รายงานผลการปลูกกล้วยแบบพิสดาร


วันนี้หลังจากเสร็จภาระกิจจากการกรีดยาง ก็เข้าสวนรดน้ำผักตามปกติ รดน้ำผักเสร็จก็เดินสำรวจต้นไม้ต้นหญ้าในสวนเพื่อความสบายใจ ปรากฏว่าทั้งสบายใจและดีใจครับ ที่การปลูกกล้วยแบบพิสดารมันแตกหน่อออกมาแล้ว

แบบใกล้ๆ
 

แบบไกลๆ
 

ก็ถือเป็นความสำเร็จของการร่วมมือ ไทย-เยอรมัน คนบอกอยู่เยอรมัน คนทำอยู่ไทย  ก็เม้ง เพื่อนยากอีกแหละครับบอกมา ตอนที่เม้งบอกมาผมก็ไม่อยากเชื่อ แต่ถ้าเชื่อแล้วก็ต้องเชื่อแบบมีภูมิคุ้มกัน เรื่องอะไรผมจะปลูกตามที่เม้งบอกทุกต้น กล้วยไม่ขึ้นผมก็ซวย ผมก็เลยปลูกต้นเว้นต้น เพื่อจะได้ดูผลการทดลอง ว่ามันแตกต่างกันอย่างไร

ตามภาพ ผมจะปลูกแบบธรรมดาสลับกับแบบพิสดาร
ยังไม่หายข้องใจใช่มั๊ยครับว่าพิสดารยังไงดูรูปก็แล้วกัน
ไม่อธิบายนะครับ ภาพคงสื่อได้ดีอยู่แล้ว

แล้วก็กลบดินแล้วทำลืมไปเลย

ผมปลูกเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2550 วันนี้วันที่ 2 กรกฎาคม 2550 ระยะเวลาเกือบหนึ่งเดือนแตกหน่อแรกของต้นแรก ส่วนต้นอื่นๆ แผ่นดินแยกอยู่ครับ คิดว่าคงกำลังแทงหน่อขึ้นมา ข้อดีของการปลูกแบบนี้เท่าที่ทราบจากเม้ง ปลูกทีเดียวได้หลายต้น  ส่วนอะไรยังไงให้เจ้าของความคิดมาบอกต่อก็แล้วกันครับ ส่วนใครมีความคิดเห็นยังไง ก็ร่วมแสดงความคิดเห็นเข้ามาหน่อยนะครับ

หมายเลขบันทึก: 107910เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2007 08:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 12:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)
  • ผมไม่ชอบกินกล้วย แต่ผมชอบที่จะมีต้นกล้วยไว้ครับ :-)

พิสดารจริงๆ ม่น่าเชื่อว่ามันจะขึ้นมาได้

  อ่านดูแล้ว อยากรู้เหตุผลคะ  ว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ของการปลูกเช่นนี้

   รอคุณเม้งมาตอบอยู่นะคะ

แล้วแบบไหนโตเร็วกว่า  รอดมากกว่า  แล้วได้กินกล้วยเร็วกว่า  อย่าลืมบอกกันนะคะ

สวัสดีครับโส

        ห้าๆๆๆๆ ก่อนอื่นขอบคุณมากๆ เลยครับ ที่ลองทำดูแล้วบ้าตามผม ห้าๆๆๆ นับว่าเป็นนักเกษตรกรรมธรรมชาติที่ดีครับ ไม่เชื่อก็ต้องพิสูจน์อย่างมีเหตุผลครับ

        จริงๆ แล้วไม่ใช่ความคิดของผมนะครับ แต่ผมอ่านเจอ ไม่แน่ใจว่าใน GotoKnow นี่หล่ะครับ ว่าด้วยการปลูกกล้วย ผมค้นหาอีกรอบห้าบทความนั้นไม่เจอครับ พูดถึงการปลูกกล้วยแบบพลิกดินชี้ฟ้าแบบนี้นะครับ ในบทความนั้นจะบอกว่า จะมีการแตกหน่อ ขึ้นมามากกว่าหนึ่งหน่อ ผมก็เอาไปคิดต่อ แล้วก็ได้คำตอบว่ามันเป็นอย่างไรตามหลักการทางการแบ่งเซลล์ แล้วก็หลักการของการโตแบบต้นไม้ เหมือนกันทุกพันธุ์นะครับ ไม่ว่าจะเริ่มด้วยหน่อ หรือเริ่มด้วยเมล็ดครับ หากคุณสังเกตให้ดี จะพบว่าในเริ่มต้น คุณปลูกต้นไม้ด้วยเมล็ด คุณไม่เคยแคร์เลยว่า เมล็ดจะจัดเรียงตัวอย่างไรส่วนที่เป็นลำต้นก็ต้องงอกชี้ฟ้าเสมอ และรากก็ต้องลงดินเสมอ อันนี้เป็นกฏทางธรรมชาติของต้นไม้แบบปลูกลงดินนะครับ ภาษาอังกฤษว่า Gravitropism เป็นการงอกตามลักษณะแรงโน้มถ่วง

ลำต้นจะงอกแบบ Negative Gravitropism งอกชี้ฟ้าต้านแรงโน้มถ่วง ส่วนรากจะงอกแบบ Positive Gravitropism ตามแรงโน้มถ่วง หรือค่า g ที่เราเรียกๆ กันนะครับ

หากคุณสังเกตทดลองเรียงเมล็ดดูก็ทำนองเดียวกันครับ ไม่ว่าจะเรียงเมล็ดยังไง เช่นการหว่านข้าวในทุ่งนา ก็เช่นกัน การตกและจัดเรียงเมล็ดมันเป็นแบบต่างๆ แต่ท้ายที่สุด รากลงดิน ต้นชี้ฟ้า

กลับมาที่กล้วยก็เช่นเดียวกันครับ หากปลูกแบบธรรมดา จะโตไวครับ เพราะยอดเดิมมีอยู่แล้ว ลงดินก็ดูดน้ำ ตรึงน้ำจากทั้งอากาศและดินมาสะสมไว้ในลำต้น กล้วยจะมีสารที่ไวต่อการขาดน้ำมากๆ มันเลยวางแผนให้กับตัวเองเพื่อป้องกันการขาดน้ำไงครับ (คนน่าจะเอาเป็นตัวอย่างนะครับ) จะเห็นว่า ไม่ว่าสวนไหน ดินจะแห้งแล้งอย่างไร หากคุณไปกอดต้นกล้วยตอนเที่ยงๆ คุณจะมีความสุขครับ เย็นถึงทรวงใจ

ส่วนการปลูกแบบพลิกดินชี้ฟ้า นี้ จะเป็นการทำลายยอดเดิมโดยจิ้มไปที่ดินแล้วกลบ ดังนั้น หน่อกล้วยจะพบกับระยะพักตัว (ประมาณหนึ่งเดือนจากการทดลองของโส) จนกว่าจะงอกเป็นหน่อใหม่

เมื่อไม่มีลำต้นหรือทางออกให้ยอดเดิมออก กลไกภายในหน่อต้องปรับใหม่ครับ นั่นคือการแบ่งเซลล์ในหน่อกล้วยต้องมีการแบ่งเซลล์และปรับค่าใหม่ จริงๆ ก็เป็นเซลล์หน่อที่จะงอกจากต้นหลักหากปลูกแบบทั่วไปนะครับ แต่ต้นเดิมถูกทำลายมันก็ต้องหาทางเอาเซลล์สำรองขึ้นมาแทนครับ แล้วก็งอกตามแบบของหลักของแรงโน้มถ่วงนะครับ ก็เป็นปกติครับ

ที่ผมอยากจะทราบคือ มันจะงอกหน่อถัดไปออกมาเมื่อไหร่ จะงอกสองหน่อมาพร้อมกันหรือมากกว่าสองเมื่อไหร่ครับ

ผมว่ากล้วยเป็นตัวบ่งชี้ชีวิตของเกษตรกร และหากเกษตรกรใช้กล้วยเป็นตัวอย่างในการพัฒนาแล้ว เอามาเป็นแรงใจในการปลูกพืชและทำเกษตรแล้วนั้น จะดีมากๆ มองถึงการสู้ชีวิตของกล้วยนะครับ ตรึงน้ำมาจากไหนมาสะสมในลำต้นครับ

ส่วนของกล้วยก็มีประโยชน์หมดเลยครับ

สิ่งที่ผมจะรอดูต่อไปคือ ในการปลูกกล้วยของโสครั้งนี้มีการทำตามหลักของบทความที่ผมเขียนไว้ด้วย คือคณิตศาสตร์กับการปลูกกล้วยครับ คณิตศาสตร์ว่าด้วย การปลูกกล้วย

อยากจะทราบว่ามันจะแทงเครือแรกไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ (แต่โสบอกว่าไม่ได้จัดเรียงทุกต้น) ก็คงจะได้เห็นว่ามันจะชี้ไปตามหลักที่ว่าเป็นแบบภูมิปัญญาชาวบ้านกันต่อไปหรือไม่อย่างไรครับ

แน่นอนว่าการปลูกแบบแนวพลิกดินชี้ฟ้านี้ การได้รับผลผลิตช้ากว่าแบบปกติแน่นอนครับ เพราะจุดเริ่มต้นต่างๆกันครับ ต้องรอดูกันต่อไปครับ แล้วจะเอาเทคนิคอื่นๆ มาฝากกันต่อไปครับ

อิๆๆ มีคนหนึ่งฝันคนหนึ่งช่วยทำการทดลอง...ห้าๆๆๆ ขออย่าให้คนทำการทดลองเบื่อคนฝันเสียก่อนนะครับ

ขอบคุณมากครับโสที่นำมาให้ดูกันนะครับ แล้วค่อยลองอัพเดตไปเรื่อยๆ ทุกเดือนนะครับ

 

   แวะเข้ามาอ่านอีกรอบคะ ได้มาอ่านข้อมูลของพี่เม้งแล้ว  อยากติดตามต่อไปว่าเจ้าต้นกล่วยจะเป็นยังไงบ้าง ออกแนวเป็น บล็อก reality ต้นกล้วยไปเลยนะคะ ลุ้นดีจัง
  • ขอบคุณทุกคนที่ร่วมกันตั้งข้อสงสัย
  • ขอบคุณเม้งที่ให้ข้อมูล 
  • กล้วย​จะ​มีสารที่​ไวต่อการขาดน้ำ​มากๆ​ ​มันเลยวางแผน​ให้​กับ​ตัวเองเพื่อป้อง​กัน​การขาดน้ำ​ไงครับ "ถ้าคนมีสารที่ไวต่อการขาดน้ำใจบ้าง ก็คงดีนะสังคมคงน่าอยู่ขึ้น"

 ผมคงทดลองต่อไป และนำข้อมูลมานำเสนออีกครับ

จ๊าบจริงๆพี่โส 
สวัสดีครับ ดีใจมากครับเรื่องการเกษตร ผมขออนุญาตินำไปรวมครับ  ขอบคุณมากครับ  http://gotoknow.org/blog/mrschuai/108073
ต้นที่ 2  แตกหน่อออกมาแล้วจากที่ปลูกแบบพิสดารทั้งหมด  7 ต้น

สวัสดีครับโส

  • ขอบคุณมากครับโส
  • แต่ละหน่อเหมือนหัวกระสุนเลยนะครับ
  • นี่หากคนทั่วไปไปเจอจะทราบไหมครับ ว่าหน่อกล้วย
  • คือผมเชื่อว่ามันงอกทุกต้นนะครับ แต่ที่ผมรอลุ้นคือว่า ผมอยากจะเห็นมันขึ้นหน่ออื่นตามขึ้นมาด้วยครับจะได้รู้ว่ามันห่างกันกี่วันระหว่างหน่อแรกกับหน่อที่สองในต้นเดียวกันครับ
  • ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับทุกท่าน

ผมค้นบทความต้นขั้วเจอแล้วนะครับ ลองตามไปอ่านดูนะครับ

ของท่าน นพ. ชาตรี เจริญศิริ
P

การปลูกป่าในปีที่ความแห้งแล้งมาเยือน กล้าไม้น้อยต้นจะรอดพ้นฤดูแล้ง น่าจะลองน้อมนำพระราชดำริ ปลูกกล้วยเป็นแนวกันไฟ ปลูกกล้วยเพื่อดึงน้ำค้าง ดึงละอองหมอกทีละหยดเล็กๆ เกาะติดใบแล้วหยดลงดินสร้างความชุ่มชื้น ผมมีที่ 6 ไร่ที่น่าน ตอนผมและภรรยาสวมวิญญาณเกษตรกร เราต้องรบกับไมรยาพยักษ์และหญ้าคาด้วยมือเปล... มีต่อ »
โดย นพ. ชาตรี เจริญศิริ   ลิงค์ที่อยู่ถาวร   ความคิดเห็น (6)
สร้าง: ศ. 16 มี.ค. 2550 @ 05:51   แก้ไข: ศ. 16 มี.ค. 2550 @ 10:40

ตามมาอ่านคะ น่าสนใจมาก เพราะตอนที่ดินฉันเริ่มทำสวนมะม่วง สามีซึ่งเป็นชาวสวนเก่าบอกว่าให้ปลูกต้นกล้วย เพื่อเป็นล่มให้ต้นมะม่วงก่อนที่รากมันจะติดดิน ดิฉันก็ไปหาซื้อหน่อกล้วยมา เขาขายหน่อละ 5 บาท ที่สำคัญคือต้องไปขุดในสวนเอาเอง ขุดมา 100 ต้น ต้องใช้แรงอย่างไม่เคยทำมาก่อน นี่ถ้ามาพบเรื่องการปลูกกล้วยแบบนี้ก่อน คงทุ่นแรงไปได้เยอะ

อ่านเเล้วก็รู้สึกดีที่มีการพัฒนาที่ดีขึ้น เคยปลูกแบบนี้เหมือนกัน ผมคือ หน่อจะแตกออกมาหลายหน่อพร้อมๆกัน การเจริญเติบโตของลำต้นจะสมบูรณ์กว่า แต่จะช้ากว่าการให้ขึ้นต้นเดียว แต่ระยะการโตช้ากว่านิดหน่อย แต่ผลผลิตร คือเวลากล้วยออกเครือ จะได้ผลผลิตรมากกว่าการปลูกแบบดั้งเดิม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท