Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ฟองจันทร์ สุขเสน่ห์ : กระทรวงมหาดไทยจะถอนสัญชาติไทยของเธอได้ง่ายๆ จริงหรือ ??


Date: Thu, 30 Apr 2009 09:56:11 อาจารย์คะ หนูมีคำถามเกี่ยวกับการเสียสัญชาติ พอดีพี่อุดมเป็นห่วงหนูเพราะได้ยินจากทางกรมการปกครอง (งานสัญชาติ) ว่าหนูจะถูกถอนสัญชาติไทยเพราะมีสัญชาติอเมริกันในขณะที่ได้สัญชาติไทย คือพี่อุดมโทร.ไปถามเรื่องการแปลงสัญชาติของพี่เค้าเอง ไม่ได้พูดอะไรเกี่ยวกับฟองเลย แต่เจ้าหน้าที่ที่ปลายทางพูดขึ้นมาเองว่า น้องสาวของคุณไม่ควรได้สัญชาติตั้งแต่แรกแล้วเพราะไม่ใช่คนในเจตนารมณ์ของมาตรา 23 เพราะมีสัญชาติอเมริกันอยู่ และอีกหน่อยทางกระทรวงจะมีมาตรการถอนสัญชาติไทยของฟอง พี่อุดมก็ถามว่าแล้วจะให้ทำยังไงถ้าไม่มีสัญชาติไทยแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ตอบว่าให้กลับอเมริกา พี่อุดมก็ตอบว่า น้องฟองจันทร์คืนแพสพอร์ทที่สถานทูตแล้ว เจ้าหน้าที่ก็กลับมาคุยเรื่องของพี่อุดมต่อ เรื่องนี้เกิดขึ้นวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒ คะ หนูตกใจมาก ไม่ทราบว่า ทางกระทรวงกำลังเตรียมมาตรการแบบนี้จริงๆ หรือเปล่าคะ ตอนแรกถึงกับร้องไห้เพราะฟังและแปลเรื่องคนไร้รัฐมาทั้งวัน แล้วกลับบ้านก็รับทราบว่า มีคนพยายามทำให้เราเป็นคนไร้รัฐอยู่ เหมือนคนที่แม่อาย หนูไม่รู้ควรใส่ใจคำพูดของเจ้าหน้าที่คนนี้มากน้อยแค่ไหน ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ระดับต่ำๆ จะไม่ใส่ใจมาก เพราะเขาอาจจะได้รับข้อมูลผิดพลาดก็ได้ แต่เขาเป็นคณะกลั่นกรองสัญชาติคนหนึ่ง ไม่สบายใจเลยคะ ควรทำไงดีเพื่อป้องกันไม่ให้ใครทำให้เสียสัญชาติ ขอบคุณคะ ฟองจันทร์

  

เมื่อวานนี้ (๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒)   ฟองจันทร์โทรมาร้องไห้กับ อ.บงกช นภาอัมพรว่า จะโดนถอนสัญชาติ เราเองกำลังอยู่ในงานศพของ อ.กฤษฎา ยาสมุทร ก็ฟังกันไม่ถนัด ก็เลยให้อีเมลล์มาเล่ารายละเอียด เมื่อมีเวลา ก็เลยมาอ่านอีเมลล์และโทรกลับกัน อ.แหววทั้งขำและเป็นห่วง

         มาวันนี้ ถึง กทม.เลยอีเมลล์หารือคนมากมาย เพราะกังวลว่า คนในสถานการณ์ของฟองจันทร์จะเสียขวัญ เรามีคนสัญชาติของรัฐต่างประเทศ ที่ขาดความสัมพันธ์กับประเทศต้นทางค่อนข้างมากในประเทศไทย พวกเขามีสถานะเป็น "คนเสมือนไร้สัญชาติ" เพราะไม่ไร้สัญชาติโดยข้อกฎหมาย พวกเขามีสัญชาติของรัฐใดรัฐหนึ่งที่มีอยู่จริง เพียงแต่รัฐนั้นไม่อาจเอื้อสุขแก่เขา เพราะเขาไม่มีทั้งความสัมพันธ์กับรัฐนั้นแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน รัฐปลายทางที่มีความสัมพันธ์อย่างแท้จริงก็มิใช่รัฐเจ้าของสัญชาติ

          เป็นโชคดีที่รัฐไทยใน พ.ศ.๒๕๕๑ เข้าใจตรงนี้ และได้บัญญัติให้คนเสมือนไร้สัญชาติที่เกิดในประเทศก่อนวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ ได้สิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ ฟองจันทร์ก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับการขจัดความเสมือนไร้สัญชาติ

           เรื่องราวของฟองจันทร์ในวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒ ทำให้ทราบว่า อาจมีเจ้าหน้าที่ในกรมการปกครองที่ยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ อ.แหววก็เลยคิดว่า จำเป็นที่จะต้องหารือน้อง ๒ ท่าน ที่ทำงานใน "สนมน. - สำนักความมั่นคงภายใน กรมการปกครอง" ที่จะช่วยแก้ไขสถานการณ์ความเข้าใจผิดนี้

 

            อ.แหววจึงเขียนในอีเมลล์ว่า

"อุดมเขต (อ.อุดมเขต ราษฎรนุ้ย” และนก (คุณธนภัทร ณ ระนอง) คะ

 

ช่วยอ่านอีเมลล์ข้างล่างด้วยค่ะ เขียนโดยฟองค่ะ อ.แหววมีคำขอและเรื่องหารือดังนี้นะคะ

1.  ขอความกรุณาท่านทั้งสองอธิบายเรื่อง “คนเสมือนไร้สัญชาติ” ให้แก่เจ้าหน้าที่ตอบคุณอุดมตามข้อเท็จจริงด้วยนะคะ คงจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือเปล่าคะ จะเป็นที่เสื่อมเสียแก่ สนมน.นะคะ มีคนอย่างฟองจันทร์มากที่ละทิ้งประเทศต้นทางมาทำคุณประโยชน์แก่ประเทศไทย พวกเขาก็จะตกใจไปกันใหญ่ ประเด็นความมั่นคงแห่งรัฐอันเนื่องมาจากความมั่นคงแห่งประชากรก็จะเกิดไม่ได้ และกฎหมายใหม่ที่ยกร่างขึ้นก็จะดำเนินมิได้ในความเป็นจริง การถอนสัญชาติไทยโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยคงไม่อาจเกิดขึ้นได้ตามใจชอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๑๗ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ก็กำหนดอย่างชัดเจน และต้องผ่านหลายขั้นตอน มิใช่จะเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่ของ สนมน.หรือคณะกรรมการกลั่นกรองสัญชาติ

2.  เพื่อทำให้แนวคิดและทัศนคติเกี่ยวกับการเสียสัญชาติไทยชัดเจนขึ้น พี่จึงตกลงใจจะจัดเสวนาวิชาการเรื่องการเสียสัญชาติไทยของคนสองสัญชาติค่ะ จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายสัญชาติมาคุยกัน จะได้เกิดความชัดเจนในเรื่องนี้เสียที โดยจะเริ่มต้นเขียนบทความทางวิชาการเพื่อสรุปข้อกฎหมายนะคะ (๑) ข้อกฎหมายระหว่างประเทศ โดยพี่เอง (๒) ข้อกฎหมายไทย พี่จะทาบทามท่านสมชัย วัฒนการุณ ท่านตุลาการศาลปกครองที่เป็นเจ้าของสำนวนด้านกฎหมายสถานะบุคคล (๓) แนวคิดของกรมการปกครอง พี่จะเชิญให้ท่าน สนมน. ส่งผู้แทนเขียนเรื่องนี้นะคะ และ (๔) กรณีศึกษาเกี่ยวกับคนหลายสัญชาติในประเทศไทย ซึ่งพี่จะเชิญให้มวลมิตรของ SWIT ทำค่ะ  ประเด็นนี้ พี่จะทำเป็นประเด็นหนึ่งในการหารือท่านอธิบดีกรมการปกครอง ในโอกาสที่จะไปเยี่ยม

3.  ต้องเรียนจุดยืนว่า ไม่ได้โต้แย้งการถอนสัญชาติไทยของคนสองสัญชาติที่ละทิ้งหรือละเลยประเทศไทย แต่การขู่ประชาชนแบบดื้อๆ แบบนี้ คงยอมไม่ได้ค่ะ คนเชื้อสายต่างประเทศที่มาทำคุณประโยชน์จนเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยอย่างชัดเจนนั้น ไม่ควรจะถูกข่มขู่

4.  และจะต้องมองการณ์ไกล คนสองสัญชาติที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาก็มีค่ะ เรื่องของหลักต่างตอบแทนก็มี หากเราปฏิบัติต่อคนสัญชาติอเมริกันที่มาได้สัญชาติไทยแบบอมนุษย์นิยม ก็จะเป็นเหตุให้คนสัญชาติไทยที่ไปได้สัญชาติอเมริกันก็จะถูกปฏิบัติในลักษณะเดียวกัน ซึ่งก็จะไม่เป็นประโยชน์อันใดเลย โลกเปลี่ยนไปมากแล้ว ความคิดที่จะพูดอะไรก็ได้คงจะลำบากนะคะ

5.  พี่รับฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นด้วยนะคะ โปรดอธิบายมาเถอะค่ะ  ข้อความจริงเกี่ยวกับการเสียสัญชาติไทยของฟองจันทร์ที่เจ้าหน้าที่อธิบายก่คุณอุดม เป็นอย่างไรกันแน่ ?? เราควรจะฟังความสองด้าน ไม่อยากให้น้องสองคนเงียบไปดื้อๆ เราควรใช้เหตุผลนิยม และขอย้ำว่า อีเมลล์นี้มิใช่การเขียนมาต่อว่า

6.  พี่คิดว่า ข้อเท็จจริงนี้มีผลเพียงเตือนพี่ให้เริ่มคิดงานวิชาการในประเด็นนี้เร็วขึ้น และพี่คิดว่า สิ่งศักดิ์สิทธิเตือนให้พี่ควรเริ่มชวน สนมน.คุยเรื่องนี้ให้ชัดเจน เมื่อ Common ASEAN มาถึง เรื่องแบบนี้ก็จะมากขึ้นและซับซ้อนขึ้นค่ะ ความจริงก็คุยกับนกมาตลอดนะคะ รวมถึงเรื่องการกลับคืนสัญชาติไทย คงจะต้องผลักดันให้มีการศึกษาเรื่องทั้งสองนี้อย่างจริงจังเสียทีค่ะน้องๆ

 

อ.แหวว”

 

         นอกจากนั้น อ.แหววยังได้  ปล. ถึงบุคคลอีก ๓ ท่าน เพื่อช่วยคิด กล่าวคือ  (๑)  ขออนุญาตแนบอีเมลล์หารือให้ท่านที่เคยทำงานเกี่ยวกับกฎหมายใหม่เพื่อขจัดปัญหาความไร้สถานะทางกฎหมายได้อ่านและมีความเห็นเพิ่มเติมค่ะ (๒)  อยากฟังความเห็น อ.ด๋าว (ดรุณี ไพศาลพาณิชยกุล)  ค่ะ จะรบกวนให้เข้ามาจัดการโครงการนี้ให้ อ.แหววได้ไหมคะ และ (๓) อยากฟังความเห็น อ. หนอน (สุรพงษ์ กองจันทึก)  ซึ่งเป็นคนหนึ่งในคณะกรรมการกลั่นกรองสัญชาติค่ะ

        เรามารอคำตอบจากมวลมิตรกันค่ะ

        และนี่ก็คือ คำตอบจาก อ.ด๋าว (ดรุณี ไพศาลพาณิชยกุล) แห่งสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (SWIT)

ฟองจันทร์ สุขเสน่ห์, เธอ-จะเสียสัญชาติไทยด้วยเหตุอะไร? (10 พฤษภาคม 2552)http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=449&d_id=448

คลิกอ่านได้ค่ะ ฟองจันทร์ และใครที่มีสัญชาติไทยแบบฟองจันทร์

 

หมายเลขบันทึก: 258582เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2009 15:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท