หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

ถิ่นฐานบ้านเรือน


ถิ่นฐานบ้านเรือน

      ชาวปกาเกอะญอบ้านป่าคา ดำรงชีพด้วยการทำไร่หมุนเวียนมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งการทำไร่แบบไร่หมุนเวียนนั้นชาวบ้านจะเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่แต่ละแห่งเพียงหนึ่งปี จากนั้นจะเวียนไปทำไร่ในพื้นที่อื่น จนกระทั่งเวียนกลับมาทำผืนดินเดิมที่เคยทำไร่เมื่อ ๖-๘ ปีก่อน เนื่องจากผืนดินได้พักฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกแล้ว

     ดังนั้นการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของชาวบ้าน จึงสอดคล้องและเป็นไปตามการดำรงชีพแบบไร่หมุนเวียน การตั้งบ้านเรือนมักจะอยู่ไม่ไกลจากพื้นที่ทำไร่มากนัก เนื่องจากต้องอาศัยไม้ในไร่หมุนเวียนที่เกิดจากการถางไร่มาเป็นไม้ในการซ่อมบ้านและเป็นฟืนหุงหาอาหาร อีกทั้งต้องใช้เวลาส่วนมากทำกิจการงานในไร่หมุนเวียน การที่บ้านเรือนอยู่ห่างไกลก็จะทำให้เสียเวลาในการเดินทางมากขึ้น การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของชาวปกาเกอะญอที่นี่จึงมักโยกย้ายไปตามการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งจะตั้งบ้านเรือนอยู่รวมกันในที่ใดที่หนึ่งราว ๓ ปี แล้วก็ย้ายไป และจะย้ายกลับมาที่เดิมเมื่อย้อนกลับไปทำไร่ในพื้นที่เดิม

      หมู่บ้านป่าคาที่ตั้งอยู่ ณ ปัจจุบัน ผ่านการตั้งหมู่บ้านมาแล้วสองครั้ง การตั้งถิ่นฐานคราวนี้เป็นครั้งที่สาม และมีแนวโน้มว่าจะปักหลักอยู่ที่นี่เป็นการถาวร

      ในอดีต เนื่องจากการตั้งถิ่นฐานยังไม่เป็นการถาวร บ้านเรือนของชาวบ้านก็จะเป็นบ้านเรือนแบบไม่ถาวร สามารถใช้อยู่อาศัยได้ราว ๓ ปี แล้วก็ย้ายไปสร้างที่อื่นเช่นเดียวกับเพื่อนบ้านคนอื่น ๆ วัสดุการก่อสร้างส่วนใหญ่ทำมาจากไม้ไผ่ที่อยู่รอบ ๆ หมู่บ้าน ใช้ไม้ยืนต้นลำเล็ก ๆ เป็นเครื่องเครา และใช้หญ้าคาเป็นหลังคามุงบ้าน ภายในตัวบ้านก็จะมีเตาไฟหุงหาอาหาร รวมทั้งการให้ความร้อนภายในตัวบ้าน ความร้อนและควันไฟจะช่วยรมบรรดาเมล็ดพันธุ์ที่เก็บไว้บนหิ้งเหนือเตาไฟ รวมทั้งยังช่วยยืดอายุหลังคาที่ทำจากหญ้าคา และไม้ไผ่ที่ทำฟื้นกับฝาบ้านไม่ให้มอดปลวกกินและผุเร็วเกินไป

      หลังจากชาวบ้านย้ายมาตั้งถิ่นฐาน ณ พื้นที่ตั้งหมู่บ้านในปัจจุบัน แรก ๆ บ้านเรือนของชาวบ้านจะมีลักษณะแบบเดิม คือไม่ใช่บ้านเรือนแบบคงทนถาวร วัสดุยังคงใช้ไม้ไผ่ ไม้ยืนต้นลำเล็กและหญ้าคา แต่เนื่องจากการตั้งถิ่นฐานที่จะโยกย้ายไปตามลักษณะทำมาหากินทำได้ยากขึ้น ด้วยทางราชการต้องการให้ชาวบ้านลงหลักปักฐานอยู่ที่ใดที่หนึ่งเป็นหลักเป็นแหล่ง ชาวบ้านก็เริ่มปลูกสร้างบ้านที่เป็นการถาวรมากขึ้น

      ที่บ้านป่าคาการตั้งบ้านเรือนของชาวบ้านแต่ละหลังจะลดหลั่นกันไปตามความลาดชันของภูเขา บ้านบางหลังจะล้อมรั้วรอบขอบชิด เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงจำพวกหมูมิให้ออกไปเพ่นพ่านนอกบ้าน ซึ่งอาจไปทำลายพืชผักของเพื่อนบ้าน ขณะที่บางบ้านก็จะล้อมรั้วพื้นที่บริเวณบ้านปลูกพืชผักชนิดต่าง ๆ สำหรับบริโภคในครัวเรือน เช่น ขนุน มะม่วง กล้วย อ้อย ผักสวนครัวชนิดต่าง ๆ ฯลฯ

      ตัวบ้านเรือนของชาวบ้านในปัจจุบัน เครื่องเคราองค์ประกอบต่าง ๆ ของบ้าน รวมทั้งไม้ฝา พื้น เปลี่ยนมาใช้ไม้เนื้อแข็ง ซึ่งเป็นไม้ที่หาได้ในพื้นที่ หลังคาก็จะเปลี่ยนไปใช้เป็นสังกะสีหรือกระเบื้องแทนหญ้าคา เนื่องจากมีความทนทาน

      บ้านเรือนแต่ละหลังของชาวบ้านจะมีขนาดเล็กใหญ่ต่างกันไป ตามปริมาณสมาชิกและกำลังของแต่ละครอบครัว ลักษณะบ้านจะเป็นบ้านยกพื้นสูง ใต้ถุนส่วนหนึ่งใช้เก็บไม้ฟืนสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงหุงหาอาหาร ส่วนหนึ่งจะกั้นเป็นเล้าหมู-เล้าไก่ ส่วนหนึ่งจะเป็นที่ตั้งของครกกระเดื่องไว้สำหรับตำข้าว และอีกส่วนหนึ่งจะใช้เป็นที่เก็บข้าวของใช้ต่าง ๆ รวมทั้งรถจักรยานยนต์สำหรับบางครัวเรือน

      บ้านที่เลี้ยงวัวควาย หากไม่มีคอกอยู่นอกหมู่บ้าน ก็จะกั้นเป็นคอกเล็ก ๆ บริเวณข้างบ้าน หรือหากไม่มีคอกก็จะใช้วิธีผูกกับหลักที่อยู่บริเวณข้างบ้านเช่นกัน

      แม้ว่าตัวบ้านจะมีลักษณะคงทนถาวรมากขึ้น แต่ภายในบ้านก็จะยังคงมีเตาไฟอยู่บนเรือนเช่นเดียวกับบ้านเรือนในอดีต โดยมากแล้วบริเวณเตาไฟซึ่งถือว่าเป็นห้องครัวของบ้าน พื้นจะต่ำกว่าพื้นบ้านปกติ ทั้งนี้ส่วนที่เป็นห้องนอนจะสูงกว่าบริเวณอื่นทั้งบ้าน

      บ้านเรือนชาวบ้านแต่ละหลังจะมีนอกชานยื่นออกมานอกตัวบ้าน โดยมากแล้วใช้เป็นที่ตากเมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ ที่จะใช้ปลูกในฤดูการผลิตต่อไป บ้านบางหลังก็จะประดับประดาปริเวณนี้ด้วยกล้วยไม้ป่านานาชนิด

      ภายหลังจากที่ชาวบ้านป่าคาตั้งหลักแหล่งอย่างถาวรแล้ว โดยถือว่าเป็นหมู่บ้านบริวารของหมู่บ้านห้วยช้างไร่ ม.๖ ต.ด่านแม่ละเมา อ.แม่สอด จ.ตาก ทางราชการโดย กรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือให้ชาวบ้านมีไฟฟ้าใช้ โดยการสนับสนุนอุปกรณ์สำหรับผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วไฟฟ้าที่ได้จะใช้สำหรับการให้แสงสว่างในบ้าน รวมทั้งใช้เปิดโทรทัศน์สำหรับชาวบ้านบางหลังคาเรือน

      นอกจากชาวบ้านจะมีไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ใช้แล้ว บ้านเรือนแต่ละหลังก็จะต่อน้ำปะปาภูเขาเข้ามาถึงบ้านอีกด้วย โดยมากแล้วท่อน้ำจะต่อไปถึงห้องครัวและห้องส้วมซึ่งสร้างแยกไว้บริเวณข้างบ้าน รวมทั้งบริเวณที่อาบน้ำซึ่งอยู่นอกตัวบ้าน

 

 

หมายเลขบันทึก: 290910เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2009 15:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ยังไม่เคยเห็นใกล้ๆเลยค่ะ

อยากเห็นรูปหมู่บ้านนี้จังเลย

สำหรับน้ำประปาภูเขาเคยเห็นค่ะ

แต่ไม่ทราบจะเหมือนที่เล่ามาหรือเปล่า

น้ำเย็นเยือกเลยค่ะ ชาวบ้านต่อมาจากเขา

น้ำไหลมาตามกระบอกไม่ไผ่ที่ผ่าครึ่งมาเป็นชั้นๆจนถึงบ้านค่ะ

ขอบคุณค่ะ

P พี่ krutoi ครับ

ขอบคุณที่มาแวะเยี่ยมชมครับ

เอารูปหมู่บ้านมาให้ชมครับ

 

P พี่ krutoi ครับ

มือใหม่อยู่ครับ ยังจัดระเบียบรูปไม่ค่อยเป็น

เรื่องน้ำประปาภูเขานี่

ในอดีตชาวบ้านจะต่อมาจากลำธารบนภูเขา โดยจะใช้ลำลางไม้ไผ่

ปัจจุบันแหล่งน้ำยังคงใช้น้ำจากลำธารบนเขาเช่นเดิม เพียงแต่วัสดุจะใช้เป็นท่อ PVC

หน้าหนาวนี่เย็นยะเยือกจับขั้วหัวใจทีเดียวครับ

 
เมื่อ พ. 02 ก.ย. 2552 @ 20:48
1524871 [ลบ] [แจ้งลบ]

กำลังจะมองหารูปประกอบพอดี

 เพิ่งรู้ว่าในประเทศไทย ยังมีอะไรที่เราไม่เคยพบ เคยเห็นอีกเยอะ

P พี่ ครู ป.1 ครับ

ขอบคุณที่แวะมาชมครับ

เพิ่งเรียนรู้เรื่องเอาภาพขึ้นประกอบ ตอนนี้ทำเป็นแล้วครับ

คาดว่าจะมีภาพประกอบบันทึกมากขึ้นครับ

  • ขอบคุณหนานเกียรติครับ
  • บ้านป่าคา ที่คุณว่า...
  • ไม่ทราบว่า บ้านป่าคา๑ หรือป่าคา ๒ ครับ
  • บ้านป่าคา ๑ คือบ้านผู้ใหญ่ยีเก่า อยู่ในเขต อ.คลองลาน
  • ส่วนป่าคาใหม่ บ้านป่าหมาก บ้านดล๊ะโค๊ะ น่าจะอยู่ในเขตอำเภอโกสัมพีนคร
  • ผมเคยย่ำดอยนี้มานานแล้ว สมัยพื้นที่นี้เป็นสีชมพูครับ

 

P สวัสดีครับ พี่ สามสัก

บ้านป่าคานี้เป็นหมู่บ้านปกาเกอะญอ

เป็นหมู่บ้านบริวารของบ้านห้วยช้างไล่

อยู่ ต.ด่านแมะละเมา อ.แม่สอด จ.ตาก ครับ

ทางเข้าเดียวกับบ้านห้วยปลาหลด อยู่ก่อนถึงตลาดชาวเขาครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท