สาระของ CSR


CSR (Corporate Social Responsibility หรือความรับผิดชอบต่อสังคม) ถูกนิยามโดยองค์การสหประชาชาติว่าคือ "พันธะอันต่อเนื่องของกิจการต่างๆ ที่จะประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรม เกื้อหนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ ตลอดจนเกื้อกูลต่อการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของพนักงาน ครอบครัว ท้องถิ่น และสังคมโดยรวม"

ในประเทศไทย มีความพยายามของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ ให้เพิ่มความสำคัญของความรับผิดชอบของบริษัทมหาชนต่อสังคม ในการส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance) ของบริษัทจดทะเบียนด้วย ซึ่งกิจกรรมของบริษัทที่แสดงถึงความรับผิดชอบหรือที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมจะจัดเป็นด้านหนึ่งของการกำกับดูแลกิจการที่ดีด้วย  ดังนั้น ก.ล.ต. จะกระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนให้มีการกำหนดนโยบายและเปิดเผยความสำเร็จในด้านนี้ต่อสาธารณะ

เรื่องนี้ อ่านผ่านๆ ไปก็คงไม่มีอะไร แต่ผมมีนิสัยไม่ค่อยยอมอ่านผ่านๆ ไป (จนลูกน้องบางคนเรียกเป็น super semantic checker คือนอกจากเห็นทุกตัวตัวอักษรแล้ว ยังมักจะเห็นสิ่งที่ไม่ได้เขียนอีก) ผมคิดว่าเรื่องนี้มีประเด็นครับ

CSR น่าจะเริ่มที่จิตใจเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ด้วยความเข้าใจว่าไม่มีประโยชน์ใดๆ หากธุรกิจประสบความสำเร็จอยู่บนความล้มเหลวของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ในที่สุดก็จะเป็นความสำเร็จที่ไม่มีใครชื่นชม เป็นความสำเร็จบนความเอารัดเอาเปรียบต่อคนรอบข้าง ผลประโยชน์ทางธุรกิจมาก่อนสิ่งอื่นเสมอ

ประเด็นคือ การกระตุ้นเป็นรูปแบบครับ แต่สาระคือจิตใจ คือความเข้าใจในผู้มีส่วนได้เสีย คือการประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรม-ไม่เอาเปรียบกันและกัน คือสถานการณ์ที่ได้ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย (win-win) และคือการขีดวงใหญ่ล้อมรอบทุกคน-ทุกคนเป็นพวกเดียวกัน-อยู่ในสังคมเดียวกัน

หาก CSR จะต้องเดินด้วยการกระตุ้น ในที่สุดมันก็จะกลายเป็นกิจกรรมทางการตลาด แล้วเราก็อาจจะเห็นการที่บริษัทจดทะเบียน แบ่งเศษเงินมาสร้างภาพลักษณ์ จะเห็นคนที่รักสังคมจนน้ำลายฟูมปากแต่มือไม่เคยเปื้อน ไม่เคยเข้าใจปัญหา-ความเดือดร้อนของคนรอบข้าง ทำกิจกรรมใด ก็เป็นไปเพื่อการประชาสัมพันธ์ สร้างภาพ ใช้เงินนิดหน่อยฟาดหัวให้จบๆ เรื่องไป

ผมคิดว่านั่นไม่ใช่สาระของ CSR ครับ

CSR ที่ดี น่าจะเริ่มด้วยความเข้าใจในเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคม เรื่องจริยธรรม เรื่องผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เรื่องปัญหาของส่วนรวม และที่อาจจะสำคัญที่สุดคือความจริงที่ว่า จะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองซากปรักหักพัง หากทุกอย่างที่ทำ ยังตั้งอยู่บนประโยชน์ส่วนตนแทนที่จะเป็นประโยชน์ส่วนรวมแล้ว ใช้งบ CSR เท่าไหร่ก็ไม่ใช่ของแท้ครับ

หากสิ่งต่างๆ ที่เราคิดว่าทำไว้ดีแล้ว แต่คนอื่นไม่เห็น ทำไมจึงแก้ไขด้วยการประชาสัมพันธ์ หรือเอาปริมาณที่ถูกกระตุ้นมาข่ม แทนที่จะพยายามปรับปรุงสิ่งที่ทำให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ประโยชน์จริงๆ -- การจะช่วยอะไรใคร มีวัตถุประสงค์อยู่ที่การช่วยผู้อื่นเพื่อให้เขาดีขึ้น หรือเป็นการทำให้ตัวเราดีขึ้นในสายตาของผู้อื่น

ความตอนหนึ่งจากพระราชดำรัส ที่พระราชทานแก่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๕

        ปัญหาของวันนี้ ไม่ใช่ปัญหาของการบัญญัติ หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทุกวันนี้คือความปลอดภัย ขวัญดีของประชาชน ซึ่งเดี๋ยวนี้ประชาชนทั่วไปทุกแห่งทุกหน มีความหวาดระแวงว่าจะเกิดอันตราย มีความหวาดระแวงว่า ประเทศชาติจะล่มจม โดยที่จะแก้ไขลำบาก ตามข่าวที่ได้ทราบมาจากต่างประเทศ เพราะเหตุว่าในขณะนี้ ทั้งลูกชายทั้งลูกสาวก็อยู่ต่างประเทศ ทั้งสองก็ทราบดี แล้วก็ได้พยายามที่จะแจ้งให้กับ คนที่อยู่ในประเทศเหล่านั้นว่า ประเทศไทยนี้ยังแก้ไขสถานการณ์ได้ แต่รู้สึกว่าจะเป็นความคิด ที่เป็นความคิดแบบหวังสูงไปหน่อย ถ้าหากว่าเราไม่ทำให้สถานการณ์อย่าง ๓ วันที่ผ่านมานี้สิ้นสุดไปได้ ฉะนั้นก็ขอให้โดยเฉพาะสองท่าน คือพลเอกสุจินดา และพลตรีจำลองช่วยกันคิด คือหันหน้าเข้าหากัน ไม่ใช่เผชิญหน้ากัน เพราะว่าเป็นประเทศของเรา ไม่ใช่ประเทศของหนึ่งคนสองคน เป็นประเทศของทุกคน เข้าหากันไม่เผชิญหน้ากันแก้ไขปัญหา เพราะปัญหามีอยู่ ที่เวลาเกิดจะใช้คำว่า บ้าเลือด เวลาคนมีการปฏิบัติรุนแรงมันลืมตัว ลงท้ายเขาไม่รู้ว่าตีกันเพราะอะไร แล้วก็จะแก้ปัญหาอะไร เพียงแต่ว่าจะต้องเอาชนะ แล้วก็ใครจะชนะ ไม่มีทาง อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้ แล้วที่แพ้ที่สุดก็คือประเทศชาติ ประชาชนจะเป็นประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ประชาชน เฉพาะในกรุงเทพมหานคร ถ้าสมมติว่า เฉพาะในกรุงเทพมหานครเสียหายไป ประเทศก็เสียหายไปทั้งหมด แล้วก็จะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองซากปรักหักพัง

        ฉะนั้นจึงขอให้ทั้งสองท่านเข้ามา คือไม่เผชิญหน้ากัน แต่หันเข้าหากัน และสองท่าน เท่ากับเป็นผู้แทนฝ่ายต่างๆ คือไม่ใช่สองฝ่าย ฝ่ายต่างๆ ที่เผชิญหน้ากัน ให้ช่วยกันแก้ปัญหาปัจจุบันนี้ คือความรุนแรงที่เกิดขึ้น แล้วก็เมื่อเยียวยาปัญหานี้ได้แล้ว จะมาพูดกัน ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร สำหรับให้ประเทศไทย ได้มีการสร้างพัฒนาขึ้นมาได้ กลับคืนมาได้ด้วยดี อันนี้ก็เป็นเหตุผลที่เรียกท่านทั้งสองมา และก็เชื่อว่าทั้งสองท่าน ก็เข้าใจว่า จะเป็นผู้ที่ได้สร้างประเทศจากซากปรักหักพัง แล้วก็จะได้ผลในส่วนตัวมากว่าได้ทำดี แก้ไขอย่างไรก็แล้วแต่ที่จะปรึกษากัน ก็มีข้อสังเกตดังนี้

แก้ไข: เพิ่มคำหลัก

คำสำคัญ (Tags): #csr#good governance#ข้อคิด
หมายเลขบันทึก: 83826เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2007 23:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 10:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ในภาษาธุรกิจ มีบทความอ้างอิงสองอันคือ

บันทึกนี้เห็นด้วยกับ CSR คิดว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะผลักดันให้เกิดผลอย่างจริงจัง

เปรียบเทียบได้ดี...  การกระตุ้นเป็นรูปแบบ, สาระคือจิตใจ .....น้อยคนนัก ที่จะเข้าใจเรื่องแบบนี้  
คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่า กิจกรรมทางการตลาดเป็นสาระ  ก็ลงมือทำกันจนไม่มีโอกาสได้คิด หรือคิด ก็คิดแค่ว่ามาถูกทางแล้ว  

อีกอย่างเรื่องจิตใจ มันเป็นนามธรรม  เรื่องนามธรรม มันไม่ง่ายนักที่คนจะเข้าใจมันมองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ เป็นความรู้สึกทั้งนั้น ต้องอาศัยพื้นฐานความรู้ของคนๆ นั้นเอง

เรื่องที่ซับซ้อนเช่นนี้ ถ้าคุยกับคนที่เรียนรู้ได้ช้า ก็คงต้องใช้เวลา ทำความเข้าใจ บางครั้งก็ต้องทิ้งระยะเวลา  ให้เขาไปคิดดูเองก่อน  ขืนพยายามอธิบายเท่าไรก็ไม่ get เหนื่อยเปล่าๆ  ระหว่างนี้เราก็ไปทำเรื่องโน้นเรื่องนี้ไปก่อนดีกว่า

การทำงานต่างๆ ถ้าตั้งข้อจำกัดไว้เป็นเงื่อนไข ก็คงจะบรรลุผลสำเร็จได้ยาก เพราะว่าถ้ามันเอาชนะง่ายๆ แล้ว ก็คงไม่ได้เป็นข้อจำกัดมาตั้งแต่แรก ส่วนใครจะมีฝีมือและทัศนคติอย่างไร ก็วัดกันตรงนี้แหละครับ

เมื่อเราเดินไปเจอกำแพงที่จะต้องผ่านไปให้ได้ อาจจะเห็นปฏิกริยาของคนสี่ประเภท พวกแรก นั่งลงบริกรรมอย่างคร่ำเคร่ง อธิฐานให้เดินทะลุกำแพงไปได้ พวกที่สอง เอาหัวโขกกำแพงหวังว่ากำแพงจะพัง แล้วจะผ่านไปได้ พวกที่สาม หันหลังกลับแล้วนินทาสองพวกแรกว่าไม่รู้จักใช้สมองคิด ส่วนพวกที่สี่ หยุดพิจารณาอยู่ครู่หนึ่ง แล้วพบว่าใช้วิธีเดินอ้อมไป-เอาเชือกเอาบันไดมาปีนกำแพง-ขุดรูลอดกำแพง ก็สามารถจะผ่านไปได้

จะเป็นพวกไหน เลือกกันเองครับ

สงสัยจัง ถ้าเราเป็นพวกที่สี่ปล่อยเชือกไว้แล้ว ขุดรูและ ตัวเราเองลอดผ่านไปได้แล้ว  เราจะทำอย่างไรกับพวกที่ 1 ที่นั่งบริกรรมอยู่, พวกที่ 2 ที่กำลังเอาหัวโขกกำแพงอยู่ และพวกที่สามที่นั่งนินทาพวกแรกอยู่ล่ะ.....เราควรฉุดกระชาก ลากเขาให้ไปด้วยกันงั้นหรือ?   ถ้าข้ามกำแพงไปได้แล้ว  เขาจะดีใจ หรือจะเสียใจ ที่เขายังไม่ได้พิสูจน์ความเชื่อของเขาเลย 

 

แถวนี้ครูบาอาจารย์เยอะครับ ถ้าให้เกียรติผู้อ่านท่านอื่นๆโดยใช้ภาษาสุภาพก็จะดีนะครับ

ผมเขียนไว้ก่อนนี้ที่ไหนสักที่ใน G2k ว่าคำตอบที่ดีไม่ได้ขึ้นกับทางเลือก แต่ขึ้นกับผู้สังเกต; ทางเลือกที่เราคิดแล้วว่าดี ถูกต้องตามมโนธรรม เป็นไปตามทฤษฎี แล้วใครๆ ก็เห็นด้วย กลับเป็นคำตอบที่ไม่ถูกใจสำหรับผู้เสียประโยชน์เสมอ

ถ้าตอบในบริบทของ CSR ซึ่งเป็นเรื่องขององค์กรธุรกิจว่า "ควรปล่อยเขาให้เป็นอย่างที่เป็นอยู่ครับ แล้วเลือกทางออกที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคน แต่ที่แน่ๆ คือจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง!"

การเลือกบุคลากรเข้ามาอยู่ในองค์กร  คงจะไม่สามารถตอบได้ชัดว่าใครเป็นอย่างไรในเวลาที่สัมภาษณ์ไม่กี่นาที แต่เราจะรู้ว่าใครดีหรือไม่ดีอย่างไร ก็ด้วยการปฏิบัติจริง หมั่นสอบทานสิ่งที่เขาเป็นกับสิ่งที่เขาคิดว่าเขาเป็น คลุกคลี ช่วยเหลือเกื้อกูล ให้โอกาส กระตุ้น ส่งสัญญาณต่างๆ อย่างจริงใจและจริงจัง

แต่ถ้าทำทั้งหมดแล้ว พบว่าผู้นั้นมีมิจฉาทิฏฐิ (พวกแรก) หรือไม่ถนัดในการนำเอาสติปัญญามาใช้ในการงาน (พวกที่สอง) หรือไม่สามารถกระตุ้นตนเอง-ท้อถอยง่ายเกินไป (พวกที่สาม) ก็ต้องมาถามตัวเองในฐานะที่เป็นนาย ซึ่งมีหน้าที่จัดการทรัพยากรต่างๆ อย่างเหมาะสมเพื่อให้ได้ประสิทธิผลสูง ว่าคุ้มค่าหรือไม่ จะจัดการอย่างไรต่อไป

การเลิกจ้างด้วยเหตุผลว่าไม่คุ้ม ใครๆ ก็ตอบได้ ไม่ต้องเรียนสูงๆ ก็ตอบได้ แต่ผมคิดว่าง่ายไปครับ

พวกที่มีมิจฉาทิฏฐิ แม้จะมีคุณลักษณะด้อยเป็นธรรมชาติ แต่บางที อาจจะเหมาะกับ (ถ้ามี) งานที่ไม่ต้องติดต่อกับใคร (ไม่ทำให้สังคมรอบตัวเสียไปด้วย)

พวกที่ไม่กล้าคิด ก็ยังทำงานตามคำสั่งได้ (ใช้แรงงาน)

ส่วนพวกถ่านหมดง่ายนี่ บางทีการแบ่งงานเป็นท่อนเล็กๆ จะช่วยให้เขาบรรลุความสำเร็จได้ง่ายขึ้น เกิดความภูมิใจในตัวเอง และมีความมั่นใจมากขึ้น

การบริหารจัดการไม่มีคำตอบสำเร็จ และไม่ใช่การทำข้อสอบปรนัย คือไม่ต้องเลือกจากทางเลือกที่เสนอมาครับ

คนเราไม่เหมือนกัน แต่จุดอันตรายสำหรับคนเป็นนายคือ ตั้งความคาดหวังว่าทุกคนจะเป็นเหมือนตน ซึ่งจะทำให้หน่วยงานขาดความแตกต่าง ทำงานได้เฉพาะอย่าง ด้วยต้นทุนที่สูงเกินไป (ถ้าทุกคนเหมือนกันหมด แล้วจะจ้างไว้ทำไมเยอะแยะ) -- เหมือนกับปัญหาว่าเราข้ามกำแพงมาแล้ว จะทำอย่างไรกับพวกที่เหลือล่ะครับ

คุณ mk: ตามไปตอบลำบากครับ ขืนใช้ gmail account คนก็รู้หมดว่าผมเป็นใคร ถ้าสร้าง account ใหม่ คุณก็ไม่รู้ว่าผมเป็นใคร

ผมเชื่อว่า CSR และ CG ไม่ได้ขัดกันหรอกครับ เราประสบความสำเร็จได้ โดยไม่ต้องเห็นแก่ตัว ในขณะเดียวกันก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคนไม่ดี

ความสำเร็จ กับ CSR/CG ไม่ใช่ zero-sum ครับ ไม่ใช่ข้อสอบปรนัยที่ต้องเลือกเอาข้อหนึ่ง

ไม่เป็นไร ตามมาอ่านคำตอบที่นี่ได้ครับ (จริงๆ การ  "บล็อกตอบบล็อก" แบบนี้น่านิยมกว่าตอบในคอมเมนต์ เพราะอ้างอิงง่ายขึ้น)

ทำ CSR แท้ ๆ นั้นทำง่าย ทุกคนทำได้

.

ดร.โสภณ พรโชคชัย ([email protected])

ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย

.

การมี CSR ในวิสาหกิจนั้น ไม่ใช่เฉพาะวิสาหกิจขนาดใหญ่ วิสาหกิจในตลาดหลักทรัพย์ หรือวิสาหกิจข้ามชาติ ธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดย่อม ซึ่งรู้จักกันในนาม SME (Small and Medium Enterprises) ก็ต้องมี CSR และสามารถทำได้ง่ายโดยแสดงให้เห็นว่า การรับผิดชอบต่อสังคมและต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลาย ควรเป็นอย่างไร

.

.

ธุรกิจ SME

เราคงเคยได้ยินว่า แม่ค้าขายขนมจีน เอากระดาษทิชชูมาผสมในน้ำยา นัยว่าเพื่อลดต้นทุนให้ขายได้ราคาถูก ช่วยให้ขายได้ดีขึ้น หรือใส่ผงชูรสมากมายเพียงเพื่อให้คนติดใจในรสชาติโดยขาดความรับผิดชอบ หรือนำอาหารที่เสื่อมคุณภาพมาขายจนกระทั่งเด็กนักเรียนกินแล้วอาเจียนกันทั้งโรงเรียน เป็นต้น

.

ในธุรกิจไม่ว่าระดับ SME หรือธุรกิจขนาดใหญ่ มีคติชั่วร้ายอยู่อย่างหนึ่งก็คือ “ด้านได้-อายอด” กล่าวคือ ทำอะไรก็ได้ที่ขอเพียงให้ได้ผลตอบแทนงดงามในวันนี้โดยไม่รับผิดชอบ การทำธุรกิจเช่นนี้ย่อมไม่ยั่งยืนและยังเสี่ยงกับการถูกสั่งปิด เราจึงควรส่งเสริมธุรกิจให้รับผิดชอบ หาไม่ถือเป็นการละเมิด เป็นการกระทำผิดกฎหมาย เป็นอาชญากรรมที่ต้องถูกลงโทษ

.

.

บริษัทมหาชน

.

ก่อนหน้านี้ การขาด CSR อาจเห็นได้จากการที่เจ้าของเดิมของบริษัทมหาชนเดิม ทิ้งกิจการของตนเองหลังจากเข้าระดมเงินในตลาดหลักทรัพย์ได้แล้ว โกงบริษัทของตนเอง จัดตั้งบริษัทลูกมาให้บริการแก่บริษัทแม่ที่เป็นบริษัทมหาชนโดยไม่ต้องแข่งขันอย่างเท่าเทียม หรือใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือยเพื่อบำรุงความสุขสบายของผู้บริหาร เป็นต้น

.

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ ตลาดหลักทรัพย์และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต) ต่างมี มาตรการควบคุมบริษัทมหาชนรัดกุมกว่าแต่ก่อน และถือเป็นมาตรฐานที่ดีสำหรับวิสาหกิจอื่น ๆ นอกตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้เกิดความ โปร่งใส เป็นธรรม และปิดโอกาสการทุจริต

.

.

นายธนาคาร

.

เราคงเคยได้ยินว่า ธนาคารหลายแห่งที่เจ๊งไปนั้น เป็นเพราะการปล่อยกู้อย่างขาดความรับผิดชอบให้เครือญาติโดยขาดหลักทรัพย์ค้ำประกันที่เพียงพอ ธนาคารหลายแห่งขโมยโครงการที่มีแนวคิดการตลาดดี ๆ ไปทำเสียเอง หรือกว่าจะกู้เงินได้ ก็ต้องจ่ายเบี้ยบ้ายรายทางให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อ ผู้จัดการสาขา และผู้จัดการเขต เป็นต้น

.

ธนาคารที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ก็คือการรับผิดชอบต่อลูกค้าเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าที่มาฝากเงินหรือที่มากู้เงิน โดยการ “กวาดบ้าน” ตัวเองก่อน ปิดโอกาสที่จะเกิดทุจริต ทำให้ลูกค้าไว้วางใจ เป็นต้น

.

ธนาคารหลายแห่งเป็นผู้อุปถัมภ์งานอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมต่าง ๆ มากมาย แต่กลับขูดรีดบีบคั้นแรงงานกับพนักงานอย่างรุนแรงและการปรับเพิ่มเงินเดือนก็ต้องอาศัยการเรียกร้องอย่างเอาเป็นเอาตายของพนักงาน กรณีเช่นนี้เป็นภาพที่ขัดแย้งกันเองอย่างชัดแจ้ง

.

.

สื่อมวลชน

.

เราได้ยินปัญหาของสื่อมวลชนอยู่เนือง ๆ เช่น การเขียนเชียร์ดารา หรือผู้มีอุปการะคุณที่ลงโฆษณา หรือที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือการใช้ปากกาเป็นอาวุธในการทำร้ายคนอื่น ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์มักเป็นข่าวที่ได้จากการแถลงข่าวของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การเสนอข่าวอาจคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้บริโภคน้อยกว่าผู้จ่ายเงินโฆษณาที่ทำให้สื่อมวลชนอยู่ได้ หนังสือพิมพ์จึงอาจเป็นเพียง “กระบอกเสียง” หรือเป็นเพียง “กระดาษเปื้อนหมึก” ไปในบางคราว

.

สื่อมวลชนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมจึงไม่ควรเป็นเครื่องมือของประเทศมหาอำนาจ นายทุนข้ามชาติ หรือนายทุนในประเทศรายใหญ่ ๆ ที่มุ่งการเสนอข่าวเฉพาะบางมุมบางด้านอันถือเป็นการ “ปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ” และเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อโดยไม่รับผิดชอบ

.

เราอาจเคยได้ยินสำนักข่าวใหญ่ข้ามชาติบางราย ทำดีด้วยการอนุญาตให้พนักงานไป “ออกค่าย” ทำงานช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสโดยไม่ถือเป็นวันลา นี่ช่างเป็นกิจกรรมที่น่าซึ้งใจจริง ๆ แต่บทบาทหลักสื่อมวลชนก็คือการนำเสนอข่าวที่เที่ยงตรงต่างหาก

.

.

นักวิชาการ

.

คนไทยถือว่านักวิชาการเป็นครูบาอาจารย์ แต่ก็ควรตรวจสอบในด้านความรับผิดชอบเช่นกัน เพราะเราคงเคยได้ยินนักวิชาการประเภทใช้เกรดแลกกับของขวัญราคาแพงหรือความสัมพันธ์ฉันชู้สาว การไต่เต้าโดยมิชอบโดยอาศัยความเป็นนักวิชาการ หรือการโกงเวลานักศึกษาไปรับงานนอก ไปหากิน และหาชื่อเสียงส่วนตัว เป็นต้น

.

ในต่างประเทศ คนมีอาชีพวิชาการหรือรับราชการ จะเอาเวลาราชการไปทำมาหากินทางอื่นไม่ได้ เคยมีกรณีถูกไล่ออกจากราชการเพราะเอาเวลางานมาเขียนพ็อกเก็ตบุคมาแล้ว อาจารย์หรือนักวิชาการที่ดีต้องปฏิบัติต่อนักศึกษาเสมือนลูกค้าที่มีคุณ จะละเมิดไม่ได้ และไม่ทำตัวเป็นเจ้ากู เจ้าสำนัก เห็นลูกศิษย์เป็นแค่เบี้ย

.

.

ฝ่ายจัดซื้อ

.

ฝ่ายจัดซื้อหรือฝ่ายอนุมัติต่าง ๆ มักมีความเสี่ยงที่จะทำลายเกียรติภูมิของวิสาหกิจหรือทำให้วิสาหกิจขาด CSR เพราะเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อมักจะรับสินบนจากคู่ค้าที่เสนอวัตถุดิบ สินค้า และบริการแก่วิสาหกิจดังกล่าว ผู้บริหารสูงสุดหรือผู้บริหารฝ่ายจัดซื้อที่ฉ้อฉล มักอาศัยตำแหน่งหน้าที่เป็นช่องทางโกงกิน จะสังเกตได้ว่า ฝ่ายจัดซื้อที่ ฉ้อโกงมักจะทำตัวทรงอิทธิพลอย่างชัดเจน และมักมีคู่ค้ามา “ติดพัน” ไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ

.

วิสาหกิจที่มี CSR ต้องมีระบบการตรวจสอบที่ดี รู้จัก “กวาดบ้าน” ตัวเองอยู่อย่างสม่ำเสมอเพื่อปิดโอกาสการทุจริตและประพฤติ มิชอบ วิสาหกิจที่ดียังควรมีนโยบายและจัดทำคู่มือให้คู่ค้า ลูกค้า และสังคมได้ทราบอย่างโปร่งใสว่า ธุรกิจของตนได้ดำเนินการจัดซื้ออย่างโปร่งใสและเป็นธรรมตามขั้นตอนอย่างไร และควรมีแผนกการรับเรื่องราวร้องทุกข์ที่เป็นอิสระ

.

.

นักวิชาชีพ

.

เราคงเคยได้ยินบริษัทบัญชี หรือผู้ตรวจสอบบัญชีบางราย ฉ้อฉลด้วยการลงลายมือชื่อตรวจสอบบริษัทนับแสนรายต่อปี บริษัทที่ปรึกษา เช่น ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินบางแห่งไม่ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ ตั้งแต่ผู้บริหารจนถึงผู้ประกอบวิชาชีพเรียกรับเงินจากลูกค้า หรือร่วมกับ ลูกค้าออกรายงานประเมินโกงธนาคาร หรือร่วมมือกับผู้บริหารธนาคารโกงธนาคารที่ตนบริหารอยู่ เป็นต้น ดังนั้น นักวิชาชีพที่ดีต้องไม่ “พาย-เรือให้โจรนั่ง” แต่ควรดำเนินวิชาชีพตามกฎหมาย ไม่ละเมิดจรรยาบรรณของวิชาชีพเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว

.

การควบคุมวิชาชีพนั้น รัฐบาลมักเป็นผู้ดำเนินการควบคุมโดยตั้งเป็นสภาวิชาชีพ เช่น แพทยสภา สภาวิศวกร และสภาสถาปนิก ในประเทศไทยยังมีวิชาชีพอีกหลายแขนงที่ยังไม่มีสภาวิชาชีพ อาจกล่าวได้ว่าในประเทศที่ไม่ค่อยพัฒนา ยังไม่มีระบบควบคุมนักวิชาชีพ เพื่อให้ความไม่มีระบบและขาดการควบคุมนี้ เป็นช่องทางการโกงกินต่าง ๆ โดยใช้นักวิชาชีพเป็นตรายาง (rubber stamp) ต่อไป

.

.

เห็นไหมครับ การทำ CSR ที่แท้นั้น ทำได้ไม่ยาก สาระมีอยู่แล้วแบบตรง ๆ ทุกธุรกิจในขนาดใดก็ตามที่มุ่งหวังจะยั่งยืน ต้องมี CSR และทำได้โดยไม่ยาก โดยไม่ต้องลูบหน้าปะจมูก ไม่ต้องทำแบบผักชีโรยหน้า หรือทำดีเอาหน้าแต่อย่างใด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท