ประสบการณ์ดีดี..ที่อยากแบ่งปัน


แลกเปลี่ยน แบ่งปัน เปลี่ยนแปลง และผองเพื่อน

ประสบการณ์ดีดี...เลยอยากแบ่งปัน ( เผื่อว่าจะเหมาะกับงานเขียนเรื่องเล่า Story Telling ของชาว PCU กรุงเก่า )

พอดีได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมเครือข่ายปลายปากกา (ทีมงานจัดทำวารสาร หมออนามัย น่ะครับ) เมื่อวันที่ ๑๘-๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๑ ณ ห้องประชุม ๔๗๐๓ กระทรวงสาธารณสุข ใน Concept “แลกเปลี่ยนและแบ่งปัน เพื่อการเปลี่ยนแปลงโดยกลุ่มเพื่อน

ทีมงานที่จัดทำวารสาร ก็มากันจากหลายๆ จังหวัด ทั้งภาคกลาง เหนือ ใต้ และอีสาน ทุกคนล้วนมาด้วยใจ ตามแนวคิดที่ว่า นอนวัด ขัดพื้น ตื่นเช้า กินข้าวกล่อง บรรยากาศการประชุมเป็นไปด้วยความเรียบง่าย เป็นกันเองอย่างมาก ภาพของพี่ดูแลน้อง เพื่อนช่วยเพื่อน ทำให้ทุกคนล้วนมีความสุข ผมอยากให้ภาพแบบนี้ มีในการประชุมในองค์กรของเราบ้าง

จากการประชุมทั้ง ๓ วัน ได้พบกับท่าน นพ.สุวิทย์ วิบูลย์ผลประเสริฐ อาจารย์หมออำพล จินดาวัฒนะ บก.วารสารหมออนามัย พี่อรสม สุทธิสาคร นักเขียนอิสระ พี่ประชาธิป กะทา นักเขียนเรื่องเล่า และจตุพร วิศิษฎ์โชติอังกูร นักวิจัยอิสระ เลยขอเก็บเอาประสบการณ์ที่พอจะเก็บได้ในเรื่องของการเขียนเรื่องเล่า เพื่อเป็นประโยชน์แด่เพื่อนพ้องและพี่น้องหมออนามัยอยุธยา ที่ปฏิบัติงานใน PCU และอยากที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ดีดีที่มีคุณค่า ในลักษณะของเรื่องเล่า

เรียนรู้การเขียนเรื่องเล่า

หลักการพื้นฐานสำหรับการเขียนเรื่องเล่า

                การเขียนเรื่องเล่าเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ แต่คนส่วนมากมักจะคิดว่า นักเขียนเป็นคนที่มีพรสวรรค์ด้านการเขียนติดตัวมาแต่กำเนิด ทั้งที่ในความเป็นจริงนักเขียนเหล่านั้นต้องฝึกปรือฝีมือตนเองอย่างหนักหน่วง และใฝ่หาความรู้เทคนิคการเขียนอยู่เสมอ ความคิดความเชื่อข้างต้นมีผลทำให้หลายๆ คน หมดกำลังใจในการเขียนและคิดว่าการเขียนเรื่องเล่าเป็นงานที่หนักหนา คงไม่สามารถเขียนได้เหมือนกับนักเขียนคนดังในดวงใจ

                อย่างไรก็ตามในแวดวงนักเขียนมีคำกล่าวหนึ่งที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจและผลิตนักเขียนเรื่องเล่าขึ้นมาหลายคน คำกล่าวที่ว่าคือ การเขียนสอนกันไม่ได้ แต่เรียนรู้ได้ และเทคนิคขั้นตอนในการเขียนเรื่องเล่าที่จะให้รายละเอียดต่อไป ก็เป็นไปเพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน

๑.หัวใจของเรื่อง

                การนำเสนอเรื่องเล่าในฐานะที่เป็นกรณีศึกษา(case study) ข้อที่ควรให้ความสำคัญอันดับแรกของการเล่าเรื่องก็คือ เราจะต้องหาหัวใจของเรื่องให้เจอก่อน หัวใจของเรื่องหรือประเด็นที่เราจะสื่อสารกับผู้อ่านในเรื่องเล่าเรื่องนี้คืออะไร เพราะเหตุการณ์ที่เราจะเล่ามีมากมายและหลากหลายรสชาติ เราจึงต้องมาดูก่อนว่าหัวใจของเรื่องของเราคืออะไร ไม่อย่างนั้นจะเขียนลากยาวไปเรื่อย และแกว่งไปมาหลายทิศหลายทาง

                หัวใจของเรื่อง ยังเป็นตัวช่วยกรองว่าเหตุการณ์ไหนที่เราควรจะใส่เข้ามาในเรื่อง เหตุการณ์ไหนที่ไม่เกี่ยวข้องและเราควรตัดทิ้ง เพราะเวลาที่เราเขียนเรื่องเล่า บ่อยครั้งที่เรื่องราวมากมายที่เราไปพบเจออยู่ร่วมในเหตุการณ์ แต่เราจำไว้ว่าเรื่องที่เราไปเจอมา ๑๐๐% เราไม่ได้นำเหตุการณ์ทั้งหมด ๑๐๐% นั้นมาเขียน อย่างมากเราใช้แค่ ๑๐% ที่เหลือเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหัวใจของเรื่องที่เราจะนำเสนอ

                หัวใจของเรื่องเล่าไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องที่เศร้าโศก รันทด สลดหดหู่ เสมอไป เรื่องเกี่ยวกับความดี เรื่องที่ให้แรงบันดาลใจกับผู้คน เห็นชีวิตด้านดีของผู้คน หรือชีวิตด้านดีขององค์กรก็สำคัญไม่แพ้กัน

                ลักษณะหัวใจของเรื่องที่ดี คือ

                ๑.เป็นประเด็นใหม่ ที่ผู้คนไม่เคยรับรู้มาก่อน

                ๒.ก่อผลกระทบวงกว้าง

๒.โครงเรื่อง(Plot)

                หลังจากได้หัวใจของเรื่องแล้ว ต่อมาเราจะต้องมาวางโครงเรื่องในการเขียน โครงเรื่องที่ว่าคือ เรื่องเล่าทั้งหมดของเราที่สรุปย่อที่สุดใน ๓ ๔ บรรทัด หรือ ๓ ๔ ประโยค เท่านั้น ตัวอย่างเช่น

                หัวใจของเรื่อง คือ ชุมชนที่เกลียดผู้ป่วยเอดส์ คือชุมชนที่ป่วย ดังนั้นการรักษาผู้ป่วยเอดส์อย่างเดียวจึงไม่พอ แต่ต้องเยียวยาชุมชนไปพร้อมกันด้วย

โครงเรื่อง(เรื่องราวทั้งหมดอย่างย่อๆ) คือโรคเอดส์ได้สร้างผลกระทบต่อชุมชนมากขึ้น แต่ชุมชนก็ยังไม่สามารถยอมรับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นได้ ทำให้ชาวบ้านรังเกียจผู้ป่วยและครอบครัว ผู้ป่วยและครอบครัวจึงทุกข์ทรมาน ไม่เพียงจากอาการของโรคเอดส์ รวมทั้งจากการถูกตีตรา ซ้ำเติมของชุมชน การดูแลผู้ป่วยรายบุคคลเพียงอย่างเดียวจึงไม่พอ เนื่องจากชุมชนที่รังเกียจเดียดฉันท์ผู้ป่วยเอดส์ ซึ่งถือเป็นชุมชนที่ป่วย ก็ต้องได้รับการเยียวยารักษาไปพร้อมกันด้วย

๓.การเดินเรื่อง

                พอได้โครงเรื่อง หรือเรื่องราวทั้งหมดอย่างย่อๆ พอเป็นไกด์ให้เราแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือจะเดินเรื่องอย่างไร การเดินเรื่องไม่จำเป็นต้องเรียงตามลำดับเวลาตามโครงเรื่องเสมอไป จะย้อนสลับไปสลับมาก็ได้ แต่ขอให้การเดินเรื่องรับใช้หัวใจเรื่องเล่าของเรา

                ตัวอย่างเช่น เราต้องการนำเสนอเรื่องราวของตัวละครคนหนึ่งที่ชีวิตสลับซับซ้อนมาก เกิดเหตุการณ์บังเอิญที่ร้ายๆ ต่างๆ ขึ้นมากมายในชีวิต จนตัวละครเองก็ไม่รู้จะหาคำตอบได้อย่างไร แต่ตัวละครก็ยืนหยัดหล่อเลี้ยงชีวิตมาได้ ด้วยการมองโลกในแง่ดีและเพียรทำดี

                หัวใจที่สำคัญที่สุดของการเขียนเล่าเรื่องก็คือ การอนุญาตให้เรื่องราว หรือ case เป็นตัวเล่าเรื่อง พูดง่ายๆ ไม่ใช่ให้เราเป็นคนตัดสินเรื่องราวที่เล่า หรือบอกคนอ่าน แต่ให้เล่าผ่านเรื่องราว หรือ case อันนี้สำคัญมากๆ ในการเขียนเรื่องเล่า เพราะจะทำให้เรื่องเล่ามีพลัง ตัวอย่างเช่น

                ยายชั่งอายุ ๖๘ ปี รูปร่างท้วม ผิวขาว สูง ๑๕๐ เซนติเมตร บุคลิกท่าทางใจดี แต่หน้าตาอมทุกข์ มีชีวิตที่เรียบง่าย สมถะ ยากจน พาหลานไปฝากเลี้ยงที่ศูนย์เด็กเล็กในหมู่บ้าน แต่ถูกผู้ปกครองของเด็กอื่นๆ รังเกียจทำให้ยายชั่งมีความทุกข์ทรมานมาก

                การเขียนในลักษณะนี้ คนเขียนเป็นคนสรุปเองเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้เล่าผ่านเรื่องราว หรือ case ซึ่งทำให้เรื่องเล่าขาดพลังลงไปอย่างมาก การเขียนเรื่องเล่าให้มีพลังนั้น เราต้องพยายามให้เรื่องราวเป็นตัวเล่าเรื่องเอง ภาษาอังกฤษเรียกว่า speak through the case คือให้ case เป็นตัวบอกเรื่องเล่า จากตัวอย่างการเขียนแบบแรก เราลองเปลี่ยนมาเขียนในลักษณะที่ให้เรื่องราว หรือ case เป็นตัวเล่าเรื่องเอง

                ฉันเจอยายชั่งวันแรกที่บ้านของแก หลังจากที่ผัดผ่อนการลงมาเยี่ยมบ้านอยู่นาน ทั้งๆ ที่ได้รับรู้เรื่องราวของแกจาก อสม. ในหมู่บ้านนานแล้ว ประวัติที่ระบุในแฟ้มอนามัยครอบครัวบอกว่า ยายชั่งอายุ ๖๘ ปี สถานภาพหม้าย มีลูกทั้งหมด ๔ คน โดยลูก ๓ คนเสียชีวิตจากโรคเอดส์ ปัจจุบันยายชั่งอาศัยอยู่กับลูกชายคนเล็กและลูกสะใภ้ และมีหลานต้องดูแลอีก ๑ คน ซึ่งพ่อของเด็กเป็นลูกชายของแกที่เสียชีวิตจากโรคเอดส์

                สภาพบ้านทรุดโทรมชราภาพไม่แตกต่างจากยายชั่ง ตรงมุมบ้านด้านซ้ายมือถูกแบ่งเนื้อที่บางส่วนเป็นห้องครัว       ฉันมองเข้าไปในตู้กับข้าวที่เก่าเอียงกระเท่เร่ ก็ไม่เจออาหารที่เหลือกินเก็บไว้แต่อย่างใด มีเพียงกระติ๊บข้าวเหนียวใบเล็กๆ วางอยู่ข้างใน ข้างตู้กับข้าวเป็นกองถ้วยชามที่วางระเกะระกะ รอการล้าง มุมบ้านด้านขวามือมีมุ้งกางอยู่ ชายที่นอนในมุ้งเป็นลูกชายคนเล็กของแก ซึ่งนอนป่วยไม่ทราบอาการมาหลายวันแล้ว ฉันกวาดสายตารอบตัวบ้านก็ไม่พบเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือเครื่องอำนวยความสะดวกอื่นใด นอกจากพัดลมเก่าๆ หนึ่งเครื่องที่ตั้งอยู่ข้างมุ้งของลูกชายแก

                ขณะพูดคุยสีหน้ายายชั่งวิตกกังวล ระมัดระวังคำพูดตลอดเวลา เหมือนกับไม่ไว้วางใจฉัน ทำให้ฉันนึกถึงเรื่องราวที่ อสม. เล่าให้ฟังเกี่ยวกับครอบครัวของแก ที่ถูกชาวบ้านตั้งข้อรังเกียจเดียดฉันท์เพราะมีลูกเสียชีวิตจากเอดส์ สำหรับหลานแกก็เหมือนกันทางศูนย์เด็กเล็กในหมู่บ้านไม่รับเลี้ยงเพราะผู้ปกครองเด็กคนอื่นร้องเรียน ตั้งท่ากีดกัน กลัวเป็นพาหะนำโรคร้าย เมื่อปะติดปะต่อเรื่องราวของยายชั่งและสภาพชีวิตจริงที่ฉันเห็นกับตา ฉันนึกโกรธตัวเองที่ลงมาเยี่ยมบ้านยายชั่งช้ากว่าที่ควรจะเป็น

                โดยสรุปก็คือ ให้เราใช้เรื่องราว หรือเหตุการณ์เป็นตัวสะท้อนสิ่งที่เราจะนำเสนอ ให้ผู้อ่านได้เข้าไปในโลกของยายชั่งพร้อมกับเรา ไม่ใช่เราเราไปบอกว่าโลกของยายชั่งเป็นอย่างไร คือ พาผู้อ่านเข้าไปในโลกที่เรารู้พร้อมๆ กันกับเราในขณะที่เราเขียน ซึ่งต่างกับ เราไปบอกผู้อ่านเองว่าโลกของตัวละครที่พูดถึงเป็นอย่างไร อันนี้แตกต่างกัน

หลักการสำคัญของการเขียนเรื่องเล่า โดยสรุปดังนี้

                ๑.การปูพื้น

                คนส่วนใหญ่มักจะเคยชินกับการเริ่มเรื่อง โดยมุ่งบรรยายที่ตัวละครก่อน ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ค่อยดีนัก ขาดพลังในการนำเสนอ การเขียนเรื่องเล่าเริ่มแรกเราต้องปูพื้นเรื่องเล่าก่อน การปูพื้นมี ๒ ลักษณะใหญ่ๆ คือ

                ๑.๑เกริ่นนำ เพื่อบอกว่าเรื่องที่เล่านี้จะเกี่ยวกับอะไร อย่างเช่น เกริ่นนำว่า ชีวิตคนเรา แม้จะเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราเลือกเป็นคนดีได้ เหมือนกับชีวิตของ.......ที่จะเล่าต่อไปนี้

                ๑.๒การสร้างฉาก  ก่อนที่เราจะนำเสนอตัวละคร หรือปล่อยตัวละครเข้ามาในเรื่อง เราอาจต้องให้ฉากของเรื่องราวก่อนว่าเรื่องเกิดขึ้นที่ไหน ในสถานการณ์เช่นใด เช่น อาจจะเป็นเรื่องราวในหมู่บ้าน ในครอบครัว หรือเกิดขึ้นที่กองขยะ ฉากเหล่านี้จะเป็นจุดที่ตัวละครของเราจะเข้ามาแสดงบทบาททำให้เรื่องราวเกิดขึ้น

                การบรรยายฉาก ควรจะเริ่มการบรรยายตามที่สายตาเห็นเป็นหลักก่อน เช่น ประตูเปิดออกมาเรามองเห็นชายวัยชรานั่งอยู่ที่มุมหนึ่งของห้อง และมีผู้หญิงอีกคนกำลังสาละวนกับการทำกับข้าวในครัว ส่วนรายละเอียดอื่นๆ เช่น เขาอายุเท่าไหร่ เคยทำงานอะไรมาก่อน ป่วยด้วยโรคอะไร จะมาเสริมตรงจุดไหนก็ได้

                การเขียนบรรยายฉากที่ดี ต้องเขียนถ่ายทอดออกมาตามที่ประสาทสัมผัสทั้ง ๕ สัมผัสรับรู้ ตามประสบการณ์ของเราที่ไปยืนอยู่ในเหตุการณ์ การเขียนในลักษณะนี้จะนำพาคนอ่านซึ่งไม่ได้อยู่ร่วมเหตุการณ์กับเราเข้าไปในโลกที่เรากำลังพาเข้าไปและสัมผัสรับรู้เหมือนที่เรารู้สึกราวกับอยู่ร่วมในเหตุการณ์เดียวกัน ตัวอย่างเช่น

                กองขยะแห่งนี้สูงใหญ่จนท่วมหัวคน มองสุดลูกหูลูกตายาวจรดขอบฟ้า มีไอควันโชยขึ้นจากการเผาขยะอยู่เป็นหย่อมๆ หมาหลายตัวกำลังเดินคุ้ยเขี่ยหาเศษอาหาร (บรรยายตามที่สายตาเห็น) เสียงรถขนขยะแล่นออกจากกองขยะดังกระหึ่มไปทั่วบริเวณ พร้อมกับเสียงหมาเห่าไล่หลังดังขรม (เสียงเริ่มเข้ามา) เมื่อเดินเข้าใกล้รับรู้ถึงกลิ่นขยะที่โชยคลุ้งเหม็นไปทั่วบริเวณ (ตามด้วยกลิ่น) ฉันเอามือหยิบขวดแก้วที่แข็งกระด้างมีคราบเหนียวเนอะหนะเกาะติดใส่ลงในถุงขยะใบใหญ่ที่สะพายอยู่ข้างหลัง (ประสาทสัมผัสผ่านมือ)

                ๒.แนะนำตัวละคร

                เวลาเปิดตัวละครเข้ามาในเรื่อง เราจะไม่เปิดพร้อมกันทุกตัวละคร เราจะเปิดที่ละตัว (วิธีการนี้จะชวนให้เรื่องน่าติดตาม) โดยในขั้นแรก เราจะแนะนำตัวละครสำคัญๆ เท่าที่จำเป็น และไม่ต้องบอกเรื่องราวในชีวิตตัวละครทุกเรื่อง เลือกเอามาเฉพาะเหตุการณ์สำคัญ

                การเปิดตัวละครจึงไม่มีรูปแบบตายตัวสำเร็จรูป หลักสำคัญคือ แนะนำตัวละครแต่พอสมควร แล้วเดินเรื่องไปเรื่อยๆ (speak through the case) ที่สำคัญ เรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่ตัวละครพบเจอหรือเผชิญต้องมี highlight หรือปมขัดแย้ง tension ซึ่งมักจะใส่เข้ามาตอนกลางเรื่อง หลังจากปูพื้นและแนะนำเรื่องราวของตัวละครเสร็จแล้ว

                ๓.จุดเด่นของเรื่อง highlight หรือปมขัดแย้ง tension

                เรื่องเล่านั้นควรมี highlight หรือปมขัดแย้ง tension ให้คนอ่านชวนติดตาม หรือลุ่นอยู่เป็นระยะ และเอาใจช่วยตัวละครให้ฟันฝ่าอุปสรรคไปได้ในท้ายเรื่อง โดยอาจจะมีสัก ๒-๓ เหตุการณ์สำคัญๆ ก็พอ ให้เราลองหลับตานึกถึงภาพยนตร์ที่เราประทับใจ เราจะพบว่า

*หากเป็นภาพยนตร์บู๊ highlight หรือวิกฤต ของเรื่องมักจะเป็นเหตุการณ์ตอนที่นางเอกถูกฝ่ายผู้ร้ายจับตัวและรอคอยพระเอกไปช่วย

*หากเป็นภาพยนตร์ชีวิต highlight หรือวิกฤต ของเรื่องมักจะเป็นเหตุการณ์ตอนที่ตัวละครสำคัญรู้ความจริงบางอย่างในชีวิตที่ถูกเก็บงำไว้ (เช่น รู้ความจริงว่าเป็นลูกเลี้ยง หรือรู้ความจริงว่าพ่อแม่ของตนถูกฆ่าโดยคนที่เขารักและนับถือในปัจจุบัน)

*หากเป็นภาพยนตร์รักโรแมนติก highlight หรือวิกฤต ของเรื่องมักจะเป็นเหตุการณ์ตอนที่พระเอกกับนางเอก เกิดเรื่องบาดหมางไม่เข้าใจกัน ซึ่งทำให้เขาทั้งสองแยกจากกัน (เพื่อรอเวลาคืนดีในตอนจบเรื่อง)

 

                เวลาเราเดินเรื่อง (speak through the case) ให้เรามีจินตนาการอย่างนี้ว่า การเดินเรื่องเหมือนกับการปอกหัวหอม คือจะคลี่ออกทีละชั้น ให้คนอ่านเห็นเท่าที่จำเป็น เพื่อจะนำไปสู่เรื่องที่อยู่ถัดไป โดยคนอ่านก็จะเดินตามเรื่องที่เราเปิดเผยทีละนิด แต่เราจะต้องมีอยู่ในใจก่อนว่าส่วนไหนจะมาก่อน มาหลัง เพื่อไปสู่ highlight หรือวิกฤตของเรื่อง

๔.ส่วนสรุป หรือคลี่คลายเหตุการณ์

                เราไม่จำเป็นต้องสรุปเรื่องราวในท้ายเรื่องแบบนี้เสมอไป เช่น เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นว่า........ หรือ ดังนั้นเราจะเห็นว่า...... หรือสรุปเป็นหลักการเป็นข้อๆ แต่ เราต้องมองหาบทสรุปที่ไปรับใช้หัวใจของเรื่อง เพราะเรื่องเล่าไม่ใช่รายงานที่เขียนเสนอให้ผู้บริหารหรือผู้บังคับบัญชาของเรา แต่เรากำลังสื่อสารเรื่องเล่าที่บอกคุณค่าบางอย่างในชีวิต หรือคุณค่าบางอย่างขององค์กรในด้านดี

                การสรุปเรื่องเล่าที่ดี ควรสรุปด้วยเรื่องเล่าที่เป็นเร่องราวสั้นๆ ที่แสดงให้เห็นการคลี่คลายของเหตุการณ์ หรือ highlight หรือปมขัดแย้ง tension ที่เราขมวดปมไว้ เรื่องราวในตอนท้ายเรื่องเล่าอาจคลี่คลายไปได้หลายลักษณะ เช่น สุข เศร้า ทุกข์ทรมาน แต่ที่สำคัญเราคนเขียนต้อง landing ลงมาเป็นบทเรียนของชีวิต เพื่อเป็นกรณีศึกษาให้ได้

                เทคนิคบางประการในการเขียนกรณีศึกษา (จาก ๘๐ กรณีศึกษา ของโครงการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อพัฒนาแนวคิดบริการปฐมภูมิ) ชาติชาย   มุกสง

***อย่าลืมนะครับนี่เป็นเพียงข้อแนะนำเท่านั้น ไม่ใช่ตำราครอบจินตนาการของพวกเรา***

                ๑.การย่อหน้าและการเขียนในแต่ละย่อหน้า หลักการสำคัญคือพึงระลึกอยู่เสมอว่า แต่ละย่อหน้าต้องมีใจความเดียวตลอดทั้งย่อหน้า ดังนั้นในการเขียนแต่ละครั้งต้องนึกก่อนว่าย่อหน้าที่จะเขียนต่อไปนี้เป็นเรื่องอะไร แล้วจึงสร้างประโยค ความคิดหลัก (main idea) ขึ้นมากำกับหรือเป็นต้นเรื่องเอาไว้ก่อน แล้วจึงเอาส่วนใจความที่จะขยาย (supporting idea) หรือให้รายละเอียดที่เป็นเรื่องเดียวกันมาขยายจนจบใจความ แต่ไม่ควรเกิน ๑๐ ประโยค และโดยรวมแล้วแต่ละย่อหน้าไม่ควรเกิน ๗ ๑๐ ประโยคหรือบรรทัด

                ๒.การเขียนโดยใช้บทสนทนาในการดำเนินเรื่อง (ถ้าเป็นไปได้ก็ให้หมั่นอ่านนวนิยาย หรือบทละครโทรทัศน์ในหนังสือพิมพ์ก็ได้) ต้องสร้างภาพให้คนอ่านได้รับรู้ไปพร้อมกันด้วยว่าใครทำอะไรอยู่ คำพูดแต่ละคำใครเป็นคนพูด พูดในอารมณ์และสถานการณ์อย่างไร ก็ต้องบรรยายอารมณ์ผู้พูดและท่าทางออกมาก็จะชัดเจนขึ้น

                ๓.การเขียนบรรยายฉาก ตัวละคร เหตุการณ์และเรื่องราว  การบรรยายต้องให้คนอ่านได้เห็นว่าเกิดอะไร (what) ขึ้นกับใคร (who) ที่ไหน (where) เมื่อไหร่ (when) ซึ่งเป็นการบรรยาย (description) ลักษณะตามที่เกิดขึ้นจริง ที่สำคัญการเขียนเชิงคุณภาพต้องการคำบรรยายเชิงคุณภาพหรือเรื่องราวเหตุการณ์ (Narration) เชิงคุณภาพที่จะอธิบายว่าเป็นอย่างไร (How)  และอธิบายให้รู้ถึงเบื้องหลังเหตุการณ์หรือที่มาที่ไปของเหตุการณ์ว่าทำไม (why) จึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นได้ นับว่าเป็นสิ่งสำคัญเพราะจะทำให้เรื่องราวดูลึก ชัดเจน มีน้ำหนักมากขึ้นด้วย

ข้อแนะนำการบรรยายลักษณะคน

๑.ลักษณะของรูปร่างสัณฐาน สูง/ต่ำ ผอม/อ้วน สันทัด เจ้าเนื้อ มาตรฐานแบบหญิงไทย ฯลฯ ส่วนความสูงประมาณคร่าวๆ ไม่ต้องแป๊ะเหมือนวัดมา

๒.ผิวพรรณ ขาว ดำ คล้ำ ดำแดง ขาวเนียนอย่างสาวเหนือ ดำขำอย่างคนใต้ทั่วไป เป็นต้น

๓.การบอกหน้าตา โดยหลักต้องเริ่มจากเค้าโครงรูปหน้าก่อนจะไปเอารายละเอียดมาใส่

                ตัวอย่างเช่น แตงโม ๑)หญิงสาวรูปร่างผอมสูงเฉลี่ยเท่าหญิงไทยทั่วไป ๒)ผิวเนียนค่อนข้างคล้ำ ๓)ดวงหน้ากลมมน หน้าผากกว้างรับกับแก้ม และคางที่มนได้รูป คิ้วดกหนา วงตากลมโต ขนตางอน ฟันขาวเรียงกันสวย เวลายิ้มเพิ่มเสน่ห์ให้กับเจ้าของเป็นอย่างยิ่ง

                ๔.วิธีการสรุปประเด็นและเชื่อมต่อ หรือการส่งต่อประเด็นในแต่ละตอน ต้องสรุปให้ได้ว่าเรื่องที่เล่ามามันมารับใช้หรือมีความสำคัญต่อหัวใจหรือประเด็นหลักของเรื่องอย่างไร หรือมันมีความสำคัญต่อเร่องราวทั้งหมดอย่างไรนั่นเอง ส่วนการส่งต่อประเด็น อาจต้องหาทางทำให้ประเด็นสัมพันธ์กันในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ในเชิงกลมกลืนเป็นเรื่องราวที่ไปด้วยกันได้ก็เป็นการขยาย ในเชิงขัดแย้งกันอาจเป็นการแสดงข้อมูลสองด้านที่ให้เหตุผลมาจากอีกมุมมองหนึ่งก่อนจะได้ข้อสรุป เป็นต้น

                ๕.การเปิดเรื่อง โดยหลักต้องเป็นเรื่องราว เหตุการณ์ หรือฉากที่สะท้อนให้เห็นว่าสัมพันธ์กับเนื้อเรื่อง หรือประเด็นหลักของเรื่อง ถ้าเป็นบทสนทนา จะต้องมีฉากบรรยากาศและเบื้องหลังที่ปูพื้นให้เห็นถึงเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นให้ผู้อ่านสามารถคาดคะเนเรื่องราว หรือนำผู้อ่านไปสู่เนื้อเรื่องข้างหน้าได้

                ๖.วิธีการสรุปและทิ้งท้าย กล่าวกันตามจริงแล้วส่วนที่สำคัญที่สุดของงานเขียนก็คือส่วนขึ้นต้นและส่วนลงท้าย แต่คนเขียนส่วนมากไม่ค่อยให้ความสนใจกับการสรุปทิ้งท้ายมากนัก โดยหลักส่วนนี้จะนำเสนอข้อเสนอที่เราคิดว่าเป็นไปได้หรือความคิดรวบยอดของทั้งเรื่องที่เราเขียน ในเชิงการเขียนมักจะยอมรับกันว่าส่วนนี้เป็นพื้นที่แสดงความคิดหรือเจตนาของผู้เขียนที่ต้องทำให้ชัดเจนที่สุด

                เทคนิคก็คือ เรื่องราวที่นำเสนอนี้ สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทหรือหัวใจของการบริการปฐมภูมิอย่างไร คือจับเอาเรื่องราวทั้งหมดมาสัมพันธ์กับแนวคิดว่าทำให้เกิดอะไรขึ้นหรือส่งผลอย่างไรต่อการทำงานบริการประชาชน หรือคนทำงานได้เรียนรู้อะไรอย่างที่ทำงานลักษณะอื่นไม่เคยมีให้มาก่อนและอยากให้มันเกิดอะไรหรือเป็นอย่างไรต่อไป เท่านั้นเอง

หมายเลขบันทึก: 191365เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2008 14:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

เรียนคุณบินเดี่ยว

อ่านเรื่องของคุณแล้ว สนใจคะ

ถ้าจะเชิญคุณบินเดี่ยว

มาเป็นวิทยากรการเขียนเรื่องเล่านี้

ไม่ทราบคุณบินเดี่ยวจะมีเวลาให้ไหมคะ

ขออนุญาติใช้เป็นแบบนะคะ

อ่านแล้วปูได้แนวคิดไปเขียนเรื่องเล่าสุขภาพจิต นำเสนอที่ประชุม cqi อยากรบกวนให้อ่านและcomment ให้จังอ่ะ

สุดยอดครับ ขอบคุณสำหรับการแนะนำที่เป็นหัวใจของทุกคนใน gtk หลายคนเป็นคนใหม่ การเขียนบางครั้งก็เขียนไปก่อนเป็นเบื้องต้น จากนั้นก็ปรับปรุง บันทึกนี้ก็จะช่วยส่งเสริมให้มีคนมืออาชีพ นักเล่าที่มีระดับมากขึ้นนะครับ ผมก็อยากรู้เหมือนกันว่าบันทึกของตนเองจะยกตัวขึ้นหรือเปล่า หัวจะไปมั๊ย ขอบคุณอีกครั้ง

ขอบคุณมากค่ะ กำลังหาต้นแบบอยู่ขออนุญาตใช้เป็นต้นแบบนะคะ

ขอบคุณค่ะ กำลังอยู่ในความสนใจทีเดียวเลย

ขอบคุณค่ะ..และควรตำนึงถึงใจผู้อ่านมาใส่ใจเราด้วย..มิใช่เล่าไปตามใจเราด้านเดียว..เล่าให้เด็กอ่านก็แบบหนึ่ง..เล่าให้ผู้มีประสบการณ์อ่านอีกแบบหนึ่ง..เนื้อหาหลักอาจเหมือนกัน..แต่วิธีเล่าเป็นศิลป์ที่ควรใส่ใจ..

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท