Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

คำนิยมสำหรับหนังสือถอดบทเรียนความสำเร็จ ‘Success Story’ ของคนไร้รัฐไร้สัญชาติและคนชาติพันธุ์


เผยแพร่ในหนังสือชื่อ “ดวงดาวที่ริมขอบแดน” , เพื่อเผยแพร่เรื่องราวแห่งการยืนหยัดและสรรค์สร้างสังคมของเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติและชาติพันธุ์, ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว บรรณาธิการ, จัดพิมพ์โดย มูลนิธิสยามกัมมาจล, โรงพิมพ์เดือนตุลา, ๒๕๕๓, หน้า ๖ – ๑๗

โดยหลักการ การเขียนคำนิยมหนังสือมักจะกล่าวคือ ‘ข้อน่านิยม’ ของตัวของผู้ทำหนังสือหรือเนื้อหาของหนังสือ แต่ในครั้งนี้ ผู้เขียนใคร่จะย้อนกลับไปนิยม ‘แนวคิดหนึ่ง’ ซึ่งผู้จัดทำหนังสือได้พยายามใช้ในการจัดทำหนังสือ แนวคิดนั้นมักถูกเรียกในปัจจุบันง่ายๆ ว่า หรือเรียกสั้นลงไปอีกว่า ‘SS’ ซึ่งหากเราจะพูดอย่างอธิบายความก็คือ ‘ทฤษฎีการถอดบทเรียนความสำเร็จเพื่อพัฒนาสุขภาพสังคม’

ผู้เขียนไม่เคยทราบที่มาที่ไปของทฤษฎีนี้ จนกระทั่งมาพบท่านศาสตราจารย์ นพ.วิจารณ์ พานิช ในวันหนึ่ง หลังจากรู้จักท่านมาก่อนหน้านั้นเป็นสิบปี ท่านมีอะไรใหม่ๆ มาให้คิดและทำตามเคย ท่านยังเป็นครูสอนวิจัยผู้เขียนดังวันแรกที่ท่านเป็น ทศวรรษหลังนี้ ท่านสอนให้ทำงานวิจัยรายวัน โดยการคิด อ่าน และเขียน ร่วมกับประชาคมนักวิจัยเพื่อการพัฒนาเรื่องจริงเกี่ยวกับประเทศไทยและโลกทั้งใบใน http://www.gotoknow.org และสิบปีหลังนี้ ท่านอาจารย์วิจารณ์สอนให้วิจัยรายวันจากเรื่องจริงโดยใช้การถอดบทเรียนจากความสำเร็จของคน สำหรับท่าน ทุกเรื่องจริงของมนุษย์มีความสำเร็จซ่อนอยู่ให้เรียนรู้และขยายผล ซึ่งก็คือ แนวคิดที่ค่อนไปในเชิงที่โลกทั้งใบเรียกว่า ‘คิดเชิงบวก (Positive Thinking)’

การคิดเชิงบวกต่อกันจะส่งผลให้มนุษย์พิพาทกันน้อยลง เพราะจะเป็นอัตวิสัยน้อยลง ภาวะวิสัยมากขึ้น การสะสมและหมักหมมปัญหาก็จะหมดไป แม้เกิดความไม่สำเร็จขึ้นเราก็จะพยายามเข้าใจที่สาเหตุ มากกว่าจะไปคิดโกรธเคืองสาเหตุของเรื่องโดยไม่ทำอะไร และจัดการปลายทางพอผ่านตัว และก็เวียนว่ายตายเกิดขึ้นกับเรื่องความไม่สำเร็จเดิมๆ จนเกิดความทุกข์ความท้อให้แก่ตัวเอง ขยายผลไปถึงสังคมของประเทศ และของโลกต่อไป

ขอย้ำอีกครั้งว่า สิ่งที่ผู้เขียนได้รับการสื่อสารจากครูสอนวิจัยของผู้เขียนในสิบปีหลังนี้ ก็คือ สิ่งที่นักวิจัยเพื่อการพัฒนาควรทำ ก็คือ (1) นอกจากการไม่มองเชิงลบต่อตัวเองและสถานการณ์ตรงหน้า (2) นักวิจัยเพื่อการพัฒนาควรค้นคว้าหาเรื่องความสำเร็จในเรื่องจริงทุกเรื่องและนำมาถอดประสบการณ์เพื่อสร้างบทเรียน (3) การศึกษาความสำเร็จในเรื่องจริงไม่หมายความว่า เราจะไม่มองความไม่สำเร็จในเรื่องจริงนั้น ในทางตรงข้าม เราจะต้องศึกษาความไม่สำเร็จนี้อย่างเป็นภาวะวิสัย เพื่อที่จะทราบ ‘จุดเปลี่ยน’ ระหว่างความสำเร็จและความไม่สำเร็จ (4) การเขียนงานวิจัยเกี่ยวกับ SS นั้น ควรจะต้องขยายผลสู่ ‘องค์ความรู้เชิงวิธีการ’ เพื่อการเข้าสู่ความสำเร็จ กล่าวคือ ‘สูตรสู่ความสำเร็จ’ หรือ ‘สูตรสำเร็จ’

ผู้เขียนตระหนักว่า องค์ความรู้เชิงวิธีการสู่สูตรความสำเร็จในแต่ละครั้งน่าจะมีอยู่ 4 ขั้นตอน กล่าวคือ (1) การสร้างและพัฒนาแนวคิดในการกำหนดแผนการทำงานสู่ความสำเร็จที่ชัดเจน (2) การสร้างและพัฒนาแผนการทำงานที่รอบด้านและเป็นจริง (3) การสร้างและพัฒนาทีมงานที่เชื่อในเป้าหมายและแผนการทำงานที่สร้างขึ้น (4) การสร้างและพัฒนาการประเมินผลแผนการทำงานที่รอบด้าน กล่าวคือ ยอมรับการประเมินผลทั้งภายในและภายนอกทีมงาน

เรื่องของการวิจัยแนวคิดและแนวทางเป็นเรื่องที่เป็นทฤษฎีบริสุทธิ์ (Pure Theory) ซึ่งจะเลื่อนลอยและจับต้องไม่ได้ หากเราไม่ประยุกต์ทฤษฎีโดยการนำมาปรับใช้กับเรื่องจริง และสร้างสูตรสำเร็จสำหรับคนจำนวนมากที่อาจยังเข้าไปถึงตัวทฤษฎี

หากเราเปรียบความสำเร็จ ก็คือ ‘มะม่วงพันธุ์ดี’ การสร้างและพัฒนามะม่วงพันธุ์ดีย่อมต้องการสูตรสำเร็จในการสร้างและพัฒนาแนวคิดและแนวทางในการทำงานเช่นกัน

ในประการแรก เราคงต้องเริ่มต้นสร้างแนวคิดเกี่ยวกับมะม่วงพันธุ์ดีเสียก่อน อะไรคือมะม่วง ? มะม่วงมีกี่ประเภท ? และความดีของมะม่วงเป็นอย่างไร ?

ในประการที่สอง เราย่อมต้องกำหนดแนวทางในการค้นหามะม่วงที่ดีสำหรับผู้บริโภค แต่อย่างไรก็ตาม มะม่วงที่ดีๆ มีมากมายหลายพันธุ์ และความดีของมะม่วงยังขึ้นอยู่กับการใช้งานและรสนิยมของผู้บริโภคแต่ละคน จึงต้องมีการกำหนดแนวทางเพื่อได้มาซึ่งมะม่วงที่ดีดังวัตถุประสงค์และรสนิยมของผู้บริโภคที่เป็นเป้าหมาย อาทิ หากเราต้องการมะม่วงเพื่อมาทานกับน้ำปลาหวาน เราย่อมต้องการมะม่วงดิบ ความดีของมะม่วงก็คือ ความยังไม่สุกมาก แต่ก็ต้องไม่ดิบจนเกินไป เนื้อมะม่วงควรจะกรอบ ไม่เหนียวนัก ซึ่งหากเราศึกษาในขั้นตอนนี้ได้แล้ว เราก็ต้องตระเวณหามะม่วงที่มีลักษณะดังกล่าว และนำมาปอกเปลือก ทำความสะอาด หั่นเป็นชิ้นๆ เพื่อนำสู่ความพร้อมที่จะบริโภค หากเป็นการแสวงหามะม่วงเพื่อบริโภคเอง ก็ใส่จาน พร้อมนำมาวางตรงหน้าของผู้บริโภค แต่หากเป็นการแสวงหามะม่วงเพื่อขายต่อไปยังผู้จำหน่ายอื่น ก็คงต้องใส่หีบห่อที่เหมาะสม อาจจะเป็นถุงพลาสติกใส แต่ถ้าการขนส่งมีลักษณะไกลและใช้เวลา ถุงใส่มะม่วงพร้อมบริโภคก็อาจจะต้องอยู่ในบรรยากาศที่ไม่ร้อนเกินไป เราย่อมต้องมี ‘แผนการทำงาน’ ที่ครบถ้วนและรอบด้าน

ในประการที่สาม เราคงต้องมีความชัดเจนเกี่ยวกับทีมงานในการแสวงหาและพัฒนามะม่วงสู่เป้าหมายอันเป็นผลของแนวคิดและแนวทางที่กำหนดไว้ในแผนการทำงาน เราอาจสังเกตว่า หากการแสวงหามะม่วงเพื่อบริโภคเองในบ้าน หรือหากการแสวงหามะม่วงเพื่อการจำหน่ายในร้านค้าของต้นทาง ทีมงานก็อาจมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ซับซ้อน คงต้องทราบว่า ใครจะเริ่มต้นจากการปลูกมะม่วงไหม ? หรือซื้อจากตลาดค้ามะม่วง ? การตัดสินใจนี้จะทำให้เราทราบว่า เราจะต้องมีทีมปลูกมะม่วงไหม ? หรือเราไม่ปลูกเองล่ะ เรามีทีมไปซื้อที่ตลาดก็พอ นอกจากนั้น ก็ต้องมีคนมาทำงานในขั้นตอนต่างๆ อาทิ ปอก ล้าง หั่น ใส่จานหรือใส่ถุง หรืออาจจะต้องมีคนขับรถไปส่งต่อผู้ขายปลีก หรืออาจส่งต่อไปยังสนามบิน เพื่อส่งต่อไปยังผู้บริโภคในต่างประเทศ

ในประการที่สี่ เราคงต้องมีการประเมินผลความสำเร็จในการจัดการมะม่วงพันธุ์ดีตามแผนการทำงานของเราสม่ำเสมอ อาทิ หากเราจัดการมะม่วงเพื่อขายต่อไปยังร้านอาหารในประเทศญี่ปุ่น เราควรจะต้องทราบว่า มะม่วงไปถึงญี่ปุ่นอย่างมีคุณภาพที่พึงพอใจลูกค้าหรือไม่ มีโอกาสขยายตลาดต่อไปในประเทศญี่ปุ่นหรือไม่ ยอดการขายที่ดีนั้นมีสาเหตุจากอะไร

ผู้เขียนเปิดฉากโดยการรำลึกถึงคำสอนของท่านอาจารย์วิจารณ์ พานิช และเล่าถึงเรื่องการสร้างสร้างสูตรสำเร็จในการพัฒนาสังคมจากเรื่องจริงในรูปแบบที่เราซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านลองผิดลองถูกเสมอมา และเราก็เห็นว่า การมองให้เห็นความสำเร็จอย่างที่ท่านอาจารย์วิจารณ์ชี้แนะ และนำมาสร้างสูตรสำเร็จ และพัฒนาสูตรสำเร็จอย่าให้ล้าสมัย ก็เป็นสูตรการทำงานเพื่อการพัฒนาสังคมที่เป็นไปได้จริงในสังคมไทย

คำนิยมประโยคแรกจึงน่าจะเป็นคำนิยมสำหรับทฤษฎีบทเรียนความสำเร็จของท่านอาจารย์วิจารณ์นั้นเอง ซึ่งในวันนี้ ก็เรียกกันทั่วไปแล้วว่า ‘การศึกษา SS’ 

คราวนี้ ย้อนกลับมาที่หนังสือเล่มนี้ ซึ่งคณะผู้จัดทำมุ่งที่จะใช้ทฤษฎี SS ในการแสวงหาเรื่องราวความสำเร็จของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติและชาติพันธุ์ และสรุปบทเรียนจากความสำเร็จเชิงปัจเจกนี้ให้ส่งผลดีมากขึ้น ‘มะม่วงพันธุ์ดี’ ของพวกเขาก็คือ ‘คนไร้รัฐคนไร้สัญชาติและชาติพันธุ์’ ซึ่งเป็นคนพันธุ์ดีของสังคมไทยและสังคมโลก

ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2552 จากที่ได้อ่านอีเมลล์ที่ อ.ด๋าวและน้องๆ ซึ่งกำลังเตรียมโครงการเพื่อการศึกษาเรื่องความสำเร็จ (Success Story = SS) ของเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติและชาติพันธุ์แล้วเพิ่งคิดได้ว่า งานน่าจะมี 2 ชุด 5 กิจกรรม ซึ่งก็คือ วิธีวิทยาเพื่อพัฒนาสังคม : รอเก็บเกี่ยว SS คงไม่เพียงพอ เราควรจะกระตุ้นให้ของเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติและชาติพันธุ์ไปถึง SS อีกด้วย อันได้แก่

งานชุดที่หนึ่ง น่าจะเป็นงานเกี่ยวกับเนื้อหาของ SS และความพยายามที่จะไปถึง SS

มันคงเป็นตรรกวิทยาว่า ถ้าเราไม่มีต้นมะม่วง เราก็คงไม่มีมะม่วงเกิดขึ้น เราอาจปลูกเอง แล้วรอกินมะม่วงนั้น หรือเราใจร้อน เราก็ไม่ปลูกเอง แต่ตระเวณหามะม่วงจากต้นที่คนอื่นปลูก การเลือกวิธีแรก ก็จะช้าและโอกาสพลาดอาจมีน้อย เพราะต้นมะม่วงของเรา ถ้ามันออกลูก เราก็คงได้กินมะม่วง แต่หากเราเลือกวิธีที่สอง ก็อาจจะเร็ว แต่ก็เสี่ยงที่จะไม่ได้มะม่วงเลย ล้มเหลวอย่างแน่นอน เพราะเราอาจไม่เจอต้นมะม่วง หรือเจอ แต่เจ้าของมะม่วงไม่ยอมให้หรือขายมะม่วงให้เรา มะม่วง ก็คือ SS ของเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติและชาติพันธุ์ ถ้าเราคิดเพียงจะสื่อสาร SS นี้ เราก็คงต้องเลือกวิธีใดวิธีหนึ่ง ปัญหาก็คือ อ.ด๋าวและคณะจะเลือกวิธีไหน? หรือเลือกทั้งสองวิธี

ถ้าเป็น อ.แหวว ก็เอาทั้ง 2 วิธีการ กล่าวคือ จึงทำให้งานชุดที่ 1 นี้ ประกอบด้วยกิจกรรม 3 อย่าง กล่าวคือ

1)   กิจกรรมสำรวจ SS ของเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติและชาติพันธุ์

อย่างแรก ก็คือ การตระเวณหามะม่วงมากิน หรือตระเวณหา SS ของเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติและชาติพันธุ์มาสื่อสาร การสำรวจ SS อาจทำโดยการอ่านและหารือองค์กรด้านเด็ก อาทิ เราพบว่า น้องบิ๊ก บุตรแรงงานต่างด้าวไร้สัญชาติคนหนึ่งมีความเชี่ยวชาญในการตีระนาด เขาก้าวข้ามความด้อยโอกาสของเขามาสู่ความเป็นศิลปินน้อยของสังคมไทย เป็นมะม่วงหรือ SS ของเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติและชาติพันธุ์ตัวอย่างหนึ่งที่เราสำรวจพบ

2)   กิจกรรมกระตุ้นให้เยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติและชาติพันธุ์ให้สร้าง SS

กิจกรรมที่สอง ก็คือ กิจกรรมเพื่อกระตุ้นให้เยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติและชาติพันธุ์ให้สร้าง SS  เราคงหาเมล็ดพันธุ์มะม่วงได้ไม่ยาก เหมือนเราพบเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติและชาติพันธุ์มากมายในสังคมไทย โดยธรรมชาติ พวกเขาก็อยากทำความดี ดังนั้น ทำไมเราจึงไม่ไปตั้งวงเสวนาเพื่อกระตุ้นความอยากทำความดีกับเขาล่ะ เช่น เราทราบว่า เยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติอยากจะนำเที่ยวทุ่งหญ้าดอกไม้แสนสวยที่บะไห พวกเขาไม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ ดังนั้น เราก็ปลูกมะม่วงซินะ เราก็ตั้งวงเสวนากับเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติที่ บ้านบะไห อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้องค์ความรู้ด้านการให้บริการการท่องเที่ยวเพื่อเตรียมทุ่งดอกไม้บะไห เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ มีเอนจีโอแสนเก่งที่สอนคนในชนบทที่ไม่เคยเรียนเรื่องธุรกิจการนำท่องเที่ยวอยู่ในประเทศไทยหลายคน แล้วทำไมเราจะไม่ตามคนเหล่านั้นไปถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติที่บะไห ?

SS อาจไม่เกิดโดยทันที แต่เมื่อเราขุดดินทำหลุมเพื่อเอาเมล็ดมะม่วงพันธุ์ดีลงดิน และรดน้ำ อีกทั้งพรวนดิน ความพยายามที่จะไปถึง SS ก็เกิดแล้ว เราก็มีอะไรจะสื่อสารแล้วซินะ เหมือนเราเฝ้าดูแพนด้าที่สวนสัตว์เชียงใหม่เติบโตอย่างนั้นเลย เราได้สร้างพื้นที่การเรียนรู้เริ่มจากระหว่างคนทำงานเพื่อคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติ ไปจนถึงคนนอก ซึ่งมิได้ทำงานในเรื่องนี้ ไม่ว่า จะสำเร็จได้จริงไหม ไม่ว่าต้นมะม่วงจะมีลูกมะม่วงให้เราไหม แต่เราก็มี SS แล้วล่ะ นั่นก็คือ SS ที่ได้บรรลุที่จะพาใครต่อใครไปทดลองปลูกต้นมะม่วง SS ที่จะช่วยกันเรียนรู้ how to reach success story และ how to reach unsuccess story

3)   งานกระตุ้นชุมชนหรือครอบครัวไร้รัฐไร้สัญชาติและชาติพันธุ์ เพื่อสร้างพื้นที่ที่เอื้อต่อการสร้าง SS ของเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติและชาติพันธุ์

เมื่อเราปลูกมะม่วง เราก็ต้องใส่ปุ๋ย ใช่ไหมล่ะ การกระตุ้นเพียงแค่เด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติและชาติพันธุ์ก็ไม่น่าพอเพียง ทำไมเราไม่ไปกระตุ้นคนที่อยู่รอบตัวเด็กและเยาวชนด้วยล่ะ นั่นก็คือ การกระตุ้นน่าจะต้องทำต่อชุมชนหรือครอบครัว เพื่อสร้างพื้นที่ที่เอื้อต่อการสร้าง SS ของเยาวชน เช่น การตั้งวงเสวนากับอำเภอโขงเจียมและภาคธุรกิจที่อุบลราชธานีเพื่อกระตุ้นให้ร่วมมือกับเยาวชนไร้สัญชาติในการประกอบธุรกิจท่องเที่ยวทุ่งหญ้าดอกไม้บะไห คราวนี้ล่ะ ‘ความพยายามที่จะไปถึง SS ของเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ ก็จะขยายตัวเป็นความพยายามของสังคมที่แวดล้อมพวกเขาอีกด้วย กระบวนการเรียนรู้ที่จะสร้างและไปถึง SS จึงเกี่ยวข้องกับคนกลุ่มใหญ่ขึ้น

งานชุดที่สอง เป็นงานสื่อสารสาธารณะ ซึ่งเป็นการเล่าเรื่อง SS ที่เกิดแล้วและกำลังจะเกิดให้สังคมได้ทราบ

ถ้าเราต้องการจะขยายผลของ SS ก็จะต้องสื่อสาร จะปิดทองหลังพระไม่ได้ งานเผยแพร่ SS และความพยายามที่จะกระตุ้น SS ที่นั้น อาจทำเป็นลายลักษณ์อักษร หรือเป็นความเคลื่อนไหวก็ได้ กิจกรรม 2 ลักษณะ จึงจำเป็นเพื่อทำงานสื่อสารสาธารณะ

1)   งานสื่อกระดาษ SS และความพยายามที่จะไปถึง SS ของเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติและชาติพันธุ์

สื่อกระดาษนั้นมีความเป็นไปได้หลายประการ อาทิ Pocket book ดังที่ อ.ด๋าวอยากทำ หรือเพียงเขียนบทความลงในสื่อกระแสสัก 2-3 เล่ม แล้วอาจขยายผลโดยการเอาลงใน Websites ต่างๆ เราอาจเชิญนักข่าวที่เชี่ยวชาญการเขียน หรือมีพื้นที่สื่อสารอยู่แล้ว ลงพื้นที่ไปด้วยตอนเราทำกิจกรรมกระตุ้นข้างต้น พวกเขาก็จะถูกกระตุ้นให้เข้าใจภาระหน้าที่ในการสื่อสาร SS ของเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติและชาติพันธุ์

กลับมาเรื่องของมะม่วงอีกครั้ง เมื่อเราปลูกมะม่วงเอง และอยากให้สังคมไทยตามดูต้นมะม่วงเติบโต สื่อกระดาษดังว่านี่ล่ะที่จะทำหน้าที่เฝ้าดูความเติบโตของ SS ของเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติและชาติพันธุ์ เป็นห้องเรียนของสังคมไทยที่จะเรียนรู้ที่จะจัดการ SS พร้อมไปกับเด็กและเยาวชนดังกล่าว

2)   งานสื่อสาร SS และความพยายามที่จะไปถึง SS ของเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติและชาติพันธุ์ โดยสร้างความเคลื่อนไหวทางสังคม

ดังเราใช้มะม่วงเป็นอุปมาอุปมัย เราคาดเดาว่า มีต้นมะม่วงมากมายในประเทศไทย กล่าวคือ น่าจะมี SS ของของเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติและชาติพันธุ์พอสมควรในประเทศไทย ดังนั้น การตั้งวงเสวนาระหว่างคนทำงานเพื่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติและชาติพันธุ์เพื่อสำรวจและเลือกสรร SS ดังกล่าว ก็คือ วิธีการหนึ่งที่จะกระตุ้นคนทำงานเหล่านี้ที่จะเห็นความสำคัญของ SS ซึ่งเป็นกำลังใจของมนุษย์

โดยสรุป ต้นแบบความคิดเกี่ยวกับการจัดการ SS ดังนี้ น่าจะนำไปสู่ ‘โครงการพัฒนาแนวคิดและวิธีการในการสำรวจ SS และกระตุ้นความพยายามที่จะไปถึง SS ของเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติและชาติพันธุ์

สำหรับพอกเกตบุค ที่ชื่อว่า ‘ดวงดาวที่ริมขอบแดน’ เรื่องราวแห่งการยืนหยัดและสรรค์สร้างสังคมของเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติและชาติพันธุ์ เล่มนี้ได้เกิดขึ้นภายใต้โครงการดังกล่าว และจากแนวคิดข้างต้น ซึ่งได้รับการตอบรับและสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล

แม้ว่าวิธีวิทยาดังกล่าวข้างต้น จะไม่ได้เกิดขึ้นทั้งหมดอย่างครบถ้วน แต่ผู้เขียนก็เห็นว่าตัวแทนของเด็กและเยาวชนทั้ง 10 คน ก็เป็นเสมือนหนึ่งจุดเริ่มต้น ที่ทำให้เราได้มองเห็นมะม่วงพันธุ์ดีที่ชัดเจนขึ้น ว่ามีอยู่จริง และแน่นอนว่าด้วยความพยายามของอ.ด๋าวและทีมงานที่พยายามเฟ้นหาในระยะเวลาและข้อจำกัดที่มี อย่างน้อยที่สุดมะม่วงพันธุ์ดีเหล่านี้ก็น่าจะได้แตกดอกออกผล และเป็นแรงบันดาลใจที่จะทำให้มะม่วงพันธุ์ดีที่มีอยู่ในที่ต่างๆได้เผยโฉมและเบ่งบานอย่างงดงามอีกด้วย

เราต้องเปิดพื้นที่เพื่อให้คนที่มีมะม่วงก็จะเอามะม่วงของตนมาอวดกัน คนที่ไม่มีมะม่วงก็จะถูกกระตุ้นให้อยากปลูกมะม่วง ผลก็คือ กระแสการปลูกมะม่วงก็จะเกิดขึ้น อันหมายถึงกระแส ‘ความนิยม’ ในความพยายามทำ SS ก็จะขยายผลในเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติและชาติพันธุ์ แฟชั่นการทำความดีเพื่อบรรลุถึงความสำเร็จก็จะปกคลุมจิตสำนึกของเด็กและเยาวชน และเมื่อความดีแพร่กระจายไปทั่วสังคมไทย ก็คงไม่มีใครคิดว่า ความไร้รัฐไร้สัญชาติและชาติพันธุ์เป็นภัยความมั่นคงของประเทศล่ะมัง ความไร้รัฐไร้สัญชาติและชาติพันธุ์ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำความดีและความสำเร็จ

ท้ายที่สุดจึงขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการเปิดพื้นที่อันดีงามสู่สังคม

หมายเลขบันทึก: 374112เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2010 21:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มะม่วงต้นนี้ พร้อมขยายพันธุ์แล้วค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท