เรื่องเล่าจากใจดี สว่างอารมณ์ หญิงเหล็กแห่งชุมชนเก้าเส้ง


การเคลื่อนไหวของนักต่อสู้เพื่อชาวชุมชนแออัด

เรื่องเล่าจากใจดี  สว่างอารมณ์ หญิงเหล็กแห่งชุมชนเก้าเส้ง

การเคลื่อนไหวของนักต่อสู้เพื่อชาวชุมชนแออัด

ว่าทีเรือตรีเฉลิมพล  บุญฉายา

         

           

            เมื่อเร็ว ๆ นี้ผมมีโอกาสเข้าร่วมเวทีพัฒนาศัยกภาพผู้นำสตรีภาคใต้ จัดขึ้นที่เขาชันรีสอร์ท จังหวัดพัทลุงจึงทำเรื่องราวดี ๆ จากประสบการณ์การต่อสู้ของนางใจดี  สว่างอารมณ์ (ป้าเอียด) สตรีผู้มีบทบาทสำคัญต่อการเคลื่อนไหวเพื่อชาวชุมชนแออัด โดยเฉพาะที่ชุมชนเก้าเส้ง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

 

ชุมชนเก้าเส้งตั้งอยู่ขนาบคลองสำโรง เดิมเป็นพื้นที่เทถังอุจจาระของเทศบาลเมืองสงขลา[1] บริเวณหลังโรงพยาบาลประสาทสงขลา เกิดขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๕๐๕  โดยได้ย้ายมาจากแหลมสนอ่อน  เนื่องจากจอมพลสฤษดิ์  ธนรัชต์  เดินทางมาพักแตกอากาศบริเวณดังกล่าว และเหยียบกองอุจจาระของชาวบ้าน  จึงสั่งให้ชาวบ้านย้ายที่อยู่ด่วนภายใน ๒๔ ชั่วโมง โดยให้หน่วยงานราชการจัดหาที่อยู่ให้ใหม่คือบริเวณที่อยู่ปัจจุบัน 

ใจดี เล่าว่า ตนเข้ามาอยู่ไม่ทันในช่วงเวลาที่มีการย้ายชุมชน แต่มีชาวบ้านเล่าว่า ชาวบ้านกว่า ๕๐ ครัวเรือนซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการประมง  ต้องย้ายที่อยู่ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ต้องย้ายบาลาย(ศาสนาสถานของศาสนาอิสลาม)ด้วยเรือถึง ๒ ลำ ลากเคียงคู่กันมา

ชุมชนเริ่มขยายตัวใหญ่ขึ้น มีราษฎรเข้ามาจับจองเป็นที่อยู่อาศัยกว่า ๒๐๐ ครัวเรือน ชุมชนเริ่มมีความเจริญขึ้นเรื่อย ๆ มีกรมประมงมาเปิดสำนักงานใกล้ ๆ กับชุมชน และได้สร้างสะพานทอดผ่านคลองสำโรง เชื่อมระหว่างตำบลบ่อยาง และตำบลเขารูปช้าง มีถนนหนทางที่สะดวกสบายเนื่องจากทางราชการต้องการพัฒนาหาดชลาทัศน์ และหาดสมิหลาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๒๖ มีข่าวการไล่รื้อชุมชนเก้าเส้ง โดยทางราชการกล่าวหาว่าชาวเก้าเส้งเป็นผู้บุกรุกที่ดินสาธารณะที่ดูแลโดยกรมธนารักษ์ มีการดำเนินการหลายวิธีที่จะทำให้ชาวเก้าเส้งออกจากพื้นที่ เช่น การให้นักศึกษาชั้นปีที่ ๑ ของวิทยาลัยครูสงขลา[2]มาสำรวจข้อมูล สัมภาษณ์ชาวบ้าน และให้ลงชื่อในเอกสาร ชาวบ้านรู้เท่าไม่ถึงการณ์จึงลงชื่อในเอกสารดังกล่าว ผลปรากฏว่าทางราชการสร้างข่าวว่าชาวเก้าเส้งพร้อมที่จะย้ายที่อยู่ใหม่

เมื่อเผชิญปัญหาดังกล่าว ชาวชุมชนเก้าเส้งเริ่มมีการทบทวนว่าหากชุมชนเกิดการรวมกลุ่มและปราศจากแกนนำจะทำให้การต่อสู่ขาดประสิทธิภาพ  อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ.๒๕๒๗ กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการชุมชน  รูปธรรมขององค์กรภายในชุมชนจึงเกิดขึ้น ภายใต้การนำของประธานคณะกรรมการชุมชนคนแรก คือ นายสผวน  มาลาไวจันทร์

ในปี พ.ศ.๒๕๒๙ เริ่มมีคนนอกเข้ามาทำงานในชุมชนอีกครั้ง บทเรียนครั้งที่ผ่านมาทำให้ชาวบ้านไม่ไว้วางใจกับบุคคลภายนอก เพราะอาจจะเข้ามาลอกชาวบ้าน  คนนอกที่ว่านี้คือ นายมานพ   ประทุมทอง และคุณยุ้ย มาจากมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย  จะลงมาช่วยแก้ปัญหาความเดือนร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยชองพี่น้องชาวเก้าเส้ง ทว่า ชาวเก้าเส้งยังแบ่งรับแบ่งสู้ไม่ได้เชื่อใจทั้งหมด เฝ้าดูพฤติกรรมของคนนอกทั้งสองคนอย่างใกล้ชิด ในที่สุดคนทั้งสองก็สามารถพิสูจน์ความจริงใจให้พี่น้องชาวเก้าเส้งไว้เนื้อเชื่อใจได้

ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยได้สนับสนุนให้ชาวเก้าเส้งมีโอกาสศึกษาดูงาน และเข้าร่วมประชุมกับขบวนภาคประชาชนที่แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในพื้นที่ต่าง ๆ จนชาวบ้านได้ความคิดว่าควรจะสร้างศูนย์เด็กเล็กเพื่อพัฒนาด้านการศึกษาแก่เด็กและแบ่งเบาภาระการดูแลลูกให้แก่พ่อแม่ที่ต้องออกไปทำประมง รวมทั้งเกิดแนวความคิดเรื่องการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย เพื่อเป็นกองทุนสำหรับการต่อสู้เคลื่อนไหวเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนเก้าเส้ง เกิดขึ้นจากการระดมทรัพยากรในชุมชนและความร่วมมือของนายมานพ  ประทุมทอง แม้ว่าการสร้างศูนย์เด็กเล็กชาวเก้าเส้งจะไม่มีทุน พวกเขาระดมทุนโดยการจัดเลี้ยงน้ำชา  เมื่อไม่มีไม้ก็พยายามประสานขอจากเทศบาลที่กำลัง รื้ออาคารเรียนของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลแม้จะได้รับการปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าเทศบาลไม่สนับสนุนความช่วยเหลือแก่ชุมชนที่กำลังถูกไล่รื้อจึงระดมแรงงานคนไปช่วยกันตัดไม้ที่บ้านวังพา อำเภอหาดใหญ่  ค่าจ้างครู ๒ คน ๆ ละ ๑,๒๐๐ บาท กรรมการชุมชนจะร่วมกันลงขันจากค่าจ้าง และเก็บเงินจากผู้ปกครองเป็นค่าดูแลเด็กวันละ ๗ บาท

กลุ่มออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยชุมชนเก้าเส้ง  เริ่มก่อตัวขึ้นในราวปี พ.ศ.๒๕๓๓ ภายหลังจากที่แกนนำได้ศึกษาดูงานและเล็งเห็นว่ากลุ่มออมทรัพย์เป็นเครื่องมือในการวมคน และสร้างหลักประกันเรื่องที่อยู่อาศัยได้ จึงพยายามทำความเข้าใจกับชาวบ้าน โดยการเรียกประชุมชาวบ้านกลุ่มใหญ่แต่ไม่ได้ผล จึงแบ่งพื้นที่ออกเป็นโซนและลงทำความเข้าใจกับชาวบ้านเป็นกลุ่มย่อย ๆ ทั้ง ๔๐๐ กว่า ครัวเรือน  ในที่สุดเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๓ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยชุมชนเก้าเส้งได้เกิดตัวขึ้นอย่างเป็นทางการมีสมาชิกในยุคแรกจำนวน ๑๖๕ คน เริ่มต้นจากเงินออมหุ้นละ ๑๐ บาท ต่อเดือน และคนละไม่เกิน ๓๐ หุ้น

การต่อสู้เพื่อที่อยู่อาศัยของชาวชุมชนเก้าเส้งได้ขยายวงกว้างออกไปยังชุมชนอื่น ๆ ในเขตเทศบาลเมืองสงขลา โดยเฉพาะชุมชนแนวคลองสำโรง ๕ ชุมชน ซึ่งมีลักษณะปัญหาคล้ายคลึงกันคือเป็นชุมชนที่บุกรุกที่ดินราชการ เริ่มต้นจากการทำความเข้าใจกับแกนนำชุมชน โดยชี้ให้เห็นว่าถ้าเราไม่เริ่มทำอะไรสักอย่างก็จะถูกดำเนินการเหมือนอย่างชุมชนเก้าเส้ง  

การรวมพลังของชาวชุมชนแนวคลองสำโรงเริ่มก่อร่างขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงพลังของชาวชุมชนที่จะเรียกร้องความเป็นธรรม หลุดพ้นจากการปิดหูปิดตาเรื่องการเข้าถึงข้อมูล การถูกประณามจากสังคม และมีการจัดตั้งคณะกรรมการดูแลคลองสำโรงที่มีระยะทางยาว ๕ กิโลเมตร เพื่อลดคำปรามาสของหน่วยงานราชการที่กล่าวหาว่าชาวชุมชนเป็นผู้ทำลายคลอง ปล่อยน้ำเสียลงคลอง     มีการเก็บขยะในคลอง เรียกร้องให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมาร่วมดูแลรักษาคลองกับชาวบ้าน ในที่สุดอุตสาหกรรมจังหวัดได้ส่งเจ้าหน้าที่มาควบคุมการปล่อยน้ำเสียของโรงงาน และสามารถเชื่อมโยงกับเครือข่ายคลองแม่ขา จังหวัดเชียงใหม่

นอกจากนั้นชุมชนเก้าเส้งยังเป็นแกนนำสำคัญของการสำรวจข้อมูลชุมชนแออัด พร้อม ๆ กับการเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันพระราชบัญญัติชุมชนเออัดรวมกับเครือข่ายสลัม ๔ ภาค และพระราชบัญญัติป่าชุมชน เพื่อเรียกร้องสิทธิให้แก่คนจนในการเข้าถึงทรัพยากร จึงกระนั้นกฎหมายที่จะเป็นเครื่องมือให้แก่คนจนก็ไม่มีโอกาสได้ผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี

ความเป็นผู้หญิงของใจดี  สว่างอารมณ์ กว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศ เธอต้องฟันฝ่าอุปสรรคมาหลายรูปแบบ บทเรียนช่วงหนึ่งของเธอ ที่ถูกท้าทายความสามารถ คือ ช่วงที่มีการชิงการนำขึ้นในชุมชน เธอสามารถก้าวขึ้นมาเป็นประธานชุมชนที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้หญิงมีความสามารถ กล้าตัดสินใจ ยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และเป็นแกนนำในการต่อสู้ เช่น ครั้งหนึ่งต้องเดินขบวนไปเรียกร้องสิทธิการอยู่อาศัยในที่ดิน เธอใช้เยาวชนเป็นแถวหน้ากันปะทะ และให้ผู้หญิงเป็นแกนนำในการเจรจาต่อรอง มีผู้ชายอยู่แถวหลัง และบทเรียนอีกครั้งที่ทำให้ใจดี  สว่างอารมณ์ถึงกับร้องไห้ เมื่อครั้งที่เธอไม่ได้เข้ามาเป็นคระกรรมการชุมชน คนรุ่นใหม่ที่ชนะการเลือกตั้ง ต้องการให้เธอโอนการดูแลการก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อการพัฒนาสังคม(SEF) ตามโครงการซิบเมนู ๕ จำนวน ๑.๒ ล้านบาท แต่เธอไม่ยินยอมเนื่องจากความเป็นชาวบ้านที่ไม่ใช่นิติบุคคลและต้องผูกพันกับผู้ให้ทุน และผู้หญิงต้องทำหน้าที่ดูแลด้านงบประมาณและข้อมูล ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจแก่คณะกรรมชุมชนยุคใหม่ ใจดี ถูกขัดขวางไม่ให้ทำพิธีเปิดอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยมีบุคคลนิรนามนำกุญแจขนาดใหญ่มาล๊อกประตูทางเข้า การทำลายป้ายศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และดึงผ้าที่ประดับตกแต่งสถานที่ให้ได้รับความเสียหาย นอกจากนั้นโต๊ะอิหม่ามและผู้นำทางศาสนาในชุมชนก็ไม่เข้ามาร่วมในพิธีจึงต้องเชิญผู้นำทางศาสนาจากชุมชนอื่นมานำพิธีให้  แม้ว่าในวันนั้น จะมี ทั้งรองผู้ว่าราชการจังหวัด รองนายกเทศมนตรี นายอำเภอ นายอเนก  นาคะบุตร ผู้บริหารกองทุนเพื่อการพัฒนาสังคม  และพี่น้องเครือข่ายจากจังหวัดต่าง ๆ มาร่วมงานกันอย่างขับคั่ง  อย่างไรก็ตามพิธีเปิดอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก็สามารถดำเนินการไปได้ แม้จะมีการล๊อกประตู  แขกเหรื่อ และข้าราชการผู้ใหญ่ของจังหวัด ต้องปีนหน้าต่างเข้าไปนั่งในอาคารก็ตาม เหตุการณ์ครั้งนี้เธอมิได้แจ้งความดำเนินคดีแต่เธอต้องการให้สังคมเป็นผู้ลงโทษผู้กระทำผิด

อีกด้านหนึ่งในบทบาทของแม่ เธอก็ปฏิบัติได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เธอสามารถส่งเสียลูกให้เรียนระดับปริญญา และเป็นภรรยาที่ดีของสามี

ประสบการณ์การต่อสู้ที่ยาวนานและต่อเนื่องของใจดี  สว่างอารมณ์ และชาวชุมชนเก้าเส้ง ส่งให้ในปี พ.ศ.๒๕๔๖ ชุมชนเก้าเส้งได้รับเลือกจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ให้เป็นชุมชนนำร่องเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง สามารถทำสัญญาเช่าที่ดินกับกรมธนารักษ์ได้ในระยะยาวถึง ๓๐ ปี และได้รับอนุมัติสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคง เป็นงบประมาณเพื่อการปรับปรุงสาธารณูปโภคจำนวน ๙.๖ ล้านบาท และสินเชื่อปรับปรุงบ้านจำนวน ๓๐ ล้านบาท

 


[1] เทศบาลเมืองสงขลา ปัจจุบัน ได้ยกฐานะเป็นเทศบาลนครสงขลา

[2] วิทยาลัยครูสงขลา ปัจจุบัน ได้ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา

 

หมายเลขบันทึก: 269572เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2009 22:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ฝึกใช้บ่อยๆ ครับ แล้วจะคล่องเอง

สวัสดีครับ มาเยี่ยมเยือน ลปรร.ขอบพระคุณครับ

  • น้องบู๊ดครับ
  • เห็นไหมว่า ชุมชนจะถูกรัฐ
  • กระทำเสมอๆๆ
  • มาชื่นชมหญิงแกร่งครับ
  • มาช่วยพิสูจน์อักษรด้วย
  • ฮ่าๆๆๆ
  • เดินทางมาพักแตกอากาศ

คนที่นั่งข้างป้าเอียดใส่เสื้อสีฟ้า ใช่บู๊ธหรือเปล่า ตอนนั้นหุ่นดีเน๊อะ 5 5 5

พี่พัช ผมไม่ได้หุ่นดีขนาดนั้น ที่เห็นในภาพคือ นายแพทย์สุภัทร ผอ.รพ.จะนะครับ ไม่ใช่ผม 555

เรียนคุณ เฉลิมพลครับ ผมมีข่าวดี จะส่งข่าว ครับ ตอนนี้ มีงานวิจัย ออกแบบ สร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชน ที่ บ้านเก้ก่อ

ม. 1 ต.ทอนหงส์ อ.พรหมคีรี เป็นความ ร่วมมือ ของ ผู้นำชุมชน (ผญ. เฉลิม ) สถาบันเรียนรู้เพื่อปวงชน นครศรีฯ

(อ.สวัสดิ์ ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มอ. เพื่อคุณเฉลิมพลสนใจ สนใจ ทีมวิจัยที่นี้ เขายังต้องการประสบการณ์ จากการปฏิบัติของ หลายๆคนที่ คิดดีทำดี เพื่อ สังคม อนาคต ครับ

ขอบคุณครับ

มานพ ประทุมทอง

น้ำฝน ฤทธิ์ลือชัย

สวัสดีค่ะ อยากทราบว่าแม่เอียดยังทำงานที่ชุมชนเก้าเส้งอยู่ไม๊ค่ะ ติดต่อไม่ได้ค่ะเนื่องจากทำเบอร์โทรบ้านหายค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท