ประสบการณ์ดีดี..ที่อยากแบ่งปัน


แลกเปลี่ยน แบ่งปัน เปลี่ยนแปลง และผองเพื่อน

วิธีเริ่มเรื่อง

เรียบเรียงจาก แปดเงื่อนไขในการเปิดเรื่อง ของเพลินตา ในนิตยสารช่อการะเกด ฉบับที่ ๓๒ หน้า ๑๗๔

                นักเขียนหลายคนใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆ หรือเป็นวันๆ กระทั่งเป็นเดือน พยายามสร้างการเปิดเรื่องที่สมบูรณ์พร้อมก่อนที่จะขยับไปเขียนส่วนที่เหลือของเรื่อง การปฏิบัติเช่นนี้ โดยเฉพาะนัก(อยาก)เขียนมือใหม่ บางครั้งนำไปสู่การล้มเลิกเรื่องที่จะเขียนทั้งหมด เนื่องจากความขัดเคืองใจกับประโยคสองสามประโยคเท่านั้น

                **เขียนในสิ่งที่ถนัด หากคนเขียนเด่นด้านการพรรณนาและการพัฒนาตัวละคร แต่ด้อยการสร้างความขัดแย้งและการผูกเรื่อง จงเขียนประโยคเปิดเรื่องให้ตัวละครแสดงพฤติกรรมทันที เช่นเดียวกัน หากการพัฒนาตัวละครเป็นเรื่องยากสำหรับคนเขียน ลองเปิดเรื่องด้วยการให้ตัวละครพูด นึกคิด หรือกระทำสิ่งที่แสดงลักษณะนิสัยของเขาหรือหล่อนออกมา**

 

เทคนิคการเปิดเรื่อง

ประชาธิป   กะทา

                เนื่องจากเรื่องเล่าต้องการเป้าหมายที่ชัดเจนเป้นอย่างมากว่า เราต้องการจะสื่อสาร หรือบอกเล่าประเด็นใด(หัวใจของเรื่อง) สู่คนอ่าน ดังนั้นเรื่องเล่าที่เราจะเขียนจึงไม่ใช่ ขอเพียงแค่ให้มีจุดตั้งต้น แล้วเนื้อหาส่วนอื่นๆ จะตามมาเท่านั้น แต่มันจะต้อง เปิดเรื่อง เพื่อสนับสนุนสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เราจะบอกเล่าสู่คนอ่าน รวมทั้งเปิดเรื่องให้ดึงดูความสนใจน่าติดตามอ่านต่อไป ต้องซัดคนอ่านให้อยู่หมัดใน ๕ บรรทัดแรก ว่างั้นเถอะ

                วิธีการเปิดเรื่องที่จะนำเสนอต่อไปนี้ สามารถเลือกใช้ได้ตามความสนใจของคนเขียน โดยจะมีตัวอย่างบางส่วนจาก กรณีศึกษาที่เจ้าหน้าที่ที่ให้บริการปฐมภูมิ เขียนถ่ายทอกเรื่องเล่า จากประสบการณ์ทำงานจริง เพื่อเป็นตัวอย่างใช้ประกอบการทำความเข้าใจ

 

๑.ความขัดแย้ง

                เปิดเรื่องด้วยการบอกเล่าถึงความขัดแย้งไปรงๆ ในประโยคแรก วิธีนี้เป็นการมุ่งเข้าสู่หัวใจของเรื่องเล่าในทันที เหมาะกับเรื่องที่ต้องการแสดงความขัดแย้งอย่างรุนแรงและเด่นชัด เช่น

                กฤษณา ไม่ชอบหนวดเคราของน้อยเพื่อนร่วมงานประจำสถานีอนามัย เธอคิดว่ามันไม่เหมาะกับข้าราชการที่ต้องให้บริการรักษาพยาบาลแก่ชาวบ้าน

                คำว่า ไม่ชอบ บรรจุความขัดแย้งอยู่ภายใน หรืออย่างน้อยก็แสดงถึงความขัดแย้งซึ่งจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของการขับเคี่ยวทางจิตใจในครั้งต่อๆ ไปของคนทั้งคู่

๒.ตัวละคร

                เปิดเรื่องด้วยการนำคนอ่านเข้าไปอยู่ในจิตใจของตัวละครสำคัญ แล้วรีบแสดงความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อน ระหว่างตัวละครสำคัญกับตัวละครอื่นๆ เช่น

                หมอบอกจันทร์ว่า แม่ของหล่อนต้องลดน้ำหนักบ้างเพื่อรักษาโรคเกี่ยวกับความดัน คืนวันพุธต่อมา จันทร์ก็เลยพาแม่ไปเข้าคอร์ส ลดน้ำหนัก หล่อนไม่สนใจว่าแม่เคยทำอะไรเพื่อหล่อนบ้างหรือไม่ แต่ทุกคืนวันพุธ หล่อนจะคอยเตือนตัวเองให้พาแม่ไปออกกำลังกายล

                หน้าที่กับความหวั่นวิตก ที่ผสมปนเปกันทำให้ผู้อ่านสนใจความสัมพันธ์ของแม่ลูกคู่นี้ แม้ว่าความขัดแย้งที่แท้จริงยังไม่เปิดเผยออกมา

๓.บทสนทนา

                การเปิดเรื่องด้วยบทสนทนา เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการนำเข้าสู่เรื่องอย่างรวดเร็ว ผู้อ่านชอบที่จะได้ยินการถกเถียงโต้แย้งระหว่างตัวละคร เมื่อตัวละครทั้งสองสนทนา ผู้อ่านจะนิ่งฟัง เช่น

                กริ๊ง  กริ๊ง  !!!  สวัสดีค่ะ สุขาภิบาล ดวงกมลรับสายค่ะ

                .........................................

                ค่ะ  เดี๋ยวจะขึ้นไปเดี๋ยวนี้ค่ะ

                เสียงโทรศัพท์แจ้งว่ามีผู้ป่วยวัณโรคที่ตึกผู้ป่วยล่าง ดวงกมลรีบเก็บเอกสารบนโต๊ะแล้วหยิบแบบฟอร์มซักประวัติผู้ป่วยวัณโรคพร้อมกับสมุดประจำตัวผู้ป่วยวัณโรค เดินไปตามทางพอถึงตึกผู้ป่วยล่าง ดวงกมลตรงไปที่เคาเตอร์พยาบาลแล้วถามว่า เตียงไหนคะ

(จากเรื่อง ชีวิตที่เหมือนตายทั้งเป็น จ.ราชบุรี)

                อรุณ ! ไอ้เด็กคนนั้นมันมาอีกแล้ว

                ใครหรือพี่ไร

                ก็ไอ้เด็กคนที่พี่เล่าให้ฟังไง ที่มันชอบมานอนหน้าวอร์ด แล้วแอบเข้าไปในห้องคนไข้ตอนเจ้าหน้าที่เผลอไง

(จากเรื่อง หนู จะอยู่กับใคร จ.ราชบุรี)

 

 

 

๔.การพรรณนาฉาก

                เช้าวันพุธอากาศสดใส กลุ่มผู้สูงอายุราว ๓๐ คน เริ่มทยอยมาร่วมทำกิจกรรมที่ลานวัดพระธาตุเสด็จตามปกติ คนที่อยู่ใกล้วัดก็เดินมาเอง ส่วนที่อยู่ไกลก็ใช้จักรยานคันเก่า ที่มีกระบุงสานเป็นตาห่างๆ ติดท้ายรถ แสงแดดยามเช้าทำให้ทุกคนกระชุ่มกระชวยมีชีวิตชีวา

                ต้นดอกแก้วถูกปลูกไว้รายรอบบริเวณวัด ดูเป็นระเบียบลงตัว และยังสร้างร่มเงาต่อเนื่องกันเป็นหลังคาใหญ่ กลิ่นหอมของดอกแก้วช่วยสร้างบรรยากาศสดชื่น ยามคนแก่ออกกำลังกายเป็นอย่างดี

(จากเรื่อง แสงเทียนส่องทาง จ.ลำปาง)

๕.การพรรณนาตัวละคร

                ตัวอย่างการเปิดเรื่องด้วยการพรรณนาตัวละคร เช่น

                ผัวเมียแก่หง่อมถูกจับตามองจากทุกคนบนชายหาด แต่ทั้งคู่ดูเหมือนมองไม่เห็นใครทั้งนั้น

                มีเงื่อนงำอยู่ในคำพรรณนาข้างต้น ผู้อ่านย่อมอยากรู้เหมือนกับ ทุกคนบนชายหาด พวกเขาอยากรู้รายละเอียดของหญิงชายชราสองคนนี้ หากแก่นเรื่องหรือความขัดแย้งในเรื่องของเราเกิดจากตัวละครหนึ่งมีลับลมคมในกับตัวละครอีกตัวหนึ่ง เราต้องทำให้ผู้อ่านอยากรู้อยากเห็นไปด้วย

                หญิงวัยกลางคนนอนอยู่บนเสื่อเก่าๆ สวมเสื้อคอกระเช้าสีขาวหม่น มีคราบสกปรก นุ่งผ้าถุงสีเขียวลายทาง เหน็บชายไว้ไม่แน่นจะหลุดมิหลุดแหล่ นัยน์ตาเหม่อลอย มองเพดานแบบไร้จุดมุ่งหมาย พอทีมเยี่ยมบ้านของเราไปถึงก็เห็นชายชราคนหนึ่ง นุ่งกางเกงชาวเลสีดำ มีผ้าขาวม้าพาดบ่า ไม่สวมเสื้อ เดินตรงไปที่หญิงกลางคนๆ นั้น

(จากเรื่อง ชีวิตนี้ยังมีหวัง จ.จันทรบุรี)

                วิธีเปิดเรื่องที่ค่อนข้างเป็นนามธรรม เป็นทางการ แต่ก็ยังมีผู้ใช้อยู่และได้ผลดี เช่น

                รสชาติของความเจ็บปวดนั้นเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่เราสมควรจะได้รับ มันง่ายที่จะให้ แต่ยากที่จะสูญเสีย เหมือนกับเรื่องราวต่อไปนี้

                ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างจากเจ้าหน้าที่ปฐมภูมิ ที่เปิดเรื่องด้วยการกำหนดกรอบของแก่นเรื่องชัดเจนตั้งแต่ตอนแรก

                เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต บางครั้งก็ไม่มีที่มาและเหตุผล บางครั้งก็เป็นปัญหาที่ยากแก่การแก้ไข  แต่เมื่อเกิดขึ้นผู้ที่เผชิญกับเหตุการณ์นั้นๆ ต้องจัดการเพื่อให้เกิดความลงตัวและสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่ากับคนในครอบครัว ดูเหมือนภาระทั้งหมดจะอยู่ที่แกนหลักของครอบครัว และมาวันหนึ่งแกนหลักของครอบครัวกลับต้องพบกับปัญหาความเจ็บป่วย ที่ทำให้กลายเป็นคนที่ต้องพึ่งพาผู้อื่น แล้วใครเล่าจะเป็นแกนให้เธอได้เกาะเพื่อที่จะลุกได้อีกครั้ง

(จากเรื่อง เวรกรรมจริงหรือ ? จ.ขอนแก่น)

                เขาว่ากันว่า ความสุขมักอยู่กับคนเราได้ไม่นาน ไม่ช้ามันก็จะจากไปและความทุกข์ก็จะเข้ามาแทน และเช่นกันความทุกข์ก็จะอยู่กับเราไม่นานเหมือนกัน และความสุขก็จะกลับคืนมาแทนที่ วนเวียนกันไปเป็นวัฏจักรชีวิตคนเราเช่นนี้ไปเรื่อยๆ

(จากเรื่อง หนานนวล จ.เชียงใหม่)

                คนเรานั้นถ้าจะต้องเกิดมาเป็นคน เรามีสิทธิเลือกเกิดได้แค่ไหน...เลือกได้หรือเปล่าว่าจะเอาอะไรและไม่เอาอะไรติดตัวมาบ้างตอนที่เราเกิด  (จากเรื่อง ชีวิต...ใครกำหนด จ.เชียงใหม่)

 

โดยสรุป การเปิดเรื่องที่มีการผูกเงื่อนปม แสดงความขัดแย้งของเหตุการณ์ หรือวิกฤตภายในจิตใจของตัวละคร จะเป็นการเปิดเรื่องที่ชวนติดตาม เร้าให้คนอยากอ่านต่อไป นอกจากนั้น การลอกเลียนฉากเปิดจากเรื่องสั้น นิยาย และภาพยนตร์ที่เราประทับใจก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่นัก(อยาก)เขียนหน้าใหม่บางคนเคยปฏิบัติมาก่อนที่ฝีมือจะกล้าแกร่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก (เรียบเรียงจาก แปดเงื่อนไขในการเปิดเรื่อง ของเพลินตา ในนิตยสารช่อการะเกด ฉบับที่ ๓๒ หน้า ๑๗๔)

ดีใจมากๆ ที่ได้รับโอกาส ดีดี แบบนี้ ขอขอบคุณพี่ป้อม(สุทธิสิทธิ์ ไมตรีจิตร์) ที่มอบโอกาสนี้ให้ ผมได้ร่วมแลกเปลี่ยน แบ่งปัน เปลี่ยนแปลง และผองเพื่อน ยังไงก็จะขอนำความรู้ ประสบการณ์ที่ได้รับในช่วงเวลาดังกล่าว มาพัฒนาตนเองต่อไปครับ

หมายเลขบันทึก: 191369เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2008 14:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 13:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท