ความร่ำรวยในทางพุทธศาสนา หมายความว่ากระไร


ส.ศิวรักษ์ ปาฐกถา “สุขภาพคนจน” ในงานเวที ประชาทรรศน์เพื่อระบบสุขภาพองค์รวม ณ คุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๔๓

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ข้าพเจ้ามีโอกาสไปประชุมร่วมกับประธานธนาคารโลก ซึ่งถามข้าพเจ้าว่า ความร่ำรวยในทางพุทธศาสนา หมายความว่ากระไร ข้าพเจ้าจึงตอบเขาไปว่า ๑.คนรวยคือคนที่พึ่งตนเองได้ ๒.เป็นคนที่พึงพอใจในสภาพความเป็นอยู่อันเรียบง่าย โดยไม่ตะเกียกตะกาย เพื่อแข่งขันหรือแก่งแย่งแข่งดี ในอันที่จะแสวงหาโภคทรัพย์ จนเป็นโทษแก่ร่างกายและจิตใจ ๓.เป็นคนพอใจในการให้มากกว่าการรับ ๔.เป็นคนที่ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท พูดตามภาษาบาลีก็คือ

๑.อัตตา หิ อัตโน นาโถ
๒.สันตุฏฐีธรรม  (สันตุฏฐี แผลงเป็น  สันโตฏฐี และปริวัตรเป็น สันโตษ(ฐี)/สันโดษ(ฐี) (กวินแปล)ซึ่งท่านอธิบายว่า แม้จะเป็นยาจก ถ้ามีธรรมะ(คือความสันโดษ)ข้อนี้แล้วไซร้ ก็เท่ากับมั่งคั่งมีทรัพย์ใหญ่
๓.ทาน อันเป็นคุณธรรมที่สำคัญ สำหรับคนที่ร่ำรวยในทางใจ แม้จะยากไร้ในทางทรัพย์สินเงินทองก็ตาม
๔.อัปปมาทธรรม (อ+ประมาท+ธรรม=ธรรมคือ ความไม่ประมาท )(กวินแปล) ซึ่งเป็นคุณธรรมที่สำคัญที่สุดในทางพุทธศาสนา

ถ้านิยามความรวยหรือคนรวย ด้วยธรรมะทั้ง ๔ ข้อนั้นแล้ว ก็ต้องถามต่อไปว่า แล้วคนจนเล่าจะให้คำนิยามว่ากระไร ความข้อนี้ตอบได้ง่าย กล่าวคือ ถ้ายอมรับคำนิยามข้างต้นสำหรับคนรวย คนจน ย่อมได้แก่

    ๑.คนที่ไม่อาจพึ่งตนเองได้ โดยขาดปัจจัย ๔ ขั้นพื้นฐาน
    ๒.คนที่ตะเกียกตะกายในการแสวงหาทรัพย์ หายศ หาอำนาจหรือหาอัครฐาน และทรัพย์ศฤงคารต่าง ๆ รวมทั้งบริษัทบริวารและความสะดวกสบายยิ่ง ๆ ขึ้น โดยที่การกระทำนั้น ๆ เป็นไปอย่างแก่งแย่งแข่งดีกัน เอารัดเอาเปรียบกัน อย่างไม่มีเวลาหาความสุขที่ปราศจากการเจือปนไปด้วยกามคุณเอาเสียเลย แม้จะได้มามากเท่าไรก็ไม่รู้จักพ จนความเป็นไปในชีวิตเป็นพิษเป็นภัยแก่ตนเอง และกับคนรอบ ๆ ตัว รวมตลอดไปจนถึงสรรพสัตว์ต่าง ๆ
    ๓.เป็นคนที่พอใจในการรับยิ่งกว่าการให้ แม้การให้แต่ละครั้งก็หวังผลตอบแทน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น ต้องการความยกย่องจากสังคมในปัจจุบัน หรือหวังผลในทางโชคลาภจากการทำบุญให้ทาน รวมตลอดถึง การหวังสวรรค์และพระนิพพาน เรื่อยไปจนการมีโอกาสเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ตามวิถีทางของสำนักวัดพระธรรมกายก็ยังได้
    ๔.เป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในความประมาท หลงยศ หลงอำนาจ หลงอายุ หลงความสุขในกามคุณ และหลงในตัวตน อย่างไม่ยอมรับความแก่ ความเจ็บ และความตาย

    พูดกันอย่างจัง ๆ ก็คือ คนส่วนใหญ่ในโลกสันนิวาสปัจจุบันนี้เป็นคนจน แม้จะมียศ มีทรัพย์ มีอำนาจวาสนา และความสะดวกสบายเพียงใดก็ตาม


กวิน ; มีความเป็นไปได้ว่า คำว่า โสด เพี้ยน หรือ กลมกลืนเสียง มาจากคำว่า สันโดษ แต่ สันโดษ ในภาษาแขกมีความหมายลึกมากกว่าที่จะแปลว่า  อยู่คนเดียว หากแต่แปลว่า
มีความยินดีหรือพอใจเท่าที่ตนมีอยู่หรือเป็นอยู่ , มักน้อย 

คำสำคัญ (Tags): #ส.ศิวรักษ์
หมายเลขบันทึก: 258772เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2009 15:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 20:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • คำตอบเช่นนี้ ทำให้เหลือคนรวยน้อยมากจริงด้วยค่ะ
  • ขอบพระคุณนะคะ

สวัสดีค่ะคุณกวิน

ตามมาอ่าน อ่านไปก็ต้องอมยิ้มไป....^_^...

พูดกันอย่างจัง ๆ ก็คือ คนส่วนใหญ่ในโลกสันนิวาสปัจจุบันนี้เป็นคนจน แม้จะมียศ มีทรัพย์ มีอำนาจวาสนา และความสะดวกสบายเพียงใดก็ตาม

พ่อและแม่คนไม่มีรากเคยบอกว่า "จน" หรือ "รวย" อยู่ที่ "ความพอ" ... ทันสมัยนะ (พูดตั้งแต่ยังไม่มีคำว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" เลย) นั่นคือ พอกิน พออยู่ พอใช้ พอเก็บ ... จำได้แบบนั่นค่ะ

แต่สังคมปัจจุบัน วัดกันที่ "เงิน" บ้าง ที่ "ตำแหน่งหน้าที่การงาน" บ้าง "รถใหญ่ ๆ บ้านโต ๆ" บ้าง ... ล้วนต้องใช้ "เงิน" แลกหาซื้อมา ทำให้คนส่วนใหญ่ในโลกสันนิวาสปัจจุบัน กลายเป็น "คนจน" ไปกันหมดเลย...

เฮ้อ...คนรวยอย่างคนไม่รากก็เลย...ได้แต่ถอนใจ...

(^___^)

  • เป็นการให้คำตอบที่กินใจมาก
  • ให้ความหมายคนรวยและคนจนในแง่ของพุทธศาสนา ที่น่าสนใจและน่าคิด
  • ขอบคุณ

สวัสดีค่ะ คุณกวิน

ตามมาอ่านและเห็นด้วยอย่างยิ่ง..

ช่วงนี้กำลังคิดในประเด็นนี้อยู่เชียว ใบไม้สังเกตเห็นน่ะค่ะว่า เพื่อนที่ไปเอาดีทางการลงทุน สร้างฐานะ มีที่ดินมาก สร้างบ้านใหญ่โต แต่เขาดูเหงาจังเลยค่ะ ดูเหมือนรวยแต่จนทางใจ เพื่อนก็ดูห่างเหินจากเขา

แต่ในขณะที่เพื่อนกลุ่มพอกินพอใช้ กลับเกาะกลุ่มกันอย่างรักใคร่ใยดีเหลือเกิน และพร้อมช่วยเหลือกันด้วยความเต็มใจ แค่เห็นใครลำบาก ก็รีบยื่นมือเข้าช่วยเหลือ แม้จะยังไม่มีคำขอร้องก็ตาม เวลาพบเจอกันก็หัวเราะกันเสียเหนื่อย.. มีคนหนึ่งบอกว่า "ทำงาน 5 วันยังหัวเราะไม่มากเท่าวันที่เจอกันวันเดียวเลย" 

มีความสุขในนิยามความร่ำรวยในบันทึกนี้นะคะคุณกวิน..^__^..

 

ขอขอบคุณผู้สันโดษ ทั้งหลายที่แวะเข้ามาเยี่ยมชมครับ

  • แวะมาอีกครั้งค่ะ เพราะชอบนิยามคำว่า "ผู้สันโดษ" ของคุณกวินค่ะ 
  • isolation แต่ไม่ loneliness  ใช่ไหมคะ

พี่เห็นความสันโดษ..อย่างแท้จริงช่วงเผชิญความปวดและช่วงเจ็บป่วยต้องนอนโรงพยาบาล..สันโดษ(ตามภาษาแขก)ท่ามกลางหมู่ชนแท้จริงค่ะ....มักน้อยเพียงว่า...วันหนึ่งๆไม่มีความเจ็บปวดก็เพียงพอแล้ว....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท