พาผู้บริหาร BTS ไปลิ้มชิมรส KM กับงาน “ถอดรหัส Nonaka : ภาวะผู้นำและการประเมินแนวใหม่” (ภาคเช้า)


ผู้นำของโลกใหม่จะต้องเป็นผู้นำที่มีลักษณะของคนที่สร้างความรู้จากปัญญาปฏิบัติ

 

หลังจากที่พลาดงานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติเมื่อปีที่แล้ว งานนี้ผมก็ได้แก้ตัวเข้าร่วมกิจกรรมกับ สคส. เสียที กับงาน ถอดรหัส Nonaka : ภาวะผู้นำและการประเมินแนวใหม่” เมื่อวันที่ 29 เมษายน. 2554 งานนี้ผมพาผู้บริหารรดับผู้จัดการแผนกและผู้จัดการส่วน ไปร่วมถึง 10 คน ทำให้ได้ส่วนลดค่าสัมนาเหลือแค่ 20,000 บาท เฉลี่ยแล้วเหลือคนละ 2,000 บาทเอง สิ่งที่ได้กลับมาผมคิดว่าน่าจะคุ้มค่ามากเลยทีเดียว เพราะนอกจากจะเป็นการแนะนำให้ผู้บริหารได้พบกับแนวคิดการบริหารแบบ Soft Side ในสไตล์แบบนี้แล้ว ยังได้รับฟังการบรรยายจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและมีชื่อเสียงในวงการ KM และมี Workshop เล็กๆ ให้เข้าถึงแนวคิดต่างๆ ในด้านนี้ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

 

 

บรรยากาศในงานผมคาดว่าน่าจะมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 200คนขึ้นไป ผมเข้ามาถึงงานก่อนเวลาเล็กน้อย คนยังไม่เต็มห้องประชุมดีนัก เนื่องด้วยเพราะปัญหาการจราจร ทำให้งานก็เริ่มเปิดตัวค่อนล่าช้าสักเล็กน้อยแต่ไม่น่าเกิน 15 นาที ซึ่งกำหนดการต้องเริ่มงานที่เวลา 8.30 น. และเวลาประมาณ เกือบ 9 โมง อ. ประพนธ์ก็เริ่มเข้ามากล่าวเปิดงาน เล่าที่มาที่ไปจากงานมหกรรมจัดการเรียนรู้แห่งชาติครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 22-23พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา และเล่าถึงสิ่งที่จะทำต่อไปสำหรับงานนี้ จากนั้นอาจารย์ก็ให้พวกเราดู Clip VDO ของศาสตราจารย์ Ikujiro Nonaka ที่ได้พูดถึงเรื่องที่เกี่ยวกับ Leadership ว่า ผู้นำของโลกใหม่จะต้องเป็นผู้นำที่มีลักษณะของคนที่สร้างความรู้จากปัญญาปฏิบัติ ตามหลักของ BA (การเปิดพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างปลอดภัย) และ PHRONETIC ของอริสโตเติล (http://th.asiaonline.com/en/article?article=Phronetic_social_science) ผู้นำที่เป็นผู้นำปัญญาปฏิบัติจะต้องมีคุณสมบัติของหลักอยู่ 6 ประการคือ ต้องเป็นผู้นำแห่งความรับผิดชอบชั่วดี ตัดสินใจบนฐานความดีความถูกต้อง มีวิจารณญาณแห่งความดี สามารถสร้าง “พื้นที่” (ba) ไหวทันต่อกาละ เทศะ สื่อสารความไหวทัน ใช้พลังการเมือง ส่งเสริมปัญญาปฏิบัติของผู้อื่น สร้าง collective practical wisdom, distributed innovation ไม่ใช่เน้น individual entrepreneurship (รายละเอียดดูที่ http://gotoknow.org/blog/thaikm/435493)

 

 

หลังจากที่ดู Clip และอ. ประพนธ์ได้ สรุปสิ่งที่เกิดขึ้นจาก Clip แล้ว รายการต่อไปก็เป็นรายการเสวนาเรื่อง “ตกผลึก Nonaka : สู่ภาวะผู้นำแนวใหม่” โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช และศาสตราภิชานไกรฤทธิ์ บุณยเกียรติ ดำเนินรายการโดย ดร.ยุวนุช ทินนะลักษณ์ นักวิชาการอิสระ ซึ่งองค์ความรู้ของวิทยากรทั้งสองท่านก็เปรียบเหมือนกับตัวแทนแนวคิดของตะวันออกและตะวันตกมาบรรจบกัน ท่านศ. วิจารณ์ ได้ตีความใน Keyword ของคำว่าตกผลึกไว้ว่า ต้องเป็นเรื่องของความสบาย ง่ายๆ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ฟังให้สามารถถามแทรกได้ทันที และต้องมีการตีความลึกๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์จากการปฏิบัติสูงสุด ดังนั้นปัญญาปฏิบัติต้องคำนึงถึง เป้าหมาย กระบวนการ และผลลัพท์ให้รอบด้าน โดยการทำกิจกรรมต้องมีเป้าหมายร่วมกันที่ชัดเจน มีค่าสูงกระทบใจคน ทั้งตนเอง องค์กรและสังคม ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมในการฝ่าฟันวิกฤติและมองเห็นโอกาสในนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องที่ยั่งยืน นั่นคือองค์ความรู้ปัญญาปฏิบัติจะเกิดขึ้นจากการร่วมปฏิบัติของทุกคนในองค์กรร่วมกัน โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ แล้วค่อยๆ ขยายออกไปสู่วงกว้าง สิ่งเหล่านี้จะเกิดพลังอย่างสูงสุดได้จากการมองเรื่องราวต่างๆ แตกต่างกันในมุมมองต่างๆกัน แต่เมื่อมีการดำเนินการร่วมกันแล้วจะเกิดการสร้างสรรค์ที่มีพลังมากจนไม่น่าเชื่อว่ามันจะเป็นไปได้ (Creative Tension) ท่านยังกล่าวอีกว่าคุณธรรมอุดมการณ์กับเรื่องธุรกิจต้องเป็นเรื่องเดียวกัน สอดคล้องและไปได้ด้วยกัน ซึ่งผู้นำต้องมีทั้ง IDEA และ IDEAL โดย IDEA จะเป็นฐานคิดและมี IDEAL คอยหล่อเลี้ยงให้เกิดพลังจนระเบิดกลายเป็นองค์ความรู้ใหม่ (Renewal / Tranform / New Order) ดังนั้นผู้นำจึงไม่ใช่คนที่ต้องคอยนำอยู่ตลอดเวลา แต่อาจจะเป็นผู้ตามที่ดี หรือแบบผู้นำที่นำอยู่ข้างหลัง นำแบบไม่นำ บางครั้งดูเหมือนไม่นำ แต่ทุกคนคือผู้นำ เป็นผู้นำแบบไร้กระบวนท่า ผู้นำต้องปรับตัวกับความไม่แน่นอนและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การทำงานต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนาอยู่ตลอดเวลา KM ต้องเนียนอยู่กับเนื้องาน งานคือ KM และ KM ก็คืองาน ทุกคนจะสนุกกับการเรียนรู้เพื่อเติมเต็มและลดช่องว่างของความไม่แน่นอน ในการที่จะ Improvise ในงานเพื่อให้เกิด Innovation ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยใจที่ปราศจากความกลัวและมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ระหว่างการเสวนามีคำถามจากผู้เข้าร่วมสัมนาว่า โรงเรียนผู้นำจำเป็นในองค์กรหรือไม่ ท่าน ศ. วิจารณ์ ได้ให้คำตอบไว้ว่า โรงเรียนผู้นำอาจจะจำเป็นหรือไม่จำเป็นก็ได้ ขึ้นอยู่กับบริบทขององค์กรนั้นๆ ท่านยกตัวอย่างจากองค์กรของ SCG ไว้ว่า เป็นตัวอย่างขององค์กรที่มีโรงเรียนผู้นำที่ดี ซึ่งโรงเรียนผู้นำของ SCG นี้เป็นโรงเรียนผู้นำในลักษณะ Virtual Leadership Institute คือ มีการเรียนรู้ อยู่ตลอดเวลา ไม่เป็นรูปแบบ ที่จะสร้างเสริมให้คนในองค์กรลดช่องว่างของความไม่เที่ยง วิกฤติความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าชีวิตการทำงานทุกวันนี้คือ การเรียนรู้ในโรงเรียนผู้นำนั่นเอง

 

 

ต่อมาก็ถึงคิวของท่าน ศ. ไกรฤทธิ์ ที่เป็นตัวแทนของแนวคิดของฝั่งตะวันตก ได้อธิบายความแตกต่างของคำว่าความรู้และองค์ความรู้ไว้ว่า ความรู้คือสิ่งที่เป็นทฤษฎีภายนอกและมีคนเข้าไปค้นหาเข้าไปใช้ ส่วนองค์ความรู้คือความรู้ที่คนคนนั้นสร้างมากับมือและพังคามือ ดังนั้นต้องมีการจัดการให้เหมาะสม โดยเฉพาะความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัว (Tacit Knowledge) ที่จะต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยแนวคิดวิธีการต่างๆ อย่างเหมาะสม เพราะส่วนใหญ่เป็นเรื่องของนามธรรม (Perspective) ที่จะทำอย่างไรให้วัดได้อย่างเป็นรูปธรรม สิ่งเหล่านี้ไม่อาจทำในรูปแบบของแนวคิดตรรกะ ที่มีแบบแผนชัดเจนได้ (ซ้าย/หยาง) แต่ต้องใช้แนวคิดเชิงศิลปะและความอ่อนโยนเข้าถึง (ขวา/หยิน) ท่าน ศ. ไกรฤทธิ์ ได้วิเคราะห์ให้เห็นถึงองค์ประกอบปัจจัยที่มีผลการสร้างสรรค์ความรู้ไว้ได้อย่างชัดเจน โดยแบ่งออกเป็นการเตรียมการในเรื่องต่างๆ (Domain : Pre- Call Execution) เช่น คน กลยุทธ์ และวิกฤติสถานการณ์ต่าง กับเรื่องของความรู้ที่จะเกิดขึ้นได้ (KnowledgeCreation) ตั้งแต่ในระดับของตัวเอง เครือข่ายสังคม องค์กร และบริบทต่างๆที่เกี่ยวข้อง ก่อนจบการเสวนาท่าน ศ. ไกรฤทธิ์ ได้แสดงตารางเปรียบเทียบแนวคิดการทำ KM ทางฝั่งตะวันตกและตะวันออกให้เห็น ซึ่งก็มีจุดอ่อน จุดแข็งแตกต่างกันตามบริบทของมัน สิ่งที่เหมาะกับตะวันตกอาจจะไม่เหมาะกับตะวันออก สิ่งที่เหมาะกับตะวันออกอาจจะไม่เหมาะกับตะวันตก ดังนั้นเราควรเลือกใช้เอาจุดแข็งของทั้งสองฝั่งมาใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุดตามบริบทการทำงานขององค์กรเรา

 

 

การเสวนาในช่วงเช้าสิ้นสุดลงด้วยเวลาประมาณ 10.30 น. และหลังจากพักเบรกกาแฟแล้ว ประมาณ 10.30 น. ก็เป็นการเริ่มเสวนาต่อในเรื่อง “ถอดรหัส Nonaka : เพื่อการประเมินที่ใส่ใจในคนและสร้างประสิทธิผลในงาน” โดยมีวิทยากรเป็นคุณสุรพงษ์ ศุภจรรยา กรรมการบริหารและผู้จัดการทั่วไป บริษัท NOK Precision Component (Thailand) Ltd., และนายแพทย์ชาตรี เจริญศิริ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 2 พิษณุโลกดำเนินรายการโดย ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด บรรยากาศจะเป็นอย่างไรติดตามตอนต่อไปครับ

 

หมายเลขบันทึก: 437983เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2011 17:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เขียนบันทึกได้น่าอ่านและเห็นภาพชัดเจนตามไปด้วยครับ

ขอให้เจริญๆ นะครับ ดีใจด้วยที่ได้วิทยากรเก่งๆ ทั้งนั้นเลย

ถือเป็นความคิดสร้างสรรค์เลยครับ..

ขอบคุณสำหรับการจุดประกายครับ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท