BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

สุริยา


สุริยา

สุริยา แปลว่า ดวงอาทิตย์ อันที่จริง สุริยาเป็นคำบาลี ส่วน อาทิตย์เป็นสันสกฤต ส่วนคำไทยแท้น่าจะเป็น ตะวัน

อนึ่ง อาทิตย์ ตามสันสกฤตนี้ แปลว่า เร้าร้อนหรือแผดเผา ซึ่งในบาลีก็มีใช้เช่นเดียวกัน แต่เขียนว่า อาทิจโจ ซึ่งแตกต่างกันเล็กน้อย 

สุริยา ตามที่เคยเห็นมา แปลได้ ๒ นัย โดยนัยแรกเป็น ศัพท์นามกิตก์ (ปรุงศัพท์ขึ้นจากธาตุ) และนัยที่สองเป็น ศัพท์ตัทธิต (ใช้ปัจจัยแทนความหมายบางอย่าง)

ตามนัยแรก สุริยา แปลว่า เบียดเบียนทุกข์คือความกลัวของสัตว์โลก

วจนัตถะ โลกานํ ภยทุกฺขํ สุนาตีติ สุริโย สภาวะใดย่อมเบียดเบียนทุกข์คือความกลัวของบรรดาสัตว์โลก ดังนั้น สภาวะนั้นชื่อว่า สุริยะ (ผู้เบียดเบียนทุกข์คือความกลัวของสัตว์โลก)

อธิบายว่า เมื่อเกิดความมืดนั้น คนก็รู้สึกกลัว หวาดเสียว แต่เมื่อค่อยๆ มีความสว่างเกิดขึ้นมากำจัดความมืด ความรู้สึกหวาดกลัวของคนก็ค่อยๆ หมดไป นั่นคือ เบียดเบียนทุกข์คือความกลัวของสัตว์โลก

ตามนัยที่สอง สุริยา แปลว่า สร้างความกล้าหาญให้เกิดขึ้นแก่สัตว์โลก

วจนัตถะ โลกานํ สุรภาวํ ชเนตีติ สุริโย สภาวะใดยังความเป็นผู้กล้าหาญให้เกิดขึ้นแก่บรรดาสัตว์โลก ดังนั้น สภาวะนั้นชื่อว่า สุริยะ (ผู้สร้างความกล้าหาญให้เกิดขึ้นแก่สัตว์โลก)

อธิบายว่า เมื่อเกิดความมืด คนก็รู้สึกขลาด หวาดระแวง แต่เมื่อค่อยๆ มีความสว่างเกิดขึ้นมากำจัดความมืด ความรู้สึกขลาดหวาดระแวงก็ค่อยๆ ลดน้อยลง และความมั่นใจในตัวเอง ความเป็นผู้กล้าหาญก็ค่อยๆ เกิดขึ้น ...ประมาณนี้แหละ

ตามหลักไวยากรณ์บาลี

สุริยะ ตามนัยแรกที่บอกว่าเป็นนามกิตก์นั้น มาจากรากศัพท์ว่า สุ แปลว่า เบียดเบียน (สุ+ร+อิยะ) ซึ่ง สุ รากศัพท์นี้ มีความหมายอื่นๆ อีกหลายนัย เช่น สุตะ การฟัง (สุ ธาตุในความฟัง)  หรือ สุรา เหล้า (สุ ธาตุในความไหล ใครเคยต้มเหล้าก็คงจะรู้ว่าจะไหลลงทีละหยดๆ 5 5 5)

สุริยะ ตามนัยที่สองซึ่งบอกว่าเป็นตัทธิตนั้น มาจาก สุระ แปลว่ากล้าหาญแล้ว ใช้ อิยะ ปัจจัยแทนเนื้อความว่า สร้างความกล้าหาญ (สุระ+อิยะ)

หมายเหตุ

ผู้เชียวชาญบาลีบางท่านเคยตั้งข้อสังเกตว่า การใช้ปัจจัยแทนเนื้อความทำนองนี้ ในภาษาไทยก็มี เพียงแต่ยังไม่มีการศึกษาอย่างเป็นระบบเท่านั้น เช่น คำว่า ชาว ในภาษาไทย สามารถเทียบเคียงเป็นปัจจัยในตัทธิตของบาลีได้ ดังตัวอย่าง

ชาวบ้าน คือ ผู้อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน (ชาว = ผู้อาศัยอยู่)

ชาวสวน คือ ผู้ประกอบอาชีพทำสวน (ชาว = ผู้ประกอบอาชีพ)  

 

คำสำคัญ (Tags): #สุริยา
หมายเลขบันทึก: 69790เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2006 22:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

นมัสการพระคุณเจ้า 

                นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี 

                ที่ท่านได้เปิดพื้นที่ให้ญาติโยม

              ได้สนทนาธรรม  ซึ่งนับวันจะเดินห่างกัน

                 คนเดินห่างธรรม 

                 

                  

เจริญพร อาจารย์

ด้วยความยินดีครับ

แบบว่า มีหลายเรื่องที่รกรุงรังอยู่ในสมอง ว่างๆ ก็มาบ่นให้ผู้สนใจอ่านเล่นๆ นะครับ 5 5 5

เจริญพร 

นมัสการพระคุณเจ้า

          ครูดี   ในสังคมไทยควรมีคุณลักษณที่ดีอย่างไรบ้าง   ครับผม

เจริญพร จ้า

ไม่อยากจะคิดเองแล้วครับ อัญเชิญพระบาลีมาก็แล้วกัน นะครับ

ปิโย ครุ ภาวนีโย วตฺตา จ วจนกฺขโม

คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา โน จฎฺฐาเน นิโยชเยติฯ

" น่ารัก๑ น่าเคารพ๑ น่ายกย่อง๑ มักว่ากล่าว๑ อดทนฟังได้๑ อธิบายเรื่องลึกซึ้งได้๑ และไม่ชักชวนไปในเรื่องที่ไม่สมควร๑"

๗ ประการนี้ ถือว่าเป็นคุณสมบัติของผู้เป็นครูในฐานะกัลยาณมิตร ถ้าครูคนใดมีคุณสมบัติเหล่านี้ครบถ้วนก็จัดว่าดีมาก ถ้าบกพร่องบ้าง ความดีก็คงจะลดลงไปตามส่วน ประมาณนี้แหละครับ

เจริญพร   

ครูที่ดีต้องมีคีย์ให้ดู....เด็ก ๆ ว่างี้อ่ะคับ...อาจารย์...555

 

ที่จริงครูที่ดี...คืดคนที่สอนคนอื่นเป็นคนดี...

สอนให้คนอื่นเป็นคนดีได้ก็ต้องมีแบบอย่างที่เด็ก(หรือคนอื่น)เห็น...(อ้างอิงจากเรื่องสอน...ใครสอน)

 

เอ....ที่จริงเราตามมาดูสุริยานี่นนา....555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท