อบรมเรื่อง “การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ” จากหนังเรื่อง “Little Miss Sunshine”


เราได้องค์ความรู้ที่สรุปและยอมรับร่วมกันเองออกมาและจุดประกายไปยังองค์ความรู้อื่นๆ ด้วย ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาและตัดสินใจเพียงอย่างเดียว

เมื่อประมาณปลายเดือนที่ผ่านมา (26 สิงหาคม 2552 )  ทางต้นสังกัดของแผนกควบคุมรถไฟฟ้าได้ส่ง E-mail มาหารือกับผมว่า “ขอข้อมูลว่าปีนี้มีการ Refresher TCS บ้างไหมครับ ผมเสนอเรื่องการทักษะ การจัดการ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า  การประสานงาน เอาหัวข้อแบบนี้ พอเป็นไปได้ไหมครับ” ผมก็เลยขาย Idea การนำหนังมาใช้ในการฝึกอบรมตามที่ข้อมูลที่ที่คุณ เปา & ปัน ได้แนะนำไว้ใน Blog ที่ผมได้เขียนไว้ก่อนหน้านี้ (http://gotoknow.org/blog/attawutc/218312)  โดยใช้ข้อมูลที่คุณ เปา & ปัน ได้ให้ไว้ ตอบ Mail ไปว่า “ของเดิมมีแผนอยู่ แต่ถ้าจะสอนตามเนื้อหาที่ Request มา ก็จะเป็นการดีครับ ผมคิดว่าน่าจะใช้เวลาอบรมรุ่นละ 1 วัน จำนวนไม่เกิน 3 รุ่นครับ (5-7 คน/รุ่น)”

 

“วิธีการสอนผมคือจะให้ดูหนังเรื่อง Little Miss Sunshine ซึ่งเป็นหนังเกี่ยวกับ ครอบครัว Hooverที่มีสมาชิกอยู่ 6 คน พ่อคือริชาร์ดผู้พยายามที่จะขายหนังสือ How To  ที่เขาแต่งขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้ชนะ เชอรีลคือแม่ผู้ประนีประนอมเพื่อรักษาสัมพันธภาพในครอบครัวเอาไว้ แฟรงค์ เป็นพี่ชายของเชอรีลที่พึ่งฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จและพึ่งออกจากโรงพยาบาล โอลีฟเป็นเด็กผู้หญิง 7 ขวบที่มีความฝันอยากเป็นนางงาม ดเวนเป็นพี่ชายของโอลีฟซึ่งเก็บกดไม่ยอมพูดกับใคร และคุณปู่ นิสัยกักขฬะ ที่ปากเสีย ติดยา

โอลีฟได้รับเชิญให้เข้าร่วมประกวด Little miss sunshine ซึ่งอยู่ไกลถึงแคลิฟอร์เนียร์ ทำให้ครอบครัวนี้ต้องเดินทางพาโอลีฟไปเข้าประกวด

ในระหว่างการเดินทางจะมีเหตุการณ์และปัญหาผ่านเข้ามา เราสามารถจะแทรก สมมุติสถานการณ์เข้าไป ตามตัวละครว่าเป็นเรา เราจะจัดการกับสถานการณ์อย่างไร หรือเขาเรียนรู้หรือสะดุดใจตรงไหนในตอนที่ผ่านมา เพราะอะไร

สถานการณ์ในเรื่องนี้สามารถเทียบได้กับสถานการณ์จริงในที่ทำงาน ซึ่งประกอบด้วยคนหลากหลายบุคคลิกและเป้าหมายส่วนตัวที่แตกต่างกันแต่จำเป็นต้องอยู่ร่วมกันและทำงานด้วยกัน มีเป้าหมายร่วมกัน โดยหยุดพักเป็นตอนๆ แล้วถามว่า ถ้าเป็นคุณ คุณจะทำอย่างไร เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะ, มุมมอง, ความรู้สึก  ซึ่งในเนื้อเรื่องจะเป็นแนวคิดและหลักการในการ จัดการแก้ปัญหาต่างๆ และการประสานงานแทรกอยู่ในแต่ละช่วง”

หลังจากได้ข้อมูลไปปรากฎว่าทางต้นสังกัดรับซื้อ Idea ผม จึงตกลงส่งคนระดับหัวหน้างาน (TCS : Train Crew Supervisor) มาอบรมจำนวน 3 รุ่น ตามที่ผมได้เสนอไป ระหว่างวันที่ 23-25 กันยายน 2552 แต่ก่อนการอบรมยังได้มีการจะถามถึงผลสัมฤทธิ์ของการอบรมตามประสาผู้บริหารว่า “ก่อนดำเนินการต่อไป ขอดูแผนประเมินผลสัมฤทธิ์ในการอบรมครั้งนี้ก่อนนะครับ”

ผมก็ได้ตอบไปว่า

“Output : หลังจากที่แต่ละกลุ่มได้แสดงความคิดเห็นและสรุปเนื้อหาออกมาแล้ว เราจะได้ทฤษฎีข้อสรุปในการจัดการแก้ปัญหา และการประสานงานร่วมกันที่ทุกคนได้เกิดการเรียนรู้และร่วมกันสร้างขึ้นมาเป็นองค์ความรู้ของตัวเอง ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจและจดจำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Outcome : ผู้เข้าอบรมต้องนำสิ่งที่ได้จาก Output ไปปฏิบัติให้เกิดเห็นผลจริงเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ต้นสังกัดอาจมอบหมายงานให้ทำเป็นรายบุคคลและกำหนดเป็น KPI ไว้ โดยให้รายงานผลเป็นระยะเพื่อติดตามผล”

พอได้ข้อมูลทางต้นสังกัดก็ให้ดำเนินการต่อไป

ช่วงระหว่างเตรียมข้อมูล ผมก็ไปเตรียมดูหนังและจัดแผนการสอน โดยใช้หลักการตามที่คุณ เปา & ปัน ได้อธิบายไว้เบื้องต้นและเสริมด้วยการทำ AAR (After Action Review) สรุป ดังนี้

1. วางแผนเพื่อ Pause เนื้อเรื่องว่าจะต้องหยุดช่วงไหน ณ เวลาใด ผมวางแผนไว้ประมาณ 7 ตอนดังนี้ ไปประกวดหรือไม่ / รถเสีย / ปู่ตาย / ถูกตำรวจเรียก / Dwayne ตาบอดสี / ไปประกวดไม่ทัน / ขึ้นเวทีหรือไม่ / ชนะการประกวดหรือไม่

2. วางแผนการถามคำถามในแต่ละตอนที่หยุด ว่าจะถามคำถามอะไรบ้าง ใช้เวลาเท่าใด แนวคำถามจะใช้หลัก 5 W 2H เช่น ถ้าเป็นเราหรือเขาจะทำ อะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไหร่ เพราะเหตุใด มีใครต้องเกี่ยวข้องบ้าง  

3. วางแผนการ Discuss / Present สำหรับคำถามแต่ละตอนว่าจะใช้เวลาเท่าใด เนื่องจากมีผู้เข้าอบรมน้อยผมจึงแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ช่วยกันคิดแล้วให้แต่ละกลุ่ม Present แล้ว Discuss กัน และตัวผมเองก็แทรกคำถามาแย้ง ยั่วให้ฉุกคิดตลอดเวลา

4. วางแผนการสรุปรายงานกลุ่มว่าผลสุดท้ายแล้วได้อะไรจากหนังที่ Pause ในแต่ละตอน เมื่อทุกกลุ่มได้ Discuss / Present แล้ว ผมก็ให้ดูหนังต่อว่าในเนื้อเรื่องเขาตัดสินใจกันอย่างไร แล้วให้ทุกคนช่วยกันสรุป

5. วางแผนการทำ AAR และสรุปผลการทำกิจกรรมทั้งหมด พร้อมทั้งเสริมเนื้อหาที่เป็นทฤษฎีเข้าไปเป็นแนวทางเบื้องต้น หลังจากดูหนังจนจบแล้วผมก็จะให้แต่ละคนแสดงความคิดเห็นเขียนสิ่งที่ได้จากหนังเรื่องนี้ออกมา ว่าได้อะไรจากหนังเรื่องนี้ จากตอนไหน แล้วจะนำไปใช้ในชีวิตการทำงานและชีวิตประจำวันได้อย่างไร แล้วให้แต่ละคน Present ความคิดเห็นออกมา ระหว่างนั้นผมก็สรุปและสอดแทรกทฤษฎีความรู้อยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะทฤษฎีจุตรพิ (http://gotoknow.org/blog/attawutc/280996)

เมื่อถึงวันอบรมผมได้เตรียมห้องให้เป็นที่นั่ง โซฟาสบายๆ เหมือนนั่งดูหนังอยู่กับบ้าน มีการพักเบรคอาหาร เครื่องดื่มไปพร้อมกันไปในตัว ก่อนการอบรมจะมีการแนะนำหนังและกติกาของการอบรมก่อนประมาณ 15 นาที  วันแรกของการอบรม (23 กันยายน 2552) ผมใช้เวลาในข้อ 1-4 ประมาณ 5 ชั่วโมง (9.15 -15.00 น. พักเที่ยง 12.00-13.00 น.) เร็วกว่าแผนไปประมาณ 1 ชั่วโมง เพราะช่วง Discuss / Present ผมวางแผนไว้ประมาณ 20 นาที/ช่วง แต่ผมใช้ไปประมาณ 10-15 นาที เท่านั้นเอง ผลการทำกิจกรรมในข้อ 1-4 ผมพบว่า แต่ละกลุ่มสามารถคิดได้อย่างหลากหลาย มีเหตุผล ซึ่งผมก็ไม่ได้ตัดสินว่าข้อใดถูกข้อใดผิด

แต่ในช่วงเวลาในข้อ 5 ผมกลับใช้เวลาชดเชยไปถึงเกือบ 2 ชั่วโมง (ตามแผนวางไว้ 45 นาที) ทำให้เลิกกิจกรรมทั้งหมดประมาณเกือบ 5 โมงเย็น (ตามแผนวางไว้ 45 นาที) ทั้งนี้ผมพบว่า การพูดคุยกัน (Dialogue) ยิ่งทำให้มีการจุดประกายเหนี่ยวนำความรู้ไปมายิ่งขึ้น  

ผู้เข้าอบรมรุ่นที่ 1

 

ผู้เข้าอบรมรุ่นที่ 2

วันที่สอง (รุ่นที่สอง) ผมปรับเปลี่ยนแผนให้กระชับขึ้นแต่ปรากฏว่าช่วง ข้อ 5 กลับยิ่งใช้เวลามากขึ้นคือเลิกประมาณ 6โมงเย็น วันสุดท้าย (รุ่นที่ 3) ผมได้ปรับแผนให้มีการสรุปข้อมูลการเรียนรู้ในแต่ละ Case ทันที และทำให้พบว่า เราได้องค์ความรู้ที่สรุปและยอมรับร่วมกันเองออกมาและจุดประกายไปยังองค์ความรู้อื่นๆ ด้วย ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาและตัดสินใจเพียงอย่างเดียว เช่น  การตัดสินใจต้องฟังข้อมูลให้ครบถ้วนรอบด้าน การทำงานการอยู่ร่วมกัน ต้องนึกถึงใจเขาใจเรา มีเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกัน ร่วมมือร่วมใจกัน การพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส การรู้จักปล่อยวาง เป็นต้น

 ผู้เข้าอบรมรุ่นที่ 3

 ภาพและข้อมูลบางส่วนจาก

http://filmsick.exteen.com/20070307/little-miss-sunshine

http://www.imdb.com/title/tt0449059/

http://www.rottentomatoes.com/m/little_miss_sunshine/

หมายเลขบันทึก: 300812เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2009 19:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท