ระบบการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ 2550


การเลือกตั้ง

ระบบการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ 2550

                                      บาว นาคร*

 

            การเลือกตั้ง (Election) เป็นกระบวนการทางประชาธิปไตยแบบทางอ้อม (indirect democracy) ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เลือกตัวแทนของตนเข้ามาดำรงตำแหน่งต่างๆ โดยส่วนใหญ่จะหมายถึง ตำแหน่งทางการเมือง และการเลือกตั้งเป็นกระบวนการสรรหาตัวผู้ปกครองกระบวนการหนึ่ง ในรัฐเสรีประชาธิปไตย  การเลือกตั้งถือเป็นกระบวนการแต่งตั้งผู้ซึ่งจะเข้าไปดำรงตำแหน่งทางการเมือง  โดยผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน  ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรผู้แต่งตั้งแสดงเจตนาออกเสียงลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง  คะแนนเสียงดังกล่าวจะได้รับการนับและนำมาคำนวณเพื่อให้ได้ผลว่าบุคคลใด  จะเป็นผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  การเลือกตั้งเป็นวิธีการหนึ่งในหลายวิธีการในการที่จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจทางการเมืองเคียงคู่ไปกับวิธีการอื่นๆ  เช่น  การให้ประชาชนมาออกเสียงแสดงประชามติในการตัดสินใจทางการเมืองที่สำคัญ  เป็นต้น

            นอกจากการเลือกตั้งจะเป็นเครื่องแสดงออกซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างหลักเสียงข้างมากกับหลักการคุ้มครองเสียงข้างน้อยแล้ว  การเลือกตั้งยังเป็นเครื่องแสดงออกซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนซึ่งเป็นการปกครองที่ได้รับความยินยอมจากประชาชนอีกด้วย  ที่ว่าเป็นการปกครองที่ได้รับความยินยอมจากประชาชน  ก็เนื่องจากประชาชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจรัฐโดยตรง  แต่ประชาชนซึ่งเป็นผู้ทรงอำนาจแห่งรัฐให้ความยินยอมผู้แทนของตนใช้อำนาจรัฐได้ตามระยะเวลา  หรือตามวาระที่กำหนดไว้ล่วงหน้าในรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งในรัฐเสรีประชาธิปไตยมีขึ้นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ เช่น  เพื่อให้มีการแข่งขันกันในทางนโยบายระหว่างกลุ่มหรือพรรคการเมืองเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้แทนทางการเมืองที่ดี  เพื่อให้มีการโอนความเชื่อถือไว้วางใจของประชาชนไปยังบุคคลผู้ได้รับเลือกตั้งและพรรคการเมืองต่าง ๆ 

            ดังนั้น นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อ  พ.ศ.2475 เป็นต้นมาประเทศไทยได้จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบเสียงข้างมากสัมพัทธ์มาโดยตลอด จะแตกต่างกันไปในแต่ละครั้งก็เพียงการกำหนดจำนวนเขตเลือกตั้ง หรือจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะมีได้ในแต่ละเขตเลือกตั้งเท่านั้น การเลือกตั้งในประวัติศาสตร์ไทยมีมาทั้งหมด 25 ครั้ง

            การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.2550 ได้กำหนดเกี่ยวกับการเลือกตั้งไว้ ดังนี้

            สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสี่ร้อยแปดสิบคน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวนสี่ร้อยคน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนจำนวนแปดสิบคน การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ โดยให้ใช้บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบละหนึ่งใบ (มาตรา 93)

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้เท่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีได้ในเขตเลือกตั้งนั้นการคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะพึงมีได้ในแต่ละเขตเลือกตั้งและการกำหนดเขตเลือกตั้ง (มาตรา 94)

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้น โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกพรรคการเมืองที่จัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นได้หนึ่งเสียงพรรคการเมืองหนึ่งจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบสัดส่วนทุกเขตเลือกตั้ง หรือจะส่งเพียงบางเขตเลือกตั้งก็ได้ (มาตรา 95)

ส่วนวุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนรวมหนึ่งร้อยห้าสิบคน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัดจังหวัดละหนึ่งคน และมาจากการสรรหาเท่ากับจำนวนรวมข้างต้นหักด้วยจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งในกรณีที่มีการเพิ่มหรือลดจังหวัดในระหว่างวาระของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ และยังมิได้มีการเลือกตั้งหรือสรรหาขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง แล้วแต่กรณี ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาเท่าที่มีอยู่ (มาตรา 111)

การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในแต่ละจังหวัด ให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งและให้มีสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดละหนึ่งคน โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้หนึ่งเสียงและให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งสามารถหาเสียงเลือกตั้งได้ก็แต่เฉพาะที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ของวุฒิสภาหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเลือกตั้งและการหาเสียงเลือกตั้งของสมาชิกวุฒิสภาให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (มาตรา 112) โดยให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาคณะหนึ่ง ประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมายจำนวนหนึ่งคนและตุลาการในศาลปกครองสูงสุดที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดมอบหมายจำนวนหนึ่งคนเป็นกรรมการ ทำหน้าที่สรรหาบุคคล (มาตรา 113) และให้คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาดำเนินการสรรหาบุคคลที่มีความเหมาะสมจากผู้ได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรต่าง ๆ ในภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพและภาคอื่นที่เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาเป็นสมาชิกวุฒิสภา (มาตรา 114)

สรุปสาระสำคัญได้ว่า จำนวน ส.ส.นั้น ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 480 คน โดยมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 400 คน และมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนจำนวน 80 คน ส่วน ส.ว. ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 150 คน โดยมาจากการเลือกตั้ง 76 คนและมาจากการสรรหาจากภาคส่วนต่างๆจำนวน 74 คน 

กระบวนการเลือกตั้งในแต่ละครั้งนั้นได้มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มีหน้าที่หลักในการควบคุมและจัดให้มีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกสี่คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ (มาตรา 229)

การเลือกตั้งของไทยในปัจจุบันใช้เงินในการเลือกตั้งสูง ทั้งนี้ไม่เฉพาะเพียงแต่เงินที่ใช้ในกิจกรรมการประชาสัมพันธ์ผู้สมัครรับเลือกตั้ง เช่น จัดแถลงนโยบาย โฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ หรือจัดพิมพ์เอกสารหาเสียงเท่านั้นผู้สมัครบางคนนำ เงินไปใช้ในกิจการอื่น ๆ ก่อนการเลือกตั้ง เช่น การซื้อเสียง หรือการแอบจัดงานเลี้ยง แม้แต่การซื้อของนำ ไปแจกให้กับประชาชนในช่วงใกล้การประกาศเลือกตั้ง เป็นต้น ซึ่งกระบวนการทุจริตการเลือกตั้งในปัจจุบันมาความซับซ้อนมากขึ้นโดยการหลีกเลี่ยงช่องโหว่ของกฎหมายการเลือกตั้งและมีการทุจริตที่แนบเนียนมากขึ้นยากต่อการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะตรวจสอบได้ ดังนั้น แนวทางที่ดีที่สุดคือกระบวนการให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการเลือกตั้งเพื่อให้การเลือกตั้งมีความสุจริตและเที่ยงธรรม ได้ผู้แทนที่เป็นผู้เสียสละและอาสาทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและประเทศชาติเป็นสำคัญ และทำอย่างไรจะรณรงค์เสริมสร้างความรู้ให้กับประชาชนให้มีจิตสำนึกทางการเมืองอย่างแท้จริงไม่ใช่เป็นเพียงแต่เข้ามามีส่วนร่วมเพียงผู้เลือกตั้งเท่านั้น

 

 

 



* บุญยิ่ง ประทุม . [email protected]

หมายเลขบันทึก: 227493เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2008 13:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท