BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ราตรี รัตติกาล


ราตรี รัตติกาล

ราตรี เป็นคำสันกฤต  ส่วนบาลีว่า รัตติ ... เมื่อกลายพันธุ์มาเป็นคำไทย จะเห็นแต่เพียงคำว่า ราตรี ส่วน รัตติ ไม่มักจะเห็น แต่ที่เห็นอยู่บ้างก็เป็นคำสมาสว่า รัตติกาล ....ซึ่ง ราตรี หรือ รัตติกาล พวกเราก็เข้าใจกันว่าหมายถึง กลางคืน

แต่เมื่อจะวิเคราะห์ตามรากศัพท์เดิม ท่านก็ให้ไว้หลายนัย เช่น

  • อพฺยาปารํ ราติ คณหาตีติ รตฺติ
  • เวลาใดย่อมถึอเอา คือย่อมยึดถือ ซึ่งความไม่เบียดเบียน ดังนั้น เวลานั้น ชื่อว่าราตรี (ถือเอาซึ่งความไม่เบียดเบียน)

ตามนัยนี้ ท่านว่ามาจาก รา รากศัพท์ ในความหมายว่า ถือเอา ... ลง ติ ปัจจัย (รา + ติ = รัตติ) แปลว่า ถือเอาซึ่งความไม่เบียดเบียน ... หมายความว่า  โดยปกตินั้น ในเวลากลางคืน คนทั่วไปต่างก็พักผ่อน ไม่ได้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ส่วนที่เบียดเบียนบ้างก็เป็นเพียงส่วนน้อยนิดซึ่งจัดเป็นไม่ปกติ...

 

  • รญฺชนฺติ เอตฺถาติ รตฺติ
  • เหล่าชนผู้มีราคะทั้งหลาย ย่อมกำหนัด ในเวลานี้ ดังนั้น เวลานี้ ชื่อว่าราตรี (เป็นที่กำหนัดของเหล่าชนผู้มีราคะ)

ตามนัยนี้ ท่านว่ามาจาก รญฺช รากศัพท์ ในความหมายว่า กำหนัด ... ลง ติ ปัจจัย (รญฺช + ติ = รัตติ) แปลว่า เป็นที่กำหนัดของเหล่าชนผู้มีราคะ ... หมายความว่า ในเวลากลางคืน เหล่าชนที่ยังมีราคะก็จะเกิดความรู้สึกกำหนัดขึ้นมาเป็นปกติ...

 

  • รา สทฺโท ติยติ ตตฺถาติ รตฺติ
  • เสียง คือศัพท์ ย่อมขาดหายไป ในเวลานั้น ดังนั้น  เวลานั้น ชื่อว่าราตรี (เป็นที่ขาดหายไปแห่งเสียง)

ตามนัยนี้ ท่านว่ามาจากคำว่า รา แปลว่า เสียง ... ผสมกับ ติ รากศัพท์ ในความหมายว่า ขาดหายไป (รา + ติ = รัตติ) แปลว่า เป็นที่ขาดหายไปแห่งเสียง ... หมายความว่า ในเวลากลางคืน เสียงคนคุยสนทนากัน หรือเสียงอึกทึกคึกโครมอื่นๆ ย่อมขาดหาย คือเงียบสงบลง ไม่เหมือนกลางวันที่จะได้ยินเสียงเหล่านี้เป็นปกติ...

 

  • รา ธนํ ติยติ เอตฺถาติ รตฺติ
  • ทรัพย์ คือธนะ ย่อมสูญหาย ในเวลานี้ ดังนั้น เวลานี้ ชื่อว่าราตรี (เป็นที่สูญหายแห่งทรัพย์)

ตามนัยนี้ ท่านว่ามาจากคำว่า รา แปลว่า ทรัพย์ ... ผสมกับ ติ รากศัพท์ ในความหมายว่า สูญหาย (รา + ติ = รัตติ) แปลว่า เป็นที่สูญหายแห่งทรัพย์ ... หมายความว่า ในเวลากลางคืน พวกโจรมักถือโอกาสขโมย จี้ ปล้นแล้วอาศัยความืดหลบหนีไป  หรือเพราะความมืดทำให้เรามีโอกาสที่จะทำสิ่งของตกหล่นสูญหายได้ง่ายๆ และเพราะความมืดทำให้โอกาสในการหาทรัพย์สิ่งของที่ต้องการพบก็น้อยลง....

.............

สรุบว่า ราตรี หรือ รัตติกาล อาจแปลตามบทวิเคราะห์ได้ดังนี้

  • ยึดถือซึ่งความไม่เบียดเบียน
  • เป็นที่กำหนัดของเหล่าชนผู้ยังมีราคะ
  • เป็นที่ขาดหายไปแห่งเสียง
  • เป็นที่สูญหายแห่งทรัพย์

 

นัยเหล่านี้ ผู้เขียนค้นมาจากคัมภีร์อภิธานวรรณนา ซึ่งโบราณาจารย์รวบรวมไว้...

แต่ เมื่อพิจารณาความเป็นอยู่และเป็นไปในปัจจุบันนี้ การแบ่งแยกกิจกรรมระหว่างกลางวัน (ทิน) กับกลางคืน (ราตรี)  ไม่ชัดเจนดังเช่นโบราณสมัย ดังนั้น จึงอาจไม่ถูกต้องตามบทวิเคราะห์เหล่านี้ เช่น ในบางท้องที่ กลางคืนเสียงอาจอึกทึกคึกโครม แต่กลางวันอาจเงียบเหมือนเป่าสากก็ได้.... เป็นต้น

 

คำสำคัญ (Tags): #รัตติกาล#ราตรี
หมายเลขบันทึก: 179608เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2008 01:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
  • ศัพท์ ราตรี รัตติ นี้มีอรรถ ลึกล้ำถึงเพียงนี้
  • มาศึกษาครับ พระอาจารย์ และขออนุญาตสอบถามคำว่า
  • รา+ติ=ราติ    ทำใม ไทยเขียน ราตรี ครับ คือแทรก ร เข้าไป
  • การแทรก ร ข้างท้ายคำ ที่สังเกตเห็นบ้าง ก็เช่น
  • จันท เป็น จันทร
  • อินท เป็น อินทร
  • ราติ เป็น ราตริ จะเข้าหลักเกณฑ์ เดียวกันหรือไม่ครับ
  •  กรณี ที่ใส่ ร เข้าไปในคำบางคำ มีให้เห็นในอักขรวิธีแบบโบราณเช่นคำว่า  สนุก โบราณ เขียน สรนุก
  • คระหึม โบราณเขียน ครหึม
  •  สองคำนี้ นายผี สันนิษฐานว่า โบราณท่านไม่ประวิสรรชนีย์ ก็เพราะเสียงของคำเหล่านี้ ไม่ได้ออกเสียง อะ เต็มเสียง ก็เลยไม่ประวิสรรชนีย์  ยังมีคำที่น่าสนใจอีกก็คือ
  • กรรเช้า=กระเช้า
  • กรรพุ่ม=กระพุ่ม  

P

กวินทรากร

 

อาจารย์ถามมา ต้องชี้แจงยาว แต่จะรวบรัดให้สั้นที่สุด...

ในเบื้องต้น หลักภาษาไทยประมวลกว้างๆ ว่า เป็นคำนั้นๆ มาจากบาลีสันสกฤต... แต่จริงๆ แล้ว บาลีและสันสกฤต มิใช่ภาษาเดียวกัน เพียงแต่มีพื้นฐานมาทำนองเดียวกัน... และเมื่อกลายพันธ์มาเป็นภาษาไทยก็อาจไม่เหมือนเดิมร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังเช่น

  • บาลี......      รัตติ
  • สันสกฤต...   ราตริ (สระ อิ อาจมองไม่ชัด)
  • ไทย........    ราตรี  (สระอี นั่นคือ แปลง อิเป็นอี เมื่อเป็นคำไทย)

รัตติ ราตริ ราตรี .... เป็นคำนามเดิม และเขียนตามแบบบาลี สันสกฤต และไทย ตามลำดับได้ดังที่ปรากฎ

อนึ่ง ภาษาไทยไม่มีการผันเสียงไปตามวิภัตติ (วิัภักติ) แต่คำบาลีเฉพาะ รัตติ อาจผันเสียงออกไปเป็น รัตติ รัตตึ รัตติยา รัตติยัง รัตยัง ฯลฯ... ส่วน ราตริ ในสันสกฤติ ก็อาจผันเป็น ราตรึ ราตริยา ฯลฯ... ได้เช่นเดียวกัน  .... สรุปว่า รัตติ และ ราตริ  คำศัพท์เดิมเป็นอย่างนี้ แต่อาจผันไปเป็นอย่างอื่นได้อีกหลายสิบอย่าง...

.............

ราติ เป็นคำกิริยา ส่วน รัตติ เป็นคำนาม (สองคำนี้เป็นบาลี)  ...ขณะที่ ราตรี เขียนแบบไทยๆ ซึ่งมาจากสันสกฤตว่า ราตริ ... ดังนั้นประเด็นที่อาจารย์ถามมาว่า...

  • รา+ติ=ราติ    ทำใม ไทยเขียน ราตรี ครับ คือแทรก ร เข้าไป
  • การแทรก ร ข้างท้ายคำ ที่สังเกตเห็นบ้าง เช่น...

เฉพาะประเ็ด็นนี้ อาจารย์ลืมไปเลย เพราะผิดประเภท... (เฉพาะ ราติเป็นคำกิริยาในภาษาบาลี แปลว่า ย่อมถือเอา )

.............

  • จันท    และ   อินท   เป็น บาลี
  • จันทร  และ   อินทร  เป็น สันสกฤต

บาลีและสันสกฤตนั้น บางศัพท์ก็เขียนเหมือนกัน บางศัพท์เขียนต่างกันนิดหน่อย ... แต่พอปราชญ์ไทยนำมาใช้ ก็ใช้มั่วทั้งบาลีและสันสกฤต ส่วนผู้ที่ไม่มีพื้นฐานก็เลยมึน....

การที่จะแยกว่าศัพท์ใดเป็นบาลีหรือสันสกฤตได้ ต้องมีพื้นฐานพอสมควรอย่างน้อยหนึ่งภาษา และอีกภาษาหนึ่งก็พอรู้นิดหน่อย ถ้ารู้เพียงภาษาเดียวก็อาจแยกแยะได้ยาก.....

..........

อนึ่ง ประเด็นสุดท้ายที่อาจารย์ถามมาว่า

  • สนุก ...      สรนุก
  • คระหึม ...   ครหึม
  • กรรเช้า ...   กระเช้า
  • กรรพุ่ม ....  กระำุ่พุ่ม

ตอบตามนัยวิชาการบาลี ท่านเรียกว่าสนธิ ซึ่งการทำสนธินี้ อาศัยประโยชน์ ๓ ประการ กล่าวคื

  1. เพื่อออกเสียงได้สะดวก
  2. เพื่อทำเนื้อความให้สละสลวย
  3. เพื่อช่วยเหลือในการแต่งบทร้อยกรองมีฉันท์เป็นต้น

ในฐานะอาจารย์เป็นนักเลงภาษา คงจะตอบได้ว่า อาจารย์ได้ใช้ไปตามนัยนี้หรือไม่ ?

.......

ถ้าอาจารย์ต้องการเข้าถึงบาลีหรือสันสกฤตจริงๆ ก็แนะนำว่าให้อาจารย์ไปสมัครเรียนโดยตรง... เพราะมีอาจารย์ที่เคารพหลายท่านสนใจบาลีสันสกฤต แต่ยิ่งสนใจก็ยิ่งมั่วยิ่งมึน จึงสรุปว่าบาลีสันสกฤตยาก...

ความเห็นส่วนตัว อาตมาว่า ไม่ยากเท่าไหร่ เพียงแต่ท่านเหล่านั้นไม่ได้เรียนเป็นระบบโดยตรงเท่านั้น...

เจริญพร

 

 

 

 

นมัสการ

ขอบคุณมากที่นำเสนอราตรี/รัตติ

ได้รับรู้ถึงราก ที่งอกมาถึงไทย

มีหลากหลายคำที่พูดกันจนคุ้นชิน

แต่พอจะขุดเอาราก จะถากเอาโคน

ไม่สามารถรู้ได้

อีกคำที่พอรู้ความหมาย

แต่อยากได้ตัวประกอบวามหมาย

คือคำว่า รัตตัญญู

ขออาจารย์ช่าวอนุเคราะห์ด้วย

ไม่มีรูป

vorya9451

 

  • รัตตัญญู แปลว่า ผู้รู้ราตรี

ศัพท์นี้ ค้นหาในอินเทอร์เน็ตได้ไม่ยาก...

เจริญพร

  • ความเห็นส่วนตัว อาตมาว่า ไม่ยากเท่าไหร่ เพียงแต่ท่านเหล่านั้นไม่ได้เรียนเป็นระบบโดยตรงเท่านั้น...

  • แจ่มแจ้งแทงตลอด
  • พระอาจารย์กล่าวได้ไพเราะในเบื้องต้น
  • ไพเราะในท่ามกลาง
  • แต่ในเบื้องปลาย เหมือนจะเหน็บกระผมนิด ๆ นะขอรับ ฮา..
  • แต่ก็พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ
  • กราบขอบพระคุณขอรับ เหมือนแหวกม่านมองเห็นตะวัน

นมัสการหลวงพี่

แวะมาอ่านครับ

ภาษาไทย โดยเฉพาะในวรรณคดีนี่ บาลีสันสกฤตเต็มไปหมด

เหนื่อยเหมือนกันครับสำหรับนักเรียนนักศึกษา

P

ธ.วั ช ชั ย

 

อาตมาเคยเรียนระดับปวช. แต่ไม่จบ... พอมาบวชตอนหลังจึงไปสอบเทียบม.๖ โดยเลือกภาษาบาลี เป็นวิชาเลือกด้วย ๑ วิชา ซึ่งตอนนั้นอาตมากำลังเรียนประโยค ๓ อยู่ในวัด (ใกล้จะเป็นท่านมหาฯ )

ข้อสอบปรนัย ส่วนหนึ่งจะให้ข้อความภาษาไทยมา แล้วถามว่า ประโยคนี้มีคำบาลีสันสกฤตกิ่คำ ....  คำถามเหล่านี้ โดยมากอาตมาตอบไม่ตรงกับคำเฉลย  (น่าจะรู้มากกว่าผู้เฉลย)

ประสบการครั้งนี้ จำไม่ลืมเลย... (5 5 5 )

เจริญพร

โทษนะครับพอดีสงสัยคำว่า

รติกาล หมายความเช่นเดี่ยวกับ รัตติกาล หรื่อปล่าวครับ

ไม่มีรูปอนุสิษฐ์

 

รติกาล รััตติกาล ในภาษาไทยนั้น น่าจะมีความหมายเหมือนกัน...

เคยฟังจากอาจารย์จำนง ทองประเสริฐ (ราชบัณฑิต)... ภาษาบาลีเมื่อนำมาใช้ในภาษาไทยนั้น ถ้ามีพยัญชนะซ้อนกัน ๓ ตัว ด้วยอำนาจสนธิ ให้ตัดตัวที่เหมือนกันหรือตัวที่ซ้อนมาออกไป ๑ ตัว ในเมื่อเห็นว่าเป็นการสมควร โดยการตัดตัวหน้าออกไป เช่น...

  • ปุคฺคโล - บุคล (บุคลิก)
  • ทิฎฺฐิ - ทิฐิ
  •  รตฺติกาโล - รติกาล

แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความนิยมของแต่ละคำด้วย...

เจริญพร

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท