สอนเรื่องการพัฒนาบุคลิกภาพ และการให้บริการ แบบมวยแทน


สไตล์เด็กช่าง แบบถึงลูกถึงคน เน้นๆ เต็มดอก ตามสำนวนเด็กช่าง

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (14 สิงหาคม 2552) เป็นวันสุดท้ายของการฝึกอบรมภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติของพนักงานควบคุมรถไฟฟ้ารุ่นที่ 23  หลังจากนั้นพนักงานเหล่านี้ก็จะไปฝึกงานในสถานที่จริง (OJT) วันนั้นพนักงานต้องเรียนวิชาสุดท้ายที่ว่าด้วยเรื่องของการให้บริการและบุคลิกภาพ ซึ่งผมได้เชิญวิทยากรจากหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านนี้โดยตรงมาสอน แต่พอถึงวันปรากฏว่าวิทยากรมาไม่ได้ เพราะเมื่อคืนเข้ากะดึกตื่นไม่ไหว ผมก็เลยต้องเป็นมวยแทนขึ้นชก เอ้ย สอนตามไฟต์บังคับ แต่ปัญหาอยู่ที่ผมไม่เคยสอนเรื่องนี้เลย ซึ่งตามเนื้อหาและเอกสารที่แจกให้ผู้เข้าอบรม เป็นเรื่องเกี่ยวกับมารยาททางสังคม การแต่งกาย การให้บริการ เป็นต้น วิทยากรที่ผมเชิญไว้มีตำแหน่งเป็นผู้ชำนาญการฝึกอบรม ด้านนี้โดยเฉพาะและก็เป็นหญิงสาวสวยเสียด้วย ต่างกับผมที่เป็นผู้ชายลุยๆ สอนแต่แนวเทคนิค แต่วันนั้นผมก็เอาตัวรอดมาได้

 

สิ่งที่ผมไปสอนในวันนั้นอย่าเพิ่งคิดนะว่าจะสอนตามเนื้อหาที่ได้ทำไว้ ผมก็สอนไปตามแนวของผมแต่ยังคงอยู่ใน Concept ของเรื่องการพัฒนาบุคลิกภาพ และการให้บริการ โชคดีที่ผมมีความสนใจเรื่องธรรมะอยู่บ้าง ก็เลยเชื่อมโยงเนื้อหาเหล่านี้กับสไตล์เด็กช่าง แบบถึงลูกถึงคน เน้นๆ เต็มดอก ตามสำนวนเด็กช่าง

 

วันนั้นผมเริ่มต้นจากบุคลิกภาพ ซึ่งมีทั้งบุคลิกภาพภายนอกและภายใน บุคลิกภาพภายนอกทุกคนน่าจะเดาออกว่าจะต้องทำตัวอย่างไร แต่งกายอย่างไร เพราะกฎระเบียบของบริษัทบอกไว้อย่างชัดเจนแล้ว แต่บุคลิกภาพภายในล่ะ เป็นอย่างไร ผมจึงเชื่อมโยงไปยังเรื่องทำอย่างไรจึงจะประสบผลสำเร็จในหน้าที่การงาน ซึ่งผมได้นำแนวคิดการบริหารแนวพุทธจากท่านพระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร  ธมฺมจิตโต) มาเป็นแกนหลักในการดำเนินเรื่อง คือ ต้องเป็นคนเก่ง ขยัน ดี มีมนุษย์สัมพันธ์ แต่นำความรู้อื่นๆมาเชื่อมโยง ตีความ แตกยอด จุดประกาย ประยุกต์ใช้ด้วย บางครั้งอาจจะไม่ตรงกับความรู้เดิมที่ท่านได้นิยามไว้

 

เก่ง :

นิยามของความเก่งจะต้องเก่งให้รอบด้าน คือ เก่งคน เก่งตน และเก่งงาน

-         เก่งคน : ทำให้คนศรัทธา เชื่อมั่น เป็นตัวอย่างที่ดี ไม่ใช่สอนด้วยวาจา

-         เก่งตน : มีความอดทน จิตนิ่ง มีระเบียบวินัย

-         เก่งงาน : มีความรู้ความสามารถ

เรื่องนี้ผมได้เชื่อมโยงต่อไปยังเรื่องความรู้ความสามารถว่าทำอย่างไรถึงจะมีความรู้ความสามารถ นั่นคือจะต้องทำให้เกิดการเรียนรู้ เรียนรู้อะไร เรียนรู้เพื่อให้ได้ KUSA คือ ความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ และทัศนคติ แล้วทำอย่างไรจึงจะได้ KUSA มา ผมก็เชื่อมโยงต่อไปยังเรื่องปัญญา 3 ฐาน ที่ผมเคยบันทึกไว้ใน Link นี้ คือ http://gotoknow.org/blog/attawutc/256408

 

ขั้นที่ 1 - สุตมยปัญญา  =  Open Heart :  เปิดใจรับฟัง เก็บเกี่ยวข้อมูล เป็นปัญญาที่เกิดจากการรับรู้ทางอาตนะทั้ง 6 ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตรงนี้เป็นความรู้ระดับต้น ยังเป็นความรู้มือสองอยู่

ขั้นที่ 2 - จินตมยปัญญา = Open Mind  : นำข้อมูลจากขั้นที่หนึ่ง ไปพิจารณาขบคิด ด้วยทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง ใคร่ครวญ ด้วยวิจารณญาณ ด้วยปัญญาอย่างแยบคาย ตามหลักโยนิโสมนสิการ กาลามสูตร แล้วสร้างเป็นองค์ความรู้ขึ้นมา ซึ่งความรู้ตรงนี้ก็น่าเป็นความรู้ที่คาบเกี่ยวระหว่างความรู้มือหนึ่ง และความรู้มือสอง

ขั้นที่ 3 - ภาวนามยปัญญา = Open Will : นำองค์ความรู้ที่ได้จากขั้นที่สองนั้นไปปฏิบัติ ทดลองให้เห็นจริง ทำวิจัยออกมา ให้รู้แจ้งเห็นจริง สร้างเป็นทฤษฎีองค์ความรู้ของตัวเอง ความรู้ตรงนี้แหละน่าจะเป็นเป็นความรู้มือหนึ่งอย่างแท้จริง

ขยัน :

สามารถที่จะให้กำลังใจตัวเอง และผู้อื่นได้ ผมใช้คำศัพท์ที่เข้าใจง่ายๆ คือ ฮึกเหิม In /ฮึกเหิมOut พร้อมทั้งยกตัวอย่างการให้กำลังตัวเองจากอิทธิบาท 4 ด้วย (พอใจทำ ตั้งใจทำ แข็งใจทำ เข้าใจทำ)

 

ดี :

นิยามของคนดีคืออะไร คนดีต้องมีคุณธรรม จริยธรรม ซื่อสัตย์ ยุติธรรม แต่คำเหล่านี้เป็นคำที่เป็นนามธรรมมากๆ เข้าใจและนำไปปฏิบัติยาก ผมจึงยกตัวอย่าง จาก การถือศีล 5 (คนปกติ) ละอบายมุข พร้อมทั้งยกตัวอย่างคนที่มีศีล 5 คือคนปกติ  ละอบายมุข คือ ไม่ไปสู่ทางเสื่อม เล่นการพนัน เที่ยว ร่ำสุรา เคล้านารี เป็นต้น

 

มีมนุษย์สัมพันธ์

ผมเชื่อมโยงไปยังเรื่องทำอย่างไรจะให้คนอื่นรัก โดยเชื่อมโยงไปยัง พรหมวิหาร 4 กับการทำงานกับเจ้านาย  (อธิบายความหมายของเมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา ให้เป็นรูปธรรม ด้วยการเขียนกราฟ พร้อมยกตัวอย่าง) สังคหวัตถุ 4 กับการทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงาน (โอบอ้อมอารี วจีไพเราะ สงเคราะห์ปวงชน เสมอต้นเสมอปลาย)  ผมเคยเขียนบันทึกเรื่องธรรมะกับการทำงานไว้ที่ http://gotoknow.org/blog/attawutc/217939

 

บรรยากาศของการสอนในวันนั้น ผมพยายามพูดภาษาเดียวกับผู้เข้าอบรม โดยแปลงภาษาบาลีให้เป็นภาษาวัยรุ่น  ให้จำง่าย ตีความอธิบายความหมายยกตัวอย่างจากนามธรรมให้เป็นรูปธรรมให้มากที่สุด พยายามสอดแทรกมุขตลกจากการยกตัวอย่างของความไม่เข้าใจในภาษา  สุดท้ายก็จบลงด้วยดีใช้เวลาไปประมาณ 2 ชั่วโมง จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผมเกิดการเรียนรู้และเชื่อมโยงความรู้ได้มากขึ้น ซึ่งทำให้ผมข้าใจลึกซึ่งกับคำว่า อ่านหนังสือ 10 รอบ ไม่เท่ากับ สอน 1 รอบ สอนหนังสือ 10 รอบไม่เท่ากับเขียนหนังสือ 1 เล่ม ดังนั้นในบันทึกนี้จึงเป็นการเรียนรู้ขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งด้วยครับ

หมายเลขบันทึก: 288835เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2009 18:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 00:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ผมว่ามวยแทนยอดเยี่ยมกว่าตัวจริงนะครับ ขอบคุณมากครับ

ขอบคุณท่าน ผอ. บวรที่เข้ามาเยี่ยมเยือนครับ

ภาพลักษณ์ คือ สิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมา ดิฉันว่า "ถึงจะเป็นเด็กช่างก็มีความสามารถที่จะสอนเรื่องนี้นะคะ"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท