ทำไมต้อง KM , อะไรคือ data , information , and knowledge


ผมคิดว่าทุกวันนี้หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆที่ดำเนินงานอยู่นั้นได้มีการใช้ Concept ของ KM กันอยู่แล้ว

ตามความเห็นของผมนั้น ผมคิดว่าทุกวันนี้หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆที่ดำเนินงานอยู่นั้นได้มีการใช้ Concept ของ KM กันอยู่แล้วล่ะ เพียงแต่ว่ามากหรือน้อย  มีประสิทธิภาพ และระบบ กันแค่ไหนเท่านั้น   เช่นสมมติธุรกิจดั้งเดิมของที่บ้านขายก๋วยเตี๋ยว มีสูตรลับเฉพาะในการทำเส้นที่มีมาตั้งแต่รุ่นปู่ทำมาอย่างไร ก็มีเอกลักษณ์ของการทำเส้นร้านนั้นถ่ายทอดถึงรุ่นลูก รุ่นหลาน อย่างนี้ก็ถือว่าเป็น KM แล้วล่ะครับ  เพียงแต่ว่าเป็น KM แบบท้องถิ่นหรือ KMแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน   อย่างไรก็ดีการทำ  KM ที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้นคงไม่เหมือนตัวอย่างที่ยกมานี้แน่ๆ  ยังงัยขอเวลาศึกษาก่อนนะครับ

                      ก่อนจะศึกษาเรื่อง KM เรามารู้เรื่องของความหมายของ ข้อมูล(data) , ข่าวสาร สารสนเทศ(information) , และควมรู้  (knowledge) กันเพื่อปูความเข้าใจพื้นฐานในการศึกษาเรื่องนี้

โดยปกติแล้วข้อมูล ข่าวสาร และความรู้มีความใกล้ชิดกันอย่างมาก แต่อันที่จริงแล้วทั้งสามสิ่งก็ยังมีข้อที่แตกต่างกันโดยคำว่า "ข้อมูล" (Data) นั้นหมายถึงเนื้อความของข้อเท็จจริงที่ได้รับการรวบรวมเก็บไว้โดยไม่ได้คำนึงถึงสาระที่เกิดจากข้อมูลเหล่านั้น เมื่อข้อมูลหลาย ๆ อันประกอบกันเพื่ออธิบายเรื่อง ๆ เดียวกันสิ่งนี้ทำให้เกิดคำว่า "ข่าวสารหรือสารสนเทศ" (Information) ซึ่งหมายถึงสิ่งที่มีความหมายในเชิงเนื้อหาสาระสำหรับผู้รับ ส่วนคำว่า "ความรู้" (Knowledge) คืออะไร คำตอบก็คือ ความรู้คือสิ่งที่รู้ไม่ว่าจะเกิดจากการเรียนรู้หรือจากประสบการณ์ที่สะสมมา ทั้งนี้ความรู้เกิดขึ้นมาจากวิธีการทางตรรกหรือการวินิจฉัยจากความรู้เดิมและประสบการณ์ ถ้าเรากล่าวว่าสารสนเทศคือข้อมูลบวกกับความหมายแล้วละก็ ดังนั้นภูมิปัญญาก็คือ สารสนเทศบวกกับการประมวลผลเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ หรือความสามารถที่จะคิดหาทางออกหรือการแก้ปัญหาโดยการเปรียบเทียบกับสารสนเทศที่มีอยู่

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 139เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2005 17:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

จากข้างบน:

ดังนั้นภูมิปัญญาก็คือ สารสนเทศบวกกับการประมวลผลเพื่อให้เกิดผลลัพธ์

ถ้าพูดถึง "ภูมิปัญญา" น่าจะตรงกับคำว่า "wisdom" มากกว่านะครับ

คิดว่าประโยคที่ยกมาข้างบน น่าจะหมายถึง "ความรู้" (knowledge) มากกว่าใช่มั๊ยครับ?

จากพจนานุกรม The Collaborative International Dictionary of English v.0.48 [gcide] ให้ความหมาย wisdom ไว้ว่า:

knowledge, and the capacity to make due use of it
ความรู้, และความสามารถในการนำมันไปใช้

ส่วนเว็บ systems-thinking.org ให้ความหมายของ ข้อมูล, สารสนเทศ, ความรู้, ความเข้าใจ, และปัญญา ไว้ดังนี้ (ถอดความเป็นภาษาไทย):

  1. ข้อมูล: สัญลักษณ์
  2. สารสนเทศ: ข้อมูลที่ประมวลผลให้มีประโยชน์แล้ว; ตอบคำถาม "ใคร", "อะไร", "ที่ไหน", "เมื่อใด"
  3. ความรู้: การประยุกต์ข้อมูลและสารสนเทศ; ตอบคำถาม "อย่างไร"
  4. ความเข้าใจ: ความตระหนักว่า "ทำไม"
  5. ปัญญา: ความเข้าใจที่ถูกประเมินแล้ว

ถ้ายึดตามเกณฑ์ข้างบนนั้น จากตัวอย่างสูตรลับก๋วยเตี๋ยวที่ว่ามา

สมมติธุรกิจดั้งเดิมของที่บ้านขายก๋วยเตี๋ยว มีสูตรลับเฉพาะในการทำเส้นที่มีมาตั้งแต่รุ่นปู่ทำมาอย่างไร ก็มีเอกลักษณ์ของการทำเส้นร้านนั้นถ่ายทอดถึงรุ่นลูก รุ่นหลาน

การรู้ว่าจะปรุงก๋วยเตี๋ยว "อย่างไร" ก็คือรู้ว่า จะใส่เครื่องปรุง "อะไร", "ที่ไหน", "เมื่อใด"

อันนี้ถือเป็น ความรู้ ได้, คือรู้ว่าจะทำ "อย่างไร"

การถ่ายทอด "สูตรลับ" นี้ ถ้าถ่ายทอดเฉพาะว่า "ทำอย่างไร" ก็จะเป็นอย่างที่ตัวอย่างยกมาว่า เป็น การจัดการความรู้ (knowledge management) ได้

แต่การถ่ายทอดลักษณะนี้ ไม่น่าจะรับประกันได้ว่า รุ่นลูก รุ่นหลาน จะรู้ว่า เครื่องปรุงที่ใส่ไปตรงนี้ตอนนั้น "ทำไม" ต้องทำแบบนั้นด้วย ใช่หรือไม่ครับ ?

เพราะในการถ่ายทอดสูตรลับอาจจะไม่ได้ถ่ายทอด "ความเข้าใจ" ไปด้วย

อันนี้คือสมมติว่า คุณปู่เจ้าตำรับมี "ความเข้าใจ" ว่าทำไมปรุงก๋วยเตี๋ยวตามสูตรนี้ ถึงได้รสชาตินี้นะครับ – มีอีกกรณีคือ คุณปู่อาจจะไม่มี "ความเข้าใจ" เลย คือมี "ความรู้" จริง, รู้ว่าจะทำ "อย่างไร" แต่ไม่รู้ว่า "ทำไม", เ่ช่น ความรู้นั้นอาจจะเกิดจากประสบการณ์การลองผิดลองถูก โดยไม่จำเป็นต้องมีความเข้าใจ (เหมือนคนทั่วไปจะรู้ว่า ถ้าตบหน้าตัวเอง จะเจ็บ แต่ไม่รู้ว่าที่เจ็บนั้นเพราะประสาทรับความรู้สึกถูกกระตุ้นอย่างแรง เป็นต้น)

ส่วน "ปัญญา" นั้น อาจจะไม่สามารถถูกถ่ายทอดได้เลย เนื่องจากอาจจะไม่ได้มีมาแล้วตั้งแต่ต้น – คือคุณปู่เจ้าตำรับ อาจจะไม่เคยประเมินความเข้าใจของตนเอง (หรือเปิดโอกาสให้ผู้อื่นมาประเมิน, เนื่องจากเป็น 'สูตรลับ')

หรือพูดอีกอย่างคือ แม้คุณปู่จะเข้าใจเป็นอย่างดี ว่าสูตรนี้ทำก๋วยเตี๋ยวได้อร่อยแน่ และรู้ด้วยว่า ทำไมถึงต้องใส่เครื่องปรุงอันนั้นก่อนอันนี้ แต่คุณปู่อาจจะไม่เคยประเมินสูตรของตนเองว่า เป็นวิธีที่ดีที่สุดหรือยังในการทำก๋วยเตี๋ยวให้ได้รสชาตินี้ มีวิธีอื่นหรือเปล่า ที่ทำก๋วยเตี๋ยวให้ออกมาได้อร่อยเท่านี้ รสชาตินี้ แต่ใช้เครื่องปรุงน้อยกว่านี้ ถูกกว่านี้ หรือเสียเวลาปรุงน้อยกว่านี้

ขอบเขตของ KM ที่เราต้องการ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อองค์กร/สังคมนั้น อยู่ที่ไหน เราต้องการแค่ "อย่างไร" ก็เพียงพอแล้ว, หรือจำเป็นต้องมี "ทำไม" ด้วย? (หรือยิ่งกว่านั้น "นี่คือวิธีที่ดีที่สุดหรือยัง"?)

ผมได้ปรับปรุงและเพิ่มเติมความเห็นข้างบนไว้ที่ Data, Information, Knowledge, Understanding, and Wisdom นะครับ :)

ขอบคุณมากครับสำหรับการแสดงความคิดเห็น ให้สามารถเห็นภาพได้ละเอียดมากขึ้นจากกรณีตัวอย่างเรื่องร้านก๋วยเตี๋ยว   จะขอเสริมนิดนึงครับเรื่องที่ว่า     "KM ต้องการแค่ "อย่างไร" ก็เพียงพอแล้ว, หรือจำเป็นต้องมี "ทำไม" ด้วย? "

ผมคิดว่าเราควรจะต้องรู้ก่อนว่า "ทำไม" ต้อง KM เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่หรือต้องการทำอะไร เหมือนเป็นการตั้งเป้าหมายในการปฏิบัติงาน หลังจากนั้นเมื่อเราได้รู้ถึงเหตุผลว่า"ทำไม" ต้อง KM แล้ว   เราจะมาประเมินหาทางเลือกว่า "อย่างไร" ที่จะทำให้เป้าหมายที่ตั้งไว้นั้นสำเร็จ

 

ที่พูดมาข้างบนเหมือนจะยก การจัดการความรู้ (KM) เป็นหลัก

แืทนที่จะยก ความรู้ เป็นหลักนะครับ

ถ้าในกรณีนี้ "อย่างไร" ที่ผมพูดถึงคือ "ทำก๋วยเตี๋ยวอย่างไร" ไม่ได้หมายถึง "จะจัดการความรู้เรื่องการทำก๋วยเตี๋ยวอย่างไร" ครับ

ผมมองว่า อย่างไรก็ตาม ความรู้ต้องเป็นหลัก ไม่ใช่การจัดการเป็นหลัก ถ้าเมื่อไหร่การจัดการเป็นหลัก ผมถือว่าการจัดการนั้นล้มเหลวเสียแล้ว (องค์กรถูกตั้งขึ้นมา เพื่อสร้างผลผลิต ไม่ใช่ตั้งขึ้นมาเพื่อมีอะไรให้บริหาร)

คำถาม  "KM ต้องการแค่ "อย่างไร" ก็เพียงพอแล้ว, หรือจำเป็นต้องมี "ทำไม" ด้วย? "  ที่ผมยกขึ้นมานั้น จึงไม่ได้ถามถึงว่า เราจะจัดการความรู้หรือไม่ จะจัดการอย่างไร ทำไมต้องจัดการ ฯลฯ ครับ แต่ถามถึง ขอบเขต ว่า เราต้องการส่งผ่านเพียงแค่ความรู้ (ก็เพียงพอแล้ว) หรือจะต้องส่งผ่านความเข้าใจด้วย ?

ถ้าทราบขอบเขตตรงนั้นแล้ว  ค่อยไปถึงเรื่องการจัดการ -- ขอบเขตความต้องการที่ต่างกัน ก็ต้องการการจัดการที่ต่างกัน,
ผมคิดว่า เราไม่สามารถพูดถึงการจัดการได้ก่อนที่เราจะรู้ว่าเราจะจัดการอะไรครับ

ขอบคุณครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท