คำถาม: "การพักร้อนยาวๆ"


มีคำถามจากคุณเกตุ อ้างถึงบันทึกของคุณสมพร เรื่อง จดหมายลางาน : ถึงเจ้านายที่รัก; ในบันทึกนั้น คุณสมพรได้รับแบบฟอร์มจดหมายลางานที่เพื่อนอีเมลมาให้เป็นตัวอย่าง จดหมายเขียนเป็นเชิงประชดประชัน (แกมขบขัน แบบอ่านแล้วต้องยิ้ม)

เผอิญผมเป็นคนอ่านหนังสือละเอียด เห็นตัวสะกดผิด ก็เลยชี้แจงไป คุณสมพรถามกลับมาว่า "แล้วตกลงว่าถ้าเป็นเจ้านาย จะยอมให้ลาหรือเปล่าคะ ถ้าเจอใบลาแบบนี้" ผมตอบไปอย่างนี้ครับ

ถ้าเป็นบริษัทที่ผมทำงานอยู่ เค้ามีแบบฟอร์มมาตรฐานซึ่งการอนุมัติจะอยู่ในนั้นครับ แต่จะแนบเอกสารอะไรไปด้วย ก็เป็นเรื่องของเอกสารประกอบ

วันลาพักผ่อน ตามกฏหมา่ยแรงงานและตามระเบียบบริษัท มีข้อกำหนดจำนวนวันลาขั้นต่ำอยู่ แต่เป็นสิทธิของบริษัทที่จะกำหนดวัน ที่ผ่านมาในอดีตก็อะลุ่มอะหล่วยกัน (คือพนักงานกำหนดกันเอง โดยประสานกันเองในฝ่ายกับทาง HR ว่าเมื่อลาแล้วไม่ให้งานเสียหาย)

แต่พบว่าพนักงานที่ทำงานมาครบปีและ มีสิทธิ์ลาพักผ่อนได้ 12 วัน (ยกยอดที่ไม่ได้ใช้ในปีที่แล้วข้ามมาในปีนี้ได้รวมเป็น 24 วัน) ส่วนใหญ่กลับไม่ยอมลา

เริ่มตั้งแต่ปีที่แล้ว ฝ่ายบริหารจึงกำหนดให้ในแต่ละปี ให้พนักงานและเจ้าหน้าที่ทุกคนไม่มีข้อยกเว้น ลาพักผ่อน (ที่เรียกกันว่าลาพักร้อน) ติดต่อกันตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์อย่างน้อยหนึ่งครั้ง (รวมเสาร์-อาทิตย์หัวท้ายเป็น 9 วันติดต่อกัน) เรียกว่าการลาแบบ Mandatory Leave ครับ เป็นการลาที่ได้รับเงินเดือนด้วย

ระหว่างที่ลา ML สามารถวางแผนล่วงหน้าเพื่อไปพักผ่อนไกลๆ ไปเที่ยวกับครอบครัว ไปเปิดโลกทัศน์ ไปเรียนทำกับข้าว ไปปฏิบัติธรรม หรือไปเป็นอาสาสมัครบำเพ็ญประโยชน์ในที่ห่างไกลได้; บริษัทจะมีพนักงานที่ลา ML เฉลี่ยสี่ห้าคนต่อสัปดาห์ สามารถชวนกันลาพร้อมกันได้หากไม่เสียงาน; ส่วนวันลาพักผ่อนที่ยังเหลือ ก็ยังให้พนักงานเลือกเองเช่นเดิมครับ

นอกจากเป็นการลดความเครียด จากงานแล้ว บริษัทยังได้โอกาสทดสอบระบบตัวตายตัวแทนอีกด้วย นอกจากนั้น ก็ยังเป็นข้อพิสูจน์สำหรับความมั่นคงในระบบงาน ว่าไม่ได้พึ่งเทวดาองค์ใดอยู่ครับ

คุณเกตุถามมาว่า "ทำไมธุรกิจแทนที่จะชอบใจที่พนักงานไม่ยอมลา กลับทำเหมือนผลักดันให้พนักงานลาพักร้อน"

นอกจากเหตุผลที่ได้ให้ไว้ข้างบนแล้ว ขอเรียนตอบดังนี้ครับ

  1. ผมยืนยันหรือตัดสินแทนธุรกิจโดยทั่วไปไม่ได้ครับ ว่าจะคิดอย่างไรกับการลา

  2. ในลักษณะธุรกิจที่ต้องใช้สมองและเป็นงานบริการแบบบริษัทที่ผมทำอยู่ ความเหนื่อยล้าเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน จำเป็นต้องให้พักบ้างเพื่อความสดครับ

  3. ความทุ่มเทของพนักงาน เป็นสิ่งที่ผู้บริหารมักจะชอบอยู่แล้ว แต่จะชอบยิ่งกว่านี้อีกถ้างานเกิดผลครับ; ถ้าทุ่มเทแล้วไม่เกิดผล ก็เป็นการสูญเปล่า

  4. ประโยคที่ว่า คนเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดขององค์กร ประโยคนี้มีความหมายแท้จริงแค่ไหน เชื่ออย่างนี้จริงหรือไม่ แล้วทำให้เป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า (จากบันทึกเก่า: Career Path)

  5. การลา Mandatory Leave (ML) เป็นการลาพักผ่อนชนิดหนึ่ง ซึ่งกำหนดใ้ห้ลาตั้งแต่จันทร์ถึงศุกร์ เพื่อให้ได้หยุดยาว 9 วัน เป็นโอกาสที่พนักงานทุกคนจะได้โอกาสได้พักยาวๆ; ทำให้เป็นการทั่วไปไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อไม่ให้ใครคิดว่าบริษัทขาดตนไม่ได้

  6. พนักงานวางแผนลา ML ล่วงหน้าเอาเอง ทุกคนรู้ว่าต้องลาครับ; ก่อนลาก็ต้องมอบงานไว้ให้ผู้อื่นให้เรียบร้อยก่อน; โดยทั่วไป ก็มักจะมอบให้ successor ซึ่งก็จะเป็นการทดสอบเรื่องนี้ไปในตัวเลย (การทดสอบจะมีความเสียหายจำกัด เพราะตัวจริงจะกลับมาภายในหนึ่งสัปดาห์)

  7. ใครซุกอะไรไว้ใต้พรม ก็อาจจะโผล่ขึ้นมาตอนนี้แหละครับ

บทเรียนจากปีที่แล้วตอนที่เริ่มใช้ ก็แปลกดีครับ มีอยู่สองเรื่องที่ผมจำแม่นเลย (รู้สึกว่า เอ..เราผิดหรือเปล่า) คือ

  • ลาแล้วเครียด อยู่บ้านเฉยๆ ไม่รู้จะทำอะไร -- อันนี้คงเป็นเพราะไม่ได้วางแผนไว้ก่อน แต่ปีนี้ไม่มีเสียงบ่นแล้้วครับ เพราะทุกคนรู้ตัว และวางแผนล่วงหน้าได้
  • ลาแล้วไม่คุ้ม -- อันนี้ยิ่งแปลก เดิมทีก็ไม่ได้คิดจะลาอยู่แล้ว!!

แนวคิดของการลา ML ก็ไม่ใช่ของใหม่ อาจารย์ในมหาวิทยาลัย ก็สามารถลาจากการสอนไปทำวิจัยได้ (sabbatical leave) ผมเอามาปรับใช้เฉยๆ

การลา ML จะเหมาะกับองค์กรของท่านหรือไม่ ท่านผู้บริหารก็คงจะต้องคิดเอาเองครับ

หมายเลขบันทึก: 90630เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2007 19:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 10:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)

สวัสดีครับอาจารย์

  • รู้สึกอิจฉาเล็กน้อยกับบุคลากรในองค์กรของอาจารย์
  • เป็นหมอนั้นลายากมากครับ  ที่ยากเพราะว่าต้องดูว่าช่วงนั้นคนอื่นๆไปไหนบ้าง  เพราะเรามีกันเพียง 5 คน ขาดไปคนนึงก็ต้องเหนื่อยเพิ่ม งานติดขัดแน่นอน(ทั้งที่อยู่ 5คน ก็อืม...)
  • ยิ่งช่วงเทศกาลเข้าแล้วยิ่งหมดสิทธิ์ครับ  ต้องอยู่ช่วยกันตอนรับผู้ป่วยที่จะมากขึ้นหลายสิบเท่า  โดยเฉพาะอุบัติเหตุ..(หมู่)
  • สวัสดีปีใหม่ครับ... (ไทยๆ)
  • อืม...ขอบคุณมากครับกับเรื่อง DISC

อาชีพแพทย์มีคุณค่าตรงที่เป็นการอุทิศชีวิต เสียสละเพื่อคนอื่นครับ สิ่งที่เป็นคุณูปการของอาชีพแพทย์กลับไม่ใช่ชื่อเสียง ความนับหน้าถือตา (หรือเิงิน ฮ่าๆๆ) พวกนี้เป็นผลพลอยได้ แต่ผมคิดว่ากลับเป็นโอกาสที่จะได้เห็น-ได้เข้าใจความเป็นไปของชีวิตครับ

แม้เวลาว่างจะมีอยู่น้อยนิด แต่ผมก็เชื่อว่าคุณหมอสามารถแสวงหาการพักผ่อนอย่างมีคุณภาพได้ครับ

ขอให้รักษาสุขภาพ และสวัสดีปีใหม่ครับ

สวัสดีครับ

 อาจารย์ครับ  ผมมีคำถามนะครับ  อาจจะยาวไปหน่อย  เขียนตกบ้าง ไม่ว่ากันนะครับ http://gotoknow.org/ask/conductor/5278

ขอบคุณล่วงหน้ากับคำตอบครับ..อิๆๆ

เห็นแล้วครับ เดี๋ยวจะพยายามตอบ แต่คงไม่เร็วนักหรอกครับ เพราะนิ้วกับสมองไม่ค่อยสามัคคีกัน

สวัสดีครับ

  • อาจารย์ครับไม่รีบครับ
  • ใช้เวลานานๆก็ได้ครับ
  • ผมรอได้ครับ ช้าๆ  ได้พร้าเล่มงาม(ในกรณีนี้นะครับ)
  • ช่วงนี้นอกจากบันทึกอาจารย์แล้วผมก็กำลังสนใจบันทึกที่ ลปรร  เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมนะครับ  ผมเห็นหลายครั้งที่อาจารย์กล่าวถึงพุทธรรม  ถ้าเผื่อว่าอาจารย์มีเวลาก็อยากเชิญมาแบ่งปันประสบการณ์ด้านนี้บ้าง...ด้วยนะครับ

เรื่องธรรมะ ผมยังเรียนในระดับอนุบาลหรือก่อนอนุบาลครับ แต่ยังเรียนอยู่เรื่อยๆ; เรื่องแบบนี้ แม้มีครูบาอาจารย์ แต่ถึงที่สุดก็ไม่มีใครช่วยได้ นอกจากปฏิบัติเอาเองครับ

ถ้าไม่เรียกอาจารย์ จะดีไหมครับ แค่ใช้ภาษาสุภาพก็เป็นการให้เกียรติกันแล้วครับ 

ผมก็สนับสนุนลาพักร้อนยาวๆเหมือนกันครับ, เคยลายาวแล้วรู้สึกว่ามันช่วยได้ทั้งตัวเราและบริษัทฯ

ในแง่ของบริษัทฯก็อย่างที่พี่ว่า มันจะทำให้น้องๆโตขึ้น คนที่เคยทำไม่ได้ ก็ต้องทำได้ขึ้นมา

ส่วนในแง่ตัวเรา, เคยลาไปทำกิจกรรมบางอย่างแล้วมันทำให้เกิด paradigm shift ขึ้นมา ซึ่งทำให้เกิดผลดีต่อทั้งบริษัทฯและตัวเรา 

คุณป๊อก?!?! ยินดีต้อนรับครับ ไม่นึกว่าจะแวะมาแถวนี้ด้วย
P

อ่านมาตั้งแต่หัวค่ำ...

เจริญพร

ช่วงนี้ ชักต้องเขียนถี่แล้วครับพระอาจารย์
P

คงเป็นเพราะว่า คุณโยมมีสินค้าชั้นดีหลายชนิด และลูกค้ามีความต้องการสูง...

เหตุที่ลูกค้ามีความต้องการสูง อาจเป็นเพราะคุณโยมเข้าใจการตลาดก็ได้...(.........)

และยังมีลูกค้าบางท่าน ต้องการสินค้าพิเศษ ดังนั้น คุณโยมจึงต้องผลิดสินค้านั้นๆ เพื่อสนองตอบ และรักษาฐานลูกค้าไว้... (............)

เจริญพร 

 

 

บางทีผมคงผลิตสินค้าแปลกประหลาดครับ เป็นตลาดเฉพาะสำหรับผู้แสวงหา แม้สิ่งต่างๆ ที่บันทึกจะหลีกเลี่ยงการฟันธง (เขียนอย่างชัดเจนให้เข้าใจง่ายๆ) เขียนหลายเรื่องที่ไม่รู้เรื่องเลยสำหรับ"คนนอกวงการ" และท่านผู้อ่านต่างก็รู้เรื่องที่ผมเขียนแล้วทั้งนั้

ผมเขียนความคิดครับ  ความคิดมีค่าที่แตกต่างกันสำหรับแต่ละคน

>> ไม่นึกว่าจะแวะมาแถวนี้ด้วย

พี่เขียนทั้งที ผมไม่ยอมพลาดหรอกครับ...

    ผมก็เป็นอีกคนหนึ่งที่สนับสนุนการลาพักร้อนยาวๆเหมือนกันครับ ในอดีตบริษัทที่ผมทำงานอยู่เป็นไทยแท้  มักไม่ค่อยให้ลายาวๆ  แต่ตอนนี้เป็นลูกครึ่งแล้วครับ กำหนดเป็นแนวปฏิบัติให้ลายาวๆ    คนที่ทำหน้าที่แทนหรือคนที่อยู่ก็ต้องเรียนรู้และทำแทนให้ได้   และคนที่ลาไปนั้นหมกเหม็ดอะไรไว้ จะได้ตรวจสอบโดยไม่มีเจ้าตัวอยู่ด้วยครับ(ถ้าองค์กรนั้นเป็นองค์กรใหญ่และไม่มีระบบตรวจสอบการทำงานที่ดี)

อาจารย์คะ

ขอบพระคุณมากสำหรับบันทึกดี ๆ ให้ข้อคิดค่ะ

ชอประโยคนี้มากค่ะ

 นอกจากเป็นการลดความเครียด จากงานแล้ว บริษัทยังได้โอกาสทดสอบระบบตัวตายตัวแทนอีกด้วย นอกจากนั้น ก็ยังเป็นข้อพิสูจน์สำหรับความมั่นคงในระบบงาน ว่าไม่ได้พึ่งเทวดาองค์ใดอยู่ครับ

เพราะหลาย ๆ คนคิดว่าตัวเองเป็นเทวดาอยู่ในองค์กรค่ะ อยากให้คนปรับเปลี่ยนทัศนคตินะคะ

การปรับเปลี่ยนทัศนคติ หนูจะตามไปอ่านที่ไหนได้คะ

ขอบพระคุณอาจารย์ล่วงหน้าค่ะ

การเปลี่ยนทัศนคติเป็นเรื่องยากและเฉพาะตัวครับ ผมยังไม่ได้เขียนเรื่องนี้ เนื่องจากตระหนักดีว่าไม่มีความสามารถจะบรรยายให้ครอบคลุมได้ดั่งใจ เพราะว่าทัศนคติเป็นเรื่องที่อยู่ในจิตใจคน

สิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศที่เชื่อเรื่องการควบคุมพฤติกรรมของประชาชนเป็นอย่างมาก มีลักษณะการออกแบบสังคมโดยกฏระเบียบ (top-down design) ซึ่งผมไม่เห็นด้วยเลย

ในหลักการของนักจิตวิทยาฝรั่งนั้น ทัศนคติเปลี่ยนแปลงได้ผ่านกระบวนการชักจูง+เกลี้ยกล่อม+โน้มน้าว+หว่านล้อม (persuation) ดังนั้นการเปลี่ยนทัศนคติ ก็จะเป็นผลโดยตรงของการสื่อสาร วิธีการที่ประสบความสำเร็จจากที่หนึ่ง อาจจะใช้ไม่ได้ในอีกที่หนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ก็มีคนพยายามจะแยกแยะออกมาเป็นแผนภูมิให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้ครับ

แถวบน เป็นสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้น เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่าง"ถาวร" -- หากเชื่อตามนี้ คงจะต้องเริ่มต้นด้วยความ "อิน" มากๆ เลยครับ ได้ฟังแล้วนำไปคิดต่ออย่างจริงจัง ซึ่งหากเชื่อตามนั้น ก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่าง "ถาวร"

ส่วนแถวล่าง เป็นความพยายามอย่างผิวเผิน ออกอาการเหมือน "การเรียนแบบฟังการบรรยาย" หรือ "การกะเกณฑ์กันมาฟังบรรยายให้ห้องเต็มๆ" ไงครับ

ในแผนภูมิข้างบน มีกระบวนการคิด (processing approach) ซึ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ครับ

ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ จึงไม่ได้เป็นวิธีการซึ่งเมื่อทำแล้วคนจะเปลี่ยนไป; หากเขาจะเปลี่ยน ก็ต้องเปลี่ยนแปลงเอง เราเพียงแต่บอกได้ว่าทำไมจึงควรจะเปลี่ยน เปลี่ยนแล้วเป็นอะไร แต่เราไปบังคับใครให้เปลี่ยนไม่ได้ครับ

P

อ่านคำอธิบายตอนนี้ ก็นึกถึงแนวคิดของโสคราติส.. ซึ่งเค้าเชื่อว่า..

จริยธรรม ไม่สามารถสอนกันได้ แต่ผู้หนึ่งอาจมีอิทธิพลให้ผู้หนึ่งคล้อยตาม แล้วก็ดำเนินการไปตามความคิดเห็นของเค้าเองได้....ประมาณนี้

เจริญพร

พยายามค้นหาข้อความอ้างอิง แต่หาไม่เจอครับ (หรืออาจะไม่มีการแปลจากภาษากรีกเป็นภาษาอังกฤษ)

พบอันนี้ครับ (ย่อหน้า 3 กับ 4 ใต้หัวข้อ The Basis for Virtue) โสคราติสสรุปว่าจริยธรรมสอนไม่ได้ แต่เพลโต (ลูกศิษย์โสคราติส) กลับเห็นว่าเราเข้าถึงจริยธรรมได้ ผ่านวิธีการสอนอย่างถูกต้อง

  เคยได้ยินเกี่ยวกับการลาแบบนี้เหมือนกันครับ อาจารย์ โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ๆ เพราะจะมีการตรวจสอบการทำงานของเรา และดูว่าเราสร้างความเสียหาย หรือมกเม็ดอะไรไว้หรือเปล่าครับ

  แต่ถ้าไม่มีก็ถือว่าได้ลายาว คลายเครียด แต่สำหรับผม หยุดยาวๆมักทำให้ตัวขนขึ้นยาวเลยทีเดียวครับ

   ขอบคุณอาจารย์ที่เอาความรู้มามอบให้อีกแล้วครับ

ผมคิดว่าเรื่องแบบนี้ น่าจะเป็นประโยชน์ร่วมกันนะครับ แต่บางทีเราอาจไม่ค่อยเห็นในบริษัทเล็กๆ เพราะว่าคนไม่พอที่จะหมุนเวียน

ถ้าเป็นบริษัทเล็ก อาจจะพบอาการ "ปิดเทอม" ได้ คือปิดบริษัทชั่วคราว ไปชาร์ตแบตพร้อมกัน -- เรื่องของเรื่องคือมันสำคัญพอที่จะทำหรือไม่ครับ

  • เพิ่งเช็คเมล์
  • ว่าจะลาตัวเอง
  • ไปนั่งสมาธิ
  • อิอิๆๆๆ
  • ขอให้มีความสุขกับการลาครับ
  • อย่าลืมถ่ายรูปมาให้ดูด้วยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท