เที่ยวแก่งคุดคู้จากมุมมองของไทเลย-บ้านแฮ่


สัมผัสกับธรรมชาติ ตำนาน ของกิน ของใช้ ของคน 2 ฝั่งโขง จากมุมมองของคนเมืองเลย

 

 

 

วันแรงงานที่ผ่านมา (1 พฤษภาคม 2553) ผมกลับไปเยี่ยมบ้านที่เมืองเลย เพื่อไปรับลูกกลับมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพ หลังจากที่ได้ฝากไว้กับคุณปู่คุณย่าในช่วงปิดเทอม  ผมถือว่าการที่ลูกของผมได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับญาติพี่น้องในครอบครัวต่างจังหวัด น่าจะทำให้เขาได้เรียนรู้ชีวิตและมีความสุขกับประสบการณ์แบบบ้านนอกที่ในเมืองหลวงค่อนข้างหาได้ยาก และหนึ่งในนั้นคือการท่องเที่ยวตามสถานที่สำคัญต่างๆ  การกลับบ้านของผมครั้งนั้นผมเดินทางออกจากกรุงเทพตั้งแต่ ช่วงบ่ายแก่ๆ ของวันศุกร์ที่ 30 เมษายน 2553 ไปถึงเมืองเลยประมาณ 4 ทุ่มกว่าๆ  ผมวางแผนไว้ว่าตอนเช้าของวันรุ่งขึ้นจะไปทำบุญที่วัดของพระอาจารย์หนุ่ย(ความจริงเป็นสำนักสงฆ์) ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนแถวบ้านผมและมีปฏิปทาสวยงามมากๆ  แล้วสายๆ ค่อยไปเที่ยวแก่งคุดคู้กัน แต่ปรากฏว่าพอกลับจากทำบุญ ก็จัดการโน่นนี่จนเกือบเที่ยงแล้ว กว่าจะออกเดินทางจากบ้านแฮ่ไปเชียงคานได้ก็เกือบบ่ายแล้ว แถมยังต้องเดินทางไปทางบ้านเพียอีกต่างหาก

 

 

 

ปกติการเดินทางจากตัวเมืองเลยไปยังแก่งคุดคู้จะไปตามถนนเลย-เชียงคาน ประมาณ 50 กว่ากิโลเมตร. โดยเราต้นจาก กม. 0 หน้าแขวงการทางเลย จนไปถึงสามแยกอ. เชียงคานประมาณ 47 กิโลเมตร แล้วก็เลี้ยวขวาไปอีกประมาณ 2 ก.ม. ก็จะถึงปากทางเข้าแก่งคุดคู้ จากนั้นก็เลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ 1 ก.ม. ก็จะถึงแก่งคุดคู้  วันนั้นผมไม่ได้เริ่มต้นจากถนนเลย-เชียงคาน แต่เริ่มต้นออกจากบ้านแฮ่ไปทางอ.นาด้วง แล้วไปเลี้ยวซ้ายเข้าไปทางบ้านเพีย เพื่อไปเอารถของน้องสาวอีกคันเพราะรถกะบะที่ผมใช้ขนคนไปไม่สะดวก จากนั้นเราก็ออกเดินทางจากบ้านเพีย ตรงไปเรื่อยจนไปทะลุทางแยกบ้านธาตุ-ปากชม ผมก็เลี้ยวซ้ายออกบ้านธาตุ แล้วก็ไปบรรจบกับถ. เลย-เชียงคานอีกครั้ง จึงเลี้ยวขวาไปตามถ. เลย-เชียงคาน อีกประมาณเกือบ 30 กิโลเมตร จนถึง แก่งคุดคู้ตามที่เส้นทางที่ผมได้เล่ามาเบื้องต้น

 

  กุ้งนอน

 

 กุ้งแพชุบแป้งทอด

 

 ตำซัวะด๊องแด๊ง

 

เราไปถึงแก่งคุดคู้ประมาณ เกือบบ่ายสอง ใช้เวลาเดินทางประมาณชั่วโมงกว่าๆ พอจอดรถก็เพิ่งรู้ว่าต้องเสียค่าจอดด้วย เพราะปีที่แล้วผมมายังไม่เสียเลย จากนั้นเราก็ตรงดิ่งไปยังซุ้มขายอาหารของชาวบ้านทันที แล้วก็เริ่มสั่งอาหารตามสัญชาติญาณของคนเมืองเลย แน่นอนอาหารหลักก็คงไม่พ้น ไก่ย่าง ส้มตำ ปลาเผา กุ้งฝอยชุบแป้งทอด แต่สิ่งที่แตกต่างที่เราสั่งไม่เหมือนนักท่องเที่ยวทั่วไป คือ ตำซัวะด๊องแด๊ง (ผมไม่ใช้คำว่า “ตำซั่ว” เพราะคำว่า “ตำซัวะ” นี้เป็นสำเนียงที่บ้านผมพูดและจะสะกดได้ใกล้เคียงกับคำนี้มากที่สุด) กุ้งนอน  ต้มส้มปลาน้ำโขง ก้งนอนกับต้มปลาน้ำโขงผมคิดว่าคนทั่วไปน่าจะนึกภาพออก เพราะอาหารที่ขึ้นชื่อของแก่งคุดคู้คือ กุ้งเต้น ที่นำกุ้งฝอยสดๆ เต้นไปมาอยู่ มายำกับเครื่องยำรสจัด ทั้งน้ำปลา พริก ข้าวคั่ว หอม สะระแหน่ ฯลฯ  แต่เราใจไม่ถึงพอและรู้สึกสงสารกุ้ง จึงสั่งแค่กุ้งนอน โดยนำกุ้งไปทำให้สุกก่อนแล้วค่อยนำมายำ  ต้มส้มปลาน้ำโขง ก็คล้ายกับต้มยำทั่วไป แต่เราจะทำรสไม่จัด ให้มีรสเปรี้ยวอ่อนๆ เท่านั้น  และตำซัวะด๊องแด๊งอาหารที่ผมภูมิใจนำเสนอนี้ ก็จะเหมือนกับตำซัวะทั่วไป คือนำส้มตำมาตำรวมกับขนมจีน แต่ขนมจีนในที่นี้ ไม่ได้มีลักษณะเป็นเส้น ด๊องแด๊งจะมีลักษณะคล้ายๆ กับเกี๊ยมอี๋ หรือลอดช่อง ทำจากแป้งขนมจีนไปลวก (ต้ม) ผมเข้าใจว่าคำว่า “ด๊องแด๊ง” นี้น่าจะมาจากลักษณะของเส้นที่ลักษณะเหมือนตัวหนอน หรือดักแด้กำลังเต้นดุ๊กดิ๊กอยู่ ส่วนประกอบของตำซัวะด๊องแด๊งนี้นอกจากจะมีตัวด๊องแด๊งแล้ว เรายังใส่ผักลวกด้วย น้ำส้มตำเรายังใส่น้ำจิ้มของขนมจีนสดที่จะมีรสออกหวานของน้ำกระเทียมดองด้วย ส้มตำที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองเลยอีกอย่างหนึ่งคือจะใช้มะเขือเทศพื้นเมืองที่มีลูกเล็ก ที่เรียกว่า "มะเขือเครือ" ด้วย 

 

 ที่กระจาดสีชมพูคือมะเขือเครือ

 

หลังจากอิ่มหนำกับอาหารกลางวันเรียบร้อยแล้ว เราก็เดินดูของขาย ถ่ายรูปกัน ที่นี่มีทั้งของที่ระลึกและของกินมากมาย โดยเฉพาะขนมที่ขึ้นชื่อของเชียงคานคือ มะพร้าวแก้ว ซึ่งมะพร้าวแก้วที่จะแบ่งออกเป็น 3 เกรด A, B และ C โดยเกรด A จะเป็นมะพร้าวที่มีเนื้อนุ่มที่สุด แต่ก็เก็บไว้ไม่ได้นานต้องรีบกินให้หมดภายใน 2-3 วัน

 

 

 

วันนั้นผมได้มีโอกาสคุยกับตาทิน คนแกะสลักจากลูกมะพร้าว คนดังของแก่งคุดคู้ที่เคยลงคอลัมน์ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมาแล้ว ฝีมือของแกน่าทึ่งทีเดียวนอกจากจะทำเป็นตัวลิงแล้ว ยังมีตัวกบและงูด้วย กะลามะพร้อมแกก็ทำเป็นจอก ใส่น้ำด้วย หรือทำเป็นพานใส่ของประดับได้ด้วย แกบอกว่าแต่ละวันก็ขายได้ดีเหมือน วันนี้แกบอกขายได้ตั้ง 7 ตัวแล้ว

 

 

 

ภายในศาลาชมวิว ก็ให้บรรยากาศดีมาก ลมเย็นสบาย มองออกมาจากศาลา ไปทางลำน้ำ จะเห็นโขดหินคล้ายๆ กับสันเขื่อนที่วางขวางลำน้ำ จุดนี้แหละที่เป็นที่มาของคำว่า “แก่งคุดคู้” เพราะมีตำนานเล่าขานมาจากตาจึงคึงดังแดง (ผมเขียนคำว่าจึงคึง ไม่มีไม้เอกเพราะสำเนียงบ้านผมตรงกับเสียงนี้) ซึ่งตาจึงคึงดังแดงนี้ก็เป็นตัวละครในที่มาของตำนานในสถานที่สำคัญต่างๆ ในแถบนี้ ไม่ว่าจะเป็น ภูควายเงิน และผาแบ่น (แบ่น ภาษาลาวแปลว่าเล็ง) ในบันทึกนี้ผมขออนุญาตไม่กล่าวถึงตำนานเหล่านี้ ถ้าท่านใดสนใจ ขอให้อ่านตาม Link ที่ผมได้ให้ไว้ดังนี้ ครับ(http://www.chiangkhan.com/profiles/blogs/2066709:BlogPost:73670 และ http://www.oknation.net/blog/print.php?id=369209)

 

 บมส่วยข้าว

 

 เขียงสารพัดประโยชน์

 

เดินออกไปยังร้านขายของที่ระลึก ก็มีทุกอย่างที่แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ เขามีกัน ทั้งเสื้อผ้า ของประดับต่างๆ แต่สิ่งที่ผมสะดุดตาก็คือเจ้าแผ่นไม้กลมๆ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 ฟุต เซาะร่องตรงกลางออกครึ่งหนึ่ง ตอนแรกผมนึกว่า “บม” (บม ส่วนใหญ่ทำจากไม้ค้อ ใช้ทำหรับ ส่วย (กวน) ข้าวเหนียวให้เย็นตัวลง และไม่ข้าวเป็นยาง ก่อนที่จะนำไปใส่ในกระติบข้าว ทำให้เก็บข้าวไว้นาน และข้าวไม่แฉะ)  แต่บมจะเซาะร่องตรงกลางออกทั้งหมด ที่ผมเห็นในวันนั้นเขาเซาะออกเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นและยังมีขนาดเล็กอีกด้วย พอไปถามคนขาย เขาบอกว่า มันคือเขียงนั่นเอง และที่เซาะร่องไว้ครึ่งหนึ่งก็เพื่อประโยชน์ในการกวาดของที่หั่นให้มารวมกันก่อนที่จะนำไปใส่ภาชนะอื่น ผมอยากจะตั้งชื่อให้ใหม่ว่าเป็นเขียงสารพัดประโยชน์จังเลย เพราะเวลาผมทำลาบหรือยำ จะมีการหั่นผักหลายชนิดมากและทำให้ไม่สะดวกให้การกวาดของที่หั่นเสร็จแล้วลงภาชนะอื่นๆ นอกจากนี้ ถ้ากลับด้านก็จะทำให้ใช้เป็นเขียงสำหรับสับได้อีกด้วย คนขายบอกว่าเขียงนี้ ทำจากไม้ซ้อ มาจากประเทศลาว ราคาตามป้าย 200 บาท ต่อรองได้ 170 บาท ก็เลยซื้อมาทีเดียว 3 อันเลย

 

 

 

 2 ตัวบนคือปลานาง ส่วนตัวล่างคือปลาลิง

 

 

 

ก่อนกลับผมได้มีโอกาสขับรถลงไปยังหาดข้างล่างด้วย ช่วงฤดูนี้น้ำจะแห้งทำให้สามารถลงไปยังหาดข้างล่างได้ ซึ่งหาดที่เห็นจะไม่มีทรายให้เห็น แต่จะมีเห็นขัดเรียบเป็นล้านๆ ก้อน และหินที่ว่านี้ควรจะอนุรักษ์ไว้ โดยมีป้ายข้อห้ามไม่ให้เก็บหินแสดงไว้ด้วย และผมก็เห็นด้วยครับ เพราะถ้าทุกคนเก็บไปเป็นที่ระลึกคนละก้อน อีกไม่นาน หินเหล่านี้ก็จะหมดไป หลังจากที่ขับรถลงไปจอดที่ริมหาดแล้ว ก็ได้มีโอกาสพบกับชาวประมงแล้วนั้น กำลังนำปลาขึ้นมาตกลงซื้อขายกับนักท่องเที่ยว วันนั้นเสียดายที่ซื้อไม่ทัน เพราะปลาสดมากๆ ยังเป็นๆ อยู่เลย มีทั้งปลานาง (ปลาเนื้ออ่อนตัวใหญ่) และปลาลิง (ลักษณะคล้ายปลาเทโพ) 

 

 

 

วันนั้นผมอยู่ที่แก่งคุดคู้จนถึง ห้าโมงเย็น ก็เดินทางกลับ ขากลับ ผมขับรถทะลุออกไปทางด้านหลังผ่านบ้านเจ้าคำออกไป ซึ่งก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง มีสวนดอกไม้ บ้านโบราณ และรูปปั้นต่างๆ  แต่ผมไม่ได้แวะ บันทึกนี้จึงขออนุญาตไม่กล่าวถึงนะครับ สนใจข้อมูลบ้านเจ้าคำดูได้ที่ Link http://www.oknation.net/blog/print.php?id=429892

 

หมายเลขบันทึก: 356053เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2010 17:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดี วันนี้แวะมาเยี่ยมชม

เล่าซะเห็นภาพเลยนะ รายละเอียดยิบ ไม่เสียแรง... ในภาพแก่งคุดคู้ เราชอบภาพภูเขาที่อยู่ด้านหลังน่ะ มีโอกาส ต้องไปเที่ยวบ้างแล้ว ขอบคุณที่เล่าให้ฟัง

White

  • มาสวัสดีพี่ชายคนไทเลย
  • หายไปนาน
  • ดีใจด้วยที่ได้มาเที่ยวบ้านเกิด
  • บรรยากาศดีๆ กับครอบครัวที่อบอุ่น
  • ความสุขที่สุดแล้ว
  • เป็นกำลังในการเดินทาง
  • ซำบายดีเจ้า
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท