ไปวัดวันนี้ได้อะไร....(ดีกว่าที่คิด)


วันนี้ผู้เขียนได้ร่วมกิจกรรม 

"โครงการประชาธิปไตยร่วมใจบวร"

ซึ่งการฟังธรรมะจาก

พระครูเกษมพัฒนาภรณ์  เจ้าอาวาสวัดโตนดเตี้ย

"ตักบาตรให้ขันทะลุ ไม่เท่ากับทำสังฆทาน ๑ ครั้ง ทำสังฆทาน ๑๐๐ ครั้งไม่เท่ากับทำจิตให้นิ่งมีสมาธิแค่ช่วงเวลา ช้างสบัดหู งูแลบลิ้น เพียงเท่านี้ก็เป็นบุญแล้ว"

การทำสังฆทานให้ถวายกับพระได้ทุกรูปเพราะพระเป็นตัวแทน

ของสงฆ์ ผู้เขียนจดไม่ทัน เลยค้นคว้าข้อมูลการทำสังฆทานมาให้ท่านผู้สนใจได้อ่าน เราจะได้ทำกันให้ถูกต้อง

           สังฆทาน (บาลี: สงฺฆทาน) เป็นศัพท์ในพระสูตร เป็นชื่อเรียกการถวายทานแก่พระสงฆ์อย่างหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่ามีอานิสงส์มาก ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ทักขิณาวิภังคสูตร ว่าการถวายสังฆทานแก่คณะพระสงฆ์ มีอานิสงส์มากกว่าการถวายทานเฉพาะเจาะจงแก่พระพุทธเจ้า แม้ยังทรงพระชนม์อยู่ 

           การถวายสังฆทานนั้น เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าคือการนำถังใส่จตุปัจจัยสีเหลืองไปถวายแก่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งหรือหลายรูปเท่านั้น แต่ความจริงแล้วสังฆทานอาจหมายถึงการถวายปัจจัยวัตถุใด ๆ ก็ได้ ที่เป็นประโยชน์แก่คณะสงฆ์โดยส่วนรวม เช่นการถวายกุฎิวิหาร หนังสือ ปากกา จาน หรือ แม้กระทั่งไม้กวาด แม้จะกล่าวคำถวายหรือไม่กล่าว หรือกล่าวคำถวายเป็นอย่างอื่น แต่อาการแห่งการถวายเป็นการอุทิศให้แก่สงฆ์ เพื่อประโยชน์แก่สงฆ์ ก็จัดเป็นสังฆทานได้  

           ทานพิธีที่มีชื่อเรียกอย่างอื่น ที่เข้าลักษณะของสังฆทาน ก็จัดว่าเป็นสังฆทานได้ เช่น การตักบาตร การถวายผ้ากฐิน การถวายผ้าป่า เป็นต้น

 ความหมายและลักษณะของสังฆทาน  

           การถวายสังฆทาน หมายถึงการ ถวายสิ่งของจตุปัจจัยวัตถุแก่หมู่พระสงฆ์ โดยไม่เลือกระบุถวายเฉพาะเจาะจงแก่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง กล่าวคือ ถวายเข้าเป็นสิทธิกองกลางแก่คณะสงฆ์ภายในวัด เพื่อคณะสงฆ์จะจัดแบ่งปันแก่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งที่ต้องการหรือเพียงแค่ถวายแก่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง (โดย "ไม่เลือก" ว่าจำเพาะถวายรูปนั้นรูปนี้ เช่น เป็นพระผู้ทรงพรรษา พระรูปที่เรารู้จัก หรือพระรูปที่ตนศรัทธา) ที่เป็นตัวแทนแห่งสงฆ์ (ได้รับเผดียงสงฆ์) หรือถวายโดยมีเจตนาเพื่อบำรุงพระสงฆ์สามเณรโดยไม่เลือกผู้รับ ก็นับเป็นสังฆทานเช่นกัน (ตัวอย่าง: เช่นการใส่บาตรโดยไม่เลือกพระผู้รับ ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์หรือสามเณรก็ตาม) เมื่อพิจารณาจากมูลอันจะเป็นสังฆทานดังกล่าว การที่จะเป็นสังฆทานหรือไม่นั้น มีหลักสำคัญอยู่ที่การถวายสิ่งของเพื่อบำรุงสังฆบริษัท หรือตัวแทนแห่งสังฆบริษัท เพื่อประโยชน์ในด้านการไม่เลือกปฏิบัติและความเท่าเทียมด้านปัจจัยสี่ของพระสงฆ์นั่นเอง

           มีข้อควรพิจารณาประการหนึ่งว่า ในพระวินัยถือว่า ภิกษุสงฆ์ 4 รูปขึ้นไปนับเป็นองค์สงฆ์ แต่เมื่อพิจารณาจากเจตนาของพระพุทธเจ้าในทักขิณาวิภังคสูตรแล้ว หากแม้จะเป็นพระภิกษุถึง 4 รูป แต่เป็นพระที่ผู้ถวายเจาะจงระบุตัวมา ก็หานับว่าเป็นสังฆทานไม่ (คงนับเป็นปาฏิปุคคลิกทาน คือทานที่ระบุตัวพระภิกษุผู้รับถวายทาน) 

มูลเหตุของสังฆทาน

          มูลเหตุที่ทำให้พุทธศาสนิกชนนิยมทำบุญด้วยการถวายสังฆทาน มาจาก ทักขิณาวิภังคสูตรในพระไตรปิฎก ซึ่งมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสังฆทานว่า (โดยย่อ)

          "ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชมน์อยู่ ครั้งนั้นทรงประทับอยู่ ณ วัดนิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระมาตุจฉาของพระพุทธเจ้า ได้เกิดศรัทธาแรงกล้า ทรงทอจีวรด้วยพระองค์เองเพื่อนำมาถวายแก่พระพุทธเจ้า แต่พระพุทธองค์ทรงได้ปฏิเสธที่จะรับถวายผ้าจีวรดังกล่าว โดยได้ตรัสให้พระนางมหาปชาบดีโคตมีนำผ้าดังกล่าวไปถวายแก่กองกลางคณะสงฆ์ เพราะทรงเห็นว่าการถวายผ้าเป็นสังฆทานจักได้อานิสงส์มากกว่า แม้จะถวายแก่พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระบรมศาสดาก็ตาม (การถวายหรือให้ทานแก่พระพุทธเจ้า พระภิกษุหรือบุคคลทั่วไป ทรงจัดเป็นปาฏิปุคลิกทาน) อีกทั้งการถวายเป็นสังฆทานนั้นย่อมถือว่าเป็นการบูชาพระพุทธองค์ผู้ทรงเป็นประมุขแห่งพระสงฆ์ทั้งปวงด้วยจากนั้นพระพุทธองค์ได้ทรงตรัสถึงปาฏิปุคลิกทาน 14 ประเภท (มีการถวายทักษิณาแก่พระพุทธเจ้าเป็นอาทิ) และตรัสถึงทักษิณาทานที่ถวายแก่สงฆ์ (สังฆทาน) ว่ามี 7 ประการ คือ  การถวายโดยอุทิศให้แก่สงฆ์ โดยอุทิศให้เป็นเผดียงสงฆ์ (ไม่ระบุเฉพาะว่าจะถวายรูปไหน) เช่นการถวายสลากภัต แม้พระจะได้รับของที่ถวายแค่รูปเดียว แต่ถือได้ว่าพระสงฆ์ที่มารับถวายเป็นพระที่ได้รับมอบหมายจากสงฆ์ ก็นับเป็นสังฆทานเช่นกัน 

  1. ให้ทานในสงฆ์ 2 ฝ่าย (ทั้งฝ่ายภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์) มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
  2. ให้ทานในสงฆ์ 2 ฝ่าย ในเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว
  3. ให้ทานในภิกษุสงฆ์ ในเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว
  4. ให้ทานในภิกษุณีสงฆ์ ในเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว
  5. เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุและภิกษุณีจำนวนเท่านี้ ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้าแล้วให้ทาน (ให้ทานโดยให้คณะสงฆ์เป็นผู้เลือกพระภิกษุและพระภิกษุณีที่จะรับถวายทานเอง)
  6. เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน
  7. เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุณีจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน

         โดยได้ตรัสว่า แม้ในอนาคตกาล การถวายสังฆทานแม้แก่พระสงฆ์ผู้ทุศีล ก็ยังนับว่ามีผลนับประมาณมิได้ และปาฏิปุคลิกทานทั้งปวงในบุคคลใด ๆ มีพระพุทธเจ้าเป็นอาทิ ก็ไม่สามารถมีผลสู้สังฆทาน 1 ใน 7 ประการดังกล่าวได้เลย"

          จากพระพุทธดำรัสดังกล่าว ทำให้พุทธศาสนิกชนผู้ศรัทธานิยมทำบุญด้วยการถวายสังฆทานเพราะมีอานิสงส์มาก อีกประการหนึ่งการที่สังฆทานมีอานิสงส์มากกว่าปาฏิปุคลิกทานธรรมดาเพราะการที่จัดถวายทานแก่ส่วนรวม (คณะสงฆ์) ย่อมมีประโยชน์แก่พระศาสนามากกว่า เพราะการถวายสังฆทานเป็นการกระจายปัจจัยวัตถุอันจะพึงได้แก่คณะสงฆ์ทั้งปวงโดยไม่จำกัดหรือเลือกปฏิบัติแก่รูปใดรูปหนึ่ง

           ดังนั้นการที่พระพุทธองค์ทรงตรัสยกย่องสังฆทานจึงนับได้ว่าเป็นการแสดงออกถึงการไม่เลือกปฏิบัติทางด้านบุคคล ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้เพื่อเป็นประโยชน์ผาสุกโดยเท่าเทียมกันทางด้านปัจจัย 4 แก่พระสงฆ์ทั้งปวงผู้เป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนามาจนถึงปัจจุบัน 

คำกล่าวถวายสังฆทาน

ตั้งนะโมสามจบ 

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธธัสสะ” (๓ จบ) 

อิมานิ มยํ ภนฺเต ภตฺตานิ สปริวารานิ ภิกขุสงฺฆสฺส โอโณชยาม 

สาธุ โน ภนฺเต ภิกฺขุ สังโฆ อิมานิ ภตฺตานิ สปริวารานิ ปฏิคฺคณฺหาตุ 

อมฺหากํ ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขายฯ 

กล่าวคำแปล 

            ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ซึ่งภัตตาหาร กับของที่เป็นบริวารทั้งหลายเหล่านี้แด่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์ จงรับ ซึ่งภัตตาหาร กับของที่เป็นบริวารทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ 

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสังฆทานในปัจจุบัน

            ปัจจุบันในประเทศไทย มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำบุญด้วยการถวายสังฆทานมาก โดยส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าสิ่งของที่จะนำมาถวายสังฆทานนั้นต้องซื้อเป็นชุดไทยธรรมถังสีเหลืองสำเร็จรูปที่บรรจุสิ่งของจากร้านสังฆภัณฑ์ หรือจะต้องนำสิ่งของที่ตนตั้งใจถวายใส่บรรจุภัณฑ์หรือภาชนะที่มีสีเหลือง แล้วนำสิ่งเหล่านั้นไปถวายพระสงฆ์แล้วจะเป็นสังฆทานที่ถูกต้อง 

ปรากฏการณ์ถังสีเหลือง 

            ในปัจจุบัน มักเรียกกันอย่างเข้าใจผิดว่าการถวายสังฆทานคือการถวายสิ่งของโดยใส่ถังหรือบรรจุภัณฑ์สีเหลือง แต่ความจริงแล้วสังฆทานนั้นคือการถวายเครื่องอุปโภคบริโภคแก่หมู่พระสงฆ์โดยสิ่งของนั้นจะเป็นสิ่งของชนิดใดก็ได้

            ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการถวายสังฆทานในปัจจุบัน มีผู้กล่าวว่าเกิดจากปรากฏการณ์ "ถังสีเหลือง" โดยกล่าวว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวมีที่มาจากการที่ร้านค้าสังฆภัณฑ์จัดสินค้าเป็นถังไทยธรรมที่บรรจุสิ่งของเครื่องใช้นำมาวางจำหน่ายโดยมีการใช้บรรจุภัณฑ์สีเหลืองเพื่อให้เป็นที่ติดตาของผู้ซื้อ และบางร้านมีการติดสัญลักษณ์ร้านค้าบนบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพของถังสีเหลืองให้แก่ผู้ซื้ออีกด้วย โดยเรียกถังสีเหลืองดังกล่าวว่าเป็น "ถังสังฆทาน" และปรากฏว่าพุทธศาสนิกชนนิยมซื้อสินค้าดังกล่าวนำไปถวายพระสงฆ์ เพราะมีความสะดวกที่ไม่ต้องไปจัดหาสิ่งของด้วยตนเอง และความสวยงามของการจัดรูปแบบสิ่งของในตัวบรรจุภัณฑ์และเนื่องจากการที่ถังสีเหลืองดังกล่าวมีผู้นิยมซื้อเพื่อนำไปถวายพระสงฆ์ จึงทำให้สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าสำคัญของร้านค้าต่าง ๆ ห้างดิสเคาท์สโตร์ หรือแม้ในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ จนในระยะหลังเริ่มมีร้านค้าบางร้านเอาเปรียบผู้ซื้อโดยจัดสิ่งของในถังสีเหลืองที่ไม่ได้คุณภาพหรือน้อยกว่าความเป็นจริง เช่น การทำให้สิ่งของดูมีจำนวนมากโดยใส่ขวดน้ำหรือกระดาษลังในก้นถังเพื่อถ่วงน้ำหนัก และปรากฏว่ามีการกระทำเช่นนี้มานานแล้วนับสิบปีโดยไม่มีผู้ออกมาร้องเรียน (เนื่องจากสินค้าถังสีเหลืองส่วนใหญ่จะนำไปถวายพระสงฆ์ โดยที่ผู้ซื้อไม่เคยแกะถังสีเหลืองเพื่อตรวจสอบ)

            จนในช่วงปี 2548 เริ่มมีรายการโทรทัศน์ออกข่าวเปิดโปงการเอาเปรียบดังกล่าวและมีสื่อมวลชนและองค์กรต่าง ๆ เสนอข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวมาเป็นระยะ จนในที่สุดสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จึงได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2550) เรื่อง ให้ชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก เพื่อควบคุมชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมที่ขายตามรานค้าและร้านสังฆภัณฑ์ต่าง ๆ ให้มีคุณภาพต่อไป แต่ก็ยังคงมีผู้ค้าบางรายแอบนำสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพมาใส่ในถังเหลืองเพื่อจำหน่ายอยู่บ้าง

          รากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้ "ถังสีเหลือง" เป็นสิ่งของแรก ๆ ที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยส่วนใหญ่คิดถึง เมื่อจะไปทำบุญถวายจตุปัจจัยตามวัดต่าง ๆ หรืออาจกล่าวได้ว่า "การทำบุญด้วยถังสีเหลือง"เป็นสิ่งคู่กันอย่างแยกไม่ออก และมักเรียกรวมกันว่า การถวายถังสังฆทาน ซึ่งยังคงก่อปัญหาความลำบากใจให้แก่พระสงฆ์ตามวัดต่าง ๆ อยู่จนถึงปัจจุบัน เพราะยังคงมีร้านค้าบางร้านใช้สินค้าราคาถูกหรือไม่ได้คุณภาพบรรจุลงในถังเหลืองออกจำหน่ายอยู่ ดังนั้นการทำบุญให้เป็นสังฆทานที่มีคุณภาพโดยแท้จริงควรซื้อหาสินค้าที่จะนำไปถวายโดยพิจารณาจากความต้องการและประโยชน์ของพระสงฆ์ มากกว่าประโยชน์คือความสะดวกของผู้ถวาย ดังที่มีผู้แนะนำการถวายสังฆทานว่าควรประกอบไปด้วย 

  1. ปุพพเจตนา หรือ มีความตั้งใจในการทำบุญโดยการเลือกซื้อสิ่งของที่เป็นประโยชน์แท้จริงแก่พระสงฆ์ เช่นของมีคุณภาพ หรือสิ่งของที่พระสงฆ์ต้องการ
  2. มุญฺจเจตนา คืออาการที่ถวายเป็นสังฆทานถูกต้อง เช่น ถวายเข้ากองกลางของวัด หรือถวายแก่ตัวแทนของพระสงฆ์เพื่อนำสิ่งของไปแจกจ่าย หรือเผดียงสงฆ์ไม่เลือกระบุตัวพระสงฆ์ผู้รับ โดยการถวายดังกล่าวควรทำเจตนาในการถวายให้มุ่งตรงต่อหมู่สงฆ์ ไม่ใช่ถวายแก่บุคคล
  3. อปราปรเจตนา เมื่อถวายแล้วก็ทำจิตใจให้เป็นบุญ นึกถึงการถวายสังฆทานดังกล่าวเมื่อใดก็มีความยินดีไม่เกิดความเสียดาย

แหล่งที่มาข้อมูล

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%86%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%99

    

สักการะหลวงพ่อใหญ่ในวิหารศักดิ์สิทธิ์ วัดโตนดเตี้ย 

วัตถุโบราณที่ขุดพบใต้โบสถ์สังกะสีหลังเก่า

และบรรยากาศอันร่มรื่นภายในวัดโตนดเตี้ย

 เรื่องของสวรรค์  ที่หลายท่านอยากไป 

พระครูเกษมพัฒนาภรณ์  เจ้าอาวาสวัดโตนดเตี้ย

ท่านได้สอนให้เราระลึกอยู่เสมอว่า  ถ้าเราจะไป(ก่อนสิ้นลมหายใจ) 

ก็ให้พึงระลึกอยู่เสมอฉันจะไปอยู่ในชั้นดุสิต

เพราะเป็นสถานที่อยู่ของ บัณฑิต ฯลฯ

เพราะชีวิตคนเราไม่แน่นอน  วันนี้พูดคุยกันอยู่วันพรุ่งนี้หรือวันนี้อาจจะไม่มีลมหายใจอยู้แล้วก็ได้

ในขณะที่เรามีชีวิตอยู่ให้ ประกอบกรรมดีทำดี  คิดดี

           สวรรค์ในความเชื่อทางพระพุทธศาสนา แปลว่า ภูมิหรือดินแดนที่มีอารมณ์เลิศด้วยดี จำแนกออกได้เป็น 6 ชั้น คือ จตุมหาราชิกา, ดาวดึงส์, ยามา, ดุสิต, นิมมานรดีและ ปรนิมมิตวสวัตดี

           สวรรค์ คือ ภูมิอันเป็นที่อยู่ของเทวดา เป็นโลกที่อยู่อาศัยของกายละเอียดอันเป็นทิพย์ ที่มีรัศมีสว่างไสวรอบกายตลอดเวลา เหตุที่ทำให้มาเกิดเป็นเทวดาเพราะได้ สร้างบุญกุศลไว้เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ เมื่ออุบัติขึ้นก็ตั้งอยู่ในวัยหนุ่มสาวทันที งดงามตลอดเวลา จนกว่าจะถึงเวลาจุติ ไม่มีความแก่บังเกิดขึ้นเหมือนในเมืองมนุษย์ วิมานปราสาทคือที่อยู่อาศัยของเทวดา ล้วนมีความวิจิตรงดงาม มีขนาดแตกต่างกัน มี ความเป็นอยู่สะดวกสบาย มีอาหารทิพย์บังเกิด ขึ้น มีบริวารคอยรับใช้ใกล้ชิด เสื้อผ้าเป็นทิพย์ วิจิตรงดงาม บังเกิดขึ้นให้สวมใส่ กิจกรรมแต่ละวันก็มีการเที่ยวเพลิดเพลินบันเทิงอยู่กับการชมสวน การสังสรรค์กันระหว่างทวยเทพทั้งหลาย ส่วนจะอุบัติขึ้น ณ สวรรค์ชั้นไหน เป็น เทวดาประเภทใด และอยู่ในฐานะอะไรนั้น ก็ ขึ้นอยู่กับบุญที่ตัวเองสั่งสมมาเมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ ซึ่งได้มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 37 เรื่อง ทานสูตร สรุปย่อได้ดังนี้

สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา มีจาก หลายสาเหตุ คือ เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ทำบุญไม่ค่อยเป็น ไม่รู้หลักการทำบุญ และไม่ค่อยได้สั่งสม บุญ นานๆ ทำครั้งหนึ่ง เมื่อทำก็ทำน้อย หรือ ทำบุญเอาคุณ บุญที่ได้ก็ไม่บริสุทธิ์ ไม่สมบูรณ์ บาปในตัวก็มีอยู่ แต่ว่าบุญมากกว่า เมื่อละโลกใจนึกถึงบุญก่อนก็ไปสวรรค์ชั้นนี้ ซึ่งตั้งอยู่ ณ เชิงเขาสิเนรุ สวรรค์ชั้นนี้จะมีความหลากหลายมากที่สุด เพราะอยู่ใกล้ชิดกับพื้นมนุษย์มากกว่าสวรรค์ชั้นอื่นๆ และมีบางส่วนที่มีที่อยู่ซ้อนกับภูมิมนุษย์ ที่ได้ชื่อสวรรค์ชั้นจตุมหาราชิกา เพราะมีเทพผู้เป็นใหญ่ครองสวรรค์ชั้นนี้อยู่ 4 ท่าน คือ ท้าวธตรฐ ปกครองเทวดา 3 พวก ได้แก่ คนธรรพ์ วิทยาธร(พิทยาธร) กุมภัณฑ์ ท้าววิรุฬหก ปกครองพวกครุฑ ท้าววิรูปักษ์ ปกครองพวกนาค ท้าวเวสสุวรรณ ปกครองพวกยักษ์

สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ คือเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ ทำบุญเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งดีงาม เป็นสิ่งที่ควรทำ กระทำแล้วก็สั่งสมบุญ สั่งสมเทวธรรม มีหิริ โอตตัปปะด้วย เมื่อละโลกก็จะไปบังเกิดบนสวรรค์ชั้นนี้ ซึ่งตั้งอยู่ที่หน้าตัดของเขาพระสิเนรุ ที่ชื่อว่า ดาวดึงส์ เพราะเป็นที่อยู่ของเทพผู้ปกครองภพถึง 33 องค์ โดยมี สมเด็จอมรินทราธิราช หรือพระอินทร์ เป็นประธาน และที่สำคัญมีพระธาตุจุฬามณี ซึ่งทุกวันพระเทวดาจะมาประชุมกันที่สุธรรมาเทวสภา เพื่อรับฟังโอวาทจากท้าวสักกะ

สวรรค์ชั้นยามา เกิดบนสวรรค์ชั้นยามา คือ เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ ทำบุญเพราะอยากจะสืบทอดและรักษาประเพณีแห่งความดีงามนั้นไว้ ทำนองว่าวงศ์ตระกูลสร้างสมความดีมาอย่างไร ก็อยากจะรักษาประเพณีไว้ หรือผู้หลักผู้ใหญ่สอนอย่างไร บรรพบุรุษทำมาอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ทำกันไปตามธรรมเนียม เช่น เห็น ปู่ย่าสร้างโบสถ์ บำรุงวัด สร้างพระประธาน ก็ทำตามนั้นด้วย หรือพระภิกษุที่รักษาพระพุทธศาสนาเอาไว้ ตามธรรมเนียมปฏิบัติ ที่พระต้องมีหน้าที่รักษาพระพุทธศาสนา เมื่อละโลกแล้ว ส่วนใหญ่จะไปบังเกิดบนสวรรค์ชั้นนี้ ซึ่งตั้งอยู่สูงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ขึ้นไป

สวรรค์ชั้นดุสิต คือ เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ ทำบุญเพื่อปรารถนาสงเคราะห์โลก ปรารถนาให้ชาวโลกมีความสุข มีความคิดที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่เพื่อตนเองอย่างเดียว แต่เพื่อสงเคราะห์โลก เพื่อนมนุษย์ และสรรพ-สัตว์ทั้งหลายด้วย เมื่อละโลกแล้วก็จะไปสวรรค์ ชั้นนี้ ซึ่งตั้งอยู่สูงถัดจากสวรรค์ชั้นยามาขึ้นไป

สวรรค์ชั้นนิมมานรดี คือ เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ เห็นผู้อื่นทำบุญแล้วได้รับ การยกย่อง ส่งเสริม จึงอยากจะทำบุญนั้นบ้าง อยากจะเป็นอย่างนั้นบ้าง เมื่อละโลกแล้ว จะไปบังเกิดบนสวรรค์ชั้นนี้ ซึ่งตั้งอยู่สูงจากสวรรค์ชั้นดุสิตขึ้นไป

สวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี คือ เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ ทำบุญด้วยความเลื่อมใส เคารพในทาน ทำแล้วมีความรู้สึกปลื้มใจ ในบุญที่ทำนั้น เมื่อละโลกแล้วจะบังเกิดบนสวรรค์ชั้นนี้ ซึ่งตั้งอยู่สูงจากสวรรค์ชั้นนิมมานรดีขึ้นไป

แหล่งที่มาข้อมูล

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%8C

หากวันนี้ท่านมีโอกาสเดินเข้าวัด  ก็เร่งรีบที่จะทำเพราะไม่มีวันหลัง

มีแต่วันต่อไปในภายภาคหน้าค่ะ

"มือที่ยื่นออกไปข้างหน้า ท่านเลือกที่คว่ำมือ หรือหงายมือ"

ผู้เขียนเลือกที่จะคว่ำมือ  หากผู้เขียนเลือกที่จะหงายมือนั่นหมายถึงวันที่สิ้นลมหายใจ"

ขอบพระคุณค่ะสำหรับแหล่งที่มาข้อมูล

ขอบพระคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านและแสดงความคิดเห็น

 

หมายเลขบันทึก: 413781เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2010 21:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
  • ได้อะไรมากกว่าที่คิดจริงๆด้วย
  • เคยไปบวช อิอิ ไปทั้งๆที่จิตใจไม่ปกติสุข รู้สึกว่าเรามาสร้างบุญ หรือ มาสร้างบาปกันแน่หนอ ฮาาาา

 

  • ขอบคุณค่ะน้องกิ่ง  จิตเป็นกุศลก็เป็นบุญแล้วค่ะ

เป็นถ้อยธรรมที่มีประโยชน์สำหรับผู้เข้ามาศึกษาธรรมครับผม

  • ขอบพระคุณ อาจารย์โสภณ  เปียสนิทค่ะ

ขออนุโมทนาในการให้ทานธรรมด้วยครับ

  • ขอบพระคุณค่ะท่าน ผอ.ดิศกุล

 วัดเป็นสิ่งที่ทำให้จิตใจสงบ

  บ้านเป็นที่อยู่อาศัย

  ที่ กศน.เป็นสิ่ที่ให้ความรู้

  ที่ทำงานเป็นสิ่งที่ให้ผมชอบ.............เงินเดือน

 

       

 

ขออนุโมทนาสาธุด้วยคะ  ได้ความรู้มากมาย   

  กลับนันทบุรีแล้วยังใกล้วัดเช่นเคย   คิดถึงทุกคนค่ะ

 

  • สาธุด้วยคน
  • เป็นกิจกรรมที่ดีค่ะ
  • ขอนำบล็อกพี่บังอรเข้าแพลนเน็ตนะค

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท