beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

ตำนาน "ปาท่องโก๋" (๕)


ดังนั้นปาท่องโก๋ของเราก็น่าจะเป็นขนมอิ่วจาก้วย ที่เรียกชื่อสลับกันผิดมาตั้งแต่สมัยนั้น

    ผมได้รับการร้องขอจากลูกศิษย์คนหนึ่งให้ช่วยเขียนบันทึกเรื่อง "ปาท่องโก๋" ให้หน่อย เพื่อนำไปใช้ประกอบการสอนเรื่อง "โครโมโซมและ DNA" คงจะชอบใจตอนที่ผมเคยเล่าให้ฟังในชั้นเรียน เรื่องนี้ต้องเป็นบูรณาการความรู้ ระหว่างพงศาวดารจีนเรื่อง "ซวยงัก" และ เรื่องเล่าเกี่ยวกับ "อิ่วจาก้วย" ซึ่งเป็นที่มาของ "ปาท่องโก๋" ในบ้านเราครับ

    ผมได้เล่าเกริ่นนำ/ปูพื้นเกี่ยวกับเรื่อง "ปาท่องโก๋" ไว้ ๔ ตอนมาแล้ว ขอได้โปรดติดตามดังนี้

    เล่าเรื่องต่อนะครับจากตอนที่ 4 เมื่อบูเชียงก๋งตายแล้ว ประชาชนก็โกรธแค้นชีนไคว่ แต่ยังทำอะไรไม่ได้เนื่องจากขณะนั้นชีนไคว่เป็นใหญ่อยู่ในตำแหน่ง อัครมหาเสนาบดี

    ภายหลัง บุตรของบูเชียงก๋งคนหนึ่ง ชื่องักหลุย ได้เป็นแม่ทัพไปปราบปรามเมืองไตกิมก๊กได้ราบคาบยอมเป็นข้าในแผ่นดิน น่ำซ้อง (ซ้องตอนใต้) แล้ว เมื่อกลับมาเฝ้าพระเจ้าซ้องเฮาจง (เป็นเชื้อสายของเตียคังเอี๋ยนปฐมกษัตริย์ราชวงค์ซ้อง ครองราชย์ต่อจากพระเจ้าซ้องเกาจง) จึงได้ชำระความเรื่องชีนไคว่เป็นไส้ศึก ได้ความจริงแล้ว ชีนไคว่,นางเฮงสี (ซึ่งทั้งสองตายไปก่อนหน้านั้นแล้ว) พร้อมทั้งพวกพ้อง จึงถูกประณามว่าเป็น "คนขายชาติ" และถูกพระราชอาญาประหารชีวิตทั้งหมด

   และเพื่อเป็นการจารึกความดีให้กับบูเชียงก๋งผู้ล่วงลับ จึงได้มีการสร้างศาลรูปเคารพของบูเชียงก๋งขึ้น และยกย่องให้เป็นเทพเจ้า ภายนอกศาลให้สร้างเป็นรูปศิลา (หิน) คุกเข่าก้มหน้า เป็นรูปของชีนไคว่และนางเฮงสีกับพวกอีก 2 คน เวลาคนจะเข้าไปบูชาบูเชียงก๋ง ต้องเขกศีรษะคนเหล่านี้ พอเขกจำนวนครั้งมากเข้า ศีรษะรูปศิลาก็แหว่งไป ภายหลังจึงทำเป็นรูปโลหะ

     
     
  ภาพ รูปเคารพของเทพเจ้าขุนพลงักฮุยหรือบุเชียงก๋ง  
     

   นอกจากนั้นความที่ประชาชนยังมีความแค้น จึงทำขนมชนิดหนึ่งเพื่อนำไปบูชาบูเชียงก๋ง เป็นแป้งติดกันเป็นคู่ แล้วเอาไปทอดในกระทะ เวลาจะรับประทานต้องฉีกออกจากกัน เพื่อให้สมกับความแค้น สมมุติแป้งให้เป็นชีนไคว่กับนางเฮงสี และเรียกขนมนี้ว่า "โหยวจ้าข้วย" (จีนกลาง) แต่สำเนียงจีนในเมืองไทยจะออกเสียง "อิ่วจาก้วย" หมายถึงน้ำมันทอดชีนไคว่ (ฉินข้วย)

   ประชาชนที่มากราบไหว้บูชาเทพเจ้าบูเชียงก๋งเสร็จแล้ว มักจะถ่มน้ำลายหรือเอาของโสโครกสาดใส่รูปโลหะของพวกกังฉินเหล่านั้นเพื่อแสดงความเกลียดชังพวกกังฉินที่ร่วมกันขายชาติให้ชาวต่างชาติ.......

    สมัยรัชกาลที่ 6 ขนม "อิ่วจาก้วย" ได้มีการนำมาทอดขายในเมืองไทยคู่กับขนมชนิดหนึ่งเรียกว่า "ปาท่องโก๋"  ซึ่งในหนังสือประวัติวัฒนธรรมจีนของ ล.เสถียรสุต เขียนว่า “ปาท่งโก๋” เป็นขนมน้ำตาลทรายขาว แผ่นกลมใหญ่เท่าฝ่ามือ มีน้ำตาลโรยอยู่บนหน้า ขายคู่กับขนมเหย่าจาโก๋ หรือขนมทอดน้ำมัน ซึ่งเป็นแท่งประกบติดกัน ดังนั้นปาท่องโก๋ของเราก็น่าจะเป็นขนมอิ่วจาก้วย ที่เรียกชื่อสลับกันผิดมาตั้งแต่สมัยนั้น....

       
     
  ภาพ ขนม"อิ่วจาก้วย" ซึ่งคนไทยเรียกผิดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ว่า "ปาท่องโก๋" ภาพด้านล่างคือ ขนม "ปาท่องโก๋" เดิม  
       

หมายเหตุ : เรื่องของปาท่องโก๋นี้ เป็นเรื่องของคนที่ทำความไม่ดี คือขายชาติ ทำให้มหาชนโกรธแค้น ดังนั้นจึงทำขนมชนิดหนึ่ง ซึ่งเวลาจะรับประทานต้องฉีกออกจากกัน (ด้วยความแค้น) ดังนั้น ความหมายที่คนไทยนำมาใช้ในเรื่อง "การทำงานแบบปาท่องโก๋" (ทำนองว่าร่วมมือร่วมใจกันทำงาน) จึงไม่ถูกต้องในความหมายเดิมครับ...

 

หมายเลขบันทึก: 11362เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2006 05:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ก็ยังมีผู้คนเข้าใจความหมายผิดๆอยู่เสมอ  เห็นคู่บ่าวสาวบางคู่ทำของชำร่วยเป็น  โหยวเถียว  แต่คนไทยเรียก ปาท่องโก๋  แจกแขกอยู่เสมอในงานแต่งงาน  เมื่อรู้ความหมายที่แท้จริงแล้วจะรู้สึกอย่างไรนะ

  • ขอบคุณคุณนุชที่มาช่วยเติมเต็มความรู้นะครับ
  • ช่วงนี้บันทึก "ตำนานปาท่องโก่" มาแรงมาก หนึ่งวันมีคนอ่านมากกว่า 50 ครั้งนะครับ แต่ไม่ค่อยมีใครมาแสดงความคิดเห็นเลย ว่าอ่านแล้วรู้สึกเป็นอย่างไรบ้าง
  • ต้องได้คนอย่างคุณนุชครับ มาอ่านแล้วยังทิ้งรอยไว้ให้ติดตามบ้าง

ค่ะ  ที่คนไทยเรียก  ปาท่องโก๋  ก็คือ  白糖糕  หรือออกเสียงให้ถูกตามสำเนียงคนกวางตุ้งก็คือ  ปักถ่องโก๊ว  คุณสมลักษณ์  อย่าลืมอัพเดท  เรื่อง  馒头  (หม่านโถว)  และประวัติของ 粽子  ด้วยนะเพราะใกล้จะถึงเทศกาลสิ้นเดือนนี้แล้ว

ดีคะ อ่านแล้วดีมากเลย ให้ความรู้จริงแล้วเราจะsearchหา วิธีทำปาท่องโก๋คือจะหัดทำขายอะเพราะทำน้ำเต้าหู้เป็นแต่ทำปาท่องโก๋ไม่เปน แต่เจอประวัติเลยลองคลิกอ่านดูได้ประโยชน์ในสิ่งที่เราไม่รู้ดี

  • ขอบคุณ คุณติ่งมากครับ
  • เพิ่งแวะเข้ามาบันทึกนี้ครับ

ทางใต้ เค้าเรียกขนมที่ทำด้วยแป้งประกบเป็นคู่ ทอดสีเหลืองทอง ว่า อิ่วจาก้วย จาก้วย เฉียะโก๊ย

ส่วนปาท่องโก๋ เนี่ย เป็นชื่อที่ทางกรุงเทพฯ เรียกกัน

  • ขอบคุณ คุณตาณครับ
  • ทางเหนือก็เรียกปาท่องโก๋เหมือนกัน..อิอิ

ขอบคุณมากค่ะอ่านแล้วได้ความรู้อีกชอบกินอย่างเดียวไม่เคยรู้เลยว่าเป็นของจีนคิดว่าเป็นของไทยอย่างเดียว

  • ยินดีครับ
  • ตอนนี้ผมไปเรียนวิธีทำปาท่องโก๋มาแล้วครับ
  • สามารถทำขายได้สบาย..อิอิ


ใช่ครับ  ทางใต้บ้านผมเรียก  จาโก้ย

รู้ไว้ก็อย่าไปซีเรียสมาก อยู่กับปัจจุบัน มองบวก ขนมดีๆ มองโลกในแง่ดี กินพอประมาณ แค่นี้ก็สุขใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท