BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

อนุโมทนา


อนุโมทนา

ผู้ที่ผ่านมาเยี่ยมบันทึกของผู้เขียนเป็นประจำ คงจะเคยเห็นว่าผู้เขียนใช้ศัพท์นี้เป็นปกติ ส่วนความหมายที่ผู้เขียนใช้นั้น อาจเป็นไปได้ทั้งเชิงบวกหรือเชิงลบ ดังเรื่องราวในบันทึกนี้...

อนุโมทนา เป็นคำที่ใช้กันติดปากสำหรับบรรดานักบุญหรือผู้คุ้นเคยอยู่กับวัด เพียงแต่ความหมายและความเข้าใจในภาษาไทยอาจแตกต่างไปบ้างจากภาษเดิม และอาจมีรายละเอียดปลีกย่อยลงไปอีกเมื่อเพ่งเฉพาะท้องถิ่นที่ใช้ ดังเช่น ภาษาถิ่นปักษ์ใต้ (โดยเฉพาะจังหวัดสงขลา) จะพูดกันสั้นๆ ว่า โมนา นั่นคือ ลดรูปลดเสียง จาก...

  • อนุโมทนา - โมนา

ดังเช่นสำนวนว่า...

  • ฮ ! ฉานอีไปทอดถิ่นวัดโคะ ใครอี โมนา มั้งฮะ ? ( นี้ ! ฉันจะไปทอดกฐินวัดพระโคะ ใครจะร่วมทำบุญบ้าง ?)
  • โมนา ไปกับบ้านออกแล้ว ทำเล่าก็ได้ ชาติหน้าจะได้พบกันเล่า ! (ร่วมทำบุญไปกับบ้านออกแล้ว ทำอีกก็ได้ ชาติหน้าจะได้พบกันอีก)

โมนา ซึ่งรูปลดเสียงมาจาก อนุโมทนา ตามที่เล่ามา น่าจะหมายถึง ร่วมทำบุญ หรือ บริจาค...

............

คำว่า อนุโมทนา มาจาก มุทะ รากศัพท์ซึ่งใช้ในความหมายทำนองว่า พอใจ. ยินดี. ชื่นชอบ. โดยมี อนุ ซึ่งบ่งชี้ความหมายว่า ตาม เป็นอุปสัคนำหน้า

  • อนุ+มุทะ+ยุ = อนุโมทนา (แปลงสระ อุ เป็น โอ แล้วแปลง ยุ ปัจจัยเป็น อนะ ตามหลักไวยากรณ์)

โดยมีวจนัตถะว่า...

  • กุสลกมฺมํ อนุโมทติ ตายาติ อนุโมทนา
  • บุคลย่อมยินดีตาม ซึ่งกุสลกรรม ด้วยกิริยานั้น ดังนั้น กิริยานั้นชื่อว่า อนุโมทนา (เป็นเหตุตามยินดี)

อนุโมทนา ซึ่งแปลตรงตัวว่า ตามยินดี หรือ ยินดีตาม แต่ถ้าจะแปลใ้ห้ได้สำนวนไทยน่าจะแปลว่า พลอยยินดี พลอยชื่นชม ด้วยความเต็มใจ  หรือ เห็นชอบด้วย

..........

ส่วนสาเหตุที่ศัพท์นี้ได้รับการนิยมจนพูดกันติดปาก ผู้เขียนคิดว่าเพราะการพลอยยินดีหรือพลอยชื่นชมในกุศลกรรม คือสิ่งที่เป็นบุญ สิ่งดีๆ ที่คนอื่นทำนั้น จัดเป็นบุญอย่างหนึ่ง เรียกว่า

  • ปัตตานุโมทนามัย - บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ

กล่าวคือ เมื่อใครทำบุญหรือทำความดีแล้วต้องการจะเผื่อแผ่บุญหรือความดีนั้นให้เรา ซึ่งเรียกกันว่า ปัตติทานมัย (บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ)... ถ้าเรายินดีเห็นชอบเห็นสมในความดีของเค้า เราก็มักจะรับคำว่า สาธุ !  หรือ อนุโมทนา สาูธุ ! นั่นคือ การพลอยยินดีในส่วนบุญหรือความดีนั้น ซึ่งจัดเป็นบุญเหมือนกันเรียกว่า ปัตตานุโมทนามัย

และการอนุโมทนานี้ ถือกันว่าถ้าอนุโมทนาแต่ปากแต่ใจได้บุญน้อย ต้องทำด้วยจึงจะได้บุญมาก ดังนั้น คำว่าอนุโมทนา ค่อยขยายความหมายไปถึง การร่วมทำบุญ หรือ ร่วมบริจาค ในภาษาไทย ดังตัวอย่างที่ผู้เขียนเล่ามาข้างต้น

อีกอย่างหนึ่ง เพราะการอนุโมทนาหรือพลอยยินดีในบุญความดีนี้เอง... ต่อมา หากใครทำอะไรแล้ว เราเห็นชอบด้วยว่าเหมาะสมหรือดีแล้ว ก็ใช้คำว่า อนุโมทนา ซึ่งตามนัยนี้ก็อาจหมายถึง เห็นด้วย ดีแล้ว (เป็นความหมายเชิงบวก) ... และก็มีเหมือนกัน ที่ใครบางคนซึ่งพูดมาก ชอบคุย มักวาดโครงการให้คนข้างเคียงฟังบ่อยๆ ก็อาจได้รับคำว่า อนุโมทนา  ซึ่งตามนัยนี้บ่งชี้ว่า ไม่อยากโต้เถียงด้วยเพราะรำคาญ (เป็นความหมายเชิงลบ)

............

อนึ่ง บางคนบอกว่า ถ้าอนุโมทนาก็ต้องเฉพาะส่วนบุญเท่านั้น ถ้าเรารับคำอนุโมทนารวมๆ แล้ว เราก็จะรับทั้งส่วนที่เป็นบุญและส่วนที่เป็นบาปของเค้ามาทั้งหมด... ซึ่งผู้เขียนยังเรียนไม่ถึงนี้ เพราะไม่เคยเจอและไม่รู้ว่าเค้าเอามาจากคัมภีร์ไหน

สำหรับความเห็นส่วนตัว คิดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องง่ายๆ ไม่จำเป็นต้องคิดอะไรมาก ก็คือ ใครทำดีแล้วปลื้มใจในการกระทำของเค้าก็นำมาเล่าให้เราฟัง อยากให้เรามีส่วนร่วมด้วย... เราก็ควรพลอยปลื้มใจในความดีที่เค้าได้ทำด้วย ซึ่งนั้นจัดเป็นหลักมุทิตาธรรมในพรหมวิหาร (มุทิตา ยินดีในเมื่อผู้อื่นทำดีหรือได้ดี) และกิริยาทำนองนี้ จัดเป็นบุญได้เหมือนกัน...

ทำไมจึงจัดว่าเป็นบุญได้ เพราะบุญแปลว่าฟอกหรือชำระ หมายถึงฟอกหรือชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสปราศจากกิเลส... และเฉพาะปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการพลอยยินดีส่วนบุญทำนองนี้ ย่อมฟอกจิตใจให้ปราศจากกิเลสคือความอิจฉาริษยาในการกระทำดีของผู้อื่นนั่นเอง...

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า...

  • สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ นาญฺโญ อญฺญํ วิโสธเย
  • ความบริสุทธิ์ (หรือ) ความไม่บริสุทธิ์ เป็นของเฉพาะตน คนหนึ่ง พึงชำระให้อีกคนหนึ่งบริสุทธิ์ หามิได้เลย

นั่นคือ ถ้าเราอนุโมทนาส่วนบุญของผู้อื่น ก็ทำให้ความอิจฉาริษยาที่จะบังเกิดภายในใจนั้นหมดไป (หรือน้อยลง) ซึ่งเป็นอุบายง่ายๆ แม้จะไม่ถึงขนาดทำให้จิตใจบริสุทธิ์ อย่างน้อยก็ทำให้จิตใจเราผ่องใสสดชื่น ไม่ขึ้งเครียดเพราะความอิจฉาริษยา...

หมายเลขบันทึก: 217034เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2008 21:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 11:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

นมัสการพระคุณเจ้า  เจ้าค่ะ

เคยเห็นจากซองผ้าป่าสามัคคี

โมทนาบุญ และ อนุโมทนาบุญ

และสงสัยคำว่า นมัสการ และกราบนมัสการ

กราบขอบพระคุณเจ้าค่ะ

P krukim

 

  • นมัสการ แปลว่า กระทำการนอบน้อม

นมัสสะ เป็นคำบาลีเดิม แปลว่า นอบน้อม ซึ่งบ่งชี้การทำความเคารพผู้ควรแก่การเคารพ.... ส่วน การ แปลว่า กระทำ

คำนี้ภาษาไทยนำมาใช้ตรงตัว และนิยมใช้เฉพาะกับพระสงฆ์เท่านั้น...

เจริญพร

 

นมัสการพระคุณเจ้า BM.chaiwut ที่พระคุณเจ้ากล่าวว่า "อนึ่ง บางคนบอกว่า ถ้าอนุโมทนาก็ต้องเฉพาะส่วนบุญเท่านั้น ถ้าเรารับคำอนุโมทนารวมๆ แล้ว เราก็จะรับทั้งส่วนที่เป็นบุญและส่วนที่เป็นบาปของเค้ามาทั้งหมด... "

โยมคิดว่า มีประโยชน์มากๆ ที่พระคุณเจ้าตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ โยมคิดว่า น่าจะแยกได้สองประเด็นที่ควรนำมาพิจารณานั่นคือ ประเด็นว่าด้วยเรื่องอำนาจแห่ง บุญและบาป และประเด้นว่าด้วยเรื่อง การอนุโมทนา สำหรับเประเด็นเรื่องว่าด้วยเรื่องการอนุโมทนานั้น พระภาวนาวิริยคุณ อรรถาธิบายไว้ความว่า 

"การอนุโมทนาบุญ คือ ดีใจด้วยกับการที่คนอื่นทำความดี เช่น พอเห็นใคร ทำความดี เราก็ไปอนุโมทนาบุญด้วย ดีใจด้วย ซึ่งจะเป็นทั้งความชื่นใจ ที่เกิดกับตัวเราเอง แล้วก็เป็นการให้กำลังใจกับคนที่ทำความดี ให้เขามีกำลังใจที่จะทำความดียิ่งๆ ขึ้นไป ส่วนการ อนุโมทนาบาป คือ ดีใจด้วยกับการที่คนอื่นทำความชั่ว พอเห็นใครทำความชั่ว " แหม ดีเหลือเกิน" เช่น เวลาเห็นคนที่เราไม่ค่อยรัก ไม่ค่อยชอบหน้าสักเท่าไหร่ ถูกรังแก เราก็ดีใจ ไปสมน้ำ หน้าเขา นั่นเป็นการอนุโมทนาบาป เต็มที่เลย ก็จะมีผลทำให้เราพลอยได้บาปไปด้วยเพราะถึง เขาไม่ค่อยจะถูกกับเรา ก็เป็นคนละเรื่องกัน ยิ่งกว่านั้น ในกรณีที่เห็นใครได้รับความเดือดร้อน ได้รับความทุกข์ยาก แม้ว่าเขาจะเป็น คนชั่ว เป็นคนไม่ดี ก็อย่าไปโมทนากับเขา ยกตัวอย่าง พ่อค้ายาเสพติด ซึ่งเป็นคนชั่วอย่างแน่นอน โดยกฎหมายมีโทษว่าต้อง ประหาร ชีวิต เพราะทำความเดือดร้อนให้กับคนอื่นมามากมายเหลือเกิน ขืนปล่อยให้มีชีวิตอยู่ต่อไป เดี๋ยวจะมี คนติดยาเสพติดของเขา จนต้องเป็นทุกข์เป็นร้อนกันทั่วบ้านทั่วเมือง พอมีข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ว่า พ่อค้ายาเสพติดผู้นี้ถูกศาลตัดสินให้ประหารชีวิต ด้วยวิธียิง เป้าเท่านั้น คนสาธุกันลั่นเมืองทีเดียวโดยหารู้ไม่ว่า ได้อนุโมทนาบาปเข้าไปแล้ว เพราะไป ยินดีต่อ การที่ จะต้องฆ่าคน ยินดีต่อการที่จะมีคนถูกฆ่า แม้ทางโลกอาจจะมองว่า ในเมื่อเขาทำ ความชั่วมาเยอะ ก็สมควรแล้วที่จะต้องถูกฆ่าให้ตาย แต่ทางธรรม เมื่อเกิดมีการฆ่ากันขึ้นมา เราจะไม่พูดในแง่ของกฎหมาย แต่เราจะพูดในแง่กฎของวัฏฏสงสาร คือ ในเมื่อเราก็ไม่ได้เป็นผู้ที่สร้างชีวิต ไม่ได้เนรมิตชีวิตใครขึ้นมา เพราะฉะนั้น ใครๆ ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปฆ่าใคร ถ้าไปฆ่าใครเข้า บาปก็เกิดแก่ผู้ฆ่าทันที แล้วถ้าหากไปอนุโมทนาต่อการฆ่านั้น เราก็จะพลอยได้บาปไปด้วย เพราะทันทีที่เห็น ดีเห็นงาม ต่อการทำบาป ใจของเราก็จะขุ่นมัว ซึ่งพวกเราก็คงจำกันได้ดีว่า เมื่อใจขุ่นมัว ไม่ผ่องใส ถ้าตายขณะนั้น ย่อมมีทุคติเป็นที่ไป" (1)

สำหรับประเด็นที่สอง คือประเด็นว่าด้วยเรื่องอำนาจแห่ง บุญและบาปโยมเคยอ่าน มิลินทปัญหา (ฉบับการ์ตูน) จำเนื้อหาไม่ได้ทั้งหมด แต่จำได้คร่าวๆ ว่า พระเจ้ามิลินท์ ถามปัญหากับ พระนาคเสนว่า

การทำบุญแผ่ส่วนกุศล ให้คนตาย คนตายยังได้รับส่วนของผลบุญนั้น ถ้าเช่นนั้นการทำบาป แล้วแผ่ไปให้คนตายคนตายจะได้รับผลของบาปนั้นด้วยหรือไม่? พระนาคเสน ตอบว่า ไม่ได้รับ สาเหตุน่าจะสืบเนื่องมาจาก

"คนทำบาปมีความเดือดร้อนใจ เมื่อจะทำบาปอีกก็ลังเลใจ ส่วนคนทำบุญมีความสบายใจ อยากทำบุญไปเรื่อยๆ มีจิตใจสงบสุข ตัวอย่างเช่นคนผู้หนึ่งมือเท้าด้วนได้ถวายดอกบัวกำมือหนึ่งแก่พระพุทธเจ้า ได้รับผลบุญนับได้ ๙๑ กัป" (2)

อ้างอิง

(1) พระภาวนาวิริยคุณ. ตอบคำถาม "การอนุโมทนาบุญกับอนุโมทนาบาป ต่างกันอย่างไร? ถามโดย porapatr (นามแฝง)" [cited 2008 October 16]. Available from: http://board.palungjit.com/showthread.php?t=107252

(2) กรมการศาสนา. มิลินทปัญหา เล่ม 1 .กระทรวงศึกษาธิการ จัดพิมพ์ ; 2543 หน้า 98.  อ้างใน TupLuang (นามแฝง). บาปปุญญพหุตรปัญหา : ถามกำลังแห่งบุญและบาป . [cited 2008 October 16]. Available from: http://community.thaiware.com/thai/index.php?showtopic=340912&pid=2098797&st=0&#entry2098797

Pกวิน

 

กำลังจะปิดเครื่องพอดี เพราะรู้สึกง่วงหาวนอน เพราะแพ้อากาศตอนเช้า... อาจารย์ก็ให้ความเห็นมา จึงต้องเปิดบาวเซอร์แล้วล็อกอินเข้ามาใหม่... เนื้อหาก็ยาว อ่านๆ ไป ทำท่าเครียด ทำให้ความง่วงต้องหลบไปก่อน (5 5 5...)

มิลินทปัญหา หลวงพี่อ่านเมื่อตอนแรกบวช หลายๆ อย่างก็ลืมไป ส่วนประเด็นที่อาจารย์ยกมาก็พอนึกได้...

เจริญพร

ผมกำลังคุยกับพี่ที่ทำงานว่า...ทำไมผมเห็นหน้าคน ๆ หนึ่งออกทีวีแล้วรู้สึกเกลียดชังทั้งที่ไม่เคยพูดคุยกับเขามาก่อนเลย...แล้วก็ร่วมอนุโมทนาบาปไปกับเขาด้วย...55555

 

โมทนา ว่าให้            เป็นสุข

เพียงแต่ใจ เราทุกข์   บ่ได้

กุศลเกิด ท่ามกลาง    จิตใจ

ตัดความคิด ชั่วร้าย       อย่างนี้ ดีจริง

 

กราบ 3 หน

 

Pนายขำ

 

ที่ท่านเลขาฯ เล่ามานั้น ใช้คำว่า อนุโมทนาบาป น่าจะไม่ค่อยตรงนัก ควรจะใช้คำไทยๆ ว่า แช่ง ! น่าจะตรงความหมายที่สุด (5 5 5...)

  • โลกฟูฟู      ยุบยุบ            ใจคิดไป
  • มันทำไม    ทำไม             เป็นอย่างนี้
  • คนนั้นเลว   คนนี้ชั่ว           โน้นอัปปรีย์
  • บ้างกาลี     คล้ายผีเปรต     เหตุคิดเอง
  • ปล่อยไปเถอะ   ปล่อยไป      ปล่อยไปเถอะ
  • แกล้งงะเงอะ    บ้างยกยอ     บ้างข่มเหง
  • พูดพูดพูด       ด่าด่าด่า       ต่างตะเบง
  • เก็บใส่เข่ง       เอาไปขาย    ไม่ได้เอย ฯ

เจริญพร

กราบนมัสการพระคุณเจ้า

-ครูต้อยชอบ คำนี้จะบาปไหม

  • พูดพูดพูด       ด่าด่าด่า       ต่างตะเบง
  • เก็บใส่เข่ง       เอาไปขาย    ไม่ได้เอย ฯ
  • -ไม่น่าบาป เพราะไม่ได้ชอบพูดๆๆ ด่าๆๆๆ แต่ชอบที่บอกว่า คนที่พูดๆด่าๆ เสียงดังไปนั้น ไม่มีประโยขน์ ใช่ไหมคะ

    -กราบลาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

    P krutoi


    • 5 5 5 . . .

    อาตมาก็ พวกนักกลอนประตู แค่นั้นเอง โยมคุณครูอย่าถือเป็นแก่นสารเลย...

    เจริญพร

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท