครงการเด็กไร้รัฐอาจจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่งานของเราเพื่อคนไร้รัฐและคนไร้สัญชาติยังไม่สิ้นสุด เรายังทำงานของเราเหมือนเดิม..... แต่ด้วยความมั่นใจในองค์ความรู้ที่เราสังเคราะห์ขึ้น                  

           ในท้ายที่สุด จึงต้องขอขอบคุณคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติที่ยอมตนเป็น “หนูทดลอง” ในห้องทดลองทางสังคมที่มีชื่อว่า “โครงการเด็กไร้รัฐ”                   

            ขอบคุณทั้ง มสช. และ สสส. ที่สนับสนุนการทำงานของเรา และขอโทษที่เราอาจจะมีข้อผิดพลาดบางประการในด้านธุรการตามวิธีการขององค์กรทั้งสอง ซึ่งเราไม่มีเจตนาจะทำผิดพลาด

              นี่คือ ความในใจของเราที่อยากให้ท่านทั้งหลายรับรู้

หมายเลขบันทึก: 50263เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2006 18:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:54 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท