BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

(พระ) ธรรมกถึก


ธรรมกถึก

วันนี้ไปร่วมทอดกฐินวัดสุวรรณคีรี หลังจากฉันข้าวเสร็จก็ไปยังกองอำนวยการเพื่อจะร่วมอนุโมทนาตามธรรมเนียม ซึ่งกองประชาสัมพันธ์ก็อยู่ที่นี้... เมื่อพี่ท่านเจ้าอาวาสเข้ามา คุณโยมที่มาช่วยเป็นโฆษกงานวัดจึงเอาใบฏีกามาถามพี่ท่านว่า พระธรรมกถึกที่จะมาเทศน์นี้มีฉายาว่าอย่างไร ? พี่ท่านก็ยิ้มๆ แล้วบอกว่า พระธรรมกถึกไม่มีฉายา พลางหันมายิ้มกับผู้เขียนแล้วพูดว่า ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร ? ผู้เขียนจึงจำเป็นต้องสอดเข้าไปว่า พระธรรมกถึกก็คือพระนักเทศก์ พระนักเทศก์นั่นแหละเรียกว่าพระธรรมกถึก...

ธรรมกถึก เป็นคำที่มาจากบาลีว่า ธัมมกถิก (ธมฺมกถิโก) และคนโบราณคงจะออกเสียงไม่ค่อยคล่องนัก จึงได้เพี้ยนมาเป็น ธัมมกถึก หรือ ธรรมกถึก ... คงจะทำนองเดียวกับคำว่า กุญแจ ซึ่งเพี้ยนมาจาก กุญจิกา ซึ่งผู้เขียนเคยเล่าไว้ (คลิกที่นี้) หรืออาจเทียบเคียงกับคำว่า ไอศกรีม ที่เพี้ยนมาเป็น ไอติม

ธรรมกถึก หรือ ธัมมกถิก แปลว่า ผู้มีวาจาเป็นเครื่องกล่าวซึ่งธรรม ซึ่งถ้าแปลอย่างนี้จัดเป็นศัพท์ตัทธิตที่มาจากสมาสอีกชั้นหนึ่ง ดังอรรถวิเคราะห์ว่า...

  • ธมฺมสฺส กถา ธมฺมกถา
  • วาจาเป็นเครื่องกล่าว ซึ่งธรรม ชื่อว่า ธัมมกถา
  • ธมฺมกถา ตสฺส อตฺถีติ ธมฺมกถิโก
  • วาจาเป็นเครื่องกล่าวซึ่งธรรม ของภิกษุนั้น มีอยู่ ดังนั้น ภิกษุนั้น ชื่อว่า ธัมมกถิกะ

 

แต่บางมติก็บอกว่า ไม่ต้องวิเคราะห์เป็นตัทธิต โดยวิเคราะห์เป็นนามกิตก์ได้เลย ดังนี้

  • ธมฺมํ กเถตีติ ธมฺมกถิโก
  • ผู้ใดย่อมกล่าว ซึ่งธรรม ดังนั้น ผู้นั้น ชื่อว่า ธัมมกถิกะ

 

ตามที่วิเคราะห์มามี ๒ มติ คือ

  • ธมฺมกถิโก = ผู้มีวาจาเป็นเครื่องกล่าวซึ่งธรรม (ตัทธิต)
  • ธมฺมกถิโก = ผู้กล่าวซึ่งธรรม (นามกิตก์)

หรืออาจแปลยักย้ายไปอย่างอื่นได้อีก แต่ความหมายก็มิได้ต่างไปจากนี้... ในการเรียนบาลีนั้น สำหรับนักเรียนบาลีชั้นเริ่มต้น แปลทำนองไหนก็ได้ ถ้าอาจารย์ผู้ตรวจพิจารณาแล้วเห็นว่าสามารถตั้งวิเคราะห์ได้ก็ไม่ถือว่าผิด ส่วนบาลีชั้นสูงนั้น มักจะแปลทับศัพท์ว่า ธรรมกถึก ตามสำนวนนิยมในภาษาไทย...

อนึ่ง จากประสบการณ์วันนี้ จะเห็นได้ว่า คำศัพท์ (หรือเรื่องอื่นๆ) นั้น คนที่อยู่ในแวดวงนั้นๆ อาจคุ้นเคยและรู้เรื่องดี แต่ผู้ที่อยู่นอกแวดวงออกไป หรือเพิ่งเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่อาจไม่รู้ก็ได้... ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ควรไปกล่าวหาหรือตำหนิว่าเรื่องแค่นี้ก็ไม่รู้...

หมายเลขบันทึก: 217616เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2008 21:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 15:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

นมัสการหลวงพี่

สระอิในบาลี มาเป็นอึได้ แปลกดีเหมือนกัน

แต่ก็มีอยู่หลายตัวนะครับ

สมัยเรียน ได้ยินว่า ถึกๆ ก็แปลกใจอยู่ ;)

P ธ.วั ช ชั ย

 

อาจคาดเดาว่า สมัยโบราณนั้น มีนักเรียนหรือครูบาลีคนหนึ่ง อาจ จมูกอี้ ปากเปรี้ยว หรือ เป็นไซนัส ทำให้ออกเสียงไม่ชัด จึงออกเสียงจาก ธรรมกถิก เป็น ธรรมกถึก บังเอิญสังคมนั้นล้อเลียน จึงได้สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน (5 5 5...)

เจริญพร

ดังนั้นการเรียนโดยไม่รู้รากจึงกลายเป็นท่องแบบนกแก้วนกขุนทองแต่นึกว่ารู้ไปได้ขอรับ

นมัสการพระคุณเจ้า

การออกเสียงไม่ชัด หรือเสียงเพี้ยน ถึงไม่เป็น รัดวงหมูกก็ออกเสียง เพี้ยน

อย่าง จำรัส มาเป็น มรัส

จำเริญ มาเป็น เมริญ และอีกหลายๆคำตามที่ได้ยินมาครับ

P บังหีม

 

  • 5 5 5...

เห็นด้วยกับบัง...

ส่วนลัดดวงหมูกนั้น อาจเป็นปัจจัยสนับสนุน ให้ข้ออ้างดูสมเหตุสมผล หรือมีความน่าจะเป็นยิ่งขึ้นเท่านั้น...

เจริญพร

นมัสการพระคุณเจ้า คำว่า โชดึก/โชฏึก ก็เช่นเดียวกันครับ

โชดึก/โชฎึก มาจากคำว่า โชติก(ะ)/โชฏิก(ะ) สอบจาก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ออนไลน์ ได้ความว่า

โชดึก น. ผู้มีความรุ่งเรือง, ผู้มีความสว่างไสว. (ป. โชติก). (1)

ยกตัวอย่างการใช้คำ คำนี้ ที่โบราณท่านใช้ก็เช่น  พระยาโชดึกราชเศรษฐี/พระยาโชฏึกราชเศรษฐี (เศรษฐีแห่งพระราชาผู้มีความรุ่งเรือง)

สาเหตุที่ใช้ ด และ ฎ หรือ ต และ ฏ แทนกันก็น่าจะมาจากอักขระวิธีโบราณที่แตกต่างจากสมัยนี้นั่นเอง เช่นเดียวกันกับคำว่า โชดก/โชฎก หรือ โชตก(ะ)/โชฏิก(ะ) สอบจาก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ออนไลน์ ได้ความว่า

โชดก น. ผู้รุ่งเรือง, ผู้สว่างไสว, ผู้ส่อง. (ป. โชตก). (1)

ยกตัวอย่างการใช้คำ คำก็เช่น พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทธิเถร ป.ธ.๙)


อ้างอิง

(1) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542.[cited 2008 October 21]. Available from: URL; http://rirs3.royin.go.th/word8/word-8-a3.asp

Pกวิน


อาจารย์ขยันค้นจริงๆ... หลวงพี่คร้านจะค้น โดยมากก็อาศัยลูกมั่ว ซึ่งบางครั้งก็มั่วแบบนิ่มๆ (5 5 5...)

อีกอย่างหนึ่ง ต. และ ฎ. นั้น ในภาษาบาลีบางคำก็แปลงไปแปลงมาได้...

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท